วิธีคิดของกฟผ.ต้องการให้ประชาชนบริโภคกระแสไฟฟ้าในราคาต่ำ ทำให้ลิกไนต์ใต้พื้นดินไทยเป็นทรัพยากรมีค่าขึ้นทันควันในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเมื่อ
19 ปีก่อน ทว่าความกระหยิ่มใจกับไฟฟ้าราคาถูกครั้งนั้น กลายเป็นเรื่องเศร้าของ
5000 ครอบครัวต้องรับเคราะห์ จากฤทธิ์เดชของมลพิษและแม้ว่ากฟผ. จะไม่นิ่งเฉยต่อผลร้ายเข้าแก้ไขแบบวัวหายล้อมคอก
ก็มิได้เป็นหลักประกันอนาคตว่าจะไม่เกิดเหตุช้ำรอยเดิม
การใช้ลิกไนต์ผลิตไฟฟ้าที่แม่เมาะ แม้จะมีราคาถูก แต่ต้องใช้ต้นทุนทางสังคมที่สูงมาก
มาถึง ณ วันนี้ คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธแล้วว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะสร้างสภาวะแวดล้อมเป็นพิษ
ทำให้เกิดความเสียหายทั้งคน สัตว์และพืชอย่างรุนแรง
อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กลายเป็นแพะรับสารพิษเพื่อคนไทยทั่วประเทศให้มีกระแสไฟฟ้าใช้ทุกวัน
โดยไฟฟ้าที่แจกจ่ายไปตามสายส่งไฟส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะถึง 27% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
ทั้งนี้เพราะลึกลงไปใต้ดินของพื้นดินแถบนั้น มีถ่านลิกไนต์ทับถมกินอาณาเขตกว้างขวาง
ยิ่งทำการสำรวจก็ยิ่งพบปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพบว่ามีปริมาณที่คาดว่าจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง
1,170 ล้านตัน เท่ากับว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไปได้อีกเกือบ
80 ปี โดยเฉลี่ยใช้ปีละ 15 ล้านตัน
การค้นพบแหล่งลิกไนต์ขนาดใหญ่เช่นนี้ควรเป็นสิ่งน่ายินดีเพราะเท่ากับว่าคนไทยจะมีไฟฟ้าใช้ราคาต่ำอีกนานถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
เพราะเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ
ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากการใช้ลิกไนต์ตกประมาณ 60-65 สตางค์ต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมง
(1KHH) เทียบกับ 1.50 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ชั่วโมงของการใช้ก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวในกฟผ.
บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ถ้าต้องใช้อุปกรณ์เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลงในหน่วยผลิตอีกต้นทุนจะเพิ่มกว่า
1.00 บาทแน่นอน นอกจากนี้ยังมีต้นทุนสังคมสูงมากด้วย
เพราะเกิดเหตุคนล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอักเสบ ตาอักเสบ ปอดอักเสบ แน่นหน้าอกพร้อมกับจำนวนพัน
สัตว์ป่วยด้วยโรคผิวหนังและล้มตายลงรวมกันจำนวนเกือบร้อย อีกทั้งพืชไร่เสียหายเป็นรอยแต้มควันสีขาวและสีทองสัมฤทธิ์หลายร้อยไร่
จนก่อให้เกิดข้อสงสัยทีหยิบยกขึ้นถกเถียงกันมากหลังจากเกิดเหตุระลอกสองเมื่อเช้าตรู่วันที่
21 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า เพราะเหตุไร สารพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะจึงเพิ่งมาสำแดงฤทธิ์ตอนนี้
ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งมานานตั้งแต่ปี 2521
ในตอนนั้นทางการไฟฟ้าการผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ชี้แจงว่า กรณีปล่อยสารพิษครั้งแรกเมื่อ
3 ตุลาคม 2535 มีสาเหตุมาจากเครื่องดักจับฝุ่นของโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่
2 ขัดข้องเนื่องจากเครื่องเก็บขี้เถ้าเกิดปัญหาอุดตันระหว่างเวลา 15.05 น.ของวันที่
1 ตุลาคม 2535 จนถึงเช้า 07.05 น.ของวันรุ่งขึ้น รวมเวลา 16 ชั่วโมง ทำให้มีการระบายฝุ่นและขี้เถ้าออกมามากกว่าปกติ
ขี้เถ้าเป็นกากที่เกิดจากการเผาไหม้ลิกไนต์เพื่อแปรเป็นพลังงานความร้อน
มีจำนวนมากถึง 25% ของลิกไนต์ที่นำมาเผาไหม้ หรือเมื่อคิดเป็นจำนวนต้นจากการใช้ลิกไนต์ทั้งหมดวันละ
42,800 ตันป้อนโรงไฟฟ้าทั้ง 11 โรง จะเท่ากับมีขี้เถ้าประมาณ 10,700 ตัน/วัน
จากจำนวนขี้เถ้ารวม จะมีการแบ่งขี้เถ้าออกเป็น 2 ส่วนคือ ขี้เถ้าหนัก หรือ
WET ASH มีจำนวน 15% ของขี้เถ้ารวม จะตกลงสู่ก้นเตาและถูกลำเลียงออกจากเตาโดยระบบสายพานเหล็ก
ขี้เถ้าส่วนที่เหลือ 85% คือ ขี้เถ้าเบา หรือ FLY ASH จะปนไปกับก๊าซร้อนออกสู่ปล่องควัน
จากจำนวนขี้เถ้าเบามีถึง 85% หรือ 9.095 ตัน/วัน ทำให้ต้องมีการติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นไฟฟ้าสถิตย์หรือ
ELECTROSTATIC PRECIPITATOR เพื่อแยกฝุ่นออกจากก๊าซร้อนก่อนจะปล่อยก๊าซออกทางปล่องควัน
ซึ่งทางกฟผ. แม่เมาะบอกว่ามีประสิทธิภาพดักฝุ่นถึง 90-99%
ฉะนั้นเช้าวันที่ 2 ตุลาคม ทางกฟผ. บอกว่าเครื่องดักจับฝุ่นหน่วยที่ 2
เสีย เท่ากับว่าลิกไนต์ที่ใช้เผาเฉพาะหน่วยที่ 2 วันละประมาณ 1,467 ตันกลายสภาพเป็นขี้เถ้าเบา
312 ตัน ถูกปล่อยทางปล่องควันฟุ้งกระจายทั่วพื้นที่เขตตำบลสบป้าด ตำบลจางเหนือ
และตำบลนาสัก
อย่างไรก็ดี วิทยา คชรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวนการโรงไฟฟ้าแม่เมาะกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่าสาเหตุที่แท้จริงของเช้าวันที่ 3 มิใช่เกิดจากเครื่องดักฝุ่นเสีย
เพราะว่าได้ทำการซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เช้าวันที่ 2
ทว่าสาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะสภาพอากาศเช้าวันนั้นมีสภาพอากาศปิด เนื่องจากความกดอากาศสูงและเกิดการผกผันของชั้นอุณหภูมิอากาศระดับ
100 และ 200 เมตร ทำให้ฝุ่นและควันจากโรงไฟฟ้าถูกปิดกั้นไม่สามารถแพร่กระจายสู่บรรยากาศได้ดีเท่าที่ควร
และลมมีทิศทางพัดจากโรงไฟฟ้าไปยังหมู่บ้านสบป้าดด้วยความเร็ว
"ฉะนั้นหากเป็นหน้าร้อนแล้ว ขี้เถ้าเหล่านี้จะไม่สร้างปัญหา เพราะจะกระจายไปทั่วเลย"
วิทยาอธิบายกับ "ผู้จัดการ"
สำหรับเหตุการณ์ระลอกที่ 2 เมื่อ 20 ตุลาคม 2535 ทางกฟผ. ให้เหตุผลว่า
ช่วงเวลา 10.00-14.00 น.มีความกดของอากาศสูง และชั้นความผกผันของอุณหภูมิระดับ
200 เมตร ทำให้การแพร่กระจายของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไม่ดีพอ ทำให้เกิดปัญหาในวันที่
20 ตลอดจนถึงเช้าของวันที่ 21 ต่อเนื่องถึงวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งส่งผลร้ายแรงกว่าครั้งแรกหลายเท่า
"และอาจจะเป็นเพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างเช่นการตัดไม้ทำลายป่า
หรือการวางแนวสายส่งไฟฟ้า 500 เควี เป็นแนวสายส่งโรงผลิตไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11
โดยต้องตัดต้นไม้ออกเป็นแนวข้างละ 35 เมตร ทำให้ก๊าซไหลไปทางช่องทางนี้ ซึ่งผ่านข้างๆ
หมู่บ้านที่เกิดปัญหา ของเดิมมีต้นไม้กั้นอยู่ก็พอช่วยซึมซับก๊าซไปบ้าง"
วิทยาแสดงความเห็นถึงสาเหตุของผลกระทบต่อ 3 ตำบล ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กฟผ.คาดไม่ถึง
จากเหตุการณ์ครั้งที่ 2 ทำให้รู้ว่านอกเหนือจากปัญหากากขี้เถ้าเบาแล้ว
ยังมีปัญหาที่ควบคู่กันอีก คือกำมะถันในลิกไนต์
จากข้อมูลการสำรวจลิกไนต์ที่ขุดได้จากเหมืองแม่เมาะส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของกำมะถัน
(SULFUR) ค่อนข้างสูงคือ มีค่ากำมะถันต่ำสุด 0.85% จนถึงสูงสุด 12.79% คิดเป็นค่าเฉลี่ยจะเท่ากับ
3.21%
การมีค่ากำมะถันมากย่อมส่งผลโดยตรงต่อมลพิษแวดล้อม เมื่อมีการเผาเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันหรือในกรณีนี้คือลิกไนต์
เรียกว่ากำมะถันออกไซต์ซึ่งกำมะถันออกไซด์ที่ปล่อยออกมาเกือบทั้งหมดจะเป็นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
(SO2) และภายในครึ่งวันถึงสองวันเมื่อก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO3) และจะถูกดูดกลืนอย่างรวดเร็วโดยฝนหรือเมฆกลายเป็นกรดกำมะถัน
(H2SO4) ก่อให้เกิดหมอกน้ำค้างของกรดกำมะถัน
"วันเกิดเหตุครั้งที่สอง เป็นวันที่หมอกลงตั้งแต่ตีห้าถึงเช้าสิบโมงครึ่งก็ยังไม่จางเลย
เป็นวันที่ความชื้นในอากาศสูงมาก ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่รวมตัวกันกลายเป็นซัลเฟอร์ไตรออกไซด์
ก็จะรวมตัวกับน้ำ แต่ไม่ใช่เป็นฝน เราเรียกว่าเป็นหมอกกรด ไม่ใช่ ฝนกรด"
จิรพล สินธุนาวา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร
อธิบายปรากฎการณ์กับ "ผู้จัดการ"
ด้วยเหตุนี้เมื่อค่าเฉลี่ยกำมะถันของลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะสูงถึง 3.21%
ซึ่งสูงกว่าเหมืองอื่นๆ ในต่างประเทศ เช่นที่ออสเตรเลียมีเพียง 0.5-1% หรือแม้กระทั่งบ้านใกล้เรือนเคียง
ที่แขวงหงสาประเทศลาว ก็มีค่าเฉลี่ยของกำมะถันต่ำมากเพียง 0.81% เท่านั้น
ย่อมหมายถึงว่าความระวาดระวังปัญหามลภาวะอันเกิดจากฝุ่นขี้เถ้าและกรดกำมะถัน
ควรต้องสูงตามค่าของกำมะถันด้วยเช่นกัน
ทว่าความคิดเห็นของกฟผ.ต่อกรณีที่เกิดขึ้นมักกล่าวอ้างว่า เป็นเพราะสภาวะผันแปรของธรรมชาติมากกว่าจะพูดถึงความบกพร่องของระบบการทำงานของโรงไฟฟ้า
กระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเรียกว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง
โดยแปรสภาพพลังงานที่สะสมในลิกไนต์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยใช้น้ำเป็นตัวกลาง
ลิกไนต์จะถูกย่อยให้เล็ก บดจนป่น แล้วพ่นเข้าเตาต้มน้ำให้กลายเป็นไอน้ำที่มีอุณหภูมิและความดันสูง
เป็นการเปลี่ยนพลังงานความร้อนของไอน้ำเป็นพลังงานกล โดยส่งไอน้ำไปหมุนเครื่องกังหันไอน้ำ
แล้วจึงเปลี่ยนจากพลังงานกลให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยให้กังหันไอน้ำไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
ต่อจากนั้นจะถูกส่งเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อเพิ่มแรงดันให้สูงขึ้นแล้วส่งเข้าระบบสายส่งไฟฟ้าไปทั่วประเทศ
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะหน่วยแรกเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2521 มีกำลังผลิต
75 เมกะวัตต์ปีถัดมาเริ่มเปิดหน่วยที่ 2 และหน่วยที่ 3 ในปี 2524 ซึ่งมีกำลังผลิตต่อหน่วยเท่ากับหน่วยที่
1 โรงไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยรวมกันจะใช้ลิกไนต์ 4,400 ตันต่อวัน
หลังจากนั้นกฟผ.ได้มีการขยายกำลังผลิตเรื่อยมาจากหน่วยละ 75 เมกกะวัตต์เพิ่มเป็น
150 เมกะวัตต์ต่อหน่วย ให้กับโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 4-7 ซึ่งต้องใช้ลิกไนต์รวมกัน
13,200 ตัน/วัน
และต่อมาเมื่อมีการสร้างโรงไฟฟ้าหน่วนที่ 8-11 ได้เพิ่มการผลิตขึ้นอีกเป็น
300 เมกะวัตต์ต่อหน่วย ทำให้ต้องใช้ถ่านหินลิกไนต์รวมกัน 25,200 ตัน/วัน
เมื่อรวมยอดกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะผลิต จะเท่ากับ 2,025
เมกะวัตต์ซึ่งต้องใช้ลิกไนต์วันละ 42,800 ตัน/วัน
"ที่ผ่านมาปัญหามลพิษที่แม่เมาะไม่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้ ผมคิดว่าเป็นเพราะปีนี้เราเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง
600 เมกะวัตต์ คือจาก 1,425 เป็น 2,025 เมกะวัตต์" ปรีดา วิบูลสวัสดิ์
แสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมในการสัมมนา ASIAN ACID RAIN
EMISSION
การเพิ่มกำลังผลิตย่อมสัมพันธ์กับจำนวนลิกไนต์ เมื่อผลิตมากย่อมใช้ลิกไนต์มากเป็นเงาตามตัวซึ่งหมายถึงว่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกปล่องต้องสูงตามไปด้วย
จากรายงานที่กฟผ.เสนอต่อธนาคารโลกเพื่อขอเงินทุนสนับสนุนพัฒนาถ่านลิกไนต์ให้เป็นแหล่งพลังงานของประเทศ
เมื่อปี 2532 ได้เสนอตัวเลขการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ว่า
ถ้าโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-9 เดินเครื่องผลิตกระแสไฟ 24ชั่วโมง จะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
960 ตัน/วัน
และถ้าเพิ่มกำลังผลิตขึ้นอีก คือจากโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-11 จะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงถึง
1,350 ตัน/วัน
"ซึ่งถ้าคุณเอารถบรรทุกขยะกทม.มาบรรทุกก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 960
ตัน คุณต้องใช้รถ 240 คัน ถ้ารถคันแรกอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคันสุดท้ายจะอยู่ที่สยามสแควร์
แต่ถ้าคุณเดินเครื่องทั้ง 11 โรงคุณต้องใช้รถขยะถึง 340 คัน เท่ากับระยะทางจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และต่อวัน ไม่ใช่ต่อเดือนหรือต่อปี" จิรพล กล่าวเปรียบเทียบให้เห็นปัญหาชัดยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้นการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จึงมิใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น
ตรงข้ามเป็นการสะสมต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่มีโรงไฟฟ้า เพียงแต่ว่าปีที่ผ่านมาการแพร่ของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่บริเวณเนื้อที่ป่าเขามากกว่า
ไม่ได้รวมตัวกันเป็นหมอกกรอตกลงที่หมู่บ้าน
"ตอนสร้างโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 ไม่ได้ใส่เครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
เพราะจากการศึกษาบอกว่าไม่มีปัญหา ประกอบกับถ้าใส่เครื่องดักตอนนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก
เราต้องคำนึงถึงสภาพที่เหมาะสมกับการลงทุนทางเศรษฐกิจที่ไม่ทำให้เดือดร้อนด้วย
เราจึงต้องเอาของถูกไว้ก่อนเพราะว่าประเทศเราไม่ค่อยมีเงิน เหมือนเราซื้อรถเมื่อมีเงินน้อยเราก็ซื้อรถญี่ปุ่นไปก่อน
พอมีเงินก็ค่อยเปลี่ยนเป็นรถยุโรปทีหลัง เหตุนี้โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 12-13 ที่กำลังสร้าง
จึงมีเครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วย" วิทยา ให้เหตุผลการไม่ใส่เครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
เพราะเฉพาะแค่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า 8-11 ต้องใช้เงินรวม 36,231 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของกฟผ.แม่เมาะ หลังจากเกิดเหตุการณ์เดือนตุลาคมจึงใช้วิธีการลดกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า
เพื่อมิให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นในบรรยากาศ
สัดส่วนการลดกำลังผลิตจำนวนเท่าไร ขึ้นอยู่กับค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งตามมาตรฐานของสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดเฉลี่ย
24 ชั่วโมง ไม่เกิน 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
โดยที่รถตรวจสอบคุณภาพอากาศของกฟผ.แม่เมาะที่ส่งไปประจำตำบลสบป้าดเมื่อวันที่
21 ตุลาคม จะรายงานคุณภาพอากาศทุกชั่วโมงทางวิทยุมายังศูนย์ควบคุมโรงไฟฟ้า
ถ้าเมื่อใดค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ขึ้นมาถึง 250 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทางโรงไฟฟ้าจะลดกำลังผลิตทันที
ที่โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-3 เครื่องละ 30 เมกะวัตต์รวมกันเท่ากับ 90 เมกะวัตต์
แล้วดูแนวโน้มของซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ถ้ายังมีทีท่าว่าจะขึ้นสูงอีกถึง 280 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ศูนย์ควบคุมจะสั่งลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าหน่วยที่
4-7 เครื่องละ 30 เมกกะวัตต์ เช่นกัน รวมกันเท่ากับ 120 เมกะวัตต์
รวมทั้งจะลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 รวมกันเท่ากับ 200 เมกะวัตต์หรือเฉลี่ยลดหน่วยละ
50 เมกะวัตต์
เท่ากับว่าในขั้นที่สอง การลดกำลังผลิตทั้งสิ้นจะเท่ากับ 410 เมกะวัตต์
หรือ 20% ของกำลังผลิตทั้งหมด 2,025 เมกะวัตต์
และหากว่าลดขนาดนี้แล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะสูงถึง 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรก็จะทำการลดที่หน่วย
8-11 รวมกันอีก 200 เมกะวัตต์
ฉะนั้นขั้นสุดท้ายคือลดกำลังผลิต 610 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด
"เราสั่งลดได้ทันที่ แต่ละเครื่องจะลดได้ 5 เมกะวัตต์/นาที ทีนี้เราลด
8 เครื่องก็เท่ากับ 40 เมกะวัตต์/นาที" วิทยาเล่าความรวดเร็วของการลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าหน่วยที่
8-11 รวมกันเท่ากับ 200 เมกะวัตต์หรือเฉลี่ยลดหน่วยละ 50 เมกะวัตต์
เท่ากับว่าในขั้นที่สอง การลดกำลังผลิตทั้งสิ้นจะเท่ากับ 410 เมกะวัตต์
หรือ 20% ของกำลังผลิตทั้งหมด 2,025 เมกะวัตต์
และหากว่าลดขนาดนี้แล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะสูงถึง 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรก็จะทำการลดที่หน่วย
8-11 รวมกันอีก 200 เมกะวัตต์
ฉะนั้นขั้นสุดท้ายคือลดกำลังผลิต 610 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด
"เราสั่งลดได้ทันที แต่ละเครื่องจะลดได้ 5 เมกะวัตต์/นาที ที่นี้เราลด
8 เครื่องก็เท่ากับ 40 เมกะวัตต์/นาที" วิทยาเล่าความรวดเร็วของการลดกำลังผลิต
ถึงแม้ว่าทางกฟผ.จะพยายามแก้ไขโดยปรับกำลังผลิตกระแสไฟ โดยให้โรงไฟฟ้าแห่งอื่นรับภาระแทน
แต่ใช่ว่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ลดน้อยลงตามสัดส่วนของการลดกำลังผลิตจะมิได้สร้างปัญหา
เพียงแค่ 2 อาทิตย์เศษหลังจากกฟผ.เข้มงวดค่าระดับของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ปรากฎว่าผลการตรวจคุณภาพอากาศของศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต 10 ซึ่งประจำที่โรงเรียนบ้านสบป้าด
ระบุว่าวันที่ 7 พฤศจิกายน เวลา 11.00 น. ระดับของซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงถึง
1,206.71 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แล้วจึงค่อยๆ ลดระดับลงจนต่ำกว่าค่ามาตรฐานในช่วงบ่ายเวลา
15.00 น.
ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ยังไม่หายดีจากคราวที่แล้วและรักษาตัวที่บ้าน เกิดอาการแน่นหน้าอกอีก
รวมทั้งพืชผักสวนครัวมีสภาพเหี่ยวเฉาลง จนไม่มีใครกล้านำมาทำอาหาร
พอถัดไปอีก 2 อาทิตย์ เหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมวันที่ 7 เกิดขึ้นอีก 2 ครั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
"การที่พูดว่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะจางหายไปเองในบรรยากาศ เป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก
ก๊าซจะสลายตัวเองได้อย่างไรจะลอยไปโลกพระจันทร์ก็ไม่ได้ เพราะแรงกดของบรรยากาศต้องตกลงมาอย่างแน่นอน
ไม่ตกที่หมู่บ้านนี้ก็ต้องไปตกที่ใดที่หนึ่งอย่างเช่นก๊าซจากโรงไฟฟ้าของอเมริกาทำให้เกิดฝนกรดตกที่แคนาดา"
จิรพลบอกกับ "ผู้จัดการ"
"ร่างกายจะรับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์คล้ายคลึงกับการสูบบุหรี่ คือจะเป็นการค่อยๆ
สะสมทีละนิดๆ เมื่อสะสมมากร่างกายทนไม่ไหวก็ออกอาการ ฉะนั้นผู้ที่ไม่ได้ป่วยตอนนี้มิใช่ว่าจะไม่มีก๊าซในร่างกายเพียงแต่ว่าภูมิต้านทานของเขาอาจจะดีกว่าคนป่วยซึ่งต่อไปวันหนึ่งข้างหน้า
ถ้ายังได้รับเพิ่มเติมอีกก็อาจล้มป่วยลงได้" นภดล สมบูรณ์ สาธารณสุขจังหวัดลำปางชี้ให้เห็นถึงพิษของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
เมื่อ 7 ปีที่แล้วทางสาธารณะสุขเคยทำหนังสือเตือนถึงกฟผ.แม่เมาะ เนื่องจากอัตราผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจสูงขึ้นผิดปกติ
และผู้ที่เคยรับการรักษาแล้ว ก็ยังต้องกลับมาหาแพทย์อีกเรื่อยๆ
ผลของการแก้ปัญหาระยะสั้นของกฟผ.แสดงให้เห็นชัดว่ายังคงมีปัญหา ส่วนแผนการระยะยาวก็ใช่ว่าจะช่วยให้ปัญหาหมดไป
ข้อเสนอของกฟผ.คือขอให้มีการติดตั้งเครื่องจำกัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
(FLUE-GAS DESULFURIZATION หรือ FGD) ที่โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11 คิดเป็นค่าใช้จ่ายการติดตั้ง
10,000 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษาอีกปีละ 3,500-4,000 ล้านบาท โดยต้องใช้เวลากว่าจะเสร็จประมาณ
3-4 ปี
เท่ากับว่าช่วงเวลาการก่อสร้าง ชาวอำเภอแม่เมาะมีโอกาสประสบพิษภัยได้ตลอดเวลา
อีกทั้งเมื่อทำการก่อสร้างเสร็จเครื่องดักก๊าซจะทำงานเฉพาะโรงไฟฟ้าหน่วยที่
8-11 เท่านั้น ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-7 ก็ยังคงปล่อยก๊าซตามปกติเช่นเดิม
ซึ่งหากคำนวณจากรายงานของกฟผ.เสนอต่อธนาคารโลกแล้ว โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-7
จะปล่อยก๊าซ 570 ตัน/วัน หรือเท่ากับต้องใช้รถบรรทุกขยะประมาณ 142 คัน
ด้วยเหตุนี้ข้อเสนอของกฟผ.จึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมาก ว่ามีนัยผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่?
นอกจากนี้แล้วภาระค่าใช้จ่ายการติดตั้งและบำรุงรักษาเฉลี่ยประมาณ 0.25
บาท/กิโลวัตต์ จะตกอยู่กับประชาชนต้องเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นประมาณ 0.05-0.10
บาท/กิโลวัตต์อีกด้วย
ในด้านของนักวิชาการสิ่งแวดล้อมมีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเช่นกัน จิรพล
สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยกรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายวิธีลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
คือ ขั้นแรกต้องผ่านขบวนการที่เรียกว่าล้างหรือแต่งลิกไนต์เสียก่อน หรือลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลิกไนต์ที่มีถึง
3% เศษ ให้ลดลงเหลือ 1.5%
ขั้นต่อมาพอมาถึงโรงไฟฟ้า ให้ปรับเปลี่ยนใช้เตาเผาชนิด FLUIDIZIED-BED
COMBUSTION หรือ FBC คือ การผสมปูนขาวหรือหินปูนกับลิกไนต์หินปูนจะรวมตัวกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์
เมื่อเกิดการเผาไหม้จะกลายเป็นแคลเซียมซัลเฟต ซึ่งจะช่วยลดก๊าซได้ถึง 90-98%
รวมทั้งลดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ด้วย
FBC เป็นวิธีการใช้ได้ผลดีในอังกฤษ สวีเดน ฟินแลนด์ สหภาพโซเวียต เยอรมัน
และจีน รวมทั้งยังลงทุนน้อยกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย
อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าวิธี FBC จะช่วยลดก๊าซพิษ โดยไม่ต้องติดตั้งเครื่องกำจัดก็ตาม
แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่ปริมาณฝุ่นจะเพิ่มขึ้น ทำให้เครื่องดักฝุ่นจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม
ข้อแนะนำให้ใช้ FBC เป็นข้อเสนอข้อหนึ่งใน 18 ข้อของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร
ระบุว่าควรปรับเปลี่ยนเตาเผาหน่วยที่ 8-11 เป็นแบบ FBC รวมทั้งให้พิจารณาความเป็นไปได้สำหรับโรงไฟฟ้าที่กำลังสร้างคือหน่วยที่
12-13 ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-7 ให้ใช้ลิกไนต์ที่มีกำมะถันต่ำในการเผาไหม้
ทางด้านคณะกรรมาธิการควบคุมมลพิษกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พิจารณาแนวทางของ
ปรีดา วิบูลสวัสดิ์ รองอธิการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นข้อเสนอสอดคล้องกับกฟผ.
ในเรื่องการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซ FGS ที่โรงไฟฟ้าหน่วยที่ 8-11
นอกจากนี้ยังเสนอให้ใช้วิธีการ SORBENT INJECTION กับโรงไฟฟ้าหน่วยที่
4-7 ซึ่งวิธีนี้สามารถกำจัดก๊าซได้เพียง 50-60% แต่ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งจะน้อยกว่าเท่าตัว
คือจะใช้เงินประมาณ 5 พันล้านบาท
ส่วนโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 1-3 คงไว้เช่นเดิม
หลังจากติดตั้งตามข้อเสนอของปรีดา แล้วปริมาณก๊าซพิษออกจากปล่องควันสู่บรรยากาศจาก
538,000 แสนตัน/ปี หรือ 1,473 ตัน/วัน (การคำนวณตัวเลขปล่อยสารพิษของปรีดาสูงกว่าตัวเลขที่กฟผ.เสนอธนาคารโลก)
จะลดลงเหลือประมาณ 153,000 ตัน/ปี หรือเท่ากับ 419 ตัน/วัน
ซึ่งก็ยังคงเป็นตัวเลขมิใช่น้อยเลย
หนทางแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองทั้งในด้านให้มีกระแสไฟฟ้าใช้เพียงพอและไม่ปล่อยพิษสู่สิ่งแวดล้อม
จึงค่อนข้างจะเป็นจริงได้ยากเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับความผิดพลาดตั้งแต่ต้นที่สร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะโดยละเลยการควบคุมสารพิษ
วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นแบบลดกำลังผลิตบางช่วง ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น
"การลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะคงทำเพียง 3 เดือน คือเราจะพยายามพยุงไว้ให้พ้นช่วงฤดูหนาวพอถึงฤดูร้อน
สภาวะอากาศปกติเราคงต้องเดินเครื่อง เช่นเดิม" วิทยา ยอมรับกับ "ผู้จัดการ"
เพราะมิเช่นนั้นแล้ว จะก่อให้เกิดปัญหากับการจ่ายไฟทั้งระบบ
เนื่องจากว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในตอนนี้มีเพียง 10% ของกำลังผลิตทั้งหมด
10,800 เมกะวัตต์เท่านั้น หมายความว่าในช่วงที่ใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุด คือช่วงเย็น
18.00-21.00 น. มีกระแสไฟฟ้าสำรองเผื่อให้อีก 10% หรือเท่ากับ 1,080 เมกะวัตต์
ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่เกิดปัญหาเมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา
จนมีเสียงเรียกร้องให้หยุดการทำงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยอนุญาตให้ผลิตกระแสไฟได้ประมาณ
850 เมกะวัตต์ ทางกฟผ.จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการงดจ่ายไฟฟ้าบางพื้นที่
และในระยะยาวปัญหาที่ทางกฟผ.ต้องเผชิญจากการที่ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงขึ้นเป็นผลให้อัตราการใช้กระแสไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มขึ้น
15% ทุกปี
อย่างไรก็ดีทางกฟผ.พยายามหาทางออกอื่นๆ ที่จะได้กระแสไฟฟ้ามาป้อนความต้องการของผู้บริโภค
ได้แก่การซื้อไฟฟ้าจากเอกชนผู้ผลิตรายเล็ก ที่ใช้พลังงานในรูปกาก หรือเศษวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง
ซึ่งได้มีผู้ยื่นเสนอขายแล้ว 10 ราย มีพลังไฟฟ้ารวมประมาณ 75 เมกะวัตต์
อีกหนทางหนึ่งที่กำลังอยู่ขั้นดำเนินการ คือขอชักน้ำจากแม่น้ำสาละวิน ประเทศพม่า
เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในไทย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าที่รัฐบาลไทยแอบอุ้มอย่างลับๆ
จนสร้างปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับรัฐบาลในร่างกุ้งจะมีการผ่อนคลายที่ดีเมื่อไหร่
รวมถึงการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้เร็วยิ่งขึ้น
ก็คงได้เพียงคาดหวังว่า เมื่อถึงวันนั้นประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเดิม