Dasa Book Cafe ร้านหนังสือมือสองแห่งชุมชนสุขุมวิท

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

หากไม่นับรวมหนังสือเก่าประเภทการ์ตูนและนิยายวัยรุ่น วิถีทางของร้านหนังสือมือสองอาจไม่ใช่วัฒนธรรมการอ่านที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย แต่ก็ใช่จะหาดูไม่ได้ ..."ดาสะฯ" แห่งย่านสุขุมวิท ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงมนตร์ขลังของร้านหนังสือมือสองที่อาจหาไม่ได้ในร้านหนังสือใหม่

ท่ามกลางความวุ่นวายและการจราจรที่แออัดบนถนนสุขุมวิท ไม่ไกลจากห้างหรูอย่างเอ็มโพเรี่ยมนัก ร้านหนังสือเล็กๆ ร้านหนึ่งเต็มไปด้วยหนังสือภาษาต่างประเทศที่จัดวางเป็นหมวดหมู่เรียงรายเป็นทิวแถวแน่นขนัดอยู่บนชั้นหนังสือ นักอ่านชาวต่างชาติบางคนนั่งจิบกาแฟพลางอ่านหนังสือพลางอย่างเพลิดเพลินใจ บ้างก็นั่งพูดคุยกันตามประสาหนอนหนังสือ บางคนก็ง่วนกับการกวาดสายตาหาหนังสือตามโพยที่อยู่ในมือ

ภายในร้านถูกตกแต่งอย่างน่ารักและอบอุ่น มีเสียงเพลงเบาๆ คลอเคล้าช่วยเพิ่มบรรยากาศแห่งความสงบและผ่อนคลายให้อบอวลอยู่ทั่วร้าน นี่ถือเป็นภาพที่คุ้นตาของร้านหนังสือที่มีชื่อว่า "ดาสะบุ๊ค คาเฟ่"

ดาสะฯ เป็นร้านหนังสือมือสองตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทระหว่างซอย 26-28 ก่อกำเนิดมาจากแนวความคิดของสองหุ้นส่วนชาวไทยและชาวอเมริกันเมื่อกว่า 3 ปีก่อน ด้วยเจตนารมณ์ที่อยากให้ร้านแห่งนี้กลายเป็นแหล่งหนังสือมือสองของชุมชนชาวต่างชาติย่านสุขุมวิท และเป็นแหล่งพบปะพูดคุยของเหล่าบรรดาทาสหนังสือ สมกับชื่อร้าน ซึ่งคำว่า "ดาสะ" แปลว่า ทาส

กวีวุฒิ วุฒิวิภู หนึ่งในหุ้นส่วนเล่าว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อร้านเช่นนี้มาจากชื่อของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ โดยก่อนหน้าที่จะเปิดร้านหลายปี เจ้าของร้านหนุ่มวัย 34 ปีคนนี้เคยได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสฯ จากนั้นทัศนคติและมุมมองชีวิตของเขาก็เปลี่ยนแปลงไป

แม้ว่าสมัยเป็นนักเรียนนอกกวีวุฒิเคยเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะมาก เพื่อใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการค้นหาตัวตนของตัวเอง อีกทั้งยังมีโอกาสได้ทำงานแปลหนังสือและสอนหนังสือ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่เคยใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของร้านหนังสือสักครั้ง

จนกระทั่ง Donald Gilliland หุ้นส่วนชาวอเมริกันซึ่งเคยรู้จักกันสมัยที่ทั้งคู่ทำงานที่ Tower Record กำลังจะปิดร้านหนังสือมือสองที่เสียมราฐ เพื่อย้ายมาอยู่ที่เมืองไทย Donald จึงชวนกวีวุฒิเข้าร่วมหุ้นเปิดร้านหนังสือมือสองในกรุงเทพฯ

"ตั้งแต่ต้น ร้านไม่ได้เกิดจาก passion ของผมในเรื่องเกี่ยวกับหนังสือ แต่หนังสือมีส่วนร่วมอยู่ในประสบการณ์ของผมอยู่ตลอด พอเพื่อนคนนี้ชวนขึ้นมา ผมก็เลยคิดว่ามันน่าจะมีช่องทางที่ทำได้ ตลาดก็ยังไม่กว้างมาก เพราะเราดูตลาดลูกค้าต่างชาติในเมืองไทย แล้วทำให้แตกต่างจากของที่มีอยู่เดิม"

เพราะตั้งใจจับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่พักอาศัยและทำงานอยู่ในเมืองไทย ทั้งคู่จึงเลือกทำเลร้านในย่านที่ได้ชื่อว่าแพงที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แม้จะต้องแบกรับภาระค่าเช่าที่แสนแพงก็ตาม

แม้วัฒนธรรมการอ่านหนังสือมือสองในเมืองไทยจะยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่ราว 4 ปีก่อนทั้งย่านจตุจักร ข้าวสาร และข้างเอ็มโพเรียมก็เริ่มมีร้านมือสองที่โด่งดังจนเป็นที่รู้จักอยู่ไม่น้อย การแข่งขันในวงการนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับมือใหม่ในตลาดนี้

"เราไม่อยากให้ร้านนี้เป็นแค่ร้านหนังสือเก่าที่ลูกค้ามายืนเลือกหนังสือแล้วก็ซื้อกลับบ้านไป เราก็เลยคิดว่าน่าจะมีที่ให้ลูกค้านั่ง มีกาแฟและเบเกอรี่ขาย ลูกค้าจะได้นั่งดูหนังสือหรือนั่งคุยกันได้"

การเพิ่มเติมมุมกาแฟเข้าไปในร้านทำให้เพียงไม่นานหลังจากเปิดร้าน ร้านแห่งนี้ก็กลายเป็นแหล่งสังสรรค์ของทาสตัวอักษรอย่างเป็นประจำ โดยมีเจ้าของร้านทั้งคู่คอยอำนวยความสะดวกในการสังสรรค์ของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมกระดานข่าวให้ลูกค้าได้ฝากข่าวระหว่างกัน หรือการจัดกิจกรรมเสวนาหนังสือและปาร์ตี้นักอ่านเป็นครั้งคราว

กุศโลบายเหล่านี้ถือเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นกันเอง และสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้เป็นอย่างดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้พบเห็นลูกค้าคนเดิมมาที่ร้านซ้ำแล้วซ้ำอีก บางคนมาทุกสัปดาห์ บ้างก็มาเดือนละ 1-2 ครั้ง บางคนนานๆ มาที แต่มาร้านทุกครั้งที่พวกเขาแวะมาเมืองไทย และไม่แปลกที่จะเห็นเจ้าของร้านและลูกค้าหลายสัญชาตินั่งพูดคุยเรื่องหนังสืออย่างอบอุ่นและสนุกสนานราวกับคนคุ้นเคย

ลีวาย แพทเทอร์สัน หนึ่งในชาวต่างชาติที่เป็นลูกค้าขาประจำของร้าน ยืนยันเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ดึงดูดให้เขากลับมาที่ร้านนี้บ่อยๆ แม้ที่พักของเขาจะอยู่ไกลถึงบางพลัด นั่นก็คืออัธยาศัยและความเป็นกันเองของเจ้าบ้าน

นอกจากบริการกาแฟและเบเกอรี่ในร้าน ความหลากหลายของหนังสือและบริการในการค้นหาหนังสือที่สะดวกและรวดเร็ว ถือเป็นอีกความแตกต่างที่หุ้นส่วนทั้งสองให้ความสำคัญอย่างมาก

ปัจจุบัน ดาสะฯ มีจำนวนหนังสือเกือบ 13,000 เล่ม ร่วม 90% เป็นภาษาอังกฤษ ที่เหลือเป็นภาษาฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมัน เป็นต้น แบ่งเป็นหมวดนิยายถึง 60% อีกส่วนเป็นหมวดประวัติศาสตร์ ธุรกิจ ท่องเที่ยว ชีวประวัติบุคคล และดนตรี ทั้งหมดจัดวางเป็นหมวดหมู่ และจัดเก็บในฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้ง่ายต่อการค้นหาต่างจากร้านหนังสือเก่าหลายๆ แห่ง

เนื่องจากหนังสือบางส่วนได้มาจากหุ้นส่วนทั้งคู่ไปหาซื้อมาจากจตุจักรบ้าง รับซื้อมาจากต่างประเทศบ้าง และมีจำนวนไม่น้อยที่ได้มาจากลูกค้าที่เอามาขาย หรือ trade-in กับร้าน ประเภทของหนังสือในร้านดาสะฯ จึงหลากหลาย ตามความสนใจของลูกค้าที่ใช้บริการ ไม่ใช่เลือกมาจากความสนใจของเจ้าของร้านเพียงเท่านั้น

"เรามีนโยบายว่า ลูกค้าที่ซื้อหนังสือจากร้านนี้เมื่ออ่านจบแล้วเอามาขายคืนในสภาพที่ยังดีอยู่ ทางร้านของเราจะให้รับเทรดในราคาครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว"

ด้วยวิธีนี้ ดาสะฯ จะมีลูกค้าและหนังสือหมุนเวียนอยู่ในร้านอย่างสม่ำเสมอ

"ทุกครั้งที่มีลูกค้าหอบหนังสือมาขาย หนูจะตื่นเต้นทุกครั้งว่าลูกค้าจะมีเล่มไหนมาขายบ้าง และก็พบว่าบ่อยครั้งที่หนังสือดีๆ กลับเป็นฝ่ายที่วิ่งมาหาเรา" พนักงานสาวแห่งร้านดาสะฯ กล่าว

เธอยังยกตัวอย่างเพิ่มเติมถึงหนังสือ Harry Potter เล่มล่าสุด หลังจากที่เธอเพิ่งเห็นคนจองคิวเข้าแถวซื้อกันยาวเหยียด แต่หลังจากหนังสือออกไม่ถึงสัปดาห์ ร้านดาสะฯ ก็ได้หนังสือเล่มนี้มาวางขายอยู่บนชั้นแล้ว

บ่อยครั้งที่ลูกค้าเดินทางไกลมาจากต่างประเทศเพื่อหาหนังสือหายากบางเล่ม แต่กลับมาเจอหนังสือเหล่านั้นวางประดับอยู่บนชั้นหนังสือในร้านดาสะฯ อย่างเช่นจดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับที่พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกก็ยังมีให้เห็นได้ที่ร้านนี้

"บางทีมันต้องแล้วแต่ดวงด้วยเหมือนกันว่าจะมีเล่มไหนเข้ามา แต่ที่ผ่านมาก็มีลูกค้ามาเจอหนังสือที่ตามหามานานที่ร้านนี้ด้วย เราก็พลอยดีใจไปด้วย" พนักงานคนเดิมกล่าว

สำหรับราคาหนังสือจะถูกลงราว 20-30% จากราคาปก ขณะที่หนังสือเล่มเล็กบางเล่มอาจจะเลหลังเหลือเพียง 19 บาท ส่วนหนังสือเล่มใหม่ก็มีตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไปจนถึงสนนราคาหลักพันเลยก็มี

กวีวุฒิเล่าว่า ทุกวันนี้ร้านดาสะฯ สามารถขายหนังสือได้เฉลี่ย 50 เล่ม แต่ถ้าเป็นวันเสาร์และอาทิตย์ก็มักจะขึ้นสูงถึงหลักร้อย โดยฐานลูกค้าของร้านมีมากร่วมพันราย จำนวนนี้เป็นลูกค้าชาวต่างชาติสูงเกือบ 80% เลยทีเดียว โดยมีทั้งกลุ่มชาวต่างชาติที่พักอาศัย ทำงาน และมาชอปปิ้งย่านสุขุมวิท ขณะที่ลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ รวมถึงนักศึกษาที่มาหาซื้อหนังสือเรียนภาษาต่างประเทศที่ร้านนี้

แม้ลูกค้าชาวต่างชาติส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มที่มีฐานะดี แต่เหตุที่พวกเขามาเลือกใช้บริการร้านหนังสือมือสองนั้น กวีวุฒิให้เหตุผลสั้นๆ ว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมการอ่านของพวกเขา

หากสังเกตดีๆ ในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนมีการศึกษาสูงๆ อย่างลอนดอน ปารีส ซิดนีย์ และนิวยอร์ก ล้วนแต่มีร้านหนังสือมือสอง (ไม่นับรวมร้านหนังสือการ์ตูนและนิยายวัยรุ่น) กระจายอยู่ทั่วทุกมุมเมือง แฝงตัวราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จนนักวิชาการหลายคนจัดให้จำนวนร้านหนังสือมือสองเป็นอีกดัชนีบ่งชี้วัฒนธรรมการอ่านของคนในสังคมนั้น

เพราะร้านหนังสือมือสองย่อมหมายถึงโอกาสในการเข้าถึงหนังสือดีๆ ในราคาถูกของกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ไม่มากนัก และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ขณะเดียวกันการหมุนเวียนหนังสือภายในร้านหนังสือมือสองยังเป็นการประหยัดทรัพยากรได้อีกด้วย

"ผมมองว่า ร้านหนังสือมือสองน่าจะช่วยพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมการอ่านได้เยอะ แต่ก็คงต้องใช้เวลากว่าที่วัฒนธรรมการอ่านและวิถีทางของร้านหนังสือมือสองจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่อย่างน้อยตอนนี้มันก็เกิดขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว แม้จะยังเป็นเฉพาะกลุ่มหนังสือที่วัยรุ่นอ่านเล่นกัน" กวีวุฒิทิ้งท้าย

หลังจากเปิดร้านดาสะฯ มาร่วม 2 ปี กวีวุฒิเริ่มมั่นใจในธุรกิจร้านหนังสือมือสองที่มีดีไซน์และคอนเซ็ปต์ที่แตกต่าง เขาจึงตัดสินใจร่วมหุ้นกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นเปิดร้านหนังสือมือสองอีกแห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ Penny's Balcony ทองหล่อ 16 โดยใช้ชื่อร้านเก๋ๆ ว่า "SKOOB" ซึ่งเป็นการกลับตัวอักษรมาจากคำว่า BOOKS ให้บริการขายหนังสือมือสอง ซีดีเพลงแจ๊ซ และกาแฟ แต่ไม่ขายเค้ก

แม้จะแตกต่างด้านขนาดและจำนวนหนังสือ โดยร้าน SKOOB มีขนาดเล็กกว่าและมีจำนวนหนังสือน้อยกว่า โดยกว่าครึ่งเป็นหนังสือภาษาญี่ปุ่น ส่วนที่เหลือเป็นภาษา เกาหลี ภาษาอังกฤษ และอื่นๆ แต่สำหรับกวีวุฒิ วัตถุประสงค์ของทั้งสองร้านเหมือนกัน นั่นก็คือ เพื่อเป็นแหล่งหนังสือมือสองและแหล่งสังสรรค์ของนักอ่านในชุมชนนั้นๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.