|
Lomography! More than camera, It’s Lifestyle
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ในโลกแห่งกล้องดิจิตอลที่ทุกภาพสีดูคมชัดสมจริงไม่ต่างจากตาเห็น ความถูกต้องและสมบูรณ์แบบดังใจคิดทุกครั้งที่กดชัตเตอร์กลายเป็นเรื่องสามัญอย่างไม่ต้องคาดเดา ทว่า สำหรับคนบางกลุ่ม ความพร่องที่ดูผิดเพี้ยนไปบ้าง บ่อยครั้งก็ดูงดงามและน่าหลงใหลมากกว่า นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้กล้องฟิล์มอย่าง “Lomography” ถูกปลุกให้กลับมาคืนชีพอีกครั้ง
ภาพถ่ายที่ไม่ได้มีความคมชัดสูง บางครั้งก็ดูสั่นไหวจนเบลอ อีกทั้งสีสันก็ยังจัดจ้านจนดูผิดเพี้ยน บางภาพก็มีมุมมองที่โค้งกลมจนดูประหลาด บ้างก็เกิดมุมภาพสีมัวๆ ดำๆ บ้างก็มีภาพซ้อนทับดูน่าสงสัย บางภาพมีถึง 4 shot อยู่ในเฟรมเดียว ขณะที่บางภาพก็เป็นซีรี่ส์แบบ 8-9 shot เลยทีเดียว ฯลฯ
ภาพถ่ายที่ดูแปลกตาและแหกกฎเดิมๆ ของการถ่ายภาพแห่งโลกของกล้องดิจิตอลจำนวนมากถูกวางเรียงรายเป็นกำแพงภาพกลาง Trafalgar Square แห่งเมืองลอนดอน เหล่านี้ถือเป็นนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายแนวโลโม่ที่จัดแสดงในงาน Lomography World Congress ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
“Lomo Wall” หรือกำแพงภาพที่รังสรรค์ขึ้นจากภาพถ่ายแนวโลโม่มากกว่าแสนภาพ ซึ่งถูกจัดส่งมาจากนักถ่ายภาพด้วยกล้องโลโม่ หรือเรียกว่า “lomographer” จากทุกมุมโลก นี่จึงเป็นดัง ICON ที่แสดงถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ของชาวโลโม่กลุ่มเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวันๆ
จากผลสำรวจลักษณะเชิงประชากรศาสตร์ของ lomographer ทั่วโลก พบว่า ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาววัย 20-40 ปี มีความกระฉับกระเฉง ว่องไว ชอบพบปะผู้คน ชอบมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และชอบลองสิ่งใหม่ๆ ส่วนใหญ่มีการศึกษาดีและมีรายได้ค่อนข้างสูง งานอดิเรกของชาวโลโม่คือการถ่ายภาพและท่องเที่ยว โดยปกติคนกลุ่มนี้มักจะพูดได้มากกว่า 1 ภาษา
หลายคนอาจแปลกใจที่ภาพถ่ายที่ “ดูผิดพลาด” แต่เหมือน “เกือบดี” อันเป็นผลผลิตจากกล้องฟิล์มที่มีชื่อ “โลโม่” เหล่านี้ทำให้นักถ่ายรูปจากทุกมุมโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้าง hyper-active มาตกหลุมรักได้อย่างไร!?!
“มีคนเคยกล่าวว่า ในยุคของกล้องดิจิตอล การถ่ายรูปอาจจะดีกว่าการวาดรูป เพราะรูปภาพสามารถเก็บองค์ประกอบทุกอย่างได้ในเฟรมเดียวอย่างชัดเจนตามความเป็นจริง (documenting the world) ขณะที่การวาดรูปศิลปินสามารถเลือกให้สีได้ตามอารมณ์ ส่วนการถ่ายรูปแนวโลโม่นั้นเป็นอิสระจาก documenting the world และมีความเป็นนามธรรมมากกว่า มีบรรยากาศของสีที่แตกต่าง มีความบ้าคลั่ง และมีอารมณ์ของศิลปะดิบๆ หลายคนจึงมองว่านี่เป็น new art form ในโลกศตวรรษที่ 20”
Sally Bibawy กล่าวในงาน Creative Unfold Bangkok ซึ่ง TCDC จัดขึ้นกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเธอเป็น 1 ใน 4 ผู้บริหารบริษัท Lomographische AG เจ้าของเครื่องหมายการค้า Lomography และเป็นหัวหน้าทีมของ Lomographic Society International
Matthias Fiegl อีกหนึ่งในผู้บริหารบริษัท Lomographische AG และทีม Lomographic Society International ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า Lomography น่าจะถือเป็นโลกใบใหม่ของการสร้างงานศิลปะ และเป็นศิลปะแบบใหม่สำหรับคนที่ไม่ใช่ศิลปิน
ขณะที่ lomographer หลายคนมองว่า กล้องโลโม่เป็นเครื่องมือสร้างงานศิลปะภาพถ่ายที่ไม่ต้องอาศัยเทคนิคชั้นสูงในการถ่ายภาพ เพราะไม่มีเทคโนโลยีทางการถ่ายภาพขั้นสูงใดๆ ให้เลือกใช้ ไม่ต้องสนใจ composition ใดๆ เพราะบ่อยครั้งนักถ่ายภาพแทบไม่ได้มองผ่านเลนส์มองภาพด้วยซ้ำ และไม่ต้องมีกรอบในการถ่ายภาพใดๆ มาเป็นเกณฑ์วัดความงาม การถ่ายภาพโลโม่จึงดูเหมือนงานศิลปะเชิงทดลอง เพราะไม่สามารถควบคุมกระบวนการทางภาพขณะถ่ายภาพได้ และไม่มีใครรู้ว่าภาพที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร บางคนจึงยกย่องให้ภาพโลโม่เป็นงาน handmade
คุณสมบัติของกล้องฟิล์มเทคโนโลยีต่ำสมัยแรกๆ เหล่านี้ กลายมาเป็นทางเลือก “แนวๆ” ของนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายเทคโนโลยีทางด้านภาพถ่ายที่ล้ำหน้าของกล้องดิจิตอลทุกวันนี้ ซึ่งทุกอย่างถูกพัฒนาให้เป็นระบบอัตโนมัติจนทำให้การกดชัตเตอร์แแต่ละครั้งมีความแน่นอนและสมบูรณ์ จนเริ่มหมดความตื่นเต้นลงไปบ้างไม่มากก็น้อย
หนึ่งใน lomographer ชาวไทยให้ความเห็นว่า กล้องโลโม่เปรียบได้กับสมองก้อนใหม่ที่ทำให้การถ่ายภาพแสดงออกมาได้อย่างอิสระและสร้างสรรค์ ภาพถ่ายที่มี “ครีเอทีฟ” จึงถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติขั้นสูงของภาพถ่ายแนวโลโม่
“ถ่ายแบบไม่ต้องคิด (สมกับสโลแกน don’t think, just shoot ของ Lomographic Society) ก็ได้ภาพออกมาดูสวยสด ถึงจะเสียค่าฟิล์ม และค่าล้างแพง เมื่อเทียบกับถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลแล้วใช้โปรแกรมปรับภาพ แต่มันต่างกันที่อารมณ์รูป ยิ่งพอบอกว่าถ่ายด้วยกล้องโลโม่ แล้วสาวกรี๊ด มันก็ยิ่งดูเท่ ผมว่ามันก็คุ้มอยู่” หนุ่มไทยเด็กแนวอีกหนึ่งในชาวโลโม่กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
เดิมกล้องโลโม่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในหน่วยงานสายลับของกองทัพรัสเซีย โดย Lomo ย่อมาจาก Leningrad Optical Machinery Organization ซึ่งเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ผลิตเลนส์เพื่อใช้ในโครงการอวกาศของกิจการกองทัพและผลิตเลนส์ที่ใช้ในกล้องโทรทัศน์
กระทั่งในปี 2526 เมื่อมือขวาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงและอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียตขณะนั้น ต้องการประกาศศักดาความเป็นผู้นำแห่งโลกสังคมนิยมเหนือประเทศญี่ปุ่น จึงมีคำสั่งให้หน่วยงาน Lomo ผลิตกล้องเลียนแบบกล้องคอมแพคท์ของญี่ปุ่นขึ้นมาให้เร็วที่สุด ถูกที่สุด และมากที่สุด เพื่อแจกจ่ายให้พลเมืองรัสเซียทุกคนได้รู้จักการถ่ายรูป สมตามสโลแกน “คอมมิวนิสต์อันทรงเกียรติทุกคนควรมีกล้อง Lomo Kompakt Automat LC-A เป็นของตัวเอง”
ตำนานการหวนคืนชีพของกล้องฟิล์มรุ่นพ่ออย่าง Lomography เกิดขึ้นเมื่อราว 16 ปีก่อน เมื่อครั้งที่ Fiegl และ Wolfgang Stranzinger อีกหนึ่งในผู้บริหารบริษัท Lomographische AG เดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองปราก (Prague) แต่กลับลืมพกกล้องถ่ายรูปติดตัวไป จึงไปซื้อและได้รู้จักกับกล้องสัญชาติรัสเซียที่มีชื่อว่า “Lomo Kompakt Automat” โดยบังเอิญ
หลังจากล้างรูปออกมา พวกเขาก็หลงใหลในภาพถ่ายสีสันจัดจ้านจนดูผิดเพี้ยน แต่ก็สวยจนน่าหลงใหลและแปลกประหลาดอย่างที่พวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน
อันที่จริง ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มทั่วไปเมื่อผ่านกระบวนการล้างแบบครอสโพรเซส (cross process) หรือก็คือ การล้างภาพข้ามประเภทของฟิล์ม (หรือการล้างภาพให้ผิดประเภท) เช่น ถ่ายฟิล์มสไลด์แล้วไปล้างแบบฟิล์มสี หรือถ่ายฟิล์มสีแล้วล้างแบบฟิล์มสไลด์ เป็นต้น ก็จะทำให้ได้ภาพที่มีสีสันผิดเพี้ยนแต่ดูสดสวยจัดจ้านได้เหมือนภาพถ่ายแนวโลโม่ได้เช่นกัน
ในปี 2535 Fiegl และเพื่อนจัดตั้งบริษัท Lomographische AG ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพียงเพราะทุกคนอยากเข้ามาเกี่ยวข้องกับ Lomography มากขึ้น
ทว่า หลังจากนั้นเพียงไม่นาน ทั้ง Fiegl และหุ้นส่วนก็ทำให้กระแสความคลั่งไคล้กล้องโลโม่กระจายไปทั่วโลก ภายใต้แก่นความคิดที่สำคัญ นั่นก็คือ “Lomography is an analog lifestyle product” โดยนำเอาวิถีการถ่ายภาพของกล้องอนาล็อกยุคพ่อมาปัดฝุ่นและตกแต่งด้วยกรอบคิดใหม่เพื่อให้โดนใจคนรุ่นลูก
Lomography Society ไม่ได้ขายเพียงกล้องโลโม่ที่พัฒนาลูกเล่นต่อยอดมาจากคุณสมบัติเดิมๆ ของกล้องฟิล์ม เช่น เลนส์ fish-eye, เลนส์ถ่ายภาพแบบซีรี่ส์ หรือแฟลชหลากสี ฯลฯ แต่สิ่งที่ถูกโปรโมตไปพร้อมกับตัวกล้องเสมอๆ นั่นก็คือ กฎ 10 ข้อสำหรับการเป็นชาวโลโม่ที่ดี (ดูรายละเอียดใน “10 Golden Rules of Lomographer”) โดยกฎเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้ภาพถ่ายโลโม่ออกมาสวยงามแนวโลโม่ แต่ยังทำให้การถ่ายภาพด้วยกล้องโลโม่เป็นเรื่องง่าย เต็มไปด้วยอารมณ์สนุกสนาน และดูมีเสน่ห์มากขึ้นด้วย
เช่น กฎข้อที่ 5 ที่บอกให้ Lomographer เข้าใกล้วัตถุที่คุณต้องการถ่ายภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“Lomography เป็นการเชื่อมโยงกับ analog living ที่ต้องมีการพบปะ พูดคุย สัมผัส รู้สึกต่อกัน และอยู่ร่วมกัน เพราะกล้องโลโม่ไม่มีเลนส์ซูมขนาดใหญ่หรือเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างดิจิตอล คุณจึงต้องเดินเข้าไปใกล้วัตถุมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่กล้องแบบนี้ก็จะทำให้คุณเข้าไปสัมผัสกับผู้คนที่คุณจะถ่ายเขาได้ง่าย และเขาจะเป็นมิตรกับคุณ นี่ถือเป็นลักษณะของวิถีชีวิตที่ดีงาม และยังเป็นการเอาชนะความอาย เพราะต้องเผชิญหน้ากับเขาด้วยกล้องของเรา” Fiegl อธิบายความสนุกของกฎข้อ 5 จากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา
ขณะที่กฎข้อที่ 6 ซึ่งระบุว่า “อย่าคิดมาก” ก็ถูกนำมาใช้เป็น motto ประจำเว็บไซต์เวอร์ชั่นปัจจุบันของ Lomography Society จนเป็นสโลแกนง่ายๆ ที่ lomographer ทุกคนจำขึ้นใจคือ “Don’t Think, Just Shoot” แต่จะทำได้ถ้วนหน้าหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าสำหรับค่าฟิล์มและค่าล้างด้วยเหมือนกัน
ด้วยความเป็นกล้องขนาดพกพาห่อหุ้มด้วยพลาสติกดูน่ารักราวกับกล้องเด็กเล่น การถ่ายภาพด้วยกล้องโลโม่จึงไม่เรียกร้องความเป็นมืออาชีพและความเป็นทางการ แต่เน้นที่อารมณ์สนุกสนานและความเร็วในการบันทึกภาพชั่วขณะที่ดีๆ ในชีวิตประจำวัน ภาพโลโม่ส่วนใหญ่จึงมักเป็น snapshot จากภาพเหตุการณ์ของชีวิตปกติในมุมที่แปลกประหลาดและสร้างสรรค์มากขึ้น
ทั้งนี้ เครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้กระแสนิยม “Lomography” แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการจัดนิทรรศการภาพถ่ายแนวโลโม่ หรือ Lomo Wall
Lomo Wall ระดับสากลเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2537 โดยจัดพร้อมกันใน 2 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงมอสโกและมหานครนิวยอร์ก ด้วยการนำภาพถ่ายแนวโลโม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันในมอสโคไปแสดงที่นิวยอร์ก และนำภาพในชีวิตประจำวันของชาวนิวยอร์กไปแสดงที่มอสโค ซึ่งภาพเหล่านี้ล้วนส่งมาจาก lomographer เพื่อเสริมสร้างให้ชาวโลโม่ทั่วโลกรู้สึกร่วมกันว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนชาวโลโม่
จากวันนั้นจนวันนี้ Lomographic Society Intl ก็ได้จัดงานนิทรรศการภาพถ่ายโลโม่ งานอีเวนต์ และงานสัมมนาเกี่ยว Lomography อีกหลายครั้ง ว่ากันว่าในทุกวันจะมีงานเกี่ยวกับ Lomography เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 งาน ในมุมใดมุมหนึ่งของโลก
ส่วนงานที่ใหญ่และสำคัญที่สุด นั่นก็คือ นิทรรศการภาพถ่ายโลโม่ระดับโลก หรือ “Lomography World Congress” เพราะเกือบทุกครั้งจะมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกมาร่วมเป็นสปอนเซอร์ อย่างครั้งที่ 7 ที่เพิ่งผ่านมาก็มี BMW เป็นผู้สนับสนุนหลัก จึงไม่น่าแปลกที่ Fiegl จะบอกว่า “Lomo World Congress ถือเป็นอีเวนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่กลายมาเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ด้วย”
นอกจากนี้ การขยายตัวของชุมชนชาวโลโม่ยังมาจากอีกกลยุทธ์สำคัญ นั่นก็คือ การแต่งตั้งคนท้องถิ่นเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการ หรือ “Lomography Embassies” ในทุกประเทศ โดยหน่วยงานอิสระนี้จะทำหน้าที่ขยายแนวคิด สร้างเครือข่าย และจัดกิจกรรมกับชุมชนโลโม่ในท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้สมาชิกในแต่ละประเทศเข้าร่วมกิจกรรมและการประกวดระดับโลกที่บริษัทแม่จัดขึ้น
ปัจจุบันมี Lomography Embassies มากกว่า 70 แห่ง ใน 40 กว่าประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยเพิ่งทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้เอง
ทว่า สิ่งที่ Bibawy มองว่าจุดหักเหที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดชุมชนชาวโลโม่เติบโตอย่างรวดเร็วและกระจายซึมลึกไปทั่วโลกนั้นสืบเนื่องมาจากการเปิดเว็บไซต์ www.lomography.com
“เว็บไซต์สำคัญจริงๆ สำหรับ Lomography เพราะนี่เป็นวิธีการที่ lomographer ทุกคนจะได้แสดงตัวตนต่อสมาชิกอื่น และเป็นสิ่งที่พวกเขาจะสื่อสารกับเราถึงสิ่งที่เขาทำ มันก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาวโลโม่ ซึ่งเราลงทุนมากเลยทีเดียวกับเรื่องเว็บไซต์และถือเป็นจุดแข็งของเรา”
ปัจจุบันในวันหนึ่งๆ จะมีคนเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์นี้มากกว่า 8.5 แสนคน โดยมีภาพถ่ายแนวโลโม่มากกว่า 5 พันใบ ที่มักถูกอัพโหลดขึ้นโชว์บนหน้าเว็บในหนึ่งวัน โดยคาดว่ารูปทั้งหมดที่อัพโหลดเข้ามาแล้วบนเว็บไซต์จะมีไม่ต่ำกว่า 5 ล้านรูป และเมื่อรวมกับเว็บไซต์ของ Lomography Embassies แต่ละแห่ง Fiegl เชื่อว่า น่าจะมีภาพโลโม่เก็บไว้มากกว่าพันล้านรูปเลยทีเดียว
ทุกวันนี้ นอกจากกล้องโลโม่รุ่นต่างๆ ที่มีมากมาย “Lomography” ยังมีไลน์สินค้าอื่น เช่น หนังสือภาพโลโม่เพื่อเป็นคู่มือและสร้างแรงบันดาลใจในการใช้กล้องโลโม่ กระเป๋าใส่กล้องโลโม่ที่ดูหรูหราและมีดีไซน์ ตลอดจน accessories ที่จะช่วยให้นำภาพโลโม่ที่ได้ไปใช้งานรูปแบบอื่นได้ด้วย เช่น คลิปวงกลมสำหรับตัดภาพถ่ายจากกล้องโลโม่ฟิช-อาย (fish-eye lomography) ไปติดเป็นเข็มกลัด เป็นต้น
จากรายงานในอดีต บริษัท Lomographische เคยมีแนวคิดและความพยายามที่จะข้ามพรมแดนจากสื่อภาพถ่ายไปยังสื่ออื่น เช่น ทีวี ภาพยนตร์ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อันเกิดจากไอเดียเล็กๆ ที่แฝงอยู่ในปรัชญาแห่งมรดกตกยุคจากโลกสังคมนิยม นั่นก็คือ analog life in digital age
“เรายังมีไอเดียอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับ analog lifestyle” Fiegl และ Bibawy ยืนยันเป็นการทิ้งท้าย
หมายเหตุ: ขอบคุณภาพจากสถานทูตโลโม่ ประเทศไทย (Lomograpgic Embassy Thailand)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|