"เหนือสิ่งอื่นใดประชาชนต้องมาก่อน"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เช้าตรู่ของวันประกาศผลประธานาธิบดี ผู้คนในนิวยอร์กดูจะตื่นเช้ากว่าปกติบางบ้านเปิดประตูบ้าน เปิดประตูร้านค้าเร็วกว่าที่เคยเป็นคนเฒ่าคนแก่ตื่นขึ้นมาสูดอากาศกับวันฟ้าโปร่าง

โล่งอกไปเสียที! กับความอึดอัดที่นั่งลุ้นประธานาธิบดีคนใหม่กันตั้งแต่หัวค่ำ

ในที่สุดพระเจ้าก็ยืนอวยพรเคียงข้างให้กับชนชั้นกลางของอเมริกาชัยชนะอย่างท่วมท้นของ BILL CLINTON และพรรคดีโมแครต ได้บอกให้พรรครีพับลิกันรู้ว่า 12 ปีของการครองอำนาจการบริหารในทำเนียบขาวนั้นเพียงพอแล้ว คนอเมริกันขณะนี้ เบื่อหน่ายอึดอัดกับสภาพที่ไม่มีทางออกของปัญหาปากท้องของผู้คนใน "อเมริกา" คนตกงานเดินกันเกลื่อนถนน คนถูกลอยแพ, ถูกจ้างให้ออกจากงานมีเป็นจำนวนมาก

หนังสือพิมพ์ในนิวยอร์กฉบับหนึ่ง วางแผนก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสองวัน พูดถึงเรื่องราวชีวิตของความยากจนในอเมริกายามนี้เอาไว้ว่า…

"ไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์อเมริกา ที่คนยากจนต้องเข้าคิวกินข้าวบริจาคจากโบสถ์จากวัดกันมากมายเท่ายุคสมัยนี้" คนยากจนเหล่านี้ยังไม่นับรวมพวก HOMELESS ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เข้าไปอีก ผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ จะต้องแบกรับปัญหาปากท้องของคนอเมริกาไว้ไม่ใช่น้อย การแก้ปัญหาความตกต่ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นสิ่งที่ท้าทายคนที่กำลังจะมาทำงานในทำเนียบขาว

BILL CLINTON ดูเหมือนจะชัดเจนต่อนโยบายการแก้ปัญหาภายในประเทศ มากกว่าผู้สมัครประธานาธิบดีคนอื่นๆ ด้วยการร่างเค้าโครงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของอเมริกา "เหนือสิ่งอื่นใดประชาชนต้องมาก่อน" (PUTTING PEOPLE FIRST)

ทำไม BUSH จึงพ่ายแพ้ต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้?

คำถามนี้ดูจะมีคำอธิบายภายหลังจากที่คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นเทให้กับ BILL

BUSH เกิดในครอบครัวคนมีเงิน ครอบครัวของ BUSH ในขณะนี้มีธุรกิจน้ำมันขนาดใหญ่ในรัฐ TEXAS BUSH เป็นคนมีเงินติดอันดับมหาเศรษฐีคนหนึ่งของอเมริกาเลยทีเดียว นอกจากนั้น บุช ยังทำงานในทำเนียบขาวนานกว่าสิบปี เขาเคยเป็นผู้อำนวยการซี ไอ เอ (ศูนย์ข้อมูลข่าวสารแห่งชาติอเมริกา)

หลายปีที่ผ่านมา BUSH คงจะลืมไปแล้วว่า รสชาติของความยากจนนั้นเป็นอย่างไร ภาวะของการไม่มีงานทำความสับสนความอดอยากและปัญหาครอบครัวของชนชั้นกลางในอเมริกานั้นเป็นอย่างไร สิบกว่าปีที่ผ่านมา BUSH ในฐานะสมาชิกพรรครีพับลิกันผู้มีเงินนั่งทำงานใน WHITE HOUSE สิบกว่าปีที่ผ่านมาอาจจะทำให้เขาหลงลืมไปเสียแล้วว่า "อเมริกานั้นมีปัญหาภายในประเทศที่ต้องแก้ไข" และ BUSH เขาอาจจะหลงลืมไปเสียจริงๆ ก็ได้ว่าในทุกวันนี้ "ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมันอเมริกานั้น ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางขอนไม้ผุ"

ในขณะที่ BUSH หาเสียงท่ามกลางสมาชิกคนร่ำรวยของรีพับลิกันเสียงปรบมือสนับสนุนบุช ดูจะหนักแน่นยาวนานเป็นพิเศษ ทุกครั้งดูเหมือนบุช จะบอกเตือนพวกรีพับลิกันไว้ก่อนเสมอ ให้ระวังนโยบายของบิลล์ คลินตันเอาไว้ให้ดี

"ท่านสุภาพสตรี ท่านสุภาพบุรุษพวกท่านต้องระมัดระวังเงินในกระเป๋าเอาไว้ในดี

บิลล์ คลินตันคนนี้ กำลังจะมาเอาเงินออกจากกระเป๋าของคุณ "นั่นก็คือการหาเสียงของบู๊ช ยามที่หาเสียงในหมู่พวกรีพับลิกัน

ส่วนการหาเสียงของบิลล์ เหมือนจะเข้าถึงความรู้สึกของชนชั้นกลางและคนจนในอเมริกามากกว่า

"พี่น้องอเมริกาที่รัก อเมริกาเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ รสชาติของชีวิตความขมขื่นแบบนี้ผมรู้ ครอบครัวบางครอบครัวต้องแตกสาแหรกขาด ผมเข้าใจในความรุ้สึกของครอบครัวนี้ไม่มีงานทำ ยิ่งเป็นในย่านเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ขวดเหล้าดูเหมือนจะกองเต็มอยู่หลังบ้านคนงาน เพียงเพื่อเป็นทางออกอันน้อยนิด พ่อและแม่เด็กบางครอบครัวต้องหย่าร้าง ภาวะความระส่ำระสายเหล่านี้เป็นผลพวกมาจากปัญหาเศรษฐกิจโดยแท้ชนชั้นกลางอย่างเราดูจะแบกรับปัญหาไว้เต็มประดา"

การหาเสียงของบิล เข้าถึงจิตใจของชนชั้นกลางในอเมริกาขณะนี้ ก็เพราะพื้นฐานชีวิตในวัยเยาว์ของ BILL CLINTON ก็มิได้ต่างกันมากในสิ่งที่เขาพูด

จากหนังสือชื่อ "เหนือสิ่งอื่นใดประชาชนต้องมาก่อน"เค้าโครงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแห่งชาติของอเมริกาซึ่งเขียนโดยบิลล์ คลินตัน, บิลล์พูดถึงนโยบายของบุชและพรรครีพับลิกันเอาไว้ว่า

"12 ปีที่ผ่านมาของการทำงาน ของรีพับลิกันในทำเนียบขาว เขาเชื่อว่าความร่ำรวยจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เปรียบเสมือนเอาเงินดอลลาร์เทลงจากภูเขาปล่อยให้มันไหลกระจายไปถึงคนจน เมื่อน้ำไหลจากภูเขา เงินเหล่านี้ก็จะกระจายไปถึงมือคนจนในที่สุด ยามที่น้ำขาดแคลนกาลกลับกลายเป็นว่าคนที่อยู่ต้นเขื่อนกลายเป็นผู้มั่งคั่งไป มีน้ำกินน้ำใช้ไปตลอดชีวิต ยิ่งเป็นคนใกล้ชิดประธานาธิบดีผู้เป็นเสมือนคนที่ควบคุมเปิดปิดน้ำบริเวณเขื่อนด้วยแล้ว เป็นอันว่าพวกนี้มีน้ำกินน้ำใช้ไปถึงลูกถึงหลาน

ด้วยความเชื่อ ในความเข้าใจของสังคมแบบนี้กระมัง จึงไม่ใช่สิ่งแปลกที่มีข่าวเปิดเผยอยู่บ่อยครั้งว่า สมาชิกพรรครีพับลีกันคนรวยๆ บริจาคเงินสนับสนุนพรรคจำนวนมหาศาล โดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยน ให้ประธานาธิบดีอนุมัติโครงการช่วยเหลือในการขยายงานของบริษัทของพวกเขา ก็ด้วยความเชื่อว่าความร่ำรวย จะไหลจากภูเขาสูงลงสู่ที่ต่ำแบบนี้ของบุชและพวกรีพับลิกัน บิลล์ คลินตันจึงชนะใจชนชั้นกลางไปในที่สุด

การบริจาคเงิน ให้พรรคการเมืองเพื่อการแลกเปลี่ยนเงื่อนไข เป็นสิ่งที่เปิดเผยกลายเป็นประเพณีประชาธิปไตยไปเสียแล้ว การบริหารงานของบุชภายใต้ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังว่า "เงินจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ความมั่งคั่งจะไหลจากคนรวยไปสู่คนจนในที่สุด" ทำให้บุชไม่ได้เข้าไปตรวจสอบการล้มละลายของธนาคาร และบริษัทใหญ่ๆ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลที่วอชิงตัน กลับเอาภาษีที่ได้มาจากคนส่วนใหญ่ เข้าไปช่วยค้ำจุนในธนาคารเหล่านี้ เรื่องราวกลับกลายเป็นว่า ลูกหลานครอบครัวของบรรดานายธนาคารร่ำรวยไปตามๆ กันหลังจากที่ธนาคารล้มละลาย

เมื่อถามคนอเมริกาายามนี้ว่ารู้สึกอย่างไรกับบุช หลายคนก็จะตอบว่า "พอแล้ว" "เต็มทนแล้ว" "ITS TIME FOR CHANGE" ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงเสียที ยามที่เดินผ่านผู้คนในแมนฮัตตัน เราก็จะพบแต่เข็มกลัดรณรงค์ของบิลล์ นักศึกษา, สุภาพสตรี, คนแก่ดูเหมือนจะเป็นฟันเฟืองรณรงค์ตัวสำคัญ บางคนเป็นอาสาสมัครรณรงค์ให้กับบิลล์ โดยมิได้ผลประโยชน์ตอบแทน อากาศจะหนาวอย่างไร ก็ยังเดินออกจากบ้านพร้อมป้ายมีใจความว่า "ถึงเวลาแล้วที่อเมริกาต้องเปลี่ยนแปลง…ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง…"

และแล้วคืนวันที่ 2 พฤศจิกายนอเมริกาก็เปลี่ยนจริงๆ สิ่งที่ผู้คนอเมริกาเฝ้ารอก็มาถึง

บุรุษไปรษณีย์ที่เดินส่งจดหมายตามบ้านคน เขาเป็นบุคคลที่เดินเคาะประตูบ้านแทบทุกบ้าน ทุกเช้าที่เขามาเดินส่งจดหมายตามบ้านคน บุรุษไปรษณีย์มักพูดกับเจ้าของบ้านเสมอก่อนหน้าวันเลือกตั้ง "สิบวันจากนี้ไปเราก็จะมีประธานาธิบดีคนใหม่" พร้อมๆ กับการวิจารณ์การทำงานของ บุชให้เจ้าของบ้านฟัง

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งบุรุษไปรษณีย์คนเดิม ก็มักจะพูดแบบเดิมเสมอจนถึงเช้าวันสุดท้าย หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาว่า บิลล์ คลินตันได้เป็นประธานาธิบดี นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาเราก็ไม่ได้ยินเสียงบุรุษไปรษณีย์วิจารณ์การเมืองอีกเลย มีแต่ส่งยิ้มให้กับเจ้าของบ้านที่เปิดประตูออกมารับจดหมาย พร้อมกับยกหัวแม่โป้ง" ส่งเป็นภาษาใบ้ GOOD! "เป็นอันเชื่อได้ว่าบุรุษไปรษณีย์คนนี้ ทุ่มสุดตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงในอเมริกา

ประธานาธิบดีหลายต่หลายคนของอเมริกา จะเป็นคนที่มีประสบการณ์ช่วงชีวิต ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแตกต่างจากบิลล์ เขาเป็นหนุ่มที่เติบโตจขึ้นมาในช่วงสังคมอเมริกากำลังต่อต้านสงครามเวียดนาม และบิลล์ก็เป็นผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนามในมหาวิทยาลัย บุชเอาเรื่องราวการต่อต้านสงครามเวียดนามมากล่าว เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมอเมริกาว่า…

"ในขณะที่ประเทศชาติมีศึกสงคราม บิลล์เป็นบุคคลที่ออกมาสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นของคนในชาติ บุคคลคนนี้หรือ! ที่จะมาเป็นผู้นำของอเมริกา" กระแสของพวกชาตินิยม ดูจะล้าสมัยในอเมริกาเสียแล้ว

แต่แล้ว บิลล์ก็แก้ข้อกล่าวหานั้นไปได้อย่างถูกอกถูกใจสื่อมวลชนรวมไปถึงปัญญาชนตามมหาวิทยาลัย "ท่านสุภาพสตรี ท่านสุภาพบุรุษ ผมรักประเทศของผม ผมรักประชาชนของผม ผมไม่อยากให้คนอเมริกาต้องสูญเสียชีวิตเยาวชนของเรา ผมรู้อยู่เสมอ ผมรักประเทศของผม แต่ในขณะเดียวกันผมก็รักสันติภาพด้วยเช่นเดียวกัน"

ในวัยเด็กบิลล์ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไรเติมโตมาอย่งไรกำลังเป็นที่สนใจของผู้คนในอเมริกาในยามนี้

ชีวิตของชนชั้นกลางค่อนข้างต่ำอย่างเขา กว่าจะมาถึงวันนี้ได้มีเรื่องราวมากมาย ที่ผ่านเข้ามาอย่างขมขื่นเช่นกันในช่วงการหาเสียงมีการพยายามขุดคุ้ยเรื่องราวภายในครอบครัวของเขาขึ้นมาโจมตี ซึ่งก็เป็นเรื่องราวอันธรรมดาของวิถีชีวิตนักการเมือง แต่หากจะตีแผ่เรื่องราวในเชิงความจริง มันก็เป็นเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตขื่นขมของชนชั้นกลาง เช่นกันกับชนชั้นกลางในสังคมไทย เพียงแต่จะยอมรับในรากเง่าของตนเองหรือไม่เท่านั้น บิลล์ดูจะไม่ค่อยปฏิเสธกลบเกลื่อนชีวิตชนชั้นกลางของเขา และเรื่องราวเหล่านี้นี่เองได้กลายเป็นความงดงามในชีวิตของเขาไปในที่สุด

"บิลล์ เคยมีปากเสียงกับพ่อเลี้ยงตอนที่พ่อเลี้ยงของเขาเมาเหล้า จะตบตีแม่และน้องชายของเขา บิลล์ซึ่งเป็นวัยรุ่นในขณะนั้น กระโดดเข้ามาปกป้องแม่และน้องชาย บอกพ่อเลี้ยงว่า หากจะตีแม่และน้องชายก็ต้องข้ามเขาไปเสียก่อน"

ก็เพราะเขามีเรื่องราวในชีวิตที่คล้ายคลึง กับวิถีชีวิตของชนชั้นในอเมริกาโดยทั่วๆ ไป เหตุนี้กระมังที่พวกเขาหาเช้ากินค่ำเทคะแนนเสียงให้เขา ล้ม BUSH ยักษ์ผู้เทเงินดอลลาร์ลงจากภูเขา

ปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงในอเมริกา การแก้ปัญหาปากท้อง, การแก้ไขปัญหาภายในบ้านของตัวเอง ปัญหาคนว่างงาน, ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ, ปัญหาการถดถอยทางมาตรฐานการศึกษาของเยาวชน, คนสูงอายุไม่มีสวัสดิการรัฐมาดูแล ปัญหาอีกร้อยแปดพันเก้าที่รอและทีมงานมาแก้ไขตามที่ให้สัญญาไว้กับคนอเมริกาในยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแห่งชาติอเมริกา ซึ่งเขียนโดย คลินตัน ความสนใจในเรื่องราวการเมืองระหว่างประเทศแทบไม่ได้ให้ความสำคัญเอาไว้เลย

ปีนี้เป็นปีที่พรรคดิโมแครตเข้ามามีบทบาท บริหารงานในทำเนียบขาวและปีนี้เช่นเดียวกันที่สมาชิก CONGRESS ของอเมริกา ก็กลายเป็นคนของดิโมแครตเสียเป็นส่วนใหญ่ กฎหมายกีดกันทางการค้า ซึ่งเคยออกมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของอเมริกาเคย ทำเอาคนงานไทยตามโรงงานทอผ้า ตกงานไปหลายพันคนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเจิงกิน, ฟาร์มแอ็ก

กฎหมายกีดกันทางการค้าเหล่านี้ล้วนเป็นกฎหมายที่เสนอมาจากสมาชิกพรรคดิโมแครตทั้งสิ้น กฎหมายเหล่านี้เคยทำเอาสาวโรงงานทอผ้า ย่านอ้อมน้อยออกมาชุมนุมหน้าสถานทูตอเมริกามาแล้ว และประเทศไทยมีสินค้าที่ส่งเข้ามาตีตลาดในอเมริกาเป็นจำนวนมากเช่นกัน อเมริกาเปลี่ยนไปแล้ว…งานนี้เห็นทีประเทศไทยอาจจะต้องปรับตัวกันขนานใหญ่เป็นแน่ บิลบิลล์มักพูดเสมอตอนหาเสียง "นับแต่นี้ต่อไปอเมริกาจะขาดดุลการค้าอีกไม่ได้" และ "เหนือสิ่งอื่นใดประชาชนต้องมาก่อน"

ครับ! ประชาชนในที่นี้ประชาชนของอเมริกาครับ…



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.