อุดมเป็นคนบุกเบิกการเข้าไปลงทุนและทำมาค้าขายในกัมพูชายุคฟื้นฟู แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองของกัมพูชา
ทำให้ธุรกิจของอุดมเต็มไปด้วยความเสี่ยงภัยสูงโดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลในพนมเปญนำธุรกิจของเขาไปโยงใยกับผลประโยชน์ของเจ้านโรดม
จักรพงศ์ ความเสี่ยงภัยนี้เองคือที่มาของประสบการณ์ที่ลงทุนต้องระวงในกัมพูชา
อุดม ตันติประสงค์ชัย นักธุรกิจไทยผู้เป็นที่รู้จักกันดีในกรุงพนมเปญ เริ่มต้นทำธุรกิจกับกัมพูชาด้วยการทำการค้าหนังสัตว์ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีใครสนใจมากนัก
แต่มันก็ทำให้บริษัทฟูลดา คอร์ปเปอเรชั่นของเขาขยายกิจการได้อย่างไม่หยุดยั้งพัฒนาการทางธุรกิจของฟูลดา
เป็นเสมือนหนึ่งภาพสะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงในกัมพูชาได้อย่างชัดเจน
ไม่ใช่เรื่องที่เกินไปนักหากจะกล่าวว่าอุดมเป็นนักรบทางธุรกิจรุ่นแรกๆ
ของไทยที่เข้าไปบุกเบิกธุรกิจในกัมพูชา ธุรกิจของเขาเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของประเทศกรำสงคราม
อย่างกัมพูชา บริษัทฟูลดาเริ่มทำธุรกิจแรกคือค้าหนังสัตว ์เพราะเหตุที่ฐานทางธุรกิจเดิมคือโรงฟอกหนังซึ่งมีอยู่ประมาณ
7-8 แห่งในกรุงเทพฯ เป็นธุรกิจครอบครัว ใช้ชื่อว่า ลักษมีไทย ต่อมาภาพหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทธารทิพย์
ธุรกิจในพนมเปญเป็นธุรกิจที่แตกออกไปเพื่อหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงาน
จากธุรกิจเก่าแก่และล้าสมัยพอๆ กับเศรษฐกิจของกัมพูชา อุดมขยายแนวทางไปสู่การขนส่งทางน้ำ
"แรกๆ ที่เราเข้าไปทำธุรกิจหนังเราก็พบว่าจะต้องพึ่งพิงเรือต่างชาติอย่างมาก
เกิดความไม่สะดวกหลายประการ เพราะไม่เพียงราคาแพงแต่ยังต้องคอยคิว เราก็ตัดสินใจซื้อเรือขนสินค้าของเราเอง
ขนสินค้าของตัวเองได้สักพักหนึ่งก็เห็นว่าการที่ต้องตีเรือเปล่าเข้าไปเอาหนังสัตว์ในกัมพูชาออกจะเป็นการสูญเปล่า
ก็เลยรับสินค้าของคนที่ทำธุรกิจในกัมพูชาเข้าไปด้วย ทำไปทำมาเรือนั่นก็กลายเป็นธุรกิจการขนส่งทางน้ำได้อีก"
อุดมเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงจุดเริ่มการบุกเบิกธุรกิจในกัมพูชา
ปัจจุบันเรือ โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรสไลน์วิ่งขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ-กรุงเทพฯ
ผ่านน่านน้ำเวียดนามเข้าสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเขตของเวียดนามแล้วเข้าสู่ท่าเรือในกรุงพนมเปญมีการลงทุนใช้คอนเทนเนอร์
เพื่อให้บริการได้ครบถ้วนยิ่งขึ้น
หลังปี 2529 เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในโลกคอมมิวนิสต์ กล่าวคือทุกประเทศต่างพากันปฏิรูปทางเศรษฐกิจกันอย่างขนานใหญ่
ตั้งแต่อดีตสหภาพโซเวียต ไล่มาจนถึงเวียดนาม ในจำนวนคอมมิวนิสต์ที่หันมาเอาดีทางการทำมาค้าขายนี้ก็ไม่ได้ยกเว้น
รัฐบาลกัมพูชาในกรุงพนมเปญของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ด้วย
การปฏิรูปที่ไหนๆ ก็เหมือนกันคือมักเริ่มต้นด้วยการขายกิจการที่เคยอยู่ในมือของรัฐให้กับเอกชน
ฟูลดาของอุดมก็ไม่แคล้วที่ต้องพาตัวเองโลดแล่นเข้าไปในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงอันนี้ด้วย
ฟูลดาเริ่มเข้าสู่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการเข้าไปประมูลซื้อกิจการโรงทอผ้า
2 โรงจากรัฐบาลในกรุงพนมเปญและภายใต้สัญญาที่ทำกับรัฐบาล ผู้เข้าประมูลจะต้องจ้างคนงานเก่าซึ่งทำงานอยู่แล้วต่อไป
"เราเริ่มทำกิจการโรงทอผ้าในปี 2532 เพราะรัฐบาลพนมเปญเสนอให้เราเนื่องจากในเวลานั้นรัฐบาลมีนโยบายในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ตอนแรกๆ ใครก็คิดว่าเราซื้อโรงงานได้ในราคาที่ถูกมาก แต่มาคิดอีกทีในตอนนี้มันเป็นราคาที่แพงมากเลย
เพราะตั้งแต่เริ่มทำมากระทั่งปัจจุบันยังขาดทุนอยู่ เนื่องจากเราต้องรับภาระมากมาย
กระแสไฟฟ้าก็ต้องปั่นเองคนงานที่ยังล้นงานอยู่ก็มาก ถ้าถามาว่าคนงานเหล่านี้ปลดได้ไหม?
คำตอบก็คงจะบอกว่าได้ แต่เราก็ไม่อยากจะทำอย่างนั้นเลยเพราะมันเป็นการสร้างปัญหาให้กับสังคมเขมร
จริงๆ ถ้าเราไม่ซื้อโรงงานนี้เสียตั้งแต่แรกก็ไม่มีใครว่าอะไร โรงงานนี้ก็คงจะต้องปิดตัวเองเพราะรัฐบาลรับภาระไม่ไหวแน่นอนมาคิดอย่างนี้เราก็เลยเข้าทำกิจการนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนเขมร"
อุดม เล่าถึงเจตจำนงค์ของกลุ่มฟูลดาต่อสังคมกัมพูชา
แม้ว่าจะยังคงต้องกรำศึกกับเขมรแดงอยู่ในหลายพื้นที่ แต่ทว่ารัฐบาลกัมพูชาในกรุงพนมเปญก็ยังเดินหน้าปฏิรูปทางเศรษฐกิจอยู่อย่างต่อเนื่องเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการที่จะฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศที่ทรุดโทรมอย่างกัมพูชา แน่นอนที่สุดรัฐบาลย่อมไมมีงบประมาณอันมากมายมหาศาลที่จะไปทำโครงการใหญ่ๆ
ได้ ภาคเอกชนจากต่างประเทศจึงได้เข้าไปรับบทบาทอันนี้
โดยความเข้าใจทั่วไป กัมพูชาเป็นประเทศที่เพิ่งเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าใครก็ตามที่ประสงค์จะเข้าทำโครงการต่างๆ แล้วจะสามารถทำได้อย่างง่ายดาย
แม้ว่าเจ้าหน้าที่หรือแม้แต่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบทางด้านการลงทุนของรัฐบาลพนมเปญจะได้เดินทางไปในประเทศต่างๆ
มากมายรวมทั้งประเทศไทยเพื่อเชิญชวนการลงทุนจากต่างประเทศ เสนอกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนที่ดูเสมือนเป็นเรื่องง่าย
แต่ในความเป็นจริงการลงทุนทำโครงการต่างๆ ในกัมพูชาค่อนข้างยาก คนที่จะลงทุนทำโครงการต่างๆ
ได้จะต้องปรากฏว่าเป็นบริษัทที่ได้แสดงผลงานให้รัฐบาลเห็นตามสมควร การที่บริษัมฟูลดาได้ยอมแบกรับภาระทางด้านโรงงานทอผ้าทำให้ได้รับความเชื่อถือในความจริงใจต่อกัมพูชา
อุดมจึงได้รับโอกาสให้เข้าทำโครงการปรับปรุงสนามบินโปเชนตง โครงการดังกล่าวมีมูลค่า
200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแผนที่จะขยายสนามบินเก่าแก่ซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสแห่งนี้ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง
500 คนต่อชั่วโมง แทนที่จะเป็น 100-150 คนต่อชั่วโมงอย่างในปัจจุบัน
นอกจากนี้โครงการปรับปรุงสนามบินยังครอบคลุมไปถึงการขยายอาคารผู้โดยสาร
รันเวย์ และการก่อสร้างคลังสินค้า โครงการนี้แบ่งเป็นหลายระยะซึ่งกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จเอาไว้ภายใน
2 ปี
นับจากออกข่าวเกี่ยวกับโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2534 กระทั่งปัจจุบันโครงการนี้
ยังไม่ได้เริ่มต้นเลยแม้แต่น้อย อุดมได้ชี้แจงต่อ "ผู้จัดการ"
ในเรื่องนี้ว่า "เราไม่ได้ล้มโครงการนี้ แต่รัฐบาลพนมเปญยังไม่อนุญาตให้เราเริ่มโครงการ
เพราะปัญหาคือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนพยายามไปให้ข้อมูลกับทางรัฐบาลว่าจะมีเอกชนรายใหม่ที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีกว่าเรา
เขาก็เลยยังรีรออยู่ไม่ตัดสินใจให้เราลงมือเสียที ทั้งๆ ที่เราได้เสนอแผนการทำงานเข้าไปตั้งแต่เดือนมกราคม
2535"
ในระยะเวลาที่ใกล้กันนั้น อุดมก็เสนอโครงการสายการบินให้กับรัฐบาลพนมเปญอีก
โดยในวันที่ 2 ธันวาคม 2534 บริษัท ฟูลดา คอร์เปอเรชั่น ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับสายการบิน
กัมพูเจีย แอร์ไลน์ซึ่งในเวลานั้นสายการบินแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของการท่าอากาศจรกัมพูชาตั้งเป็นบริษัท
สายการบินนานาชาติกัมพูชา จำกัด (CAMBODIA INTERNATIONAL AIRLINE CO.,LTD.)
และคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพนมเปญได้มีมติอนุมัติในวันต่อมา
ปัจจุบันสายการบินนานาชาติกัมพูชาหรือคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์ไลน์ให้บริการบินในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญด้วย
แต่กว่าที่อุดมจะเอาเครื่องบินขึ้นจากรันเวย์สนามบินโปเชนตงได้ก็ต้องออกแรงไม่น้อยเลยทีเดียว
เนื่องเพราะรัฐบาลในกรุงพนมเปญกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในโดยภายหลังการลงนามในสัญญาปารีสเมื่อเดือนตุลาคม
2534 แล้ว กองกำลังสหประชาชาติจะต้องเข้าไปจัดให้มีการเลือกตั้งในกัมพูชา
เป็นที่ทราบกันดีว่าประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของกัมพูชา คือประวัติศาสตร์ของการรับรองความชอบธรรมในการบริหารประเทศของสมเด็จนโรดมสีหนุ
ในสมัยที่สมเด็จนโรดม สีหนุยังครองกัมพูชาอยู่ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 นั้น
การเลือกตั้งทุกครั้งในสมัยนั้น สมเด็จนโรดม สีหนุ คือผู้ที่มีชัยชนะเหนือคู่แข่งทางการเมืองทั้งหมดอย่างเด็ดขาดการเลือกตั้งในปี
1955, 1958, 1962, และ 1966 พรรคสังคมราษฎร์นิยมของเจ้าสีหนุกวาดที่นั่งในสภาได้ถึง
80% ของทั้งหมด
ปัจจุบันสมเด็จนโรดม สีหนุ กลับมากัมพูชาอีกครั้งหลังจากที่ได้ระหกระเหินอยู่ในต่างแดนกว่า
20 ปี การกลับมาครั้งนี้สมเด็จนโรดม สีหนุ อยู่ในฐานะประธานคณะมนตรีสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาแม้ว่าไม่มีอำนาจ
แต่ทว่าสีหนุก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่คนกัมพูชาทั้งมวลนับถือ รัฐบาลในกรุงพนมเปญของนายฮุน
เซน ย่อมเล็งเห็นประโยชน์ในข้อนี้ดีกว่าใครๆ การทำตัวให้ใกล้ชิดเจ้าสีหนุย่อมจะส่งผลดีต่อการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม
2536
เพราะฉะนั้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 รัฐบาลในกรุงพนมเปญของนายฮุน เซน
จึงได้เชิญ เจ้าฟ้า นโรดม จักรพงษ์ พระโอรสองค์รองของสมเด็จ นโรดม สีหนุเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
โดยเจ้าจักรพงษ์จะได้ควบคุมงานทางด้านเศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบิน
กิจการบินของสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ ก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองนี้ด้วยเพราะ
2-3 วันก่อนที่เจ้าจักรพงษ์จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างเจ้าจักรพงษ์และผู้แทนบริษัทฟูลดา
เจ้าจักรพงษ์ได้แจ้งให้ทราบว่าจะขอแก้ไขสัญญาร่วมทุนที่ได้มีการลงนามกันไปแล้ว
เจ้าจักรพงษ์เห็นว่าสัดส่วนการถือหุ้นไม่ถูกต้องและได้ชี้แจงว่าหน้าที่ในการอนุมัติสัญญาต้องอยู่ในความดูแลของพระองค์
ถ้าฟูลดาไม่ยอมเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขสัญญา
ทางบริษัทฟูลดาก็ได้ตอบไปว่าถ้าเป็นการตัดสินใจจากคณะรัฐมนตรีบริษัทก็ยอมที่จะแก้ไขสัญญาตามที่เรียกร้อง
ในเดือนมีนาคมมีการประชุมเกี่ยวกับรายละเอียดในการดำเนินการบิน เช่นเรื่องสำนักงาน
แต่ในเรื่องการรับพนักงาน และการฝึกอบรมลูกเรือไม่มีคำตอบจากเจ้าจักรพงษ์เกี่ยวกับเรื่องนี้
และเป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าจักรพงษ์จะไม่ให้ความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการร่วมทุนระหว่างฟูลดาและการท่าอากาศจรกัมพูชา
เดือนเมษายนการเปิดทำการบินระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญยังคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะทำได้เพราะส่วนหนึ่งกรมการบินพาณิชย์ของไทยก็ยังไม่อนุมัติเส้นทางการบิน
แก้ว สาพอลผู้อำนวยการการท่าอากาศจรกัมพูชาในฐานะประธานอำนวยการสายการบินคัมโบเดีย
แอร์ไลน์ เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อพบกับ ดร.ศรีสุข จันทรางสุอธิบดีกรมการบินพาณิชย์
(ในเวลานั้น) เพื่อขอสิทธิ์ในเส้นทางการบินพร้อมทั้งได้ยืนยันเป็นการส่วนตัวว่าสายการบิน
คัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ เป็นสายการบินแห่งชาติกัมพูชา
ดร.ศรีสุข ได้สัญญาจะให้สิทธิในเส้นทางการบินโดยอาศัยแนวทางที่มาจากข้อตกลงระหว่างไทย-กัมพูชาที่ทำกันขึ้นเมื่อวันที่
24 ตุลาคม 2534 ที่เชียงใหม่ แต่พอ แก้ว สาพอลเดินทางกลับพนมเปญเรื่องสิทธิในเส้นทางการบินก็ยังยืดเยื้ออยู่ต่อไป
ทั้งดร.ศรีสุขยังได้ร้องขอทราบฐานะที่แท้จริงของสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล
แอร์ไลน์
ปลายเดือนเมษายน แก้ว สาพอล ได้บอกกับอุดมว่าเจ้าจักรพงษ์ไม่เห็นด้วยที่จะให้สายการบินคัมโบเดีย
อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ทำการบินและขอให้อุดมเข้าพบเจ้าจักรพงษ์อุดมก็ยอมเข้าพบเจ้าจักรพงษ์
เพื่อขออนุญาตทำการบินในที่สุดเขาก็สามารถทำความพอพระทัยให้เจ้าจักรพงษ์ได้สำเร็จ
"ประเด็นที่มีการยกขึ้นมาในเวลานั้นคือบอกว่าเราผิดสัญญา โดยอ้างว่าในสัญญาระบุเอาไว้ว่าจะต้องทำการบินภายใน
90 วัน เขานับเวลาตั้งแต่เรายื่นเรื่องขอจัดตั้งบริษัทคือวันที่ 10 มกราคม
2535 แต่กว่าจะได้รับอนุมัติก็วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เมื่อล่วงเลยมาถึงเดือนเมษายนเขาก็เห็นว่าเกิน
90 วันตามสัญญาแล้ว แต่เราก็โต้แย้งว่าการเริ่มนับตั้งแต่วันยื่นเรื่องไม่ถูกต้อง
ควรจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการอนุมัติกระทั่งถึงวันที่เราเปิดทำการบินคือวันที่
9 พฤษภาคม ก็ยังไม่ถึง 90 วัน" อุดมย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ"
ฟังถึงการต่อสู้ทางธุรกิจของเขา
แม้กระทั่งสามารถเปิดทำการบินได้แล้วประมาณ 1 เดือน สายการบินของอุดมก็พบกับอุปสรรคอีกในวันที่
17 มิถุนายน การท่าอากาศจรกัมพูชาได้ส่งจดหมายมาถึงบอกว่าคณะรัฐมนตรี โดยคำสั่งของเจ้านโรดมจักรพงษ์ให้ยกเลิกสัญญาร่วมทุนระหว่างการท่าอากาศจรกัมพูชา
กับบริษัทฟูลดา ด้วยเหตุที่ทางรัฐบาลกัมพูชาไม่มีเงินทุนเพียงพอ ความหมายของจดหมายฉบับนี้คือรัฐบาลกัมพูชาโดยการตัดสินใจของเจ้าจักรพงษ์จะไม่เข้าร่วมเสี่ยงภัยในธุรกิจการบินกับอุดมอีกต่อไป
และกิจการบินดังกล่าวก็เป็นเรื่องของบริษัทเอกชนที่รัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง
อุดมก็แก้เกมนี้ด้วยการตอบกลับไปว่าเรื่องนี้จะต้องมาจากการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ
ถ้าหากไม่ปรากฏว่าเป็นการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเรื่องนี้ก็ไม่มีผล
และที่สำคัญในความเป็นจริงแล้วการร่วมทุนดังกล่าวรัฐบาลกัมพูชาก็ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องออกเงินแม้แต่เรียลเดียว
เขาจึงส่งจดหมายตอบไปว่า
"…เราประหลาดใจที่ได้รับจดหมายจากท่านซึ่งบอกให้เราเปลี่ยนแปลงฐานะ
เท่าที่เราเข้าใจรัฐบาลกัมพูชาจะให้หลักประกันแก่นักลงทุน ไม่ว่านักลงทุนภายใจประเทศหรือนักลงทุนจากต่างประเทศว่ารัฐบาลจะรักษาสัญญาที่ได้ลงนามเอาไว้กับนักลงทุนทั้งหลาย
ในฐานะของนักลงทุนชาวต่างประเทศคนหนึ่งที่ได้ทำธุรกิจอยู่ในกัมพูชามา 2-3
ปีเราเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสัญญาใดๆ จะต้องมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นับแต่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจแบบเสรี
รัฐบาลกัมพูชาก็ได้ประกาศหลักการนี้ต่อนักลงทุนอยู่เสมอๆ เราใคร่ขอยืนยันต่อท่านว่าตราบใดที่บริษัทของเราไม่ผิดสัญญารัฐบาลก็ชอบที่จะให้ความคุ้มครองสัญญาการร่วมทุนของเรา
ซึ่งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลได้เป็นผู้อนุมัติเอง และประการสำคัญสัญญาของเราก็อิงอยู่บนกฎหมายว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ
ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1989 และประกาศใช้ในวันที่
26 เดือนเดียวกัน กฎหมายก็ควรจะเป็นกฎหมาย…"
อุดมวิ่งเต้นหาคำแนะนำจากรัฐมนตรีหลายท่านในรัฐบาลในกรุงพนมเปญ ก็ได้ความว่าหลายท่านก็เห็นว่าคำสั่งของเจ้าจักรพงษ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่ทว่าเจ้าจักรพงษ์ดูเหมือนจะไม่ยอมให้เรื่องนี้ผ่านไปง่ายๆ
ในเดือนสิงหาคมมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายว่าด้วยการบินใหม่ สาระสำคัญของกฎหมายนั้นกำหนดให้การท่าอากาศจรกัมพูชาต้องไปอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐมนตรี
ดูแลกิจการบินทั้งหมดทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน ทั้งกิจการบินภายในประเทศและการบินระหว่างประเทศ
และนอกจากนี้มีการแยกสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์ออกจากการท่าอากาศจรกัมพูชา
เจ้าจักรพงษ์ มานั่งเป็นประธานอำนวยการสายการบินกัมพูเจียแอร์ไลน์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ส่วนแก้ว สาพอลคนเดิมนั้นถูกลดอำนาจลงเหลือเพียงตำแหน่งผู้อำนวยการการท่าอากาศจรกัมพูชา
ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าจักรพงษ์อีกที
แหล่งข่าวในวงการบินรายหนึ่งเปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งสำคัญนี้ทำให้ฐานะของสายการบินคัมโบเดีย
อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ของอุดมเปลี่ยนแปลงไปด้วย "เดิม แก้ว สาพอลเคยไปบอกใครต่อใครว่า
คัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ เป็นสายการบินแห่งชาติ แต่เมื่อถูกโยกย้ายไปแล้วเขาก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะปกป้องคุณอุดมได้อีกต่อไป"
แหล่งข่าวกล่าว
วันที่ 17 สิงหาคม 2535 มีจดหมายจากสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์ส่งถึงกรมการบินพาณิชย์ของไทยประกาศว่าสายการบินคัมโบเดีย
อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ และสายการบิน เอส.เค.แอร์ ซึ่งเปิดทำการบินมาตั้งแต่ปี
2534 เป็นสายการบินของเอกชนและทางการกัมพูชาได้เลือกสายการบินเอส.เค.แอร์เป็นสายการบินเป็นผู้แทนที่มีอำนาจเต็มของกสายการบินกัมพูเจีย
แอร์ไลน์
จดหมายฉบับดังกล่าวออกมาโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอีกเช่นเคย
และจดหมายฉบับนี้ก็แสดงถึงฐานะของสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ที่แตกต่างไปจากสัญญาร่วมทุนที่เคยได้ทำกันเอาไว้
วัตถุประสงค์ของสัญญาร่วมทุน ข้อ 6 เขียนเอาไว้ว่า "THE VENTURE CO.
(หมายถึง CAMBODIA INTERNATIONAL AIRLINES) SHALL BE RECOGNIZED AS THE REPRESENTATIVE
OF THE STATE FOR THE AIRLINES BUSINESS"
เอส.เค.แอร์ เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจของสมพร สหวัฒน์ นักธุรกิจไทยอีกผู้หนึ่งที่มีความคร่ำหวอดในวงการลงทุนทำธุรกิจในกัมพูชามานาน
อาจจะถือว่าเป็นนักธุรกิจไทยรุ่นแรกที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชานับเป็นรุ่นพี่ของอุดมก็ว่าได้
แต่สมพรไม่ได้เข้ามาบริหารกิจการทางด้านการบินนี้เองโดยตรง เขาเพียงแต่นั่งเป็นประธานกรรมการ
แล้วให้ โกวิท ธัญญรัตนกุล เป็นผู้บริหารของบริษัทที่ทำการบินแห่งนี้
เอส.เค.แอร์เปิดทำการบินระหว่างพนมเปญ-กรุงเทพฯ เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2534
โดยทำสัญญาเช่าเครื่องบิน TUPOLEV TU 134 ขนาด 72 ที่นั่งจากสายการบินกัมพูเจีย
แอร์ไลน์มาทำการบินแบบเช่าเหมาลำ ได้รับการสนับสนุนการบินจากบริษัท บัลติก
แอร์ เซอร์วิส ในระยะแรกที่ทำการบินไม่ประสบความสำเร็จมากนักเนื่องจากใช้เครื่องบินเก่าแม้จะบินด้วยราคาที่ค่อนข้างถูกแต่ในช่วงแรกๆ
ก็ยังสู้คู่แข่งอย่างบางกอก แอร์เวย์ไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังสามารถทำการบินอยู่ได้กระทั่งปัจจุบัน
แหล่งข่าวในวงการบินเปิดเผยว่า ในความเป็นจริงยังไม่อาจจะนับว่าเอส.เค.แอร์เป็นบริษัทสายการบินได้
เนื่องจากสัญญาที่ทำเอาไว้กับทางการกัมพูชานั้นเป็นสัญญาเช่าเครื่องบิน ไม่มีความตอนใดในสัญญาระบุเอาไว้อย่างชัดแจ้งเหมือนกรณีของสายการบินคัมโบเดีย
อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ ว่าจะเป็นสายการบินที่ทำการบินในนามของประเทศกัมพูชา
ฐานะดังกล่าวได้รับการยกขึ้นภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในการบริหารงานการบินของกัมพูชา
"นักธุรกิจไทยทั้งสองกลุ่มเข้าไปจับเส้นสายทางการเมืองคนละฝ่าย ทางคุณอุดม
เขาสนิทสนมกับแก้ว สาพอล ผู้อำนวยการการท่าอากาศจรกัมพูชา สนิทกับท่านเจีย
ชานโต รองประธานถาวร คณะกรรมาธิการลงทุน แต่คุณสมพร เข้าทางเจ้าจักรพงษ์
แต่เดิมท่านแก้ว คุมการท่าอากาศจรก็คุมสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์ด้วย ดังนั้นเขาเลยสับหลีกกันได้คือให้สายการบิน
ท่านก็อยากจะให้สายการบินกัมพูเจียบินระหว่างประเทศ แล้วก็เลยจัดแจงให้เอส.เค.แอร์ก็เช่าเครื่องของกัมพูเจียอยู่แล้ว"
แหล่งข่าวในวงการบินวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในการบริหารงานการบิน
ผลการเจรจาเรื่องสิทธิการบินระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อปลายเดือนกันยายนที่กรุงพนมเปญได้ตกลงกันว่าฝ่ายกัมพูชาจะมีสายการบิน
3 สายทำการบินในเส้นทางพนมเปญ-กรุงเทพ-พนมเปญคือสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์
ซึ่งถือเป็นสายการบินแห่งชาติกัมพูชา สายการบิน เอส.เค.แอร์ของกลุ่ม สมพร
สหวัตรน์และสายการบิน คัมโบ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ของอุดม ตันติประสงค์ชัย
สิทธิอันนี้จะใช้บังคับจนกว่าจะมีการเจรจาใหม่ในเดือนมีนาคม 2536
ผลการเจรจาเช่นนี้ทำให้อุดมมีความลำบากใจพอประมาณ เพราะด้านหนึ่งเขาเคยได้รับสัญญาที่เป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเป็นสายการบินแห่งชาติของกัมพูชา
เขาเคยทำสัญญาแลกเปลี่ยนบริการตั๋วและผู้โดยสาร กับการบินไทย ซึ่งโดยหลักสัญญาประเภทนี้จะทำกัน
ระหว่างสายการบินแห่งชาติเท่านั้น ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าสายการบิน คัมโบเดียอินเตอร์เนชั่นแนล
แอร์ไลน์ ไม่ได้มีฐานะเป็นสายการบินแห่งชาติอีกต่อไปแล้วจึงยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าสัญญาเช่นนี้จะมีผลบังคับหรือไม่
อุดม กล่าวว่า "ยังไม่แน่ว่าประเด็นนี้จะออกมาอย่างไร ผมก็หวังแต่เพียงว่าการบินไทยจะรักษาสัญญาเท่านั้น"
เรื่องความผันแปรทางธุรกิจอย่างเช่นที่บริษัทฟูลดากำลังประสบอยู่เช่นนี้
คงไม่ใช่กรณีสุดท้ายสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่ไปลงทุน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาเชื่อว่าผู้หลักผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนในรัฐบาลพนมเปญ
ไม่ว่าจะเป็นท่านเจีย ชานโต รองประธานถาวรคณะกรรมาธิการการลงทุน ท่าน บุน
อุ้ย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือท่านเตปพาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกหรือแม้แต่ท่าน
เตีย บัน ที่เคยประกาศว่าสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์
เป็นสายการบินแห่งชาติของกัมพูชาที่เปิดทำการบินระหว่างประเทศ คงจะไม่มีความประสงค์อันใดที่จะบิดพลิ้วสัญญาที่ได้เคยให้ไว้ต่อบริษัทฟูลดา
หรือบริษัทอื่นใดที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต แต่ปัญหาคือความผกผันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังไม่อาจจะจับทิศทางได้
ดีไม่ดีอาจจะพลอยวกกลับเข้าหาตัวท่านอีกก็เป็นได้
สถานการณ์ของกระบวนการสันติภาพดูเหมือนว่าจะยังหาทางออกไม่ได้ เขมรแดงยังคงหมกมุ่นอยู่กับปัญหาเก่าๆ
ของตัวเองกล่าวคือไม่สู้มีความมั่นใจนักว่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาสักเพียงใด
ดังนั้นจำต้องอาศัยกลยุทธ์เก่าๆ คือถ่วงเวลาหาทางใช้กำลังยึดพื้นที่เพิ่มมากขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และทำการค้าไม้
ค้าพลอยกับนักธุรกิจตามแนวชายแดนของไทยไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อสะสมทุนไว้ใช้ในการเลือกตั้ง
สลับกับการเสนอข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อหาทางลดอำนาจของรัฐบาลในกรุงพนมเปญ
ดูเหมือนว่าเขมรแดงจะมีความวิตกกังวลกับอำนาจของรัฐบาลพนมเปญอยู่มาก ด้วยว่าปัจจุบันการบริหารงานบ้านเมืองเกือบจะทั้งหมดของกัมพูชาอยู่ภายใต้กลไกของรัฐบาลพนมเปญ
การลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากทำสัญญากับรัฐบาลในกรุงพนมเปญ ประการสำคัญการลงทุนจากต่างประเทศที่ทำสัญญากับรัฐบาลในกรุงพนมเปญ
ประการสำคัญการลงทุนจากต่างประเทศที่ทำสัญญากับรัฐบาลนี้ เป็นการลงทุนที่ทันสมัยเป็นการทำธุรกิจที่เรียกได้ว่าเป็นเนื้อเป็นหนังของเศรษฐกิจกัมพูชาเลยทีเดียว
ตรงกันข้ามกับการลงทุนในเขตยึดครองของเขมรแดงเป็นแต่เพียงการประกอบการค้าขายทรัพย์ในดิน
สินในน้ำที่มีอยู่คู่โลกที่อีกไม่กี่วันคงจะหมดไป
สิ่งที่เขมรแดงจะต้องคิดถ้าหากต้องการจะเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพและการเลือกตั้งคือ
ตนเองจะได้ประโยชน์จากธุรกิจมูลค่ามหาศาลในกรุงพนมเปญอย่างไร และนี่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักลงทุนที่แสวงโอกาสทางธุรกิจในกัมพูชาจะต้องขบคิดอย่างหนัก
ไม่แต่เฉพาะเขมรแดงเท่านั้นที่กำลังฉายเงาแห่งความยุ่งยากสู่นักลงทุนในกัมพูชา
กองกำลังสหประชาชาติและ UNTAC ก็สร้างปัญหาให้กับนักลงทุนในกัมพูชาได้ไม่น้อยทีเดียว
การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ 22,000 คนในกัมพูชาได้สร้างความปั่นป่วนให้เศรษฐกิจอย่างมาก
แหล่งข่าวซึ่งทำธุรกิจในกรุงพนมเปญเปิดเผยว่า พฤติกรรมการบริโภคของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจกัมพูชา
การใช้จ่ายเงินเหล่านั้นทำให้เงินเฟ้อของกัมพูชาสูงถึง 300%
"UNTAC เป็นคนสร้างปัญหาขึ้นมาเอง แต่ไม่มีปัญญาจะแก้ไข เจ้าหน้าที่สหประชาชาติใช้จ่ายอย่างไม่ยั้งมือในกรุงพนมเปญ
การที่เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้" แหล่งข่าวกล่าว
UNTAC ได้แถลงว่าเศรษฐกิจกัมพูชาประสบปัญหาอย่างมากดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากตอนต้นปี
130% ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 158% เฉพาะเดือนกรกฎาคมเดือนเดียว เงินเฟ้อสูงถึง
22.59% ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 24.61% เสื้อผ้า 23.05% การที่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเข้าไปประจำในกัมพูชา
ทำให้สกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เงินสกุลต่างประเทศมีอยู่ในกัมพูชาประมาณ
721 ล้านเรียล แต่ในเดือนมิถุนายนปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 9,663 ล้านเรียล "คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่าการที่เงินหลั่งไหลเข้ากัมพูชามากมายขนาดนี้จะทำให้คนเขมรรวย
แต่ในความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจกัมพุชากำลังอยู่ในสภาวะที่ปั่นป่วน เงินผ่านประเทศมากๆ
ธุรกิจธนาคารได้ประโยชน์สูงสุด แต่ประชาชนและธุรกิจอื่นๆ ต้องมาต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก
สหประชาชาติไม่เคยมีมาตรการใดๆ ที่จะแก้ไขได้เลย" แหล่งข่าวที่ทำธุรกิจในกัมพูชารายหนึ่งให้ความเห็น
"ผู้จัดการ"
UNTAC พยายามแก้ปัญหาด้วยการเข้าควบคุมธนาคารชาติกัมพูชา กระทั่งเป็นเหตุตื่นตระหนกในวงการธุรกิจไทยในกัมพูชาชั่วระยะหนึ่ง
ด้วยเกรงว่าธุรกิจจะถูกทบทวน แต่จะเรียง ศิริวงศ์ ผู้ว่าการธนาคารชาติกัมพูชา
ได้ออกมารับรองว่าธุรกิจจะดำเนินไปเหมือนเดิม ธนาคารจะไม่มีทางถูกควบคุมโดย
UNTAC เป็นอันขาด
โรเกอร์ ลอว์เรนซ์ ที่ปรึกษาการเงินของ UNTACได้เจรจากับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(ไอเอ็มเอฟ) เพื่อให้สถาบันการเงินทั้งสองหามาตรการฉุกเฉินมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กัมพูชาธนาคารโลกตอบสนองคำขอนั้นโดยกำหนดวงเงิน
83 ล้านเหรียญสหรัฐให้กัมพูชากู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำโดยแบ่งส่วนหนึ่งประมาณ
35 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าบัญชีพิเศษที่ธนาคารชาติกัมพูชาเพื่อชำระหนี้ที่นำสินค้าเข้า
และเพื่อเป็นการป้องกันข้อครหาว่าให้การสนับสนุนรัฐบาลกรุงพนมเปญ UNTAC จึงดูแลบัญชีนี้เอง
และเงินก้อนนี้ก็จะมอบให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง เนื่องจากเขมรแดงมักจะยกปัญหาเรื่องเงินช่วยเหลือมาเป็นประเด็นเสมอๆ
ว่าเป็นการให้การสนับสนุนรัฐบาลพนมเปญ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามกัมพูชา ก็ยังเป็นประเทศที่รอคอยการฟื้นฟูและเงินลงทุน
อยู่มาก UNTAC มีแผนที่จะอัดฉีดเงินอีกประมาณเกือบ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐลงไปในกัมพูชาในจำนวนนี้จะใช้ในการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ
ตั้งแต่ถนน ประปา ไฟฟ้า มูลค่าทั้งสิ้นกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ
ถนนที่เป็นถนนชั้นหนึ่งของกัมพูชามีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 3,000 กิโลเมตร
ถนนเชื่อมจังหวัด 3,100 กิโลเมตร รวมๆ แล้วกัมพูชามีถนนทั้งที่พอใช้ได้และใช้ไม่ได้อยู่
28,000 กิโลเมตรซึ่งจะต้องได้รับการปรับปรุง แต่ไม่แน่นักว่างบประมาณ 40
ล้านเหรียญสหรัฐจะซ่อมไปได้ไกลแค่ไหน
ขณะนี้ UNTAC กำลังเร่งลงมือจัดการกับการซ่อมสร้างสาธารณูปโภคทั้งหลายแหล่อยู่เพื่อให้ทันกับกำหนดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม
2536 แม้เขมรแดงจะไม่แสดงความคืบหน้าในการเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ แต่สหประชาชาติก็ยังไม่ได้แสดงเจตนาที่จะยืดเวลาในการสร้างสันติภาพออกไป
การเลือกตั้งอาจจะมีขึ้นตามกำหนดหรืออาจจะช้าไปกว่านั้นอีกสักเล็กน้อย
สถานการณ์หลังนั้นยังไม่มีใครเดาออกว่าจะเป็นอย่างไร โฉมหน้าของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน
ผลของความเปลี่ยนแปลงจะสร้างผลกระทบต่อการลงทุนในกัมพูชาอย่างไรยังเป็นที่เรื่องที่ยากจะคาดเดา
แต่ประสบการณ์ของอุดม ตันติประสงค์ชัยและบริษัทฟูลดาในกรณีสายการบิน คัมโบเดีย
อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์ไลน์น่าจะเป็นกล้องส่องเส้นทางการ ลงทุนในกัมพูชาได้เป็นอย่างดีว่าราบรื่นและขรุขระ
เพียงใด!!