|
GRAMMY GOLD กริส ทอมัส พระเจ้าให้เราหรือเปล่า
โดย
สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ชื่อเสียงของแกรมมี่ในยุคเริ่มต้นจะผูกติดมากับการทำเพลงวัยรุ่น เพลงสตริง มากกว่าที่จะออกมาเป็นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของแกรมมี่และเป็นจุดขายที่เปลี่ยนแปลงได้ยากในสายตาของคนฟังและคนซื้อ แต่การที่ถนัดทำเพลงสตริงก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำเพลงแนวอื่นไม่ได้ เพราะโดยหลักการแล้ว การทำเพลงสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างความบันเทิงให้ผู้ฟังจนทำให้เกิดการซื้อผลงาน
การทำเพลงได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขายได้
ก็บอกแล้วว่าวงการลูกทุ่งไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบใดต้องลำบากก่อนจึงจะโด่งดังได้ แกรมมี่ โกลด์ แขนขาเพลงลูกทุ่ง ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ก็เช่นกัน
กริส ทอมัส กรรมการผู้จัดการ บริษัทแกรมมี่ โกลด์ ยังเห็นภาพความหลังที่ชัดเจนเมื่อครั้งที่ก้าวเข้ามาทำเพลงลูกทุ่งครั้งแรกเมื่อ 12 ปีที่แล้ว
"เริ่มต้นที่ทำครั้งแรกก็มั่ว ทำผิดหมดเลย เริ่มแบบคนที่เคยทำสตริงมาก่อนแล้วมาทำลูกทุ่ง คิดว่าทำเท่านี้เอาเนื้อหาเข้ามา เอาทำนองเข้ามา เพลงกว้านซื้อเข้ามาเป็นแฟ้ม เสียเงินไปหลายแสน ออกไปเจ๊งหมด"
สิ่งที่กริสทำผิดก็คือการตีความหมายเพลงลูกทุ่ง เขาลงพื้นที่ไปนั่งฟังเพลงลูกทุ่ง หมอลำในบาร์ที่ขอนแก่น เพื่อจะได้รู้ว่าเขาฟังอะไรกันและไปจับอารมณ์คนฟังเพลง คนร้อง ดนตรี สิ่งที่เขาพบในตอนนั้นก็คือ เพลงออกมาในแนวสนุกสนาน ส่วนเนื้อฟังไม่ออก เพราะไม่คุ้นเคย แล้วก็กลับมาเขียนและทำเพลงออกมาในแนวเนื้อหาสนุกสนาน ซึ่งการทำเช่นนั้นเขายอมรับเองว่าผิด เมื่อกลับไปเริ่มใหม่อีกครั้งจึงเข้าใจว่า เพลงแนวอีสานจะนำเสนอเป็นแนว "ขำขื่น" ประชดประชัน จากนั้นก็เริ่มปรับให้เป็นแนวทางของตัวเอง และโดนตลาดมากที่สุด
"เพลงแรกที่เหมือนกับแสงนำทางก็คือ ชุดแรกของไมค์ ภิรมย์พร ในเพลงผู้อยู่เบื้องหลังที่เนื้อหาพูดถึง ตึกนี้ใครสร้างถนนนี้ใครทำ พวกหมู่เฮาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเป็นความภูมิใจ แล้วเราก็มาได้อีกทีก็ตอนเพลงละครชีวิตของไมค์ เนื้อหาคือจากอีสานบ้านเกิดเมืองนอนมาเล่นละคร เหมือนผจญภัย มาเจอใครก็ไม่รู้จัก โดนรังแกสารพัด"
แต่แสงนำทางที่กริสได้เห็นก็ยังไม่สว่างพอที่จะทำให้หายใจคล่อง หรือเลิกเครียดได้ว่าธุรกิจเพลงใหม่ของบริษัทจะเดินต่อไปได้อย่างเข้มแข็งหรือเติบโตต่อไปได้ เพียงปลอบใจได้ว่า น่าจะเดินมาถูกทาง
ระหว่างที่เพลงใหม่ยังอ่อนแอ แกรมมี่ โกลด์ ก็มีความสุขเล็กๆ จากการนำเพลงเก่ามาร้องใหม่ ในชุดบันทึกวรรณกรรมที่มีก๊อต จักรพรรณ์ อาบครบุรี (นามสกุลเดิม) เป็นคนร้อง ซึ่งชุดนี้มียอดขายในระดับที่น่าพอใจ กริสเปรียบเทียบให้ฟังว่า เหมือนกับชาวสวนที่รอมะม่วงที่ปลูกอยู่โต ก็ต้องไปหิ้วทุเรียนจากสวนอื่นมาขายก่อน ทำให้ยังมีแรงที่จะทำต่อไป
มะม่วงของกริสยังรอเวลาเติบโต แต่ก็ไม่ทันใจคนปลูกเท่าไรนัก เพราะเจ้าของสวนก็คือบริษัท คอยถามคนปลูกอย่างกริสว่า เมื่อไหร่มะม่วงจะโตแล้วเก็บขายได้สักที
"ช่วงนั้นเหมือนลองผิดลองถูก ยังไม่ถูก แจ็กพอต แต่สายเพลงบันทึกวรรณกรรมยังมีตัวเลขดีอยู่ก็ยังประชุมกันอยู่ แต่ก็เครียด จนฟ้าดลบันดาลมาให้ ฟ้าส่งคนมาให้คนหนึ่ง ตั้งแต่ชุดที่ 2 ของไมค์ ภิรมย์พร คือเพลงน้ำตาหล่นบนโต๊ะจีน เดิมเป็นคนแต่งหมอลำ เราตาม หาตัวจนมาเจอที่อุบลราชธานี เลยมาทำชุด 3-4 ของไมค์ บอกคนเขียนเพลงคนนั้นว่าลองเปลี่ยนแนวคิดเถอะ จากทำเพลงเพื่อระบายความกดดันของคนพลัดถิ่น ลองทำเพลงที่เป็น ไลฟ์สไตล์ของเขามาเล่าให้ฟังเถอะ"
คนที่ฟ้าส่งมาให้กริส ก็คือสลา คุณวุฒิ นักแต่งเพลงจากอุบลราชธานี และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของแกรมมี่ โกลด์ในเวลาต่อมา
แนวทางใหม่ของแกรมมี่ โกลด์คือ ทำเพลงลูกทุ่งในรูปแบบของการปลอบประโลม ทำให้คนฟังมีอารมณ์ร่วมว่าเพลงนี้เป็นของเขาและพูดแทนตัวคนฟังได้เป็นอย่างดี
กริสเล่าให้ฟังว่าตัดสินใจลองทำเพลงใหม่ของไมค์ ภิรมย์พร อีกชุดหนึ่งเป็นชุดที่ 5 ของไมค์ แต่ทำแบบไม่ประมาท เขาใช้คำว่าทำด้วยความปอดแหกเพราะล้มเหลวมามาก ปล่อยเพลงเข้าตลาดตั้งแต่เดือนธันวาคม ก็มีกระแสตอบกลับมาบ้างแต่เขาคิดว่าเป็นเพลงดังฟังฟรีมากกว่า จน สุดท้ายคนฟังลูกทุ่ง FM โทรมาด่าว่า เมื่อไหร่จะขายเพลงนี้สักที ชุดนี้เมื่อไหร่จะออกสักที
"ผมเลยไปหาคุณกิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ บอกว่าเพลงมาแล้วแต่ด้วยความที่เราเจ๊งเลยไม่รู้ว่าเพลงนี้มาเท่าไร ถ้าหากเจ๊งอีกหรือโดนอะไรอีกทีก็คงต้องเลิกกันแล้ว ก็มาคิดต่อจะทำมิวสิกวิดีโอยังไงเพลงนี้ นึกไม่ออก เลยปรึกษากับคนแต่งเพลง สลา คุณวุฒิ ว่ามีแรงบันดาลใจมาจากอะไร เขาเล่าให้ฟังว่าขาไปอยู่อุบลราชธานี มีห้างสรรพสินค้า นั่งรถผ่าน ฝนตกมองเห็นสาวห้างเดินออกมาก็มีหนุ่มๆ ขับรถเก๋งมารับ แต่เห็นอยู่คนหนึ่งเพื่อนๆ ไปหมดแล้ว ถือถุงยืนรออยู่ พักหนึ่งมีแฟนขี่มอเตอร์ไซค์ตากฝนมารับกลับ ก็เลยทำตามนั้น นั่นคือเพลงยาใจคนจน ชุดนี้ขายได้ล้านตลับ รอดแล้ว"
ท่อนแรกของเพลงยาใจคนจน ที่ว่า "เป็นแฟนคนจน...ต้องทนหน่อยน้อง..." คงเข้ากับความรู้สึกของกริส และแกรมมี่ โกลด์ ได้เป็นอย่างดี
แกรมมี่ โกลด์มองเห็นแนวทางในการทำเพลงลูกทุ่งให้สำเร็จแล้ว แต่จะให้ตัดสินด้วยผลงานของไมค์เพียงคนเดียวก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก ยอดขายล้านตลับชุดถัดมา ก็คือนักร้องหญิง ศิริพร อำไพพงษ์ ซึ่งสลา คุณวุฒิ เป็นคนแนะนำเข้ามา
ศิริพรเป็นหมอลำมาก่อน และไม่ได้ร้องเพลงลูกทุ่งมานานมาก การกลับมาครั้งนี้ก็ต้องหัดร้องลูกทุ่งใหม่ แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของศิริพรก็คือเสียงแหบ ซึ่งติดตัวมาตั้งแต่ร้องหมอลำเมื่อมาร้องเพลงให้กริสฟัง เสียงที่แหบแห้งไม่ได้สร้างความประทับใจให้เขาเท่าไร จึงฟันธงไปเลยว่าเสียงมีปัญหา ให้ปรึกษาหมอและรักษาเสียงก่อนที่จะออกอัลบั้ม
การเข้ามาของศิริพร ในส่วนของกริสเองก็ถูกโจมตีอย่างหนักจากสื่อบันเทิงหลายฉบับ
"ช่วงนั้นนักข่าวบันเทิงก็กระหน่ำผมพอสมควร ประมาณว่าโง่ที่เอานักร้องหมดสภาพมาเข้าค่าย ไม่เป็นไร ทำให้ดู ไม่ได้หวังสูง แต่ก็น่าจะประมาณหนึ่ง ก็ทำรีเสิร์ชได้ชื่อเพลงหนึ่งมาในกรุงเทพฯ แล้วก็ตัดแผ่นส่งวิทยุ ชุดนั้นแผ่นตัดยังเป็นคนละชื่อกับชุด เพราะมันแก้ไม่ทัน ผมเดินทางไปอีสานเพื่อเช็ก เพราะก่อนวางต้องดูว่าจะวางเท่าไรดี จะโดนหรือไม่โดน ตอนนั้นเพลงเพิ่งเปิดไปได้ 2 อาทิตย์ โอโหเพลงมันมา เราจำได้ว่าตอนเพลงไมค์มามีอารมณ์แบบไหน แต่อันนี้ยิ่งกว่า ต้องโทรมาเปลี่ยนปก เปลี่ยนเพลง เพลงนั้นก็คือเพลงปริญญาใจ ชุดนี้ก็เป็นล้านอีกแล้วครับ เราจำบรรยากาศล้านได้แล้วไง อ้อ อย่างนี้เขาเรียกว่าล้าน อย่างนี้เขาเรียกว่าเจ๊ง จับความรู้สึกได้"
ปริญญาใจทำให้ศิริพร อำไพพงษ์ และกริส ทอมัส ได้รับปริญญาด้านลูกทุ่งไปเรียบร้อย เหมือนกับเนื้อเพลงที่ว่า "...ได้ฮักกับ อ้าย...เหมือนใจได้ปริญญา..."
กริสเริ่มเข้าใจว่าถ้าเพลงมีองค์ประกอบ ชุดไหนก็สามารถขายได้ล้านตลับ ถ้าถึงจุดลึกของมัน ทำงานบ่อยๆ ก็จะรู้บรรยากาศ แล้วเริ่มจับทางได้ เพลงและวิจัยแบบนี้ แต่สำคัญที่สุดเมื่อไหร่ที่เดินตามถนนแล้วคนสับมะละกอ ร้องเพลงที่กำลังขายอยู่ได้ นั่นคือสัญญาณที่ชัดเจนว่ามาแล้ว
เขายืนยันว่าไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่รู้ว่าเพลงนี้โดน ไม่เจ๊งแล้ว มากน้อยขนาดไหนไม่รู้ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้การตลาดและกลยุทธ์อย่างไร ปัจจัยเหล่านี้ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ เพราะคนฟังสั่งไม่ได้ อารมณ์คนไม่นิ่ง สุดท้ายเขาผลักภาระให้กับ "พระเจ้า" ว่าจะให้หรือไม่ให้
"เรารู้ว่าเพลงนี้ดี เพลงนี้ผ่าน เพราะเรามีรีเสิร์ชตลอดเวลาว่าผ่านขนาดไหน อารมณ์ขนาดไหน ความสนใจในการซื้อขนาดไหน ถ้าจะซื้อจะซื้อเพลงไหน แล้วคนฟังอยู่ภาคไหน สื่อที่จะเข้าถึงเป็นอย่างไร เรามั่นใจก็ออกไป แต่ ขนาดมั่นใจบางทีก็ใจหายแวบเหมือนกัน"
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ทำให้ต้องลุ้นแบบนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสื่อที่มีการแตกขยายไปมากมาย เริ่มตั้งแต่ลูกทุ่ง FM เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน ซึ่งมีมากมายจนบางครั้งเลือกมาใช้งานไม่ถูก ต่างจากเดิมที่ใช้สื่อโทรทัศน์เป็นหลัก
"ผมว่าวิทยุต่างจังหวัดกว่าจะติดนี่ยาก แล้วก็น้อยที่จะติด สถานีไม่มากเหมือนกรุงเทพฯ มีเวลานิดเดียว หาดีเจดังใส่เพลงก็ยากเย็นแสนเข็ญ ผมเชื่อเรื่องทีวี เพราะสมัยก่อนมีผลมาก เพราะไม่มีเคเบิล ไม่มีอะไร ใส่ในรายการ ก็เห็นผลเลย ทีวีเป็นตัวปูพรมทั่วประเทศ วิทยุค่อยเป็นทหารราบ วิทยุผมใช้รีเสิร์ชว่าอาการมันจริงหรือเปล่า ยิงปืนใหญ่ให้ถูกที่แล้วเอาทหารราบไปยึดอีกทีหนึ่ง"
แนวทางนี้ได้รับการพิสูจน์จากประทีป บุณยโพธิกุล ผู้จัดการของศิริพร อำไพพงษ์ ที่มีประสบการณ์อย่างยาวนานในวงการเพลงลูกทุ่ง เพราะหลังจากจำนวนสื่อแตกขยายออกมามากมาย การปล่อยศิลปินออกไป เพลงก็ดี แต่ยังเจ๊ง กริสเริ่มเห็นว่าการใช้โทรทัศน์ออกอากาศทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายเหมือนลูกปืนใหญ่ ยิงไปคุมหมดแต่ไม่คุ้ม ประทีปจึงเข้ามาในรอยต่อนี้ด้วยการกลับไปที่วิทยุอีกครั้ง ทำกิจกรรมสนับสนุนศิลปินและอัลบั้มที่นั่น
กริสสรุปวิธีการทำงานของประทีปว่า คือกิจกรรมการตลาด Below the Line และในส่วนของเขาเรียกว่า Above the Line
ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะว่าคนฟังไม่ได้ยินเพลงที่ขาย ในขณะที่บริษัทคิดว่าคนจะมาซื้อแน่นอนเพียงเพราะว่าสื่อกระจายตัว ก็เลยต้องวิ่งไปยิงทีละคน ทำกิจกรรม เข้าวิทยุ แจก ลายเซ็น ลงพื้นที่ขายเทป แต่ไม่ได้ไปขายแข่งกับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ไปรับของเขามาขายหน้างานอีกต่อหนึ่ง ทำให้เขากล้าสั่งของมากขึ้น
"อัลบั้มของไผ่ พงศธร ชุดแรกออกมา เพลงดี ทุกอย่างใช่แล้ว สัญญาณดี แต่เจ๊งไป 1 ล้านบาท ก็บอกคุณประทีป เขาก็วิ่งกลับไปอีกที ใช้เวลาอีก 6-7 เดือน ค่อยกลับมากำไร กลายเป็นนักร้องดังไปอีกคนหนึ่งแล้ว" กริสยกตัวอย่างกิจกรรมการตลาดแบบลูกทุ่งให้เห็นภาพ
การทำเพลงลูกทุ่งในยุคนี้คือการผสมผสานแผนการตลาดให้กลมกล่อม เฉกเช่นนักร้องลูกทุ่งที่ต้องแพรวพราวด้วยน้ำเสียง ลีลา และบุคลิก เพลงลูกทุ่งของแกรมมี่ โกลด์ที่กริสดูแลอยู่ก็เช่นกัน
กริสยอมรับว่าเขาไม่ต้องการเป็นอาเฮียเปิดตู้เซฟดูเพลงที่กว้านซื้อมาเป็นร้อยเพลงทั้งวัน แต่จะทำงานด้านการตลาดก่อน ทำรีเสิร์ชที่ชัดเจน แบ่งกลุ่มตลาด เจอคนก็ถามว่าเพลงอะไรยังไม่มี นักร้องแต่ละคนก็มาดูว่าเป็นอย่างไร ดูการพูดจา เอานักร้องคนนี้ไปทางนี้ คนนั้นไปทางนี้ เนื้อหา ที่จะพูดอย่างนี้ เสื้อผ้า ดนตรี เสียง กำหนดออกมาเลยเหมือนกับสตริง แต่ลูกทุ่งต้องสร้างขึ้นมาเช่นกัน
"เราไปทำการตลาดหน้าร้าน ถึงจะเริ่มรู้อะไรมากขึ้น เราเริ่มร่อนของที่ไม่ต้องการออกไป ต้องหาสาเหตุจริงว่าทำไมถึงขายและทำไมถึงไม่ขาย รวมทั้งทำโฟกัสกรุ๊ป บางทีผมเชิญหนุ่มแท็กซี่ สาวโรงงานมาเลี้ยงข้าว ดื่มเหล้า สัมภาษณ์ จดข้อมูลแล้วแต่งเป็นเพลง ถามจากเจ้าตัวโดยตรง เหมือนกับต่าย อรทัย ออกมาเหมือนใส่เสื้อตัวละ 199 บาท ก็เสื้อมันราคา 199 บาทจริงๆ"
กริสให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การทำตลาดทุกประเภทเหมือนกันหมด ต้องไปหาให้เจอก่อน ว่าคนซื้อเป็นใคร เป็นการตลาดเชิงลึกตามที่ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ถนัด การทำเพลง 360 องศาทำได้ ถ้าเจาะแล้วหาให้เจอ บางทีเหนื่อยยาก ขี้เกียจกันบ้างก็เท่านั้นเอง เช่นเดียวกับกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง ต้องอยู่ป่าก่อน เข้าเมืองเลยเดี๋ยวหลงทาง
เขาให้ความสำคัญกับการวิจัยเป็นอย่างมาก เขาเป็นคนลงมือหาข้อมูลภาคสนามด้วยตัวเอง ด้วยการเดินสายถามดีเจ ร้านค้า แผงเทป ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลใหญ่ที่ดีมาก เพราะการลงพื้นที่เอง จะเห็นเลยว่าปกที่วางเห็นหรือไม่ ถอยออกมาดูเห็นงานของบริษัทหรือเปล่า จะได้รู้ว่าตอนนี้ตลาดอะไรขายดี อะไรขายไม่ดี
ก่อนที่จะต้องออกไปต่อสู้นอกบ้าน การจัดการระบบภายในโดยเฉพาะในส่วนของเพลง ที่มาจากผลผลิตทางความคิดของคนแต่งเพลง ครูเพลง ก็มีการจัดระบบเอาไว้เช่นกัน
"เพลงเรามีระบบ โรงงานหลัก ซึ่งก็มีอยู่ที่สลา คุณวุฒิ หรือวสุ ห้าวหาญ อะไรก็ตามแต่ มีหน้าที่หาคนมาเติมเพื่อให้โรงงานขยายตัว แล้วมีการตรวจสอบอีกทีหนึ่ง ก็ทำกันไป เพลงขาจร นานๆ จะมีสักที"
ในส่วนของนักแต่งเพลง กริสมอบหมายความไว้วางใจให้กับสลา คุณวุฒิ ดูแลรับผิดชอบ ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการคัดผลงานภายนอกที่มีผู้เสนอเข้ามากับศิลปินใหม่ๆ ด้วย
หากสาขาเพลงสตริงของแกรมมี่ มีนิติพงษ์ ห่อนาค สาขาเพลงลูกทุ่งของแกรมมี่ ก็มีสลา คุณวุฒิ
กริสมอบหมายให้สลาคุมฝ่ายผลิตทั้งหมด เพราะเล็งเห็นว่าเป็นนักเขียนเพลงที่จับต้องได้ มีเซ้นส์ มีสายตา เห็นชีวิตคนเป็นเพลงหมด เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ สลาเป็นคนแรกในประเทศไทยที่แต่งขึ้นมา ส่วนเขาดูแลด้านการจัดการกับการ ตลาดมากกว่า วางแผนมากกว่าจะมาดูรายละเอียด
แน่นอนว่าการเป็นนักแต่งเพลงของสลาช่วงแรกทำเพราะใจรัก แต่เมื่อเข้าสู่ระบบธุรกิจการแต่งเพลงก็ต้องผสมไปด้วยกลยุทธ์ทางการตลาด ตามสัดส่วนที่ดูแล้วไม่น่าเกลียด แต่ทางบริษัทก็ได้มาพูดคุยทำความเข้าใจกันเรียบร้อยแล้ว
"รู้ ต้องรู้บ้าง ระบบเราเป็นโพรฟิตแชริ่งอยู่แล้ว ถ้าขายดี เขาก็ได้เงินอยู่แล้ว ถ้าไม่ทราบเลยก็เละ แรกๆ อาจจะไม่รู้มากว่าไอ้นี่ขายดี ไอ้นี่ขายไม่ดี ตอนหลังก็บอกว่าขายดีเพราะอะไร ก็ร่วมกันหาข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลสร้างขึ้นมาด้วยกันจนเข้าใจ แต่มาร์เก็ตติ้งของเขาคงไม่ลึก ขนาดว่าจะวางขายที่ไหน แต่จะเป็นมาร์เก็ตติ้ง ในเชิงของผู้บริโภค จะแต่งให้คนนี้ เขาก็ดูว่าดี"
เหมือนกับการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน กริสทำการตลาดในเรื่องการขาย สลาทำการตลาดในส่วนของเพลง โดยมีเป้าหมายที่ตกลงกันล่วงหน้ามาแล้ว
เมื่อจัดระบบภายในเรียบร้อย การเข้าสู่ธุรกิจเพลงลูกทุ่งของแกรมมี่ก็มีการพัฒนาระบบเครือข่ายที่ชัดเจนและวางไว้แน่นหนา มีพนักงานประจำในส่วนของที่เป็นหัวเรือวางแผน นอกนั้น เป็นฟรีแลนซ์ ใช้คนไม่มาก ถ้ารวมทุกฝ่ายและเครือข่ายดีเจทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 300 คน
โครงสร้างรายได้ของแกรมมี่ โกลด์ในแต่ละปีก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่มีความซ้ำซ้อนในเรื่องหน่วยงานที่กริสเรียกว่า หน่วยงานรวมฮิต ที่ทำอัลบั้มรวมฮิตทั้งเพลงสตริงและลูกทุ่ง ทำให้ การแยกแยะรายได้มีปัญหาพอสมควร อีกทั้งรายได้ของเพลงลูกทุ่งกับเพลงสตริงต่างกัน
"ลูกทุ่งมีรายได้จากการขายแผ่นเป็นหลัก การขายแบบดิจิตอลเป็นรองมาก ดิจิตอล ของสตริงอาจจะ 90% แต่ของลูกทุ่งแค่ 10% เพราะเป็นเทคโนโลยี บางอย่างต่างจังหวัดไม่มี การเสพก็จะน้อย แต่สื่อแบบเดิมที่ปลอมก็มี ก็ว่ากันไป ในส่วนของสตริงถ้ารวมๆ ก็มากกว่าลูกทุ่ง"
กริสไม่เชื่อว่าฐานคนฟังเพลงลูกทุ่งซึ่ง เป็นฐานใหญ่ของคนฟังทั่วประเทศจะซื้อผลงาน กันทุกคน คนฟังมีจำนวนมาก แต่คนจ่ายเงินซื้อ เขาไม่แน่ใจ ทำให้บางปีเพลงลูกทุ่งอาจแซงหน้า เพลงสตริง
ตลาดหลักของแกรมมี่ โกลด์ ยังคงเป็นภาคอีสานซึ่งเป็นฐานใหญ่ที่สุดในเชิงการค้า คนอีสานอยู่ทุกภาค สังเกตจากพรรคการเมือง เวลาตั้งพรรคต้องเริ่มจากอีสานก่อน ส่วนภาคอื่นต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ กริสบอกว่าภาคเหนือจากประวัติศาสตร์เป็นสนามปราบเซียน ส่วนภาคใต้ก็ยาวเหลือเกิน ก็เลยยึดอีสานเป็นเป็นหลัก เพราะคนอีสานอยู่ทุกภาค และความถี่ของสื่อที่จะใช้น่าจะเป็นวิทยุ อีสานเป็นที่ราบสูง ภูเขาไม่เยอะ คลื่นวิทยุไปได้ไกล
ในความเป็นจริง แกรมมี่ โกลด์เคยลงไปภาคใต้ในช่วงแรก แต่ยังไม่สามารถเจาะเข้าไปถึงคนซื้อ คนฟังได้ การวางเครือข่ายไม่ได้ รับการตอบรับเท่าไร และมีนักร้องใต้เบอร์แรก อย่างดวงจันทร์ สุวรรณี ซึ่งเป็นนักร้องในพื้นที่ ชุดนั้นทำการตลาดที่ภาคใต้อย่างเดียว จนอิ่มตัวค่อยไปปล่อยในภาคอีสาน ภาคเหนือ แล้วค่อยเข้ากรุงเทพฯ เป็นเวลา 1 ปีพอดี
ความสำเร็จของดวงจันทร์ทำให้กริสลงไปวางสายสัมพันธ์กับเครือข่ายในพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น แต่ด้วยเหตุสุดวิสัยทำให้แผนงานที่วางไว้ต้องหยุดชะงักลง พร้อมๆ กับการเข้ามาของอาร์สยามที่รุกตลาดเพลงลูกทุ่งใต้อย่างจริงจัง
"เราไม่ได้ทิ้งตลาดภาคใต้ ก็ทำอยู่ ดูตัวเลขอยู่เสมอ ที่บอกว่าเป็นเบอร์หนึ่ง เราก็เอะใจตลอด คิดว่ามันคงทิ้งห่างแบบมหาศาล แต่เราดูของเราก็ยังดีอยู่ ก็ลองลงไปทำภาคใต้อย่างจริงๆ จังๆ เช็กตัวเลขต่างๆ ในพื้นที่ ดูจากยอดขายจริง ไม่ใช่ยอดส่ง ก็ทำสะสมมาเรื่อย จนทำเป็นกราฟออกมาดูกันว่าอะไรเป็นอะไร ปรากฏว่าครึ่งปีแรกภาคอีสานเรารู้กันอยู่แล้ว ภาคเหนือก็โอเค พอภาคใต้เท่ากันนี่ ไม่ได้ทิ้งอะไรกันให้ตื่นเต้น"
ถ้าตีความหมายในคำพูดของกริสก็คือ แกรมมี่ โกลด์ ยังคงเข้มแข็งในตลาดเพลงลูกทุ่ง โดยเฉพาะภาคอีสาน ส่วนภาคใต้ก็ใกล้เคียงกับอาร์สยาม และปัจจัยที่ทำให้แกรมมี่ โกลด์ยืนอยู่ตรงจุดนี้ก็คือการจัดวางตำแหน่งให้แกรมมี่ โกลด์เป็นแบรนด์สินค้า ด้วยการสร้างให้คนซื้อแผ่นเลือกซื้อจากแบรนด์
กริสอธิบายว่าเขาทำแบรนด์ 3 ระดับ เริ่มจากทำแบรนด์แกรมมี่ โกลด์ ด้วยการทำอัลบั้ม 10 ปีแกรมมี่ โกลด์ รวบรวมของที่ทำมาในระยะ 10 ปี เพื่อทดสอบผลว่าเกิดอะไรขึ้นจากการทำวิจัยพบว่าแบรนด์แกรมมี่ โกลด์มีผลต่อการซื้อถึง 40% คนซื้อจำยี่ห้อได้เอง เวลาคนเดินเข้าร้านเทปจะซื้ออะไร ซื้อแกรมมี่ โกลด์ มันกลายเป็นแบรนด์ซ้อนแบรนด์
ส่วนของนักร้องก็มองเป็นแบรนด์เพื่อสร้างให้มีแฟนคลับขึ้นมาด้วยการเริ่มคัดนักร้อง เดิมทีรับหมด เก่ง ไม่เก่ง รับเข้ามาก่อน ส่วนนักร้องที่ออกผลงานชุดแรกไม่โดน ชุดที่สองก็ไม่โดนอีก ต้องคุยกันแล้ว บอกกันตรงๆ ว่ามีที่ไปทางอื่นไหม หรือจะให้ช่วยไปเดินสายกับวงหรืออย่างอื่นก็ได้
วิธีการนี้ทำให้นักร้องในค่ายแกรมมี่ โกลด์ถูกแบ่งออกเป็นเกรด ศิลปินตัวหลักที่มีฐานแฟนเพลงอยู่ในกลุ่มเกรด A มีประมาณ 10 คน มีลูกค้าเหนียวแน่น ส่วนที่เหลือก็คือกลุ่มที่กำลังไต่เต้า เป็นเกรด B มีทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือไม่ หากกลุ่มนี้อยู่รอดได้ก็อาจเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นเกรด A ส่วนคนที่ไม่ผ่าน กริสจะแนะนำให้เลิก เพราะเดี๋ยวแก่แล้วเลิกยาก และอัตราการอยู่รอดของเกรด B ช่วงหลังก็ผ่านหลายคน เช่น ไผ่ พงศธร
ช่วงหลังความเคลื่อนไหวของธุรกิจเพลงลูกทุ่งจะถูกจับตาอยู่ที่ 2 ค่ายใหญ่คือ แกรมมี่ โกลด์ และอาร์สยาม ส่วนค่ายระดับกลางก็ออกผลงานมา แต่ในวงกว้างจะไม่เห็นผลงานเท่าไรจึงกลายเป็นว่าตลาดเพลงลูกทุ่งจะถูกครอบงำด้วยค่ายใหญ่
กริสมีความเห็นแย้งว่า "ผมไม่ได้ห้ามคุณเปิดอีกค่ายนะ ใครก็เปิดได้ กฎหมายมันเสรีนี่ แต่แพ้ชนะนี่คนละประเด็น ผมอาจจะมีกลยุทธ์ที่พอทำให้ผมอยู่ได้ คนอื่นเขาไม่มีก็ยุบไป คนอื่น เขาอยากทำก็ขึ้นมา ผมไม่ได้ไปผูกขาด ไม่มีกฎหมายผูกขาดนี่ คุณเดินออกไปเปิดเลยก็ได้ ชั้นล่าง ว่างอยู่เช่าได้ ใครก็เปิดได้ทั้งนั้น ถ้าคุณมั่นใจว่ามีนักร้องที่ดี นักแต่งเพลงที่ดี มีคนช่วยเรื่องมีเดีย โปรโมต มีแผนระยะยาว มีการจัดจำหน่ายที่ถูก ต้อง แค่นี้ก็เปิดได้แล้วนี่"
ส่วนในแง่เงินทุนของแกรมมี่ โกลด์เองตอนแรกก็ใช้เงินมาก แต่เขาก็หาด้วยตัวเองมาตลอด คือต้องมีกำไร ถ้าถามว่าใช้เงินเยอะหรือ ไม่ ไม่ได้ใช้เงินเยอะถ้าใช้เงินเป็น เขายกตัวอย่างว่า อย่างที่ผ่านมามีค่ายยักษ์ใหญ่ บริษัทใหญ่ แล้วก็บอกว่า ปีนี้จะใช้เงิน 50 ล้าน เข้ามาเล่น เกมใหญ่ลูกทุ่งเลย
"เหมือนเงิน 50 ล้านซื้อล็อตเตอรี่ไม่ทันถึงปี เงิน 50 ล้านหมดก็ถอนแล้ว ถ้าเป็นผมซื้อล็อตเตอรี่ดีกว่า มีโอกาสได้เงินกลับมาบ้าง"
เป็นธรรมดาของการประกอบธุรกิจ เมื่อปล่อยเพลงชุดใหม่ลงสู่ตลาด ค่ายเทปต้องตั้งความหวังไว้ที่สูงสุดเสมอ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าล้านตลับ กริสคิดว่าการที่ผลงานเพลงจะขายได้ขนาดนั้น นอกจากค่ายเทป เพลง นักร้อง แล้วยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ
"ต้องรวมพระเจ้าด้วย พระเจ้าสำคัญ ที่สุด นักร้องดี เพลงดี เนื้อหาถูกต้องอย่างของไมค์ เพลงดี เปิดตัวอย่างดีในเจ็ดสีคอนเสิร์ต ออกเซ็นทรัลพระราม 2 ปีใหม่ระเบิดตูมเดียวไมค์หงายหลังตีลังกาลงไปอยู่กับพื้น"
พระเจ้าของกริสทำงานหนักไม่น้อยทีเดียว หากเทียบกับจำนวนศิลปิน 31 คนของแกรมมี่ โกลด์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|