ศึกชิงเจ้า MBA ในรัสเซีย


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คำถามใหญ่ที่สุดในการเมืองรัสเซียเวลานี้ หนีไม่พ้นใครจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากประธานาธิบดี Vladimir Putin ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียที่จะมีขึ้นในปีหน้า (2008) ตัวเก็งที่มีหวังที่สุด 2 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นรองนายกรัฐมนตรีรัสเซียทั้งคู่ คือ Sergei Ivanov และ Dmitry Medvedev ไม่เพียงแต่จะเป็นคู่แข่งทางการเมือง แต่ยังเป็นคู่แข่งในการชิงตำแหน่งมหาวิทยาลัยธุรกิจที่เป็นที่หนึ่งในการสอนโปรแกรม MBA ของรัสเซีย

ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของ Graduate School of Management (GSOM) ในสังกัดมหาวิทยาลัย St. Petersburg State University มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย (ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1724) ดูเหมือนว่า Ivanov จะเป็นฝ่ายนำในสมรภูมินี้

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา GSOM เปิดสอนโปรแกรม MBA สำหรับผู้บริหารแก่ผู้บริหารธุรกิจชาวรัสเซีย โดยเลียนแบบหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธุรกิจในสหรัฐฯ และในปี 2009 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า GSOM เตรียมจะเปิดสอนโปรแกรม MBA แบบเรียนเต็มเวลา 16 เดือน โดยใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ในวิทยาเขตแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในที่ๆ เคยเป็นวังเก่าของกษัตริย์รัสเซีย

ส่วน Medvedev เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยน้องใหม่แต่มาแรง Moscow School of Management หรืออีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดีว่า Skolkovo ซึ่งเรียกตามชื่อที่ตั้งมหาวิทยาลัย และเพิ่งฉลองครบรอบขวบปีแรกอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการเชิญ Jack Welch อดีตผู้บริหารผู้เป็นตำนานของ GE มาสอนนักศึกษา ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้บริหารธุรกิจชาวรัสเซีย

ขณะนี้ Skolkovo ยังมีเพียงโปรแกรม MBA เพื่อผู้บริหาร แต่ในปี 2009 จะเปิดหลักสูตร MBA เต็มรูปแบบเวลาเรียน 1 ปี ในวิทยาเขตแห่งใหม่ที่ทันสมัยไม่แพ้ของมหาวิทยาลัย St. Petersburg

มหาวิทยาลัยทัง 2 แห่ง มีวิธีการสอนที่แตกต่างกัน St. Petersburg เน้นการฝึกผู้บริหารที่ทำงานในบริษัท ขณะที่มหาวิทยาลัย Moscow เน้นสอนให้เป็นผู้ประกอบการ Moscow ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Roman Abramobich มหาเศรษฐีรัสเซียที่ซื้อทีมฟุตบอล Chelsea ของอังกฤษ และเป็นมหาวิทยาลัยที่บริหารเหมือนเป็นธุรกิจมากกว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา โดยอาจารย์ได้รับเงินโบนัส และต้องต่อสัญญา

St. Petersburg มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจของสหรัฐฯ และยุโรปมากกว่า 10 แห่ง แต่ Moscow ก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยธุรกิจในเอเชีย และกำลังเกี้ยวมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ อย่าง Duke’s Fuqua School of Business ซึ่งเพิ่งจัดนิทรรศการใน Moscow เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจาก Wilfried Vanhonacker อธิการบดีร่วมของ Moscow เคยบริหารมหาวิทยาลัย China Europe International Business School (CEIBS)

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ แต่ผู้สมัครเรียนโปรแกรม MBA ในสหรัฐฯ น้อยคนนัก ที่สนใจจะมาเรียนที่รัสเซีย ทำให้ Valery Katkalo อธิการบดี St. Petersburg กล่าวกระแนะกระแหนว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจในสหรัฐฯ ควรจะให้ความสำคัญกับการเข้าสู่สากลมากกว่านี้

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ฟอร์จูน 29 ตุลาคม 2550


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.