คนทำหนังที่มาทำลูกทุ่ง

โดย สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ศุภชัย นิลวรรณ ไม่ได้เป็นนักร้องหรือเป็นนักดนตรี แต่เขาผ่านงานด้านภาพยนตร์ ละคร รายการโทรทัศน์มาก่อน การเข้ามาทำเพลงลูกทุ่งจึงกลายเป็นของใหม่ที่เขาต้องการทดลอง

ถ้าถามถึงความสนใจในเพลงลูกทุ่ง เขาก็เหมือนกับคนกลุ่มใหญ่ในบ้านเราที่ได้ยินได้ฟังเพลงลูกทุ่งมามาตั้งแต่เด็ก คล้ายกับว่าได้ยินคนอื่นเปิดแล้วลอยมาเข้าหูมากกว่าจะฟังอย่างจริงจังหรือสนใจเนื้อหา

แต่มารู้ลึกถึงแก่นของลูกทุ่งก็เมื่อมาทำงานกับบริษัทอาร์เอส ในส่วนของรายการโทรทัศน์ ลูกทุ่งสู่ฝัน เป็นเวทีการประกวดนักร้องทางช่อง 7 สี

"ตอนนั้นเริ่มรู้จักครูเพลง เริ่มคัดนักร้อง ส่งเทปมาให้คัดเหลือ 3 คนใน 1 สัปดาห์ ต้องฟังเพลง แล้วครูเพลงวิจารณ์นักร้อง เวลาตัดสิน เขามีมุมตัดสินอย่างไร เราเริ่มจับผิดลูกทุ่งได้ มีน้ำเสียง ท่าทาง บุคลิก"

จนเกิดบริษัทอาร์สยาม เขาเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ จึงต้องหาความรู้ในเรื่องลูกทุ่ง จากการพูดคุยกับคนในวงการตั้งแต่นักร้อง นักแต่งเพลง เจ้าของค่ายเทป ซึ่งช่วงแรกการหาข้อมูลทำได้ง่ายดาย เพราะไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นผู้บริหารค่ายเทปยักษ์ใหญ่ 1 ใน 2 ของบ้านเรา

บุคลิกของศุภชัย ไม่ใช่วิถีของคนทำค่ายเทป เขายอมรับว่าหน้าตาของเขาไม่ได้บอกว่าเป็นแฟนเพลงลูกทุ่งแม้แต่น้อย เวลาเดินไปกับทีมงาน คนในวงการลูกทุ่งยกมือไหว้ลูกน้อง แทนที่จะทักทายเขา แต่นั่นแค่เพียงช่วงแรก หลังจากทุกคนรู้ว่าเขาทำอะไร ก็แทบกลายเป็นพนักงานส่งเอกสาร คือรับเดโมเทปของว่าที่นักร้องใหม่ไม่ขาดสาย

"ขนาดช่างภาพของผมยังฝากเดโมเทปที่เขาทำให้ผมฟังเลย" ศุภชัยเล่าให้ฟังถึงหน้าที่เสริมของเขา

แต่เทปที่ส่งผ่านเขาก็ได้รับการพิจารณาเช่นกัน ทีมงานจะเป็นคนนำไปฟังเพื่อค้นหาว่าจะได้เจอนักร้องใหม่ๆ หรือไม่ บางครั้งเขาก็ฟังเอง และถึงกับลงมือตอบจดหมายที่เขียนมาในผลงานด้วย เขาบอกว่าบางครั้งอยากตอบ ดูมีความสัมพันธ์กันดี แต่ก็ไม่ได้ทำบ่อย ถ้าหากใครมาเห็นกองซีดี เทป ที่ห้องทำงานของเขา ก็คงรู้ว่าเหตุผลคืออะไร

ในขณะที่เขาไม่ได้มีพื้นฐานด้านดนตรี แต่เขาให้ความสนใจในด้านการวิเคราะห์หาเหตุผลที่เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อหาคำตอบ เพราะจากการที่เคยทำงานให้กับรายการท้าพิสูจน์ของกันตนา ที่ต้องลงลึกด้านรายละเอียด ข้อมูล เพื่อทำรายการ ความรู้สึกนี้จึงนำมาใช้กับการบริหารที่อาร์สยาม

การเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ตลาด และคู่แข่งจึงเป็นเรื่องสำคัญ เขาให้ทีมงานติดตามการแข่งขันในทีวี ดูรายการลูกทุ่งทุกค่าย และให้จดว่าแต่ละค่ายทำอย่างไร อาทิตย์นี้ใครเปิดมิวสิกกี่เพลง อย่างค่ายชัวร์อาทิตย์นี้มี 30 เพลง แบ่งเป็นของฝน ธนสุนทร กี่เพลง มนต์สิทธิ์กี่เพลง แล้วก็เอาแต่ละคนมาวิเคราะห์ว่าวางสื่ออย่างไร แล้วก็ผลเป็นอย่างไร ผลตอบรับเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เขาให้ความสนใจมากที่สุดคือมิวสิกวิดีโอ เพราะเขาจบคณะวารสารศาสตร์ สาขาภาพยนตร์มาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมงานจึงต้องไม่พลาดเรื่องนี้

ศุภชัยบอกว่าทีมทำมิวสิกก่อนที่จะทำต้องมาตอบโจทย์ของเขาก่อนว่าจะให้พระเอกอาชีพอะไร แต่งตัวประมาณไหน ต้องการให้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใด อย่างเช่นพระเอกใช้แรงงาน จะให้พระเอกผมตั้งเป็นเกาหลีก็ไม่ได้ พระเอกต้องหน้าตาหล่อแบบผู้ใช้แรงงาน

เมื่อดูแล้วงานเพลงลูกทุ่งมีความยุ่งยากขนาดนี้ ทำไมใครต่อใคร ถึงกระโดดลงมาทำ เขาบอกว่าคนภายนอกดูเหมือนง่าย แต่ต้องเข้าใจว่าแต่ละปีมีเพลงดังประมาณ 3-4 เพลง ที่เหลืออีก 90 เพลงตายหมด ทำไมไม่เอาเพลงพวกนั้นมาเป็นตัวอย่าง

เพลงดังที่เกิดขึ้นเขายืนยันว่าไม่ใช่ฟลุค หรือถูกหวย เมื่อวิเคราะห์ดีๆ จะเห็นว่ามันเป็นจังหวะ ทั้งนักร้อง แนวเพลง ลีลานักร้อง ซึ่งบางทีไม่มีใครคาดคิดมาก่อน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.