วิทยา ศุภพรโอภาส ผมชอบถูกบันทึก

โดย สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

วิทยา ศุภพรโอภาส มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในการจัดรายการวิทยุ อย่างแรกก็คือ "เสียงแหบ" จนกลายเป็นฉายาที่คนในวงการเพลงเรียกเขาว่า เสี่ยแหบ ซึ่งเขาก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใดเพราะเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะการเปิดเพลงที่จะต้องมีที่มาที่ไปว่าเพลงนี้เป็นอย่างไรและจะเปิดเพลงต่อเนื่องอย่างไร

จุดเริ่มต้นของวิทยามาจากการเปิดเพลงสากลยุคเอลวิส เพรสลี่ บีจี ซึ่งเป็นเพลงสมัยนิยมเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่นและคนทำงาน ในชื่อรายการมิวสิค เอ็กซเพรส เขามีกลุ่มคนฟังที่ติดตามงานไม่น้อยทีเดียว

"ผมจัดรายการตั้งแต่ปี 2513 ผมมีนิยามของผมอยู่แล้ว เปิดเพลงสากลทุกคนก็มีแผ่นอยู่แล้ว บีทเทิล บีจี คาร์เพนเตอร์ แต่ทำไมผมดังกว่าคนอื่น เราต้องเติมเสน่ห์ของเพลงโดยตัวเรายุคหนึ่งผมจัดสตริง เพลงแจ้ เพลงเบิร์ด ทุกคนมีเปิดเหมือนผม แต่ทำไมฟังของผม ฉันมากับเพลง เพราะผมไม่เปิดเพลงธรรมดา ผมต้องเอาอย่างอื่นมาใส่ให้เกิดการพัฒนา ถ้าเปิดแล้วเหมือนเปิดแผ่น ก็ไปซื้อแผ่นเอาสิ ทุกคลื่นก็เปิดเพลงเหมือนผม มันต้องมีบอกเล่า ต้องมีเท้าความ ต้องมีบอกเหตุ เปิดเพลงนี้จำได้มั้ยมันเป็นอย่างนี้ มันต้องมีวิธีเปิด" วิทยาย้อนความหลังให้ฟัง

การจัดเพลงที่ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับก็คือ "รายการฉันมากับเพลง" ที่เปิดเพลงสตริงให้กับทุกค่าย แต่น้ำหนักอาจจะมาทางค่ายนิธิทัศน์มากหน่อย เพราะช่วงนั้นเขาเป็นคนทำอัลบั้มของรอยัล สไปร์ท และแมคอินทอช กับค่ายนิธิทัศน์

หากไม่มีวิทยา วงรอยัลสไปร์ทก็อาจจะเป็นเพียงวงดนตรีที่เล่นอยู่แค่ในคลับเท่านั้น เขาทำวงรอยัลสไปร์ทประสบความสำเร็จจนบริษัทนิธิทัศน์ติดต่อให้เข้าไปเป็นหุ้นส่วน แต่เขาปฏิเสธ ขอเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น

กลิ่นอายเพลงลูกทุ่งที่เข้ามาสัมผัสกับวิทยาช่วงแรกน่าจะเป็นชุดรัก 10 ล้อต้องรอสิบโมง ของรอยัลสไปร์ท ที่ออกเป็นเพลงแนวลูกทุ่ง ทั้งเนื้อหาและดนตรี ขนาดอดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังชอบเพลงนี้

การทำงานของวิทยาตลอดกว่า 38 ปี ไม่ค่อยออกนอกวงการเพลงเพียงแต่เปลี่ยนแนวเพลงเท่านั้น จากเพลงสากลมาเป็นเพลงสตริง และก็มาล่าสุดที่เพลงลูกทุ่งซึ่งเขายอมรับว่า ไม่เคยเจอกับกระแสตอบรับที่รุนแรงขนาดนี้

ไม่แน่ว่าเขาอาจคิดในใจลึกๆ ว่า รู้อย่างนี้ทำลูกทุ่งมาตั้งนานแล้วก็ได้

การเปิดช่องทางให้เพลงลูกทุ่งเข้ามาในสถานี FM ก็เหมือนกับการเปิดทางให้วิทยาได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ โดยความดังของคลื่นลูกทุ่ง FM เหมือนกับฐานรองรับที่มั่นคงเพียงพอ

คอนเสิร์ตลูกทุ่งก็ทำแล้ว กิจกรรมต่างๆ ก็ทำแล้ว เหลือเพียงภาพยนตร์ที่เขาต้องทำให้ได้ เพราะเดิมเมื่อครั้งที่ยังจัดเพลงสตริง เขาเคยทำภาพยนตร์เรื่อง 18 กะรัตให้กับนิธิทัศน์ และไพจิตร ศุภวารี หนังเรื่องนั้นไม่มีดารา มีแต่นักร้องอัลบั้ม 18 กะรัตมาแสดง ซึ่งน่าจะเป็นหนังที่ส่งเสริมการขายเทปเรื่องแรกๆ ของวงการเพลงก็ได้

แม้แต่ตัวของวิทยาเองก็เคยเป็นพระเอกในหนังเรื่อง "สยามสแควร์" ของศุภักษร แต่คงไม่ได้เหมือนกับ "รักแห่งสยาม" ในยุคนี้

รูปแบบการทำภาพยนตร์ที่ใช้นักร้องไม่มีดาราถูกวิทยานำมาใช้อีกครั้งในปี 2545 เพื่อดันให้ลูกทุ่ง FM เป็นที่รู้จัก ในชื่อหนังเรื่อง "มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟเอ็ม" ร่วมกับค่ายสหมงคล ของสมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ

"หนังเรื่องนี้ลูกทุ่งเล่นทั้งเรื่องไม่มีดาราเลย ไอเดียผม คนกวาดถนนก็นักร้อง คนเสิร์ฟก็นักร้อง เล่นมากหรือน้อยแล้วแต่ มาครบทุกค่าย เป็นหนังเรื่องเดียวที่ 200 กว่าคนเล่น ยกเว้นที่ตายไปแล้วอย่างพุ่มพวง ดวงจันทร์ แต่ผมก็เอาเพลงมาใส่ ดูแล้วคุ้ม มันเป็นประวัติศาสตร์บันทึกไว้ 200 กว่าคนเล่น ตอนทำหนังมีตัวเดินเรื่องเด่น 10 ตัว ไม่ได้แบ่งแบบแกรมมี่ 5 อาร์เอส 5 ผมแบ่งเอง พยายามเอาให้ครบ พยายามเฉลี่ยให้ได้"

วิทยาบอกว่านักร้องที่มาแสดงไม่คิดค่าตัว แล้วแต่เขาจะจัดให้ ซึ่งรายได้ของหนังเรื่องนั้นทำเงินไปได้ 56 ล้านบาท

"ผมได้อะไรเหรอในงานนี่ ได้เป็นเรคคอร์ด ผมต้องการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ จริงๆ ลึกๆ ผมเหมือนอีโก้ เหมือนบ้า ชอบถูกบันทึก" นี่คือแรงจูงใจของวิทยา

หลังจากผ่านการเปลี่ยนแปลงในคลื่นลูกทุ่ง FM มานานกว่า 10 ปี ถึงเวลานี้วิทยากำลังสงบนิ่งรอการบุกครั้งใหม่ ซึ่งเขาบอกว่าเตรียมไว้พร้อมแล้วแต่ติดปัญหาบางประการเท่านั้น และสิ่งที่เขาทำจะเป็นเรื่องแปลกใหม่ไม่มีใครทำมาก่อน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.