|
อาร์สยามได้เวลาบุกอีสาน
โดย
สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
การเข้าสู่ธุรกิจเพลงลูกทุ่งของบริษัท อาร์สยาม บริษัทในเครือของอาร์เอส ก็เป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ชี้ให้เห็นว่า เพลงลูกทุ่งในสายตาของบริษัทเทป น่าสนใจเพียงใด แม้จะถูกมองว่าไม่ทันสมัย แต่ผลที่ได้น่าสนใจยิ่งนัก
ศุภชัย นิลวรรณ ถูกเลือกให้เข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท อาร์สยาม โดยจุดเริ่มต้นของอาร์สยามเอง มองเห็นความแตกต่างของเพลงลูกทุ่งกับสตริง จึงนำหน่วยงาน ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำเพลงเข้ามาในอาร์สยามเหมือนเป็นอาร์เอสอีกบริษัทหนึ่ง
"กลุ่มเป้าหมายเป็นคนต่างจังหวัดและค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ แยกกลุ่มเป้าหมายชัดเจน สื่อต่างๆ เราก็มีเองหมด อาร์สยามผลิตรายการทีวีเอง รายการวิทยุมีคลื่นของตัวเอง กิจกรรม คอนเสิร์ต รวมทั้งผลิตเพลงเอง มีทีมงานที่ผลิตเพลงของเราเอง 3-4 ทีม โดยเรามองภาพรวมของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ ติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคใกล้ชิด เมื่อก่อนนี้พอมันรวมๆ การโฟกัสมันกระจาย ตอนนี้ผมโฟกัสเฉพาะกลุ่ม แล้วไปรีเสิร์ชข้อมูลหน่อยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร เขาฟังเพลงแนวไหน การบริโภค การซื้อเขาเป็นอย่างไร ทำแบบครบวงจร มันสามารถปรับธุรกิจได้ คล่องตัว รวดเร็ว"
ศุภชัยเล่าให้ฟังว่าช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ มีศิลปินไม่กี่คนแต่ขณะนี้มีถึง 60 คน เขาวางนโยบายว่าต้องเป็นบริษัทที่ทำเพลงครอบคลุมคนทั้งประเทศ ปัจจุบันนี้มีศิลปินครอบคลุมมากที่สุด ทุกแนวเพลง ทุกภาค แต่ภาคที่แข็งแรงและประสบความสำเร็จมากที่สุดคือภาคใต้ เห็นได้จากเสียงสะท้อนจากคนภาคอีสานที่สามารถร้องเพลงภาคใต้ได้มากขึ้น
แต่ตลาดใหญ่ที่สุดคือภาคอีสาน ฐานคนฟังอีสานมากที่สุด โดยเฉพาะภาคกลาง กรุงเทพฯ คนอีสานเข้ามาอยู่เยอะ สังเกตจากวิทยุ คนที่โทรมาขอเพลงคนอีสานเป็นส่วนใหญ่ เพลงแนวอีสานน่าจะกินกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด แต่เพลงแนวอีสานก็ทำกันมาก มาร์เก็ตแชร์ต่างๆ ก็ถูกซอยย่อย คนที่เป็นเจ้าตลาดก็ได้มาก รายเล็กรายน้อยก็ได้น้อย
เขาบอกด้วยว่าเพลงใต้ถึงจะไม่มากเท่าอีสาน แต่ว่าเหนียวแน่น พฤติกรรมคนละแบบ คนใต้จะเหนียวแน่นกับกลุ่มศิลปินของเขา บริษัทก็จะได้เป็นกอบเป็นกำ ถึงตัวเลขไม่มากเท่าอีสานแต่ก็เริ่มขยายวงขึ้นมา ที่ออกไปสำรวจมาก็คือคนอีสานรับเพลงภาคใต้ด้วย เพลงสำเนียงใต้เป็นอีกสำเนียงหนึ่งที่กำลังนิยม
"บริษัทต่างๆ เลยพุ่งมาที่ภาคใต้ การแข่งขันดุเดือดขึ้น ล่าสุดแกรมมี่ก็บอกว่าจะรุกตลาดใต้เหมือนกัน ต่อจากนี้ไปจะแข่งขันกันดุเดือดขึ้น" ศุภชัยประเมินการแข่งขันในตลาดเพลงใต้
เขาเชื่อว่าตลาดเพลงลูกทุ่งเปิดกว้างสำหรับเพลงทุกภาคอยู่แล้ว หากเพลงนั้นดังระดับประเทศ เหมือนกับเพลงของบ่าววี ต่าย อรทัย ทุกภาครับได้หมด เพียงแต่จะได้สัดส่วนภาคไหนมากกว่ากัน นักร้องใต้สัดส่วนทางใต้ก็มาก ส่วนภาคอื่นก็ขายได้ อย่างภาคอีสานก็ทำนองเดียวกัน
นอกจากนี้ในแต่ละภาคก็มีศิลปินท้องถิ่นที่ทำตลาดอยู่เงียบๆ บางทีส่วนกลางไม่รู้เรื่อง เหมือนที่เขาลงไปทำเพลงทางใต้ถึงรู้ว่ามีศิลปินดัง ขายดี แต่ขายดีแบบไม่มีคนรู้ อีสานก็มีเหนือก็มี แต่จำกัดวงอยู่ไม่กี่จังหวัด ศิลปินพวกนี้ก็จะแบ่งมาร์เก็ตแชร์อยู่แล้ว
ศุภชัยยกตัวอย่างการทำเพลงลูกทุ่งใต้ ที่ประสบความสำเร็จว่า เพลงในภาคใต้ถ้าไม่ใช่เพื่อชีวิตก็จะเป็นแนวแบบเอกชัย ศรีวิชัย ซึ่งเป็นเพลงลูกทุ่งแท้ๆ แต่เป็นแนวใต้ หลวงไก่ เอกชัยเป็นคนที่แนะนำให้มาทำเพลงกับบริษัท เพราะหลวงไก่เคยเป็นมือกลองในวงของเอกชัยมาก่อน แต่เสียงดี
หลวงไก่ร้องเพลงเพื่อชีวิต เป็นแนวเพลงใหม่ ตอนนั้นยังไม่มีใครทำตลาดแนวนี้ เขาเก็บหลวงไก่เอาไว้ประมาณ 1 ปี เพราะชอบเพลง ช่วงนั้นได้ตั้งทีมทำเพลงขึ้นมามีหนู มิเตอร์ อยู่ในทีมด้วย ก็ส่งหลวงไก่ให้หนูมิเตอร์ทำ เขาทำแนวเพื่อชีวิต แต่เนื้อหาเป็นเรื่องของความรัก หนุ่มสาว เรื่องทั่วๆ ไป มันไม่ใช่เรื่องการบ้านการเมือง เป็นเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิถีของคนลูกทุ่ง คนต่างจังหวัด พอเอาเข้ามาแพร่ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
กรณีของหลวงไก่ของอาร์สยามอาจคล้ายคลึงกับกรณีของไมค์ ภิรมย์พร ของแกรมมี่ โกลด์ ที่ทั้งตัวศิลปินและคนทำเพลง รวมทั้งค่ายเพลงเกือบถอดใจไปแล้วเหมือนกันกับผลงานที่พยายามสร้างขึ้นมา
อัลบั้มชุดขวัญใจพี่หลวง ซึ่งถือว่าเป็นชุดที่จุดพลุให้ชื่อของหลวงไก่โด่งดังขึ้นมาจนกลายเป็นทิศทางการทำตลาดภาคใต้ให้กับอาร์สยาม กำหนดวางแผงครั้งแรกในภาคใต้ ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2547 แต่หลังจากวางแผงได้ไม่นานยังไม่ทันที่จะรู้ตัวเลขยอดขายที่ชัดเจน ก็ปรากฏว่าเกิดโศกนาฏกรรมคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้
"ตอนนั้นทุกคนถอดใจหมดแล้ว คิดว่าบรรยากาศอย่างนี้คงไม่มีใครมีอารมณ์มาฟัง เพลง" หลวงไก่สารภาพกับ "ผู้จัดการ"
แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเริ่มกลับมาตั้งสติได้อีกครั้ง ยอดขายเทปชุดนี้ของหลวงไก่กลับพุ่งกระฉูดขึ้นทันทีตั้งแต่เดือนเมษายน 2548
"ก็เลยเห็นแนวทางว่ายังมีตลาดอยู่ เมื่อก่อนไม่เคยมีใครเจาะตลาดนี้ พอเราเจาะ ก็เลยรู้ว่ามีตลาด เราก็เริ่มทยอยทำศิลปินใต้ออกมา มีบิว กัลยาณี บ่าววี แล้วก็มีตัวเล็กๆ เสริมเข้ามา ซึ่งตัวเล็กๆ ก็ถือว่าดังในระดับพื้นที่ ไม่ถึงขนาดบูมเปรี้ยงปร้าง" ศุภชัยบอก
ขณะนี้อาจพูดได้ว่าแบรนด์อาร์สยามแข็งแกร่งในเพลงลูกทุ่งใต้ ถ้าพูดถึงอาร์สยามทำเพลงใต้ ความสนใจของคนประมาณ 50% จากนั้นก็ไปวัดกันในเรื่องของเพลงอีกทีหนึ่งว่าถูกใจหรือเปล่า ก็ถือเป็นการสร้างแบรนด์บริษัทในภาคใต้ พอแบรนด์ดีอย่างอื่นก็ดีตามไปด้วย
ผลงานเพลงที่สร้างชื่อและรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับอาร์สยามก็คือเพลงใต้ ที่เริ่มต้นจากหลวงไก่ บิว กัลยาณี และบ่าววี ซึ่งทั้ง 3 คนนี้ เพิ่งเริ่มต้นทำเพลงคนละ 1-2 อัลบั้มเท่านั้น
เพลงใต้ทำให้อาร์สยามมีที่ยืนมั่นคงขึ้น และมีกำลังไปบุกในภาคอื่นๆ ได้
"เปรียบกับพี่เป็นแค่ขอนไม้ เกาะลอยคอให้เพียงข้ามวัน แต่ฝั่งฝัน ขอเพียง ให้เรือพาเจ้าไป"
ทั้ง 3 คน จากที่เป็นเหมือนขอนไม้ ได้แปรเปลี่ยนเป็นเรือให้กับอาร์สยาม เพื่อไปถึงฝั่งแล้ว เหมือนในเพลงขอนไม้กับเรือของบ่าววี
ความแตกต่างของศิลปินทางใต้กับภาคอื่น ก็คือเพลงกับตัวศิลปิน คนใต้โดยเฉลี่ยการศึกษาค่อนข้างดี นักร้องที่เข้า มาระดับความคิดดี ช่วยตัวเองได้มาก หากเป็นคนในพื้นที่ก็รู้ว่า จะต้องทำตัวอย่างไร สัมพันธ์กับสื่ออย่างไร ในขณะที่ทำภาคอื่น นักร้องต้องพึ่งบริษัทมาก และบริษัทไม่มีเวลาที่จะไปดูแลอย่างใกล้ชิดได้ทั้งหมด แต่นักร้องใต้ดูแลตัวเองได้ เพียงแต่ต้องช่วยเสริมในสิ่งที่เขาขาด
"ตอนนี้เทรนด์มันมาอยู่ที่ใต้ กราฟกำลังขาขึ้น ในขณะที่อีสานทรงตัว ทุกบริษัทก็กำลังพุ่งไปที่ใต้ คิดว่าเพลงภาคใต้จะเป็นรอบ ตอนนี้เป็นรอบของมันแต่ยังมีช่องว่างให้ขยายตลาดได้อีก ตลาดใต้อาจเริ่มเต็มที่แล้วแต่ตลาดภาคอื่นเริ่มรับเพลงใต้ รับสำเนียงใต้ คุ้นหูแล้ว จะเห็นว่าช่วงนี้เพลงภาคกลางหายไป ทำเพลงมาดีขนาดไหน นักร้องดังแค่ไหนทำออกมาขายไม่ได้"
เขาบอกด้วยว่าเพลงมันวนเวียนเป็นวัฏจักรเหมือนเสื้อผ้า หรือแฟชั่น เมื่ออิ่มตัวก็จะเปลี่ยนไปสไตล์อื่น แต่สักพักกระแสก็คงเปลี่ยนไป แต่ภาคอื่นต้องทำเพื่อเป็นเชื้อเอาไว้ไม่ให้มีช่องว่างและทำให้เห็นว่าบริษัทไม่มีแค่เพลงภาคใต้
เขายอมรับว่าตลาดอีสานของบริษัทยังไม่แข็งแกร่ง เพราะอีสานมีเจ้าตลาดอยู่แล้ว ตลาดบนเป็นของแกรมมี่ โกลด์ ตลาดล่างเป็นของทอปไลน์ ไดมอนด์ แต่จะเป็นหมอลำ เสียงอีสาน อาร์สยามเข้าไปก็อยู่ในฐานะน้องใหม่ เพราะปกติไม่ได้ทำตลาดอีสาน จึงต้องค่อยๆ เจาะ
บุคลิกพิเศษของคนฟังในภาคอีสานก็คือ เวลาสร้างศิลปินต้องใช้เวลานาน แต่พอติดแล้ว ติดนาน เพราะตัวผู้บริโภคยึดติดกับตัวศิลปิน คือต้องสร้างให้เป็นไอดอล เป็นคนใช้แรงงาน เป็นคนอะไรก็แล้วแต่ ต้องเป็นตัวแทนของคนฟัง ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง และศาสตร์หลายแขนงเข้าไปอย่างน้อยต้องใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี
ช่วงเริ่มต้นของเพลงลูกทุ่งยังเป็นกลุ่มภาคกลางและอีสาน ด้วยการขับขานของนักร้องเก่า อย่างสันติ ดวงสว่าง สายันห์ สัญญา ศรเพชร ศรสุพรรณ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง และอัลบั้มที่อาร์สยามเรียกว่าแจ็กพอตก็คือ "รักน้องพร" ของสดใส รุ่งโพธิ์ทอง ที่กลับมาเกิดอีกครั้งเมื่อ 10 กว่าปีก่อนในช่วงสูงวัย
เมื่อต้องบุกภาคอีสานอย่างจริงจัง ศุภชัยก็เลือกใช้วิธีส่งแม่ทัพใหญ่ลงไปทำศึก และศึกครั้งนี้เขาเลือกจินตหรา พูนลาภ เป็นธงนำ หลังจากที่ค่ายมาสเตอร์เทป ต้นสังกัดของจินตรา พูนลาภ ปิดตัวเองลงไป
"จินตหรา พูนลาภ ความจริงเขาดังอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังตกลงไป พูดตรงๆ พอเขาไปร้องคู่กับเบิร์ด ภาพรวมไปได้ แต่ว่าภาพของจินตหราหายไป เดิมที่ร้องหมอลำ ร้องกลอน กลายเป็นภาพไฮโซ เสริมให้เบิร์ดดังขึ้น ชุดหลังๆ มาตกตลอดก็เลยต้องมาฟื้นฟู ให้มาเป็นจินตหราคนเดิมให้กลุ่มเป้าหมายเดิมรับได้เหมือนเดิม"
ที่ผ่านมาการบุกภาคอีสานของอาร์สยาม เหมือนส่งพลทหารไปรบ แล้วก็ล้มตายทุกวัน เวลานี้เขาต้องส่งแม่ทัพลงไป เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ให้เป็นหัวหอก แล้วเสริมด้วยศิลปินดังๆ อีก 4-5 คน เพราะหากมีน้อยก็ชนกับคู่แข่งลำบาก
เมื่อตั้งใจเอาจริงที่ภาคอีสาน อาร์สยามประกาศนโยบายปักธงที่อีสาน เทงบประมาณ กำลังคนลงไป ซึ่งศุภชัยขอเวลา 1 ปี เพื่อวัดผลที่ใช้เวลาสั้นๆ เพราะเขาเชื่อว่าจะรู้ผลเร็วกว่านั้น รวมทั้งไม่ได้ลงไปเริ่มใหม่ มีครูเพลงและศิลปินภาคอีสานอยู่ในพื้นที่ เช่น ต้อย หมวกแดง เจ้าของเพลง "บอกว่าอย่าขอหมอลำ" และอีกหลายคน
ลงทุนแรงกายและแรงเงินมากมายขนาดนี้ ศุภชัยก็ยังอุ่นใจว่าเพลงลูกทุ่งรายได้ จากการขายเพลงยังสูงอยู่ การขายซีดีอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ส่วนของดาวน์โหลดค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปกติฐานอยู่ที่ประมาณ 10% ของสตริง ตอนนี้เริ่มขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 15-20% หากโปรโมตเพิ่มก็อาจเจาะตลาดได้มาก ขึ้น จริงๆ คนซื้อลูกทุ่งมีมือถือใช้อยู่แล้ว ถ้าโปรโมตให้ถูกช่องทางก็จะได้มาร์เก็ตแชร์มากขึ้น
กลยุทธ์หนึ่งที่จะเสริมให้การบุกภาคอีสานประสบความสำเร็จได้ก็คือ การโปรโมต ผ่านสื่อวิทยุที่มีอยู่ในมือของอาร์สยาม เขายอมรับว่าในขณะที่ยังไม่แข็งแรงในอีสาน บริษัทก็ต้องมีคลื่นของตัวเองที่แนะนำ นำเสนอ เพลงของบริษัทเพียงอย่างเดียว เพื่อจับกลุ่มคนที่ชอบให้มาฟัง หากเปิดของคนอื่นในขณะที่ยังไม่แข็งแรงก็จะโดนกลืนหมด
"เราจึงต้องมีคลื่นที่เปิดเฉพาะของอาร์สยาม และเราเป็นบริษัทที่มีศิลปินเยอะที่สุด มีผลงานเพลงมากที่สุดแค่เพลงที่กำลัง โปรโมตเปิดทั้งวันยังไม่หมดเลย คนที่ชอบฟัง เพลงค่ายอื่นเขาก็จะรู้ ส่วนคนที่ฟังคลื่นของเราก็ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา เป็นฐาน ของเราเลย พอฟังมากๆ โดยรูปแบบเราก็พยายามปรับเปลี่ยนให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น"
ขณะนี้คลื่นวิทยุของอาร์สยามมีประมาณ 20 คลื่นทั่วประเทศ ใช้รูปแบบจัดผ่านดาวเทียม จัดรายการที่กรุงเทพฯ ผ่านดาวเทียมขึ้นไป ใครจะรับก็รับไปอย่างพวกเคเบิลทีวี คนที่มีจานดาวเทียม บางคลื่นที่เขาจัดไม่ไหว ก็ใช้จานดาวเทียมดึงสัญญาณไป
ถึงจะมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมในการโปรโมตเพลงแต่ศุภชัยยืนยันว่าสินค้าต้องดีก่อน สินค้าก็คือตัวนักร้องกับตัวเพลง ด้านตัวเพลงก็ต้องมีรีเสิร์ชอยู่ตลอดเวลาว่าคนฟังเพลงต้องการอะไร บางครั้งลงไปรีเสิร์ชหน้าแผงเทปว่าเพลงอะไรขายดี ทำให้รู้ว่าเพลงดังของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร
การดาวน์โหลดต้องดูว่ายอดของใครเกิดการดาวน์โหลดมากที่สุด น้ำหนักเป็นอย่างไร คือเพลงโดนกลุ่มนี้ก็เทียบเคียงได้ว่าเพลงได้รับความนิยมแนวกว้างเหมือนกัน แล้วก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาวิเคราะห์
เขาเชื่อว่าทุกค่ายวิเคราะห์ได้คล้ายๆ กันหมดนั่นแหละ อยู่ที่ว่าใครทำออกมาแล้วตอบโจทย์ได้มากที่สุด ใครที่มีทีมงานที่ดีกว่า ลึกซึ้งกว่าก็จะได้เปรียบ ก็ต้องแข่งขันกันในเรื่องของทีมงานด้วย
การทำวิจัยเชิงลึกของอาร์สยามคือส่งทีมงานไปในพื้นที่แล้วดูให้ครบทุกด้าน ดูตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค การฟังเพลงของคนอีสาน ครูเพลงบางคนอยู่อีสานอยู่แล้ว ก็จะรู้วิวัฒนาการของเพลงอีสานมาตั้งแต่เริ่มต้น คนที่วิเคราะห์เป็นก็จะจับจุดถูกว่า 10 ปีที่แล้วเขาฟังกันอย่างไร ตอนนี้ขยับมาเป็นอย่างไร แล้วก็เอาไปเทียบเคียงกับด้านอื่น ข้อมูลทุกอย่างเอามาเป็นข้อวิเคราะห์ได้ทั้งหมด อยู่ที่ว่าใครวิเคราะห์ถูก วิเคราะห์ผิด หรือทำตามที่วิเคราะห์มาได้หรือไม่
ความแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นอีกส่วนหนึ่งก็คือ การให้ความสำคัญกับการผลิตมิวสิกวิดีโอที่เขาจะเน้นมาก เพราะจบมาทางภาพยนตร์ เขาย้ำว่ามิวสิกวิดีโอพิสูจน์แล้วว่าส่งเพลงให้ดังเร็วและกว้างขวาง เช่น เพลงขอนไม้กับเรือของบ่าววี มิวสิกวิดีโอสร้างเป็นซีรี่ส์ 3 ตอน โดยนักร้อง 3 คน
ส่วนการเดินสายโชว์ตัวจะเป็นการรับจ้างเจ้าภาพไปร้องและการร่วมกับสินค้า แต่การปิดวิกปัจจุบันค่อนข้างน้อย เพราะว่าของฟรีมีมาก สินค้าต่างๆ ที่เจาะตลาดต่างจังหวัด หรือลูกทุ่ง เริ่มมองเห็นศักยภาพของกลุ่มนี้ก็จะมาร่วมกันนำศิลปินออกไปฟรีคอนเสิร์ต เรียกคนมาเยอะๆ แล้วทำกิจกรรมต่างๆ
ขณะนี้อาร์สยามมีศิลปินถึง 60 คน ออกผลงานประมาณปีละ 30 ชุด แต่ก็พยายามลดจำนวนอัลบั้มลง เพราะตอนแรกศิลปินมีน้อยต้องสร้างฐานขึ้นมาเรื่อยๆ พอมีมากก็ต้องแบ่งหมวดหมู่ศิลปินเป็น A,B,C,D กลุ่ม A ก็คือออกมาการันตียอดขายเป็นแสนแผ่นขึ้นไป กลุ่ม B ยอดขายประมาณ 80,000 หมื่นแผ่น กลุ่ม C ยอดขายที่หลักหมื่นแผ่น ส่วนกลุ่ม D เป็นเด็กใหม่ เพลงดีติดกระแสวิทยุสามารถนำมาต่อยอดได้ กลุ่มนี้มีประมาณ 30 คน
"ผมมีโควตาให้ทำปีละ 5 ชุด คุณต้องแข่งกันเองนะ ทั้งทีมงานและอะไรต่ออะไร ส่วนคนที่เป็น A อยู่แล้ว ปีละ 2 ชุด เพราะการันตีมีแฟนเพลงประจำ ยอดสั่งซื้อแน่นอน กลุ่ม A มี 7-8 คน เราเอาตรงนี้มาบริหาร นอกนั้นเป็นสีสัน
เมื่อปริมาณนักร้อง 60 คนของอาร์สยาม ก็หมายความว่านักร้องแต่ละคนมีค่าเฉลี่ยออกเทป 2 ปีต่อหนึ่งชุด ทำให้รู้ว่า นักร้องของอาร์สยามนอกจากต้องเสียงดีแล้ว ยังต้องมีความอดทนสูง หรือไม่ก็ต้องชอบร้องเพลง
"...ไม่เจอกันนาน คิดถึงจังเลย"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|