|
หางเครื่อง สีสันวงดนตรีลูกทุ่ง
โดย
สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
การเกิดของ "หางเครื่อง" กับวงดนตรีลูกทุ่ง เป็นไปตามลักษณะของการแสดงบนเวที เครื่องดนตรีบนเวทีประกอบด้วยฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง ลูกแซ็ก ไม้แต๊ก และเครื่องให้จังหวะหลังวงดนตรี ส่วนนี้เป็นสีสันของวงดนตรี โดยคนในวงที่ว่างหรือพัก ก็สามารถขึ้นมาช่วยวงสร้างสีสันในการแสดงด้วยการเล่นเครื่องให้จังหวะเหล่านี้ได้ เพราะการแสดงแต่ละครั้งในเวลานานจึงต้องพยายามหาการแสดงใส่เข้าไปเพื่อช่วยนักร้องและนักดนตรีหลัก มีชื่อเรียกกันว่า "เขย่าหางเครื่อง"
ในปี 2509 คนที่ออกมาเขย่าหางเครื่องเริ่มเป็นทีม และแต่งตัวเหมือนกัน โดยเริ่มจากวงของสุรพล สมบัติเจริญ สมานมิตร เกิดกำแพง จนกระทั่งสุรพล เสียชีวิตลง ศรีนวล สมบัติเจริญ ภรรยาสุรพลก็จัดผู้เต้นระบำประกอบเพลงโดยใช้ผู้เต้นประมาณ 10 คน ลีลาการเต้นก็เป็นแบบระบำฮาวายของตะวันตก
ปีที่หางเครื่องเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่สุดก็คือ ปี 2510 หางเครื่องกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้ของวงดนตรีลูกทุ่ง ผู้ที่ทำให้เกิดขึ้นก็คือศกุนตลา พรหมมหา ภรรยาของเพลิน พรหมแดน
เธอนำแฟชั่นใหม่ๆ ทั้งเสื้อผ้า ขนนก จากต่างประเทศ มาใช้กับการแสดงลูกทุ่งเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เพื่อพลิกฟื้นการขาดทุนของวงตัวเองให้กลับมาทำกำไรอีกครั้งและเธอก็ทำได้สำเร็จ
หางเครื่องกลายเป็นบรรทัดฐานของวงลูกทุ่งต้องยิ่งใหญ่อลังการ
ปีทองอีกช่วงหนึ่งของหางเครื่องก็คือปี 2520 เพลงลูกทุ่งกลับมาอีกครั้ง มีการตั้งวงดนตรีกันคับคั่ง โดยมีนายทุนเข้าไปมีส่วนในการตั้งวงดนตรีอยู่ไม่น้อย การแข่งขันด้านหางเครื่องจึงเพิ่มขึ้น วงดนตรีใหญ่ๆ มีหางเครื่องในสังกัดตัวเองประมาณ 60 คน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของหางเครื่องสูงถึง 1 ล้านบาท
หางเครื่องในยุคนี้เหลืออยู่ไม่มาก ต้องเป็นวงใหญ่และมีงานมากจึงกล้าลงทุน เพราะเดี๋ยวนี้นักร้องลูกทุ่งใช้บริการของแดนเซอร์แทน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|