69 ปี ลูกทุ่งไทย

โดย สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เพลงลูกทุ่งอยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลานาน มีการค้นคว้าจากนักวิชาการซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าน่าจะนับจุดเริ่มต้นจากเพลง "โอ้เจ้าสาวชาวไร่" ของเหม เวชกร แต่งขึ้นเมื่อปี 2481 จากนั้นเพลงลูกทุ่งก็เกิดขึ้นมา แม้ว่าจะลุ่มๆ ดอนๆ บ้างก็ตาม

ตั้งแต่เพลงแรกที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าเพลงลูกทุ่งจะฮิตติดหูติดใจคนฟังมากมายนัก เพราะวัฒนธรรมการฟัง การเลือกหาสิ่งบันเทิงยังมีทางเลือกอื่นๆ อย่างเพลงพื้นบ้านที่ใช้ดนตรีไทยมาเป็นเครื่องประกอบ ซึ่งเราเรียกกันว่าเพลงรำวง

ในยุคนี้เริ่มมีวิทยุเข้ามาเป็นเครื่องมือในการให้ความบันเทิงกับชาวบ้านแล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย

การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเริ่มจากปี 2500 เริ่มมีนักแต่งเพลงและนักร้องที่มีวิธีการเล่าเรื่องใกล้เคียงกับลูกทุ่งมากขึ้น แต่คนฟังยังเรียกว่า "เพลงตลาด" เพราะเพลงเหล่านี้ถูกเล่นในตลาดนั่นเอง

นักร้องยุคนี้คือทูล ทองใจ สุรพล สมบัติเจริญ ก้าน แก้วสุพรรณ ชาย เมืองสิงห์ ชาญ เย็นแข ผ่องศรี วรนุช เพลงยุคนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยุคนั้น ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้นก็ว่าได้ แต่คนสมัยนั้นเรียกว่า "เพลงชีวิต" ที่โด่งดังที่สุดก็คือเพลงกลิ่นโคลนสาบควาย ของไพบูลย์ บุตรขัน ร้องโดยชาญ เย็นแข

ในปี 2507 ถึงจะมีการเรียกเพลงลูกทุ่งอย่างเต็มปากเต็มคำ จำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายจัดรายการช่อง 4 บางขุนพรหม สั่งให้ประกอบ ไชยพิพัฒน์ จัดรายการโทรทัศน์โดยใช้ชื่อรายการว่า "เพลงลูกทุ่ง"

การเติบโตของเพลงลูกทุ่งเฟื่องฟูอยู่ในยุคของสุรพล สมบัติเจริญ ที่เป็นความแปลกใหม่ของวงการเพลงลูกทุ่ง เขาโด่งดังประมาณเอลวิส เพรสลี่ย์ แต่ก็จบชีวิตลงขณะที่กำลังดังสุดขีด แต่การปิดฉากของสุรพล สมบัติเจริญ เหมือนกับการเปิดทางให้นักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่ได้ออกมาอยู่ในแถว เช่น เพลิน พรหมแดน ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ชาย เมืองสิงห์ เสรี รุ่งสว่าง ชินกร ไกรลาศ พร ภิรมย์ ก้าน แก้วสุพรรณ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ผ่องศรี วรนุช สุชาติ เทียนทอง

ระหว่างนี้เริ่มมีการบันทึกเสียงลงแผ่น ทำให้เพลงลูกทุ่งยิ่งขยายตัวเร็วขึ้น ในปี 2510 เพลงลูกทุ่งก็ครองตลาดเพราะมีการบันทึกเทปแทนแผ่นเสียง และโทรทัศน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ช่วงนี้เพลงลูกทุ่งรุ่งเรืองมาก และเป็นยุคทองของไพบูลย์ บุตรขัน กับนักร้องคู่บารมีอย่าง รุ่งเพชร แหลมสิงห์

เมื่อเข้าสู่ปี 2516 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เกิดขึ้น ช่วงนี้เพลงลูกทุ่งก็เงียบเหงาไป เพราะเงื่อนไขหลายๆ ประการ และความไม่แน่นอนทางการเมือง

ลูกทุ่งกลับมาอีกครั้งในปี 2520 มีนักร้องลูกทุ่งเกิดมากมาย ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคที่ดาราออกมาตั้งวงลูกทุ่ง อย่างกรุง ศรีวิไล ก็มีวงซูเปอร์ลูกทุ่ง นักร้องที่โด่งดังในยุคนี้มี สายัณห์ สัญญา ยอดรัก สลักใจ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ฉลอง ภู่สว่าง วิเชียร คำเจริญ ศรชัย เมฆวิเชียร ศรเพชร ศรสุพรรณ

พอมาถึงปี 2523 ลูกทุ่งก็ทรุดหนัก นักร้องหลายคนสั่งยุบวง เพราะว่าช่วงหลังคนฟังเริ่มเบื่อ เพราะขาดเพลงดีๆ ออกมา ที่สำคัญวงดนตรีลูกทุ่งมีมากเกินไป

ลูกทุ่งหายไปจากวงการเพลงเป็นเวลานาน ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงของคนฟัง และปัจจัยรุมเร้าอื่นๆ นักร้องลูกทุ่งใหม่ๆ ค่ายเทปก็ยังเกิดขึ้นแต่ไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีต

ปี 2541 เป็นการกลับมาของเพลงลูกทุ่งอีกครั้ง และรอบนี้มีนักร้องใหม่ๆ เกิดขึ้นมาในวงการหลายคน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.