|
พลังลูกทุ่ง
โดย
สมเกียรติ บุญศิริ
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เพลงลูกทุ่งที่เปิดขึ้นครั้งแรกบนหน้าปัดวิทยุ FM เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 10 ปีก่อน เปรียบเหมือนเสียงเพลงแห่งความหวังที่ขับขาน ก่อให้เกิดพลังในการพังทลายแนวกั้นและความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า เพลงลูกทุ่งไม่สามารถยืนอยู่ในคลื่น FM ที่เกิดขึ้นในอดีตลงอย่างราบคาบ สร้างบริบทใหม่ให้กับเพลงลูกทุ่งที่กลายเป็นทั้งขุมทรัพย์และเครื่องมือการตลาดอันทรงพลัง
เส้นแบ่งของเพลงลูกทุ่งกับสถานีวิทยุ FM ถูกเส้นเสียงของเพลงลูกทุ่งกลบทับและนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา กำแพงกั้นเพลงลูกทุ่งก็หมดไป เพลงลูกทุ่งเพลงแล้วเพลงเล่าถูกเปิด ผลงานของนักร้องลูกทุ่งหลายยุคหลายสมัย ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นคลื่นเสียงกระทบโสตประสาทของผู้ฟัง
สายันห์ สัญญา ชาย เมืองสิงห์ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ผ่องศรี วรนุช และอีกมากมาย เหมือนได้รับการชุบชีวิตนักร้องใหม่ๆ อย่าง ไมค์ ภิรมย์พร อาภาพร นครสวรรค์ ยิ่งยง ยอดบัวงาม มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ได้แจ้งเกิดผลงานถูกเผยแพร่และดังในชั่วข้ามคืน
ว่ากันว่าหากครูเพลงอย่างไพบูลย์ บุตรขัน สุรพล สมบัติเจริญ ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับรู้ถึงปรากฏการณ์นี้คงนึกเสียดายที่ไม่ได้เห็น แต่พวกเขาคงมีความสุขและยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้น
วิทยา ศุภพรโอภาส ผู้ที่เปิดเวที FM ให้กับเพลงลูกทุ่งก็คงไม่นึกเช่นกันว่า หลังจากนั้น เป็นต้นมาประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่งจะถูกเขียนขึ้นใหม่ พร้อมๆ กับขุมทรัพย์ที่ถูกเก็บเงียบมานาน ถูกเปิดออกมา
ลูกทุ่ง คือแหล่งสร้างเงินให้กับธุรกิจบันเทิงแบบครบวงจร
และกลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่หลากหลายสินค้าต้องการเข้ามาจับต้อง
ฟัง..ฟัง...ฟัง..เสียงเพลงเริ่มดังอีกแล้ว
"ยุคที่ฟองสบู่แตก ปี 2540 ยุคนั้นเป๋หมด ทีวีวิทยุเจ๊งกันระนาว คืนคลื่นกันอุตลุด ผมมี คลื่นวิทยุเหลืออยู่คลื่นหนึ่ง คิดไม่ออกว่าจะทำรายการอะไรในยุคที่เศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าขืนทำอย่างเดิมเจ๊งแน่ ก็นั่งมองว่าจะทำอย่างไรกับคลื่น FM 90 ดี"
วิทยา ศุภพรโอภาส นักจัดรายการเพลงที่มีอายุการทำงานกว่า 30 ปี ยังจำเหตุการณ์ ก่อนกำเนิดสถานีลูกทุ่ง FM ได้เป็นอย่างดี เพราะช่วงนั้นการตัดสินใจทำรายการวิทยุในยุคที่ฝืดเคืองต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ "ความบล้า" (กล้า+บ้า) ทางเลือกของ วิทยามีอยู่สองทางง่ายๆ แต่ตัดสินใจยากคือ
1. การทำรายการต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อการอยู่รอด
2. คืนคลื่นให้กับกองทัพ ซึ่งเป็นเจ้าของเวลาไป
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการเพลงเท่านั้น ทุกธุรกิจต่างประสบปัญหาเดียวกัน ทุกคนร้องเพลงเดียวกันหมด
"ใจจะขาด...แล้วเอ๊ยยยยย...ใจจะขาด...แล้วเอยยยยยย"
เมื่อธุรกิจต่างดำเนินไปด้วยดีเบ่งบานสุดขีดเมื่อวานนี้ แต่เมื่อตื่นขึ้นมาอีกวัน ทุกคนล้วนเป็นหนี้ ไม่มีใครมีโอกาสได้ใช้เงิน
วงการวิทยุก่อนเกิดวิกฤติราคาค่าสถานีที่มีการประมูลกันทุกปี ถูกปั่นขึ้นไปสูงลิบ แต่ก็ไม่มีใครถอย จนถึงวิกฤติ ทุกอย่างหยุดหมด ค่าเวลาที่แสนแพงก็ปรับลดลงมา แต่ก็ยังหาคนทำไม่ได้ เพราะทำแล้วไม่รู้ว่าจะหาใครมาเป็นสปอนเซอร์
ช่วงนั้นวิทยาได้พบกับสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัททราฟฟิคคอนเนอร์ จึงหารือร่วมกันว่าจะเปลี่ยนสถานีวิทยุที่มีอยู่ไปทำอะไรได้บ้าง โดยวิเคราะห์สถานการณ์ช่วงนั้นว่า หากทำเพลงสตริงก็ต้องแข่งกันกับคลื่นในเครือแกรมมี่อย่างฮอตเวฟ กรีนเวฟ และคลื่นอื่นๆ มากมายไปหมด
ถ้าไปทำเป็นนิวส์ แอนด์ ทอล์ค ก็ต้อง ไปแข่งกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น สำนักข่าวแปซิฟิก หากทำวิทยุจราจรก็ต้องไปแข่งกับ จ.ส.100 และ สวพ.91 การหารือวันนั้นจบตรงที่ว่า ถ้าทำเป็นเพลงลูกทุ่งล่ะ?
"สุรพงษ์บอกว่าพี่กล้ามั้ยล่ะ ถ้าทำเพลงลูกทุ่ง ผมก็มานั่งนึกว่ามันน่าจะเป็นไปได้ ถ้าเราเป็นสถานีวิทยุเอฟเอ็มทั้ง 24 ชั่วโมง คาแร็กเตอร์ สเตชั่นเป็นเพลงลูกทุ่งน่าจะดี เพราะเราจะเป็นหนึ่งทันทีบนหน้าปัด ก็เสี่ยงเหมือนกัน เลยไปนอนคิดอยู่หนึ่งคืน พอรุ่งขึ้น ก็เลยโทรศัพท์บอกว่าทำ แต่ต้องทำด้วย ห้ามเปลี่ยนใจ ให้เขารับผิดชอบด้านการตลาด ส่วนผมทำด้านการผลิตรายการทั้งหมด"
การตัดสินใจทำเพลงลูกทุ่งเท่ากับเป็น การเขียนเพลงใหม่ให้กับวงการลูกทุ่ง เพราะบนคลื่น FM บนหน้าปัดวิทยุ ตั้งแต่เขาอยู่ใน วงการวิทยุมากว่า 30 ปี เพลงลูกทุ่งเปิดในสถานี FM ไม่ได้จะต้องอยู่แต่ใน AM เท่านั้น
วิทยาเปรียบเทียบว่าคลื่น FM เป็นอีก คลาสหนึ่งเหมือนเฟิร์สคลาส เป็นเมืองกรุง ต้องเป็นเพลงคลาสสิก เพลงสากล เพลงลูกทุ่ง ในสมัยนั้นผู้ใหญ่หรือเจ้าของสถานีอาจจะเห็นว่าเป็นโลว์คลาส บางสถานีติดป้ายห้ามเปิดเพลงลูกทุ่ง ยุคนั้นเหมือนกับบ้านเราชอบ แบ่งชนชั้น เหมือนกับมีโต๊ะวีไอพีแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคของคนทำเพลงลูกทุ่ง เพราะยุคนั้นลูกทุ่งก็ต้อง AM จริงๆ เพราะส่งสัญญาณไป ได้ไกลมาก
เขาใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการเตรียมงานทั้งหมด ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์ แล้วก็ซุ่มทำไม่ให้ใครรู้ 7 วันสถานีเสร็จพร้อมเปิด เริ่มประกาศ ขึ้นป้าย ทำการประชาสัมพันธ์ แต่จะทำให้เป็นสถานีเพลงลูกทุ่งแบบเดิม วิทยา ไม่ถนัด จึงต้องมีการปรุงแต่งสถานีให้มีความ ชัดเจนและแตกต่าง
"ผมตีโจทย์ทั้งหมด แล้วก็บอกกับตัวเองว่าสถานีเราต้องเป็นลูกทุ่งไฮโซ เป็นลูกทุ่ง วิชาการ"
นี่คือความแตกต่างของสถานีลูกทุ่งในจินตนาการของวิทยา เขาเชิญเสรี วงศ์มณฑา อภิชาติ ดำดี นักการเมืองอย่างมนตรี พงษ์พานิช กร ทัพพะรังสี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ชอบเพลงลูกทุ่งมาช่วยสร้างสีสันให้กับสถานี เพื่อให้เป็นตามหลักการตลาดและการวางแผน สื่อ สิ่งที่เขาใช้ก็คือการสร้างกลุ่มอ้างอิงขึ้นมา และเปิดเผยตัวคนที่ชอบเพลงลูกทุ่งให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ ไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป ทำให้ ทัศนคติของคนฟังเพลงต่อเพลงลูกทุ่งเปลี่ยนไป
เพลงลูกทุ่งคือเส้นเสียงของชีวิตของคนไทย
วิทยาเปรียบเทียบว่าเหมือนยุคหนึ่งที่เทปวิดีโอตลกครองเมือง เวลาคนไปเช่าต้องห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ อยากจะดูแต่กลัว คือคนไทยชอบหลอกตัวเอง
ต้องมีสักวัน ต้องมีสักวัน ที่เฝ้าตามฝัน
ถ้าการเป็นนักร้องลูกทุ่งต้องผ่านการเคี่ยวกรำอย่างหนัก เพื่อทดสอบความอดทน ลูกทุ่ง FM ของวิทยาก็ไม่ต่างกันเท่าไร ว่ากันว่านักร้องลูกทุ่งยิ่งผจญความยากลำบากมากเพียงใด เสียงจะยิ่งดีขึ้นและยืนอยู่ได้นาน
แต่สถานีวิทยุไม่เคยมีประวัติศาสตร์ให้ศึกษาว่า ต้องยากลำบากขนาดไหน เพียงแต่ว่า หากนักร้องลูกทุ่งทนได้ คนทำสถานีก็ต้องทนได้เช่นกัน
"ปีแรกเหนื่อยมาก ขาดทุนแล้วก็โดนคนดูถูก ยิ่งคนในวงการลูกทุ่ง ใหม่ๆ ก็เห็นเราเป็น ข้าวนอกนา เขามองภาพผมเป็นสตริง เป็นฝรั่ง อยู่ดีๆ มาลงลูกทุ่งก็เลยกลายเป็นข้าวนอกนา เขาสไตร์คผมอุตลุด วิทยาไม่ใช่คนลูกทุ่ง ถึงมีสโลแกนว่า อะไรยุ่งๆ ให้ลูกทุ่งทำไง ก็พวกคุณ ทำกันถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมลูกทุ่งต้อง AM แล้วไม่คิดอะไรใหม่ๆ ออกมา"
วิทยาบอกด้วยว่าเพลงลูกทุ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขาตั้งแต่เด็ก ได้ฟังมาตั้งแต่ก่อนอายุ 20 ปี ได้ฟังเพลงลูกทุ่งสมัยสุรพล สมบัติเจริญ ผ่องศรี วรนุช แต่พอเป็นวัยรุ่น เรียนหนังสือ ก็พกรูปเอลวิส ต้องฟังเพลงสากลเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเส้นทางของเด็กวัยรุ่นยุคนั้นที่วัฒนธรรมต่างชาติเริ่มไหลเข้ามา
เป็นธรรมดาของคนที่พังทลายกำแพง ย่อมต้องมีเศษหินเศษอิฐกระเด็นมาถูกบ้าง เจ็บมากน้อยก็ตาม ความคล่องตัวในการเอาตัวรอด ช่วงนั้นลูกทุ่ง FM อาจเปิดเพลงเศร้าๆ สู้ชีวิตมากเป็นพิเศษ เพราะต้องการปลอบประโลมตัวเองก็เป็นได้
เมื่อเพลงลูกทุ่งถูกนำมาวางไว้ในคลื่น FM รวมกับประสบการณ์ที่ทำมาของวิทยาในวงการเพลงสากลและเพลงสตริง วิธีคิดในการนำเสนอเพลงลูกทุ่งจึงแตกต่าง ทั้งในแง่ของการเปิดเพลง การเปิดโฆษณา เปิดสปอต
"ผมทำเพลงลูกทุ่งแต่เอาโนว์ฮาวฝรั่งมาใส่ สมัยนั้นมีที่ไหน เพลงลูกทุ่งก็มีแต่ว่าโฆษกประกาศไป มีแต่ยาขมน้ำเต้าทอง ยาขมตราใบห่อ ของผมเป็นจิงเกิ้ล มีเพลงสอดแทรก ทำแบบฝรั่ง มันก็แปลก"
นึกภาพง่ายๆ ก็คือทำรายการเหมือน MTV แต่เปิดเพลงลูกทุ่ง
แน่นอนว่าครูเพลงอย่างสุรพล สมบัติเจริญ หรือศิลปินใหม่ๆ อย่างไมค์ ภิรมย์พร บ่าววี ไม่ได้เกิดหรือดังได้ภายในชุดเดียว ลูกทุ่ง FM ของวิทยาก็ไม่ได้เปรี้ยงขึ้นมาได้ในค่ำคืน เดียวต้องผ่านการวางแผนและกลั่นกรองมาแล้วทั้งสิ้น
หลังจากออกอากาศเรียบร้อยทุกอย่างเดินไปตามแผนงานที่วางไว้ แต่วิทยาต้องการเปิด ตัวคลื่นนี้ให้แรงขึ้น เพื่อทำให้ทุกคนรู้จักมากขึ้น แผนการตลาดต่อไปก็คือการทำฟรีคอนเสิร์ต ลูกทุ่งที่สนามหลวงในวันที่ 24 สิงหาคม 2540
"เหมือนกับการวัดผล ถ้าไม่ได้ก็ให้มันเจ๊งไปเลย วางแผนจองสถานที่ทุกอย่าง จำได้ว่าพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยุคนั้นเศรษฐกิจกำลังแย่ ไทยช่วยไทย ใช้ของไทย ซื้อสินค้าไทย ผม ก็เลยเติมไปด้วยว่าต้องฟังเพลงลูกทุ่งไทย"
วิทยายังจำบรรยากาศในวันคอนเสิร์ตชี้เป็นชี้ตายของลูกทุ่ง FM ได้เป็นอย่างดี สนาม หลวงมีคนมาดูคอนเสิร์ตแสนกว่าคน เปิดเวที ตั้งแต่เที่ยงวันถึงเที่ยงคืน ศิลปินลูกทุ่ง ครูเพลง มาหมด ไม่ได้เชิญก็มาเหมือนทำนบพัง คำตอบ ที่เขาได้วันนั้นก็คือลูกทุ่ง FM มีที่ยืนอยู่ในใจของคนฟังเพลงลูกทุ่งแล้ว แต่เบื้องหลังความ สำเร็จคนฟังมากมาย คอนเสิร์ตล้นหลามแบบนี้ สิ่งที่คนทำคลื่นต้องการยังไม่บรรลุเป้าหมาย
ยอดโฆษณาเดือนแรกของลูกทุ่ง FM ได้แค่ 1.3 ล้านบาท แม้ว่าจะมีมือการตลาดอย่างทราฟฟิค คอนเนอร์เป็นคนวิ่งให้ก็ตาม ต้นทุนในการทำคลื่นอย่างน้อยต้องเดือนละ 3 ล้านบาท ถ้าจะให้กำไรต้อง 6 ล้านบาทต่อ เดือน คนทำต้องควักเงินลงทุนเพิ่มอีก 15 ล้านบาท เพราะทุกคนเชื่อว่าคลื่นนี้จะประสบความสำเร็จ
ช่วงแรกก็คงต้องยอมรับสภาพคลื่นดังฟังฟรีไปก่อน
วิทยาทำลูกทุ่ง FM 90 อยู่ 1 ปี อรสา คุณวัฒน์ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ยุคนั้นก็มาชวนย้ายคลื่นไปที่ FM 95 ของ อ.ส.ม.ท. ด้วย เงื่อนไขที่ยากปฏิเสธ เหตุผลที่ อ.ส.ม.ท.ต้อง การคลื่นลูกทุ่ง เพราะยังขาดคลื่นที่จับกลุ่ม คนฟังระดับกว้าง อีกทั้งคลื่นอื่นๆ ที่มีอยู่ 6 คลื่นถูกจัดวางเจาะกลุ่มคนฟังอย่างชัดเจน
เขาตัดสินใจย้ายคลื่นพร้อมกับตัวเลขติดลบในบัญชีไปด้วย ด้วยความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ความสำเร็จกำลังรออยู่ข้างหน้า ปีแรกที่ย้ายไป อ.ส.ม.ท. คลื่นลูกทุ่งยังขาดทุน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แต่เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่า ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ พอขึ้นปีที่ 3 ลูกทุ่ง FM 95 ก็ทำกำไรให้กับวิทยาและทราฟฟิค คอนเนอร์
ระหว่างนั้นการทำสถานีเพลงลูกทุ่งอย่างเดียวมันไม่ได้ทำให้คนรู้จักหรือมั่นคงแข็งแรงตามที่ต้องการ ด้วยสายตาของนักการตลาดอย่างวิทยา และสุรพงษ์ ต้องมีการต่อยอดเพิ่มเข้าไป นั่นจึงเป็นที่มาของกิจกรรมส่งเสริมการตลาด หรือที่สมัยนี้เรียกกันว่า "below the line" วิทยาจัดคอนเสิร์ต ลูกทุ่งที่กองพันทหารราบที่ 11 เป็นประจำทุกปี เพื่อทำให้สถานีลูกทุ่ง FM ได้รับการตอกย้ำยิ่งขึ้นอีก
"ผมจัดทุกปีที่กองพันทหารราบ 11 มีคนมาดูเป็นแสนทุกปี เที่ยงวันยันเที่ยงคืน นักร้อง 200 กว่าคน เอกชัย ศรีวิชัย อยู่ใต้ดังขนาดไหน เขาก็มาร้องเพลงเดียว ยุ้ย ญาติ เยอะ ก็ต้องมาเวทีนี้ ผมจัดมา 8 ปี ให้คนดูฟรี ตลอดเหมือนเป็นการคืนกำไร แต่จริงๆ เป็นแผนการตลาด เป็นเวทีเดียวที่แข็งแรงทุกค่าย มาหมด ของเดิมนั้นแกรมมี่ไม่ให้อาร์เอสขึ้น อาร์เอสไม่ให้แกรมมี่ขึ้น แต่เวทีของลูกทุ่ง FM ขึ้นหมด ศิลปินไม่มีค่ายเขารู้กัน"
การที่ลูกทุ่ง FM แข็งแรงขึ้น ทำให้การวางแผนตลาดง่ายขึ้น นอกจากคอนเสิร์ตที่จัดประจำแล้ว การจัดประกวดรางวัลมาลัยทองของวงการเพลงลูกทุ่งก็เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมารางวัลด้านเพลงมีน้อยลงทุกขณะ การมีรางวัลมาแจกก็เท่ากับเป็นการยืนยันถึงความแข็งแกร่ง ของสถานีและอย่างน้อยต้องเป็นที่ยอมรับของคนฟัง
เขยิบ เขยิบ เขยิบ เข้ามาสิ
สิ่งที่วิทยาทำก็คือ การสร้างแบรนด์ลูกทุ่งให้เป็นที่ยอมรับของคนฟัง สร้างกลุ่มคนฟังขึ้นมาให้ชัดเจนและเหนียวแน่น ซึ่งนั่นหมายถึงตลาดกำลังซื้อมหาศาลที่จะทำให้บรรดาค่ายเทปและเจ้าของสินค้าได้เห็นช่องทางในการขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม ต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
ค่ายเทปหากออกอัลบั้มนักร้องที่ขายได้ถล่มทลาย แน่นอนมีกำไรจากยอดขาย แต่การต่อยอดหลังจากนั้นจะตามมามากมาย สินค้าสนับสนุนอัลบั้ม การออกเดินสายโชว์ตัว การเป็นพรีเซ็นเตอร์ของสินค้า ในทำนองเดียว กันสินค้าที่กำลังเจาะตลาดรากหญ้าก็สามารถ เลือกที่จะลงในเพลงลูกทุ่งได้ สุดท้ายก็กลับมาเป็นรายได้ให้สถานีอีกครั้งหนึ่ง
วงจรของเพลงลูกทุ่งตั้งแต่สถานีค่าย เทป เจ้าของสินค้าเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน
ความแข็งแรงของสถานีเพลงลูกทุ่ง FM ทำให้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เทน้ำหนักมาที่ตลาดเพลงลูกทุ่งมากขึ้นหรือแม้แต่ค่ายเล็ก ก็หวังพึ่งพาช่องทางนี้ในการโปรโมตนักร้อง
กรรมการผู้จัดการ บริษัทแกรมมี่ โกลด์ กริส ทอมัส บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าการทำเพลงลูกทุ่งของแกรมมี่ยุคแรกประสบปัญหาเรื่องสื่อเป็นอย่างมาก สถานีวิทยุยังเดียดฉันท์ ลูกทุ่งไม่ให้เข้า FM และ AM บริษัททดลอง แล้วก็เจ๋ง คือประเมินแล้วว่าเพลงมันใช่ แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมเจ๊ง
"พอมาถึงคุณวิทยา ศุภพรโอภาส ที่ทำลูกทุ่งเข้า FM โอ้โห เพลงที่ถูกขอมากเป็น อันดับหนึ่งก็คือเพลงละครแห่งชีวิตของไมค์ ภิรมย์พร เพลงนี้คิดว่าเจ๊งไปแล้ว ปรากฏว่ามันกลับมาแบบเป็นเพลงชาติเลย ก็หมุนกลับ ไปเพราะตอนนั้นออกชุดที่ 4 แล้ว ต้องหมุน กลับไปโปรโมตชุดที่ 2 ใหม่ มันมาแล้ว เพราะมีสื่อแล้ว มีความเคลื่อนไหว มีเป้าหมายบอก ที่ทางแล้ว ที่ผ่านมาไม่มีทางจะส่งเพลงที่เราทำให้เขาได้ยิน พอดีมีคนทำก็เหมือนมีรูออก"
มีเรื่องเล่าว่าการทำเพลงของไมค์ ภิรมย์พร ที่ล้มเหลวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ชุดแรก ทางค่ายแทบถอดใจแล้ว หากทำชุดสุดท้ายแล้วไม่ดังก็เลิก แต่เมื่อเพลงของไมค์ถูกเปิดทางลูกทุ่ง FM เพลงของเขาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เป็นเพลงเก่า เรื่องนี้วิทยา ศุภพรโอภาส ยืนยันว่า ไมค์ ภิมย์พรกำลังจะกลับบ้านไปทำอาชีพเดิมแล้วแต่เกิดดังขึ้นมาเสียก่อน
กริสบอกด้วยว่า ประเทศไทยมีอะไรที่ แปลกๆ AM สเตอริโอ ก็มีและเสียงดีไปได้ไกลด้วย แต่คนไทยมองว่าเป็นอะไรที่เชย ถ้าเป็น FM แปลว่าเท่ ทั้งๆ ที่ไปไม่ได้ไกล ภาพลักษณ์มันถูกปลูกฝังมาตั้งนานแล้ว
"การทำตลาดของลูกทุ่ง AM หมดจากยุคนายห้างประจวบ จำปาทอง ก็เฟดไป เฉยๆ อาจจะมีอยู่ก็ได้แต่ด้วยระบบอะไรก็ตาม มันยังหาไม่เจอ ไม่มีความชัดเจน กลุ่มใคร กลุ่มมัน เราก็พยายามเจาะข้อมูล ยากเย็นแสนเข็ญ คือ AM ไม่ได้เป็นเพลงทั้งหมด มีข่าวสารแล้วก็เปลี่ยนยุคตามมีเดีย ตามสื่ออะไรด้วย"
การสิ้นสุดการจัดรายการของประจวบ จำปาทอง อาจทำให้ลูกทุ่งขาดช่วงไปแต่ใน ลมหายใจที่แผ่วเบาก็ยังมีเรี่ยวแรงที่จะกลับมาฮึดสู้ใหม่อีกครั้ง
สิ่งที่แกรมมี่ โกลด์มองเห็นไม่ได้ต่าง จากบริษัทอาร์สยามได้สัมผัส ศุภชัย นิลวรรณ กรรมการผู้จัดการ อาร์สยาม ประเมินตลาดลูกทุ่งไว้ในระดับที่สูงเช่นกัน
"ธุรกิจลูกทุ่งแอบกินเงียบๆ มานานแล้ว ฐานของลูกทุ่งค่อนข้างกว้างมาก เวลาผม ไปต่างจังหวัด รู้เลยว่าชาวบ้านบริโภคลูกทุ่ง เป็นส่วนใหญ่ ในส่วนของอาร์เอสก็เหมือนกัน ตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทมาก็มีธุรกิจลูกทุ่งอยู่แล้ว ทำควบคู่กันไปกับเพลงสตริง เมื่อก่อนอยู่ในโครงสร้างเดียวกันและการแข่งขันยังไม่สูงมาก นักร้องยังน้อยอยู่ ภาพก็เลยไม่มีความเคลื่อน ไหวเท่าไร พอค่ายเพลงต่างๆ มาจับทิศทางได้ เพราะลูกทุ่งตลาดใหญ่ก็ค่อยๆ ลงมาทำกัน มีทั้งค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ ค่ายน้อย ผสมกันไป การเข่งขันก็มากขึ้นเรื่อยๆ"
อาร์เอสประเมินตลาดเพลงลูกทุ่งว่าน่าสนใจเมื่อถึงเวลาที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาก็ทำการแยกบริษัทที่ทำเพลงลูกทุ่งออกมาโดยเฉพาะในชื่อบริษัทอาร์สยาม เพราะลูกทุ่งมีกลุ่มเป้าหมายต่างกับเพลงวัยรุ่น กลุ่มเป้าหมายต่างกัน วิธีการในการประชา สัมพันธ์ การใช้สื่อก็ต่างกัน
เมื่อย้อนกลับไปก็พอดีกับช่วงที่ลูกทุ่ง FM กำลังเติบโตสุดขีด อย่างน้อยก็คืออานิสงส์ ของการเปิดประตูลูกทุ่งเข้าไปยึดฐานสถานี FM
ศุภชัยประเมินมูลค่าตลาดของเพลงลูกทุ่งว่ายังไม่ชัดเจนเท่าไร เพราะมีค่ายเล็ก ค่ายน้อยจำนวนมาก และในแต่ละท้องที่ก็มี นักร้องที่เขาทำขายเองบ้าง ซึ่งไม่ได้เข้าระบบ เท่าไร แต่เท่าที่ไปตรวจสอบที่หน้าแผงเทป ถือว่าลูกทุ่งเป็นตลาดใหญ่ โดยเฉพาะขณะนี้แผงเทปต่างๆ พื้นที่ของแผงส่วนใหญ่เพลงลูกทุ่งครอง ในส่วนที่เขาคาดการณ์น่าจะอยู่ที่ ปีละ 1,000-1,500 ล้านบาท เฉพาะธุรกิจเพลงอย่างเดียวไม่รวมกับธุรกิจข้างเคียงอื่นๆ
สำหรับตลาดรวมของธุรกิจมีการรวบรวมตัวเลขในปี 2549 มูลค่าตลาดประมาณ 7,100 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9 จากปีก่อนหน้า มีสาเหตุมาจากผลงานเพลงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะศิลปินจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มศิลปิน ที่ได้รับความนิยม
หากแบ่งตามประเภทของเพลงแล้ว เพลงไทยสากลยังเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุด ในตลาด มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 45 รองลงมาคือเพลงลูกทุ่ง ร้อยละ 30 และเพลงสากล ร้อยละ 20
ส่วนในปี 2550 มีการคาดกันว่าตลาดเพลงจะไม่ขยายตัวมากนัก เพราะภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขัน แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่การละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้งานออกใหม่ลดน้อยลงไป ใช่ฟ้าบันดาล ให้เธอเป็นคู่ของพี่
หลังจากใช้เวลาสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับลูกทุ่ง FM ได้เรียบร้อย ชีวิตการทำงาน ของวิทยาก็เหมือนกับเพลงลูกทุ่งที่ถูกคนรักทอดทิ้งหรือสลัดรัก การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดขึ้นใน อ.ส.ม.ท. การแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนพร้อมกับการเข้ามาของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ ทำให้การบริหารจัดการคลื่นวิทยุที่มีอยู่เปลี่ยนแปลง
ลูกทุ่ง FM ของวิทยาก็อยู่ในข่ายของการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ความเจ็บช้ำช่าง บาดลึกเข้าไปในใจคนทำไม่น้อย
อ.ส.ม.ท.ขอเลิกสัญญากับวิทยาและทีมงาน
"ตอนนั้นโกรธแน่นอน เขาอ้างว่า กสช. จะมาแล้วต้องทำเอง อ้างทั้งนั้นแหละ เรื่องทั้งเรื่องคือผลประโยชน์ อยากเข้าจดทะเบียน เป็นบริษัทมหาชน แล้วก็รวยกันเป็นแถว พอเข้าตลาดฯ แล้วเอาเงินไปก้อนหนึ่ง ประเทศ ชาติเป็นอย่างไรช่างมัน ทำไมต้องเข้ามหาชน สัมปทานรัฐมันผูกขาดอยู่แล้ว ทำอย่างไรก็กำไร ที่ขาดทุนเพราะมันทำห่วย ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทมหาชน เป็นข้ออ้าง" วิทยาบอกเล่าความในใจ
เวลาของลูกทุ่ง FM ที่ทำโดยวิทยาหมดลงพร้อมกับการเกิดขึ้นของสถานี 95 ลูกทุ่งมหานครที่ อ.ส.ม.ท.ดำเนินการเองทั้งหมด รูปแบบยังคงเป็นเพลงลูกทุ่งตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ได้เปลี่ยนแปลง นับจากนั้นมาก็เป็นสถานีเพลงลูกทุ่ง FM เพียงคลื่นเดียว จนล่าสุดเมื่อ เดือน ตุลาคมจึงเกิดคลื่นลูกทุ่ง FM ขึ้นมาแข่ง
เขามั่นใจว่าหากมีคนยื่นข้อเสนอให้ทำ สถานีเพลงลูกทุ่งอีก เขาก็จะทำ
"ลองเอาคลื่นมาให้ผมทำสิ ผมจะชนให้ดู ไม่มีเหลือหรอก ตอนนี้มันมีต้นทุนแต่เขา ไม่มีต้นทุน เหมือนคุณเปิดร้านข้าวแกงแข่งกัน ของคุณมีค่าเช่าแต่เขาไม่มีค่าเช่า ผมขายราคา เดียวกับคุณไม่ได้ ปัจจุบันเขาไม่มีค่าเช่าสถานี เขาขายสปอตละ 600 บาท แต่ตอนที่ผมทำ สปอตละ 2,000 บาท นี่ขนาดไม่ต้องเสียค่าสัมปทานยังไม่มีปัญญาขึ้นราคาเลย คลื่นนี้ได้ อานิสงส์จากผม คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เอง ก็ยอมรับว่าเป็นอานิสงส์มาจากผมทำดังไว้ เขาไม่ได้สร้างเองนี่ ถ้าแน่จริงเอากลับไป คุณ ต้องทำอย่างอื่นสิ ยึดร้านส้มตำผม แล้วทำส้มตำ อย่างนี้เขาเรียกว่าปล้น"
เจ็บเมื่อไหร่ให้โทรมา
การที่เพลงลูกทุ่งจะขยายและเติบโตได้ ช่องทางการเผยแพร่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด หากพิจารณาจากผลที่เกิดขึ้นหลังมีลูกทุ่ง FM หลังจากนั้นก็มีสถานีลูกทุ่งอีกหลายสถานีเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้มีชีวิตยืนยาวเท่าคลื่นแรก
คงเป็นเหมือนธุรกิจทั่วไป หากสถานีลูกทุ่ง FM สามารถยืนอยู่ได้และตลาดเพลงลูกทุ่งเติบโตขนาดนี้โอกาสของการเกิดสถานีใหม่ๆ ก็สูงขึ้น ล่าสุด สุรชาติ ตั้งตระกูล อดีตผู้บริหารคลื่นสกายไฮของกลุ่มอาร์เอส ก็ไปประมูลแย่งคลื่น 88.5 มาจากเจ้านายเดิม เรียบร้อยแล้วโดยจะนำคลื่นนี้มาทำเป็นสถานีลูกทุ่งไทยแลนด์ และมีการดึงดีเจจากรายการคลื่นแทรกคลื่นแซบของแกรมมี่มาร่วมงานพร้อมด้วยนักร้องลูกทุ่งอย่างอาภาพร นครสวรรค์ ยิ่งยง ยอดบัวงาม และอีกหลายๆ คน
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพลงลูกทุ่งก็ยังคงดังก้องอยู่ในใจของคนลูกทุ่งต่อไป
ใครที่บาดเจ็บหรือล้มเหลวจากการแข่งขัน เพลงลูกทุ่งยังคอยปลอบใจเช่นเดิม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|