ซับไพร์มตามหลอนไม่หยุด ทำหุ้นกู้ออกใหม่ขายยาก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤติซับไพรม์ยังตามหลอนตลาดทุนไม่จบสิ้น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยคาดแม้เฟดจะลดดอกเบี้ยแก้ปัญหา สวนทางราคาน้ำมันดันเงินเฟ้อทำแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยโลกเป็นขาขึ้น ชี้หุ้นกู้ออกใหม่ในประเทศอาจขายยาก คาดมูลค่าระดมทุนหด20%

แม้"ซับไพรม์" จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปัญหาของมันก็ใหญ่และยากเกินกว่าที่จะสามารถจัดการให้จบได้อย่างรวดเร็ว

เป็นเวลาอีกหลายปีต่อจากนี้ที่ทุกๆฤดูประกาศผลประกอบการ เราจะได้เห็นพิษสงค์และความน่าสะพรึงกลัวของมันปรากฏตัวขึ้นมาสร้างความสยดสยองให้ประจักษ์แก่ตลาดทุนทั่วโลกครั้งแล้วครั้งเล่า ราวกับตำนานผีดิบคืนชีพ

ณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) กล่าวว่า ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ของสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลกระทบวงกว้างทั่วโลก โดยประเมินความเสียหายที่เกิดจากซับไพรม์ประมาณ 2-4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 6.6-12 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันขนาดของปัญหาที่พบยังมีสัดส่วนไม่มากเพียง 10% ของมูลค่าที่ประเมิน หรือประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเท่านั้น ที่เหลืออีก 90% หรือ 1.8-1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่คาดว่าจะปะทุขึ้นในช่วงกลางปีหน้าและจะกระทบต่อเนื่องไปอีก 4-5 ปี

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะต้องปรับดอกเบี้ยลง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ด้วยปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐจะกลับทิศทางมาเป็นขาขึ้นในที่สุด และเมื่อรวมกับปัญหาซับไพรม์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐให้ถดถอย และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทำให้นักลงทุนต่างประเทศลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งจะกดดันให้ทั่วโลกต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยตามขึ้นไปด้วย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย

"ดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นในช่วงปีหน้า ทำให้ประเมินว่าภาคเอกชนจะมีการระดมทุนจากการออกหุ้นกู้ลดลง โดยคาดว่าภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้ 1.6 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปีนี้ที่มีประมาณ 2 แสนล้านบาท หรือประมาณ20%"

ทั้งนี้ประเมินว่าในปี 2551 บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ยังคงนิยมใช้ตลาดตราสารหนี้เป็นช่องทางในการระดมทุนมากกว่า เพราะแม้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าตลาดตราสารหนี้ยังเป็นช่องทางการระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าการกู้ธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ตลาดหุ้นในปีหน้าคงจะซบเซาตามสภาพเศรษฐกิจ

สำหรับในปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาซับไพรม์มากนัก เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีตราสารหนี้ ที่ค้ำประกันด้วยเงินกู้อสังหาริมทรัพย์ประเภทซับไพรม์ และกองทุนรวมยังไม่สามารถเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ประเภทที่มีความเสี่ยงสูงอย่างการลงทุนใน CDO ประเภทซับไพรม์ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบทางตรงไม่เด่นชัด แต่อาจจะมีผลทางอ้อม เช่น ตลาดตราสารหนี้ประเภทแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชั่น) ออกใหม่ที่ใช้หลักประกันประเภทหนี้มาค้ำประกัน อาจจะต้องใช้แรงจูงใจมากขึ้นในการเสนอขายเพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุน รวมถึงการระดมทุนของภาคเอกชนที่ไปออกตราสารหนี้ในต่างประเทศ อาจจะระดมทุนยากขึ้น เนื่องจากตราสารหนี้ไทยส่วนใหญ่ที่เสนอขายต่างประเทศจะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือไม่สูงมากนัก

สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณที่ย้ำเตือนว่าเรากำลังอยู่ในยุคแห่งโลกาภิวัฒน์ที่มีความเชื่อมโยงถึงกัน...การปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่ไร้ประสิทธิภาพในซีกโลกหนึ่ง ก็สามารถสร้างอีกหลายๆปัญหาในประเทศเล็กๆซึ่งอยู่อีกซีกโลกตรงข้ามให้เกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.