|
บจ.ไทยหันเทกฯบริษัทต่างชาติ เหตุจังหวะเหมาะค่าเงินบาทแข็ง
ผู้จัดการรายวัน(3 ธันวาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บล.บัวหลวงเผย บจ.หันออกไปเทกโอเวอร์บริษัทต่างชาติ เหตุต้องการขยายการลงทุน-จังหวะเข้าลงทุนเหมาะสมจากค่าเงินบาทแข็ง แต่ยังคงให้ผู้บริหารเดิมบริหารต่อไป ขณะนี้รับเป็นที่ปรึกษาให้ 1 แห่ง คาดสรุปปีหน้า ผู้บริหาร เผยมีดีลควบรวมในประเทศ 10 ดีล คาดเสร็จปีหน้า 2-3 ดีล ขณะที่มีงานไอพีโอ 6 บริษัทเข้าระดมทุนปีหน้า 3 แห่ง
นายกำธร ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS เปิดเผยว่า ในช่วงผ่านมีบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ไทยไปซื้อกิจการ(เทกโอเวอร์) บริษัทในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจาก ต้องการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ประกอบกับการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจึงถือเป็นโอกาสดีในการลงทุน แต่การเทกโอเวอร์นั้น เป็นลักษณะการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งยังให้ผู้บริหารเดิมของบริษัทเป็นผู้บริหารงานอยู่ เนื่องจากการไปลงทุนในต่างประเทศ จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของคนในพื้นที่
"การที่บริษัทจดทะเบียนไทยหันไปเทกโอเวอร์บริษัทต่างประเทศมากขึ้นนั้น ถือเป็นทิศทางที่ถูกต้อง เพราะค่าเงินเราแข็งค่าขึ้น จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพียงแต่รูปแบบการเทกโอเวอร์อาจจะไม่ได้เข้าไปเทกฯ แบบเบ็ดเสร็จแต่จะเป็นในรูปของการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ และยังให้ผู้บริหารเดิมทำงานอยู่ต่อไป" นายกำธรกล่าว
ทั้งนี้ บล.บัวหลวง รับเป็นที่ปรึกษาการเทกโอเวอร์บริษัทในต่างประเทศให้กับบริษัทไทยอยู่ 1 แห่ง ซึ่งดีลนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า ขณะที่มีดีลควบรวมกิจการ (M&A) ในประเทศ จำนวน 10 กว่าดีด ซึ่งมีทั้งบริษัทในประเทศควบรวมกิจการกันเอง และบริษัทต่างประเทศสนใจเข้าซื้อกิจาการบริษัทในประเทศไทย โดยคาดว่าจะสำเร็จในปีหน้า ประมาณ 2-3 ดีล ซึ่งในปีนี้บริษัททำงานที่ปรึกษาควบรวมแล้วจำนวน 3 ดีล
สำหรับ ภาพรวมการนำบริษัทใหม่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยและเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอพีโอ) นั้น ในปีหน้าเชื่อว่าจะมีความคึกคักมากกว่าปีนี้ เพราะเท่าที่สอบถามกับโบรกเกอร์รายอื่นในอุตสาหกรรม พบว่าแต่ละรายก็มีงานในมือกันจำนวนมาก แต่หากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์คุณภาพต่ำของสหรัฐอเมริกา(ซัพไพรม์)ยังคงมีผลกระทบอาจจะเป็นผลลบกับตลาดหุ้นไทยได้
นายกำธร กล่าวว่า ในปี 2551 คาดจะนำบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ รวมกัน 3-4 บริษัท จากที่มีอยู่ในมือประมาณ 6 บริษัท ซึ่งจะมีทั้งที่บริษัท เป็นผู้รับประกันการจัดหน่าย และเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) แบ่งเป็นเข้าจดทะเบียในตลาดหลักทรัพย์ 3 บริษัท ซึ่งทำธุรกิจอาหาร มูลค่าระดมทุน 600-700 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)อยู่ระหว่างเยี่ยมชมโรงงาน คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งต่อก.ล.ต.เร็วนี้ ซึ่งบริษัทเป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายหุ้น
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสัตว์ โดยคาดว่าจะซื้อขายได้ช่วงปลายปีหน้า บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ LANNA ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่าย เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง เตรียมที่จะเข้าซื้อขาย โดยรอนโยบายจากภาครัฐเกี่ยวกับพลังงานทดแทนให้มีความชัดเจนก่อน คาดว่าจะมีมูลค่าระดมทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และบริษัทก่อสร้าง คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|