"ใครคือกลุ่มเป้าหมายต่อไปที่จะถูกซื้อกิจการ"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"มีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการที่ใช้วัดว่าบริษัทไหนจะถูกเทคโอเวอร์บ้าง นักลงทุนต้องระวังให้ดี"

การลงทุนในตลาดหุ้นเวลานี้หุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ภายในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก คงหนีไม่พ้นหุ้นของบริษัทที่กำลังจะถูกซื้อกิจการโดยเฉพาะลักษณะการซื้อกิจการโดยเข้าทางประตูหลัง (BACKDOOR LISTING) ดังเช่นบริษัทสามชัย หรือฟิลาเท็กซ์ (ปัจจุบันคือเอกโฮลดิ้ง)

ราคาก่อนถูกซื้อกิจการเมื่อกันยายนปีที่แล้ว ขยับขึ้นหลังถูกซื้อประมาณ 1 ปี กว่า 700 เปอร์เซ็นต์ทั้ง 2 บริษัท กล่าวคือก่อนถูกซื้อกิจการราคาต่อหุ้นของสามชัยตกประมาณ 13 บาทและฟิลาเท็กซ์ 12 บาท หลังซื้อกิจการประมาณ 1 ปี ราคาต่อหุ้นของสามชัยและฟิลาเท็กซ์พุ่งขึ้นเป็นประมาณ 117 และ 102 บาท ตามลำดับ

ผลประกอบการขาดทุน ทุนจดทะเบียนในราคาตลาด (MARKET CAPITALIZATION) ต่ำกว่า 700 ล้าน, ค่า P/E (PRICE EARNING RATION) ต่ำ (ราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น) และความยินยอมพร้อมใจของเจ้าของกิจการเดิม องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนมีคุณสมบัติจูงใจต่อการถูกซื้อกิจการ

จากการสำรวจผลประกอบการ 2 ไตรมาสสิ้นสุด 30 มิถุนายน 2535 พบว่ามี 14 บริษัทที่ขาดทุน โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเกษตร (3 บริษัท), ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (2 บริษัท) (พิจารณาตารางประกอบ)

ดังนั้นเมื่อเจ้าของบริษัทไม่สามารถนำพาให้ตลอดรอดฝั่งได้ เมื่อมีผู้ยื่นมือเข้ามาเสนอซื้อบริษัทที่มีรอยรั่วลำนี้ไปเสียโดยให้ราคาเป็นที่น่าพอใจ เจ้าของบริษัททุกคนคงไม่มีใครปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของบริษัทยินยอมสละบริษัทแล้ว แต่หากขนาดของบริษัทใหญ่เกินไป ผู้ซื้อจะมีกำลังซื้อหรือไม่?

จากการสอบถามไปยังค่ายวาณิชธนกิจของบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านซื้อกิจการหลายราย เช่น บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นิธิภัทร หรือบริษัทหลักทรัพย์เจเอฟธนาคม เกี่ยวกับมูลค่าของบริษัทที่เข้าข่ายจะถูกซื้อกิจการ ต่างประเมินราคาออกมาใกล้เคียงกันว่าไม่ควรเกิน 1,000 ล้านบาท

แต่ที่เป็นไปได้มากคงอยู่ในระดับ 500-700 ล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ซื้อในไทยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินของตนเองเป็นหลัก ส่วนที่เป็นการกู้ยืมไม่มากนัก วงเงินในการซื้อกิจการจึงค่อนข้างจำกัด ซึ่งต่างกับการซื้อกิจการของต่างประเทศที่ผู้ซื้อมีวงเงินในการซื้อสูง กล่าวคือนิยมสร้างหนี้ขึ้นมาเพื่อซื้อกิจการ โดยใช้ตราสารแห่งหนี้เป็นหลัก เช่นการออก JUNK BOND เป็นต้น

ผลการสำรวจบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนตามราคาตลาดต่ำกว่า 700 ล้านบาท ณ วันที่ 10 พฤศจิกายนศกนี้นั้น มีทั้งสิ้น 47 บริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสิ่งทอ ซึ่งมีอยู่ถึง 11 บริษัท (พิจารณาตาราง 2 ประกอบ)

นอกจากนี้ บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 700 ล้านบาท และมีผลประกอบการขาดทุนในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 2 นี้มีทั้งสิ้น 5 บริษัทคือ ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี, บางกอกเพนท์, อิสเทิร์นไวร์, วิทยาคม, เซมิคอนดัคเตอร์ และไทยจิวฟู

เมื่อผู้ซื้อมีความพร้อมในการซื้อแล้ว ก็สมควรที่จะพิจารณาถึงความพร้อมของผู้ชายด้วย นั่นคือหากผู้ชายเข้าข่ายเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร หรือเป็นบริษัทของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ที่ไม่ยอมเสียชื่อจากการขายกิจการ การซื้อขายย่อมไม่เกิดขึ้น

ซึ่งจะต่างจากกิจการใหม่ที่เกิดขึ้นโดยผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ร่วมกันก่อตั้งเช่นกิจการโรงพยาบาลที่นายแพทย์หลายท่านร่วมกันจัดตั้ง การขายกิจการเพื่อได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าจะมีความเป็นไปได้สูง

หลังจากพิจารณาถึงปัจจับพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อมองหากลุ่มบริษัทที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายของการถูกซื้อกิจการกันได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่นักลงทุนต้องพิจารณาคือ ณ ระดับราคาเท่าไรที่ควรจะซื้อ

การพิจารณาถึงระดับราคาที่เหมาะสมนั้น พิจารณาได้คร่าวๆ จากการเปรียบเทียบค่า P/E ของหุ้นตัวนั้น กับค่า P/E ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือของอุตสาหกรรม

ซึ่งถ้ามีค่าต่ำกว่าก็พอจะประมาณได้ว่ายังเป็นหุ้นที่น่าสนใจในการลงทุนเพราะราคายังไม่สูงเกินไป แต่หากค่า P/E ของบริษัทสูงกว่าอุตสาหกรรมหรือตลาดรวมต้องวิเคราะห์ต่อไป ว่าราคาที่ขึ้นไปนั้นสูงเกินกว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตหรือไม่ เพราะหากสูงเกินไปแล้ว ก็ไม่น่าที่จะลงทุนแม้ว่าบริษัทนั้นจะถูกซื้อกิจการจริงก็ตาม (พิจารณาตารางประกอบ)

จากหลักเกณฑ์การพิจารณาถึงกลุ่มบริษัทที่มีแนวโน้มจะถูกซื้อกิจการ เชื่อว่าคงจะช่วยให้นักลงทุนผู้กระโดดขึ้นรถด่วนคงจะเป็นผู้ที่กระโดดขึ้นตั้งแต่สถานีต้นๆ ไม่ใช่สถานีปลายทางที่เป็นจุดหมายแล้ว

สำหรับทิศทางการซื้อกิจการในอนาคต คาดว่าจะออกมาในรูปแบบของการสร้าง SYNERGY มากขึ้น คงจะไม่เป็นไปในลักษณะที่เห็นผลของระดับราคาเปลี่ยนแปลงอย่างหวือหวาดังเช่น การซื้อกิจการในลักษณะที่ผู้ซื้อเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจหลักของกิจการซึ่งเข้าข่ายของการเข้าประตูทางอ้อม (BACKDOOR LISTING) อีกแล้ว

เนื่องจากทางการได้เข้ามาควบคุมออกกฎบังคับใช้ในทางปฏิบัติตั้งแต่ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ให้ผู้ที่ประสงค์จะทำ BACKDOOR LISTING ต้องขอเข้าจดทะเบียนต่อทางการตามกฎเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ใหม่อีกครั้ง แม้ว่าจะซื้อกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็ตาม

ลักษณะทั่วไปของการซื้อกิจการที่เข้าข่ายการทำ BACKDOOR

1. บริษัท ในตลาดซื้อบริษัทนอกตลาด ซึ่งตามเกณฑ์บริษัท นอกตลาดมีขนาดใหญ่กว่าบริษัท ในตลาดมากกว่าหรือเท่ากับ 100%

2. บริษัท ในตลาดซื้อบริษัทนอกตลาด และการซื้อดังกล่าวมีผลให้เกิดการโอนระบบการควบคุมของบริษัท ในตลาดไปยังบริษัทนอกตลาด

3. บริษัท ในตลาดรวมกิจการ กับบริษัทนอกตลาดและ การรวมกันดังกล่าวมีผลให้มีการโอนอำนาจการควบคุมของบริษัท ในตลาด ไปยังบริษัทนอกตลาด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.