|
กฎ 3 ข้อของหนู มิเตอร์
โดย
สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
หนู มิเตอร์ แม้จะไม่โด่งดังแบบไฟลามทุ่งเหมือนศิลปินคนอื่นๆ แต่ชื่อเสียงของเขาก็เกาะกินใจคนฟังเพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และมีแฟนเพลงขาประจำไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน
ทุกวันนี้หนู มิเตอร์ เป็นผู้ดูแล มีดี เรคคอร์ด ยูนิตหนึ่งในการสร้างเพลงลูกทุ่งของอาร์สยามที่ดูแลศิลปินทอป 3 ของบริษัท บ่าววี หลวงไก่ บิว กัลยาณี และศิลปินอื่นๆ ในอดีตเขาถูกจัดให้อยู่ในสายพันธุ์เพลงเพื่อชีวิต เพราะเข้าไปช่วยงานเบื้องหลังนักร้องเพลงเพื่อชีวิตหลายคน และหลายวง
เขาเข้ามาในอาร์สยามเพื่อดูแลกลุ่มเพลงเพื่อชีวิตเป็นหลัก แต่หลังจากนั้นก็งอกเงยมาดูเพลงลูกทุ่งด้วย ในความเห็นของเขาไม่ได้แยกว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตหรือเพลงลูกทุ่ง เพราะทั้งสองประเภทเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว เพียงแต่การแบ่งแยกมาจากอดีตที่คนรุ่นก่อนกำหนดขีดเส้นให้เพลงลูกทุ่งกับเพลงเพื่อชีวิตยืนอยู่คนละฝั่ง
"ถ้าเอาเพลงเพื่อชีวิตมาให้นักร้องลูกทุ่งร้องในแบบลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิตก็คือเพลงลูกทุ่ง ของผมก็เหมือนกัน เพลงที่ผมร้อง ร้องแบบลูกทุ่ง แต่สีสันของดนตรีเท่านั้นที่เป็นเพลงเพื่อชีวิต"
เขาตั้งใจว่าหากสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เขาจะบัญญัติศัพท์และจำกัดความคำว่า เพลงลูกทุ่งกับเพลงเพื่อชีวิตว่าเป็นเพลงลายไทย เพราะมีความเป็นไทย ทุกคนรู้จักและยอมรับได้
หนู มิเตอร์มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดนตรี ทั้งทางภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงานเพลง หลักการทำเพลงของเขามี 3 ส่วน คือ ทำนอง เรื่องราว และคำร้อง
ทำนอง เขาอธิบายว่าเพลงไทยมีโน้ตที่ใช้เป็นพื้นฐานเพียง 5 ตัวเท่านั้น คือ โด เร มี ซอล ลา ส่วนตัวอื่นเป็นการหยิบยืมมาจากต่างประเทศ ทั้ง 5 ตัวนี้เป็นส่วนประกอบของเพลงดังๆ ส่วนมากขึ้นอยู่กับการเรียงร้อยโน้ตให้ได้ทำนองที่ถูกใจ
เรื่องราวต้องบอกเล่าได้ชัดเจน ต้องการเล่าเรื่องแบบไหน และต้องถูกใจคนฟัง
คำร้องก็เช่นกัน ไม่ต้องใช้คำที่ยากเกินไป ฟังแล้วร้องตามได้ รวมทั้งการใช้คีย์เสียงต้องไม่สูงจนคนร้องตามไม่ได้
"เพลงของหนู มิเตอร์ทุกเพลง ร้องตามได้ง่ายๆ"
การร้องตามได้ง่ายสามารถเชื่อมโยงมาถึงการขายวีซีดี คาราโอเกะ ที่หนูบอกว่าเป็นสินค้าที่ขายดีกว่าซีดีเพลงที่ออกมาเสียอีก คาราโอเกะ กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึง งานเลี้ยงแต่ละงานจะต้องมีการร้องเพลง เมื่อทำเพลง ให้ร้องง่าย คีย์ไม่สูง ยอดขายคาราโอเกะของหนูมิเตอร์ก็สูงตามไปด้วย
หลักการทำงานแบบนี้ทำให้อาร์สยามตัดสินใจให้เขาทำเพลงให้กับหลวงไก่ศิลปินใต้คนแรกของบริษัทที่ถือธงลงไปปักจองพื้นที่ภาคใต้
ก่อนลงมือทำเพลงให้หลวงไก่เขาประเมินว่าช่วงนั้นคนใต้ฟังอะไรกันอยู่ เพราะต้องหากลุ่มเป้าหมายและต้องขายภาคใต้ก่อน เพราะคนใต้รักพวกพ้วงช่วยเหลือกัน เขากำหนดให้หลวงไก่ร้องสำเนียงใต้ มีคำใต้ แต่เป็นใต้รุ่นใหม่อยู่ในเมือง สามารถพูดให้คนภาคอื่นเข้าใจว่ากำลังพูดอะไร ฟังเนื้อเพลงแล้วเข้าใจ
เมื่อต้องขายภาคอื่นด้วยก็เอาดนตรีที่เป็นป๊อบธรรมดามาใส่ทุกภาคฟังได้ ถึงเป็นเพลงใต้ก็สามารถฟังได้ทุกภาค เพราะปล่อยงานออกไป มีการตอบรับดีมาก เพราะอาจมาจากคนฟังต้องการอะไรใหม่ๆ และรูปแบบเดิมๆ
ก่อนหน้านี้หลวงไก่เป็นมือกลองในวงเอกชัย ศรีวิชัย และเคยทำงานแบบใต้ดินมาแล้วในแนวเพื่อชีวิตและเพลงลุกทุ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ใช่ตัวตนของเขา และหนู มิเตอร์ก็สร้างบุคลิกของหลวงไก่ขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนฟัง
เขาบอกว่าการทำเพลงลูกทุ่งช่วงหลังมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น คือต้องทำเพลงออกมาให้ขายได้ ต่างจากเดิมที่ทำออกมาเพราะอยากทำ เป็นศิลปะเต็มตัว แต่ช่วงนี้ต้องมีธุรกิจ ต้องมองกลุ่มเป้าหมายก่อน สร้างสินค้ามาต้องขายได้แล้วค่อยใส่วัฒนธรรมเข้าไป
"เราก็ต้องยอมรับศิลปะไม่ได้หาย ยังมีอยู่ ผมไม่ซีเรียส ถึงจะมีธุรกิจเข้ามาแต่ก็ยังเป็นศิลปะ ถึงธุรกิจนำแต่หัวใจแท้ๆ ยังเป็นศิลปะ"
หนู มิเตอร์ ออกอัลบั้มชุดแรกในชื่อนิราศป่าปูน กับค่ายรถไฟดนตรี จากนั้นมีผลงานออกมาต่อเนื่องและทำงานเบื้องหลัง เป็นนักดนตรีในห้องอัด เอกลักษณ์ของหนูก็คือเสียงขลุ่ย ที่เขาจะใส่เข้าไปในเพลงของเขาด้วย
ส่วนฉายามิเตอร์มาจากการเป็นนักดนตรีในห้องอัด บางครั้งต้องวิ่งไปหลายงาน จนเพื่อนๆ ให้เขาติดมิเตอร์ที่กีตาร์เพื่อเก็บค่าตัวเหมือนกับรถแท็กซี่ ตอนแรกเป็นหนู กีตาร์มิเตอร์ แต่ยาวเกินไปจึงตัดคำให้สั้นลง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|