ดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ บันไดขั้นแรกนักร้องลูกทุ่ง

โดย สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของวงการลูกทุ่งก็คือนักร้อง การเสาะหาและโอกาสในการเป็นนักร้องลูกทุ่งในขณะนี้เปิดกว้างมากกว่าในอดีต จากเดิมที่กว่าจะเป็นนักร้องได้ต้องเหนื่อยยากในการไต่เต้า

นักร้องรุ่นใหม่มีโอกาสในการตามฝันได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น

เวทีการสรรหานักร้องลูกทุ่งเดิม จะเป็นเวทีตามอำเภอ แล้วขยับขึ้นมาเป็นระดับจังหวัด แล้วขยับเข้ามาในกรุงเทพฯ นักร้องลูกทุ่งบางคนคือมือล่ารางวัลที่ได้รับรางวัลระดับท้องถิ่นเป็นถ้วยรางวัลเต็มบ้าน

จากนั้นก็พัฒนาต่อมาเป็นเวทีค้นหานักร้องในรายการโทรทัศน์ต่างๆ มากน้อยตามความนิยมและนักร้องหลายคนก็ผ่านเวทีนี้มาเป็นส่วนใหญ่

ถ้าเป็นยุคนี้การเป็นนักร้องยิ่งเปิดกว้างและเปิดรับมากขึ้น เรียลลิตี้โชว์ทั้งหลายที่กลายเป็นบันไดขั้นแรกของการเป็นนักร้องมีหลายเวที

ทรู อะคาเดมี่ แฟนเทเซีย เดอะ สตาร์ เดอะ ซิงเกอร์ เวทีเหล่านี้เปิดรับนักร้องทุกประเภท ซึ่งแน่นอนว่านักร้องลูกทุ่งก็มีส่วนร่วมเช่นกัน

แต่ถ้าเวทีเฉพาะลูกทุ่งก็ต้องเป็นเวทีของบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ในโครงการดาวรุ่ง ลูกทุ่งไทยแลนด์ที่ค้นหานักร้องลูกทุ่งทั่วประเทศ

แค่นี้ก็ทำให้เลือดของคนที่ต้องการเป็นนักร้องลูกทุ่งสูบฉีดไปทั่วร่าง

บันไดขั้นแรกของการเป็นนักร้องลูกทุ่ง กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว

ธงชัย ชั้นเสวิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ เล่าให้ฟังว่าเข้ามาร่วมกับโครงการนี้ช่วงท้ายๆ ของการประกวดปีแรก แล้วก็ทำต่อเนื่องมาจนปัจจุบันและความตั้งใจ เดิมหลังจากปิดสถานีผ่านดาวเทียมทีแชนแนลไป ก็พิจารณาอยู่ว่าจะทำอย่างไรดี

ระหว่างนั้นทรูวิชั่นก็มาจ้างผลิตรายการแล้วออกอากาศทางช่อง 58 ซึ่งเป็นช่องทีแชนแนลเดิมอยู่แล้ว จากที่ต้องลงทุนมาเป็นการรับจ้างผลิตทำให้บริษัทตัดสินใจทำโครงการนี้ต่อ เพราะทีมงานทั้งหมดพร้อมที่จะทำเวทีลูกทุ่งอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญการเข้ามาอยู่ในทรูวิชั่น จะมีตัวเลขจำนวนคนดูที่ชัดเจน ซึ่งหาไม่ได้เมื่อครั้งที่ออกอากาศในเคเบิลท้องถิ่น

โครงการดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์เข้าใจง่ายๆ ก็คืออะคาเดมี่ แฟนเทเซีย ภาคลูกทุ่งนั่นเอง รูปแบบการจัด การโหวต การแสดง ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่าเวทีนี้คือเพลงลูกทุ่ง

"เราไม่ได้ทำสำหรับคนกรุงเทพฯ เราออกไปกว้านช้างเผือกจริงๆ ออกไปที่ป่า แล้วไปรับเขามา ความสนใจ ความเข้มข้นของเรา นี่คือต่างจังหวัด"

ต่างจังหวัดของธงชัยไม่ได้หมายความว่าหัวเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ เพราะเมืองเหล่านั้นมีความเป็นเมืองกรุงสูงเกินไป ต้องออกไปโคราช สุราษฎร์ เชียงราย ซึ่งกระแสการตอบรับดีมาก

เวทีที่เชียงใหม่พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าได้รับความสนใจน้อย ในขณะที่ไปโคราช มีคนมา 5,000 คน เชียงรายประมาณ 3,500 คน การที่ต้องออกไปรับเองเพราะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ให้ อบต.เป็นผู้คัดส่งมา แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงต้องไปหาเอง ซึ่งธงชัยคิดว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง

โครงการนี้กำหนดรับอายุ 16-23 ปี เพราะต้องการเยาวชนที่มีความรักลูกทุ่งจริง ใฝ่ฝันเป็นนักร้องหรือมีอัลบั้มและการที่ได้เด็กส่วนใหญ่ที่เป็นนักศึกษา ก็สามารถทำงานไป เรียนไป หากไม่ได้เรียนต่อ นักร้องลูกทุ่งก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ

ธงชัยบอกด้วยว่าพอทำถึงจุดหนึ่งก็เริ่มมีแฟนคลับ มีหลายคนที่ตั้งตาคอยว่าวันหนึ่งจะมาประกวด ไม่ได้เป็นของมีเดียฯ รายเดียว มีอีกหลายเวที ช่วยกันโปรโมตว่าใครรักลูกทุ่งก็มาประกวด

"ผมบอกได้อย่างหนึ่ง ตัวรางวัลไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ หากเข้ามาสัมผัสกับเด็กจริงๆ เขาต้องการแสดงออกและได้ทำ จากที่คุย สัมภาษณ์มา เขาไม่โกหก เด็กบอกว่าการได้ขึ้นเวที คือสูงสุดของชีวิตเขา เวทีของโครงการดาวรุ่งเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุด คนดูเยอะ มีการต่อยอดเยอะ เขาพอใจ อย่างที่สุราษฎร์เขาพอใจได้ขึ้นเวที แม้ไม่ได้ขึ้นเวทีใหญ่ก็ตาม ตรงนี้เป็นเกียรติยศของเขาเวลาไปสมัครงาน"

นอกจากเงินรางวัล 1 ล้านบาท และของอื่นๆ แล้ว ยังมีงานโทรทัศน์ของมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ป้อนให้ แต่การเป็นนักร้องหรือออกอัลบั้มไม่มีอยู่ในเงื่อนไขรางวัลที่ได้ แต่บริษัทก็พยายามเป็นตัวกลางให้ และดาวรุ่งในโครงการก่อนหน้านี้หลายคนก็ได้เข้าไปเป็นนักร้องใหม่สังกัดอาร์สยามเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่ทำให้ธงชัยแปลกใจก็คือกระแสตอบรับที่เข้ามาเมื่อปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไอทีเข้ามาบอกเขาว่า มีคนเข้ามาในเว็บไซต์ของดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์กว่า 20,000 คน ทั้งๆ ที่โครงการนี้ไม่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แต่เป็นหน้าหนึ่งในเว็บไซต์บริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์

ทำให้ปีนี้เขาตัดสินใจเปิดเว็บไซต์ดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ขึ้นมา ทำให้เกิดการเชื่อมโยง เริ่มมีการรวมตัวเป็นแฟนคลับขึ้นมา ถ้าหากเทียบกับประชากรหลายสิบล้านคน ชุมชนตรงนี้ก็ไม่ได้มากมาย แต่ทำให้ธงชัยและบริษัทเล็งเห็นว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในแง่ของการทำงานและการตลาด และปีนี้ธงชัยตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่กำหนดให้ดาวรุ่งลูกทุ่งไทยใช้แนวคิดชุมชนสัมพันธ์

"ของเราคือไม่ใช่บุคคลต่อบุคคล เราไม่ใช่ AF ต้องใช้วิธีการ น้องมาจากไหน ฐานโหวตเขาก็อยู่ตรงนั้น เพราะเราออกไป 100 อำเภอหรือกี่อำเภอก็ตาม เด็กเขามาจากเชียงราย เชียงใหม่ สุรินทร์ สิ่งที่เราบอกและวางไว้ก็คือชุมชนสัมพันธ์ อำเภอนี้คุณต้องโหวตให้เด็กของคุณ ทั้งตำบลนี้ โรงเรียนนี้ มหาวิทยาลัยนี้ ไม่อย่างนั้นฐานของเด็กจะไม่มี"

การจัดรูปแบบดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์จึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือช่วงที่เป็นคอนเสิร์ตทุกวันอาทิตย์จะออกอากาศทางทรูวิชั่นช่อง 58 แล้วตัดส่วนที่เป็นไฮไลต์ออกทางรายการ เมืองสำราญทางช่อง 7 ทุกคืนวันอังคาร และไฮไลต์ของการ ประกวดจะออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี เวลา 16.00-16.30 น. ทางช่อง 7 เช่นกัน

ส่วนกิจกรรมแต่ละวันจะมีการถ่ายทอด ผ่านเว็บไซต์ดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ เพื่อให้แฟนคลับได้ติดตามและคอยเชียร์ แต่การถ่ายทอดไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จัดทำออกมาเป็นช่วงเวลา

เขาแนะให้เด็กที่มาจากต่างจังหวัดพูดภาษาถิ่นของตัวเอง มาจากเชียงรายก็พูดภาษาเหนือ มาจากสุรินทร์ก็พูดเขมร ที่ต้องใช้วิธีการนี้เพราะว่าต้องการสร้างแนวคิด "เด็กของฉัน" ต่างจาก AF ที่มีแต่ "เด็กของแฟนคลับ"

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ทำขึ้นมานี้จะส่ง ผลต่อไปถึงการโฆษณาในรายการด้วย เพราะถึงอย่างไรบริษัทก็ต้องมองในแง่ของธุรกิจการจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เอเยนซี่โฆษณาก็ประเมินความน่าสนใจของตัวรายการได้ตรงขึ้น

ธงชัยบอกว่าเวลาทำก็ต้องเก็บข้อมูล ต้องประเมินวิเคราะห์ออกมาเลยว่า ได้ฐานขนาดนี้มีจำนวนคนเท่าไร ไปต่างจังหวัดเพื่อคัดเลือก ต้องเก็บว่ามีคนดูกี่คน มีจุดที่เราต้องการโปรโมตมีกี่จุด มีคนมาเท่าไร มีเด็กมาสมัครเท่าไร การที่ทำทุกวัน ก็จะมีข้อมูลเข้ามาเรื่อยๆ สิ่งที่รวบรวมแล้ววิเคราะห์ออกมาสามารถนำเสนอให้กับสปอนเซอร์ในครั้งต่อไปว่านี่มันมีเรตติ้งแล้ว วิเคราะห์ออกมาแล้วมีกลุ่มเป้าหมาย

"พวกนี้ถ้าเราไม่มีไปพูดกับเขาปาวๆ เราก็ไปขายฝันกับเขาไม่ได้ นั่นเป็นปัญหาในตอนที่เราเป็นฟรี ทู แอร์ ในเคเบิลท้องถิ่นไม่มีเรตติ้ง อยู่ด้วยโฆษณาตัวเองไม่ได้ จำนวนคนดูเราก็ไม่ทราบ"

"ข้อมูล 2 ปีแรกไม่สามารถรู้ได้ เพราะอยู่ในทีแชนแนล เก็บได้เฉพาะส่วนของเว็บไซต์ที่มีคนเข้ามาดูหรือจำนวนโหวต โครงการดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ ถ้าโหวตมากเราก็รู้แล้วว่ามีใครโหวต แล้วมีการโหวตอย่างไร หรือคนที่เข้ามาในเว็บไซต์ หรือเข้ามาเช็กในเว็บบอร์ดเข้ามาคุยกัน ถ้านับเป็นปีต่อปี มันก็จะเป็นเท่าหนึ่งตลอด การขยายตัวประมาณ 1 เท่า ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 40,000 คน"

โครงการในปีนี้ ธงชัยให้คะแนนความพึงพอใจที่ 70% เพราะปีนี้ทำให้ผิดพลาดน้อยที่สุด และต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ ที่ปีนี้พอใจเพราะตัวเลขต้นทุนออกมาไม่เจ็บตัวมากนัก เพียงแต่ยังไม่กำไร

ต้นทุนไม่เจ็บตัว ธงชัยหมายความว่าทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้น สปอนเซอร์ต้องครอบคลุมค่าใช้จ่าย ถ้าหาสปอนเซอร์ได้ครบก็กำไรแล้ว ส่วนตัวโหวตหรือ SMS เขาไม่คาดหวัง เพราะว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และยากที่จะประมาณการว่าเข้ามาเท่าไรต้องหาของที่แน่นอน ซึ่งก็คือสปอนเซอร์

"คือตัวผมอยากจะทำเพราะได้ไปสัมผัสกับเขาจริงๆ คัดเลือกเขาออกไป พูดคุย ไปเจอพ่อ แม่ ครู เวลาไปดูเขาร้องเพลง ถ้าไม่ได้ทำก็รู้สึกเสียดาย เพราะบอร์ดเราไม่ได้ไปสัมผัสอย่างนี้แต่ผมจะเอาหน้าผมไปบอกว่าไม่เป็นไร แต่ต้องขาดทุน 20 ล้าน อย่างนี้ก็เป็นแล้วนะ เป็นมา 2-3 ปี แต่ปีนี้ก็ถือว่ารอดตัว"

ธงชัยเชื่อว่าการขายโฆษณาจะดีขึ้น เพราะการออกอากาศทางช่อง 7 จะมีเรตติ้งรองรับ คุยกับลูกค้าง่ายขึ้น แต่ต้องดึงลูกค้าให้อยู่ด้วยกันตลอดไป

อนาคตของโครงการดาวรุ่งลูกทุ่งไทยแลนด์ ธงชัยยังต้องการมาตรฐานที่ดีขึ้น การลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดเงินรางวัลจะไม่เกิดขึ้น หากต้องลดต้นทุนขนาดนั้น ธงชัยเลือกที่จะหยุดทำโครงการนี้ไปเลย

"ถ้าคณะกรรมการบริษัทถามผม ผมก็จะบอกว่าทำเถอะ เพราะคุณไม่ได้มานั่งฟังเขา หรือคุยกับเขา ผมก็เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาเถอะ ปีนี้ต้นทุน 40 ล้านบาท ปีหน้าก็ไม่เกินนี้แหละ"

หากมองลึกๆ ธงชัยอาจหลงเสน่ห์ซื่อๆ ของว่าที่นักร้องลูกทุ่ง เพราะพวกเขาไม่มีมารยา ซึ่งเวทีอื่นๆ อาจไม่เห็นลักษณะนี้ก็ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.