4 มหาอำนาจใหม่ในตลาดเงินโลก


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ความจริงที่ยังไม่มีใครรู้เกี่ยวกับ 4 มหาอำนาจใหม่ที่ร้อนแรงที่สุดในตลาดเงินโลก ซึ่งแม้จะร่ำรวยมหาศาล แต่ลึกลับเป็นที่หวาดกลัวและถูกมองอย่างไม่เข้าใจ

การเกิดขึ้นของ 4 ผู้เล่นรายใหม่ที่ร้อนแรงที่สุดในตลาดเงินโลก กำลังสร้างความหวั่นกลัวไปทั่วโลก แม้จะมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ แต่เนื่องจากความลึกลับทำให้ มหาอำนาจใหม่ในตลาดเงินโลกทั้ง 4 ราย คือนักลงทุนจากชาติส่งออกน้ำมัน ธนาคารกลางจากเอเชีย กองทุนเก็งกำไร และบริษัทลงทุนในบริษัทนอกตลาด ถูกมองเป็นมหาเศรษฐีคนนอกที่น่ากลัว ไม่ว่าพวกเขาจะย่างกรายไปที่ใดในโลก

ด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงไม่หยุด ทำให้นักลงทุนจากชาติมหาอำนาจน้ำมันตกเป็นเป้าหมายตอบโต้ของผู้กีดกันการค้า เพียงข่าวลือว่า ธนาคารกลางจากเอเชียซึ่งในเวลานี้ถือครองตราสารหนี้อเมริกันจำนวนมหาศาลจะเปลี่ยนนโยบายลงทุน โดยจะหันเหไปจากพันธบัตรคลังของสหรัฐฯ ก็สั่นสะเทือนไปทั่วตลาดสินเชื่อสหรัฐฯ

ส่วนผู้บริหารกองทุนเก็งกำไร (hedge fund) ซึ่งบริหารเงินให้แก่ลูกค้าที่ร่ำรวยได้รับค่าตอบแทนที่สูงลิ่ว จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่จะจำกัดอำนาจของพวกเขา (และจ้องเก็บภาษีรายได้ระดับหลายพันล้านของพวกเขา) ไปทั่วฝั่งแอตแลนติกและแปซิฟิก ในขณะที่บริษัทลงทุนในบริษัทนอกตลาด (private-equity firm) ซึ่งลงทุนซื้อขายบริษัทก็ถูกโจมตีว่าเป็นพวกแร้งลงโดยเฉพาะในยุโรป

มหาอำนาจใหม่ในตลาดทุนโลกทั้งสี่ถูกมองอย่างเกลียดกลัว เพราะไม่มีใครรู้จักพวกเขาอย่างแท้จริง ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเงินที่พวกเขาบริหารควบคุมอยู่ที่ว่ามีจำนวนมหาศาลนั้นมีจำนวนเท่าใดกันแน่ แต่รายงานล่าสุดของบริษัทวิจัย McKinsey Global Institute (MGI) ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมหาอำนาจการลงทุนหน้าใหม่ทั้งสี่ ซึ่ง MGI เรียกว่า power broker และอิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะของพวกเขา อันรวมถึงความสามารถในการกำหนดทิศทางตลาดเงินโลก

รายงานของ MGI ระบุว่า สินทรัพย์ของมหาอำนาจทั้งสี่เพิ่มขึ้น 3 เท่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เป็น 8.5 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นสุดปี 2006 หรือเท่ากับ 40% ของเงินทุนที่ถือครองโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลก ทั้งๆ เมื่อ 5 ปีก่อน power broker ทั้งสี่ยังอยู่แค่เพียงชายขอบของตลาดเงินโลกเท่านั้น

กองทุนลงทุนในบริษัทนอกตลาดเป็นมหาอำนาจทางการเงินที่มีขนาดเล็กที่สุดใน 4 มหาอำนาจใหม่ private equity คือผู้ที่คิดค้นวิธีซื้อกิจการด้วยเงินกู้ ที่เรียกว่า leveraged buyouts หรือ LBO ในช่วงทศวรรษ 1980 private equity เติบโต 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2000 และบริหารเงินทุนจากนักลงทุน 7 แสน 1 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นสุดปี 2006

ส่วนกองทุนเก็งกำไรดูจะเป็น power broker รายใหญ่สุดใน 4 มหาอำนาจใหม่ โดยขนาดกองทุนเติบโตมากกว่า private equity 2 เท่า และถือครองสินทรัพย์ทั้งหมด 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ และหากนับสินทรัพย์ในรูปเงินกู้ที่กองทุนเก็งกำไรนิยมนำมาใช้เพิ่มผลตอบแทนนักลงทุน สินทรัพย์ที่กองทุนประเภทนี้ควบคุมดูแลทั้งหมด อาจสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกนำไปลงทุนในตลาดเงินทั้งหมด

แต่หากมองในแง่การถือครองเงินดอลลาร์มากที่สุด การที่ราคาน้ำมันโลกแพงขึ้น 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ทำให้นักลงทุนจากชาติส่งออกน้ำมัน หรือ petro-investor เป็น power broker รายใหญ่สุดใน 4 รายนี้ โดยนักลงทุนจากชาติน้ำมันถือครองสินทรัพย์ทางการเงินในต่างประเทศเป็นมูลค่าระหว่าง 3.4-3.8 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยธนาคารกลางจากเอเชีย ซึ่งมีสินทรัพย์ในรูปทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ อันเป็นผลมาจากการที่เอเชียเกินดุลการค้ามหาศาล และเงินลงทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่เอเชีย รวมทั้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

ที่น่าอิจฉายิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่ว่าตลาดเงินโลกจะผันผวนเพียงใด ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ของมหาอำนาจการเงินหน้าใหม่ทั้งสี่ โดยสินทรัพย์ของพวกเขาจะไม่ลดลงทั้งขนาดหรือความแข็งแกร่งในตลาด เพราะทั้งสี่ต่างส่งเสริมการเติบโตซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุผลที่ยังไม่มีใครรู้ชัด อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยทำให้กองทุนเก็งกำไรรุ่งเรือง โดยที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เอเชียและชาติผู้ส่งออกน้ำมันเทเงินเข้าไปในตลาดสินเชื่อ ส่วนการเติบโตของกองทุนเก็งกำไรก็ช่วยให้ private equity พลอยเติบโตตามไปด้วย จากการที่กองทุนเก็งกำไรมีบทบาทสูงในตลาดตราสารหนี้อนุพันธ์

นักวิเคราะห์คาดว่า สินทรัพย์ของมหาอำนาจในตลาดเงินหน้าใหม่ทั้งสี่จะเติบโตถึงระดับ 20.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2012 หรือเท่ากับ 2 ใน 3 ของสินทรัพย์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลก และสินทรัพย์ของพวกเขาจะยังคงเติบโต แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลง หรือยอดเกินดุลการค้าของเอเชียจะหดตัวลง หรือการลงทุนในกองทุนเก็งกำไรหรือกองทุน private equity จะชะลอตัวลงก็ตาม เพียงแต่อาจจะเติบโตไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็จะยังคงเติบโตขึ้น 2 เท่าในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ เป็น 15.2 ล้านล้านดอลลาร์

เงินลงทุนมหาศาลจากนักลงทุนกึ่งรัฐจากเอเชียและตะวันออกกลางที่หลั่งไหลเข้าไปในสหรัฐฯ และยุโรปอย่างรวดเร็ว สร้างความกลัวถึงขนาดกลายเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ เพราะเกรงว่าเงินทุนมหาศาลที่ทะลักเข้าไป อาจทำให้เกิดฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป และทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเงิน โดยอาจทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้นในตลาดสินเชื่อ โดยเฉพาะหากกองทุนเก็งกำไรขนาดใหญ่เกิดล้ม ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วตลาดทุนโลก อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1998 เมื่อกองทุนเก็งกำไร Long-Term Capital Management เกือบล่ม การที่กองทุนเก็งกำไรแทบไม่ถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์ จึงสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนมหาศาลได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของผู้คุมกฎในตลาดเงิน

อย่างไรก็ตาม แม้จะสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในทุกแห่งหนที่ power broker ทั้งสี่ย่างกรายเข้าไป แต่มหาอำนาจรายใหม่ทั้งสี่ก็มีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งแก่ตลาดเงินโลก นักลงทุนจากชาติน้ำมันและธนาคารกลางเอเชียเปรียบเหมือนกระปุกออมสินยักษ์ของโลก ซึ่งช่วยทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงทั่วโลก และทำให้เกิดการปล่อยกู้ในรูปแบบใหม่ๆ นักลงทุนจากชาติน้ำมันและธนาคารกลางเอเชียยังอาจช่วยเสริมสภาพคล่องในตลาดสินเชื่อโลกได้ ในขณะที่ตลาดสินเชื่อโลกกำลังขาดสภาพคล่องอยู่ในเวลานี้

การที่นักลงทุนจากชาติน้ำมันและธนาคารกลางเอเชียร่ำรวยมากพอที่จะลงทุนระยะยาว โดยไม่ต้องคำนึงถึงการที่จะต้องรายงานผลตอบแทนไตรมาสชนไตรมาสเหมือนอย่างกองทุนทั่วไปที่ถูกแรงกดดันจากผู้ถือหุ้น และการที่มหาอำนาจการเงินทั้งสองเน้นลงทุนในเอเชียตะวันออกกลางและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ทำให้นักลงทุนจากชาติน้ำมันและธนาคารกลางเอเชีย กลายเป็นหัวหอกในการพัฒนาตลาดเงินที่อยู่นอกเหนือศูนย์กลางการเงินดั้งเดิม

ส่วนกองทุนเก็งกำไรและกองทุน private-equity ก็เริ่มเปิดเผยตัวต่อสาธารณะมากขึ้น และมีมาตรฐานที่ดีขึ้นในการรายงานผลการดำเนินงาน

นักวิเคราะห์ทำนายว่า มหาอำนาจตลาดเงินหน้าใหม่ทั้งสี่ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

นักลงทุนจากชาติส่งออกน้ำมัน

ราคาน้ำมันที่พุ่งแตะระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีที่แล้ว ทำให้ชาติส่งออกน้ำมัน กลายเป็นผู้ส่งออกเงินทุนรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าเอเชียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ที่จะมีความสำคัญต่อตลาดเงินโลกตลอด 5 ปี ข้างหน้า 6 ใน 10 บริษัทใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ เมื่อดูจากมูลค่าตามราคาตลาด เป็นบริษัทน้ำมันในตะวันออกกลางและเอเชียและคาดว่า Saudi Aramco บริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะมีมูลค่าสูงกว่า General Electric บริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึงสองเท่า

เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจในประเทศและตลาดเงินในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีขนาดเล็ก ทำให้รายได้จากการขายน้ำมัน ซึ่งเรียกว่า petrodollar ส่วนใหญ่ต้องไหลออกไปลงทุนในตลาดเงินโลก หากราคาน้ำมันอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีเงินทุนที่มาจากรายได้จากการขายน้ำมันถึง 6 แสน 2 หมื่น 8 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ไหลเข้าสู่ตลาดโลกภายในปี 2012 ซึ่งจะทำให้การถือครองสินทรัพย์ในต่างประเทศของชาติส่งออกน้ำมัน เพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็นเกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

นักลงทุนจากชาติส่งออกน้ำมันมีทั้งที่เป็นมหาเศรษฐี กองทุนบริหารสินทรัพย์และธนาคารกลางในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย นอร์เวย์ รัสเซีย ไนจีเรีย เวเนซุเอลา และอินโดนีเซีย อย่างเช่น Dubai International Capital เป็นกองทุนที่คล้ายกับ private equity เป็นข่าวโด่งดังเมื่อซื้อพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง Tussauds และเครือโรงแรม Travelodge กองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลนอร์เวย์ ซึ่งเป็นเจ้าของสินทรัพย์ 3 แสนล้านนำบรรทัดฐานด้านจริยธรรมมาใช้ในการเลือกลงทุนและเป็นกองทุนจากชาติส่งออกน้ำมันรายเดียวที่เปิดเผยรายละเอียดการลงทุน ส่วนเจ้าชาย Alweed Bin Talal Alsaud แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงลงทุนในบริษัททั่วโลกเป็นเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์

ด้วยนิสัยที่ชอบลงทุนระยะยาวและชอบเสี่ยง ทำให้นักลงทุนจากชาติน้ำมันช่วยส่งเสริมการเติบโตของกองทุนเก็งกำไรและกองทุน private equity นอกจากนี้การที่ชอบลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้นักลงทุนจากชาติน้ำมันมีส่วนช่วยเร่งพัฒนาการของตลาดเงินในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและเอเชีย ทั้งยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์การเงินเติบโตในชาติมุสลิมที่ยังมีขนาดเล็ก

ธนาคารกลางจากเอเชีย

ธนาคารกลางจากเอเชียเป็นยักษ์ใหญ่ที่ระมัดระวังในตลาดทุนโลก โดยนำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไปซื้อสินทรัพย์ที่แปลงเป็นดอลลาร์ได้ง่ายเป็นหลัก โดยเฉพาะพันธบัตรคลังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เพิ่งประกาศแผนจะโยกเงิน 4 แสน 8 หมื่นล้านดอลลาร์ เข้าไปลงทุนในกองทุนจัดการสินทรัพย์ของรัฐโดย China Investment Corp เข้าซื้อหุ้น 3 พันล้านดอลลาร์ใน Blackstone Group กองทุน private equity ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก

การเปลี่ยนนโยบายการลงทุนของธนาคารกลางในเอเชียอาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนเนื่องจากเงินทุนจำนวนมหาศาลกระจุกตัวอยู่ในมือของรัฐบาลเอเชียเพียงไม่กี่แห่ง ธนาคารกลางจีนหรือ People's Bank of China มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อปลายปี 2006 นับเป็นนักลงทุนที่ร่ำรวยที่สุดในตลาดเงินโลก ปีที่แล้วธนาคารกลางจากเอเชียมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ รวมกันเป็นสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั้งหมดในโลก และแม้การเติบโตของยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเอเชียเกิดชะลอตัวลง แต่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเอเชียจะยังคงเติบโตต่อไปเป็น 5.1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2012

นโยบายลงทุนแบบอนุรักษนิยมของธนาคารกลางในเอเชีย ช่วยทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในสหรัฐฯ ลดลงไปแล้วประมาณ 0.55% แต่ผลตอบแทนที่ต่ำจากการลงทุนแบบอนุรักษนิยมกลับทำให้ เศรษฐกิจเอเชียสูญเสียไป 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเท่ากับประมาณ 1% ของ GDP การโยกเงินทุนบางส่วนไปลงทุนในกองทุนจัดการสินทรัพย์อาจทำให้เอเชียได้รับผลตอบแทนลงทุนเพิ่มขึ้นและเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทมากขึ้น แต่บางคนก็วิตกว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายลงทุนของธนาคารกลางในเอเชีย อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ สูงขึ้น แต่นักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางเอเชียคงจะใช้วิธีค่อยๆ เพิ่มความหลากหลายในการลงทุนไม่ใช่เพิ่มแบบพรวดพราด และจะยังคงซื้อหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ เหมือนเดิม

กองทุนเก็งกำไร

กองทุนเก็งกำไรขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยขณะนี้มีมากกว่า 7,300 กองทุน และมีสินทรัพย์รวมกัน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อกลางปีนี้ (2007) กองทุนเก็งกำไรที่ใหญ่ที่สุดในโลก 3 แห่ง มีสินทรัพย์ของนักลงทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารอย่างน้อยแห่งละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ กองทุนเก็งกำไรลงทุนในตลาดเงินประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 5 ปีข้างหน้าเป็น 3.5 ล้านล้านดอลลาร์

กองทุนเก็งกำไรให้ประโยชน์กับตลาดทุนโดยช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และกระตุ้นให้เกิดการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงิน อย่างไรก็ดี ขนาดของกองทุนที่เติบโตขึ้นตลอดเวลาและการใช้วิธีกู้เงินมาลงทุนอาจบั่นทอนเสถียรภาพของตลาดเงิน เมื่อครั้งที่กองทุนเก็งกำไร Long Term Capital Management ประสบปัญหาขาดทุนมหาศาล ในปี 1998 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องกอบกู้กองทุนดังกล่าวด้วยการระดมเงินช่วยเหลือจากกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์

กลางปีนี้มีกองทุนเก็งกำไรระดับหลายพันล้านดอลลาร์หลายแห่งประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจากผลกระทบที่ได้รับจากปัญหาหนี้เสียในตลาดสินเชื่อบ้านที่ปล่อยให้แก่ลูกค้าประวัติการชำระหนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ (subprime mortgage) ซึ่งสร้างความปั่นป่วนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น กองทุน ขนาดเล็กและขนาดกลางบางแห่งถึงกับต้องปิดตัวไป จึงเกิดคำถามอีกครั้งว่า การล่มของกองทุนเก็งกำไรจะก่อให้เกิดวิกฤติในตลาดเงินในวงกว้างอีกหรือไม่

แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า พัฒนาการหลายอย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยกองทุนเก็งกำไรใช้กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ลดความเป็นไปได้ที่การลงทุนหลายอย่างจะล้มเหลวพร้อมกัน ส่วนธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กองทุนเก็งกำไรก็ปรับปรุงวิธีประเมินและติดตามความเสี่ยง และมีเครื่องป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่หุ้นและสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน การกู้ยืมของกองทุนเก็งกำไร หากกองทุนเก็งกำไรเกิดล่ม กองทุนเก็งกำไรขนาดใหญ่หลายแห่งยังเริ่มระดมทุนแบบถาวรในหุ้นจดทะเบียนและหุ้นกู้ และจำกัดการถอนเงินของนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการรับสถานการณ์เมื่อตลาดขาลง สรุปแล้วกองทุนเก็งกำไรเริ่มเปลี่ยนจากการลงทุนแบบข้ามาคนเดียว เป็นการลงทุนในกระแสหลักมากขึ้น

กองทุน private equity

กองทุนที่ลงทุนในบริษัทนอกตลาดหุ้นนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็ก แต่กลับมีผลกระทบอย่างสูงต่อโลกธุรกิจ มูลค่ารวมของบริษัทที่ถูกกองทุนประเภทนี้ซื้อไป แม้จะมีเพียง 5% ของมูลค่าบริษัททั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (และเพียง 3% ในยุโรป) แต่กองทุน private equity หรือบริษัทที่ลงทุนในบริษัทนอกตลาดได้เข้าไปมีส่วนในการควบรวมหรือซื้อกิจการเกือบ 1 ใน 3 ของข้อตกลงซื้อขายกิจการทั้งหมด และมักจะทำข้อตกลงเป็นมูลค่าสูงๆ จนเป็นข่าวฮือฮาเสมอ

private equity ทำให้เกิดโมเดลใหม่ในด้านบรรษัทภิบาล กองทุน private equity ที่ดีๆ หลายแห่ง สามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ซื้อมา โดยผลการศึกษาพบว่า 2 ใน 3 ของบริษัทที่ถูกซื้อด้วยวิธี leveraged buyout ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพ และให้ผลตอบแทนมากขึ้น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ย ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนที่บริษัทที่ถูก private equity ซื้อไปสามารถปรับปรุงผลตอบแทนได้ดีขึ้น ต่างหันมาสนใจประสิทธิภาพการทำงานของทีมบริหารในบริษัทที่ตนถือหุ้น และต้องการให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพบ้าง

แม้กองทุนประเภทนี้จะถูกกล่าวหาว่าหวังกำไรระยะสั้น แต่ private equity ส่วนใหญ่จะลงทุนเป็นระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งเพียงพอที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงบริษัทที่ซื้อมาในระดับลึกถึงโครงสร้างได้ การเพิ่มหนี้ในงบดุลของบริษัทที่ซื้อมา บีบให้ผู้บริหารบริษัทนั้นต้องทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ยาก การซื้อกิจการที่มีมากขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องปรับมุมมองที่มีต่อหนี้และหุ้นใหม่

นักวิเคราะห์คาดว่า แม้การเติบโตของ private equity อาจชะลอตัวลงในระยะสั้น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดสินเชื่อเมื่อไม่นานมานี้ แต่สินทรัพย์ของกองทุนประเภทนี้จะยังเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2012 และจะยิ่งขยายตัวเข้มแข็งและเพิ่มความหลากหลายในการลงทุน รวมทั้งมีอิทธิพลมากขึ้นในวงการธุรกิจและการเงิน

power broker ยักษ์ใหญ่รายใหม่ทั้งสี่ต่างกำลังก้าวล้ำเข้าไปในอาณาจักรของกันและกัน กองทุนเก็งกำไรกำลังไล่ซื้อกิจการเหมือนกับที่ private equity ทำ ขณะที่ธนาคารกลางเอเชียเริ่มเลียนแบบกองทุนบริหารสินทรัพย์ของชาติส่งออกน้ำมัน ส่วนชาติส่งออกน้ำมันก็กำลังสร้างเครื่องมือการลงทุนที่ซับซ้อนอย่างเช่น กองทุน private equity และแม้โลกจะรู้สึกกลัวมหาอำนาจรายใหม่ในตลาดเงินทั้งสี่ แต่ก็มีสัญญาณในแง่ดีว่า ประโยชน์ของมหาอำนาจทั้งสี่ที่มีต่อตลาดเงินในแง่ของสภาพคล่อง การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการเพิ่มความหลากหลายในการลงทุน จะมีน้ำหนักเหนือกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากพวกเขา

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 29 ตุลาคม 2550


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.