"พงส์ สารสิน นายกฯ ตลอดกาลของ สปอร์ตสคลับ! ?"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

นับเนื่องยาวนานถึง 15 ปีเต็มๆ ที่ "พงส์ สารสิน" เป็น CHAIRMAN ของเอ็กซ์คลูซีฟคลับอันเก่าแก่อายุนับ 90 ปีที่ชื่อ "สปอร์ตสคลับ (RBSC)" โดยไม่มีผู้ใดเป็นคู่แข่งเลย ทั้งนี้เพราะบรรดาผู้ทรงคุณาวุฒิและวัยวุฒิต่างก็ให้เหตุผลว่า ไม่อย่างหาเรื่องลำบากใส่ตัวฉะนั้นสมาชิกสปอร์ตคลับจึงมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ทั้งๆ ที่หงุดหงิดกับหลายเรื่องที่ต้องเจอ แต่ก็ไม่กล้ากระโดดลงมาเต็มตัว

ภาวะเช่นนี้ ทำให้ทุกปีบรรยากาศการเลือกตั้งกรรมการบริหารสปอร์ตสคลับนี้อยู่ในสภาพวังเวง ล่าสุดเมื่อวันเลือกตั้งที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึง 300 คนหรือเพียงแค่ 5% ของสมาชิกสามัญที่โหวตเสียงได้ทั้งหมด 6,221 คน ทั้งนี้ไม่รวมสมาชิกโปโลคลับอีก 1,997 คน

ระหว่างการประชุม ปรากฎว่ามีปัญหาสถานที่ประชุมที่ห้องแบดมินตัน เนื่องจากมีลักษณะเสียงก้องมาก สลับกับเสียงพูดคุยโห่ฮาด้านหลังห้องขณะที่มีการอภิปรายมติอยู่ถึงกับท่านพงส์ต้องขอร้องให้ทุกคนเงียบเสียงลงบ้าง

"ข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ นี้น่าจะแก้ไขได้ด้วยการจัดประชุมที่โรงแรมหรือศูนย์สิริกิติ์ซึ่งให้ภาพพจน์ที่ดี และเป็นแรงจูงใจสมาชิกสโมสรมาร่วมในการประชุมใหญ่นี้ด้วย" สมาชิกสโมสรท่านเสนอความเห็น

ในที่สุด ผลการประชุมก็ปรากฎออกมาว่าเป็นไปตามโผคือกรรมการชุดเดิมทั้งหมดเข้าบริหารสปอร์ตสคลับ โดยมีพงส์ สารสินเป็น CHAIRMAN ต่อเนื่องขึ้นสู่ปีที่ 16 นับว่าเป็น CHAIRMAN คนไทยที่นั่งเก้าอี้ที่นี่นานมากๆ

"ผมได้เสนอหลักการสองข้อที่จะให้คณะกรรมการบริหารชุดนี้พิจารณาก็คือ ควรหรือไม่ที่จะกำหนด MAXIMUM OF TERM ของการบริหารสปอร์ตสคลับตามสากลโลกคืออยู่ระหว่าง 4 หรือ 8 ปี และควรหรือไม่ที่จะจัดสัดส่วนจำนวนเก้าอี้กรรมการให้สัมพันธ์กับจำนวนสมาชิกคนไทยในปัจจุบัน" นี่คือความตั้งใจอันแน่วแน่ของพลเอกเฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา สมาชิกเก่าแก่ผู้หนึ่งซึ่งยืนยันเรื่องนี้ในการประชุมใหญ่ทุกปี

ปัจจุบัน เก้าอี้กรรมการคนไทยจะมีอยู่เพียง 4 คนได้แก่คนเก่าพงส์ สารสิน ประทีป จิรกิติ วิชิต จารุสรณ์ พ.ต.อ.วิรัช วาณิชกะและกรรมการชาวต่างประเทศเป็น 8 คน ขณะที่สัดส่วนสมาชิกสามัญคนไทย 5,391 คนและชาวต่างประเทศ 830 คนหรือประมาณ 15% ของคนไทยเท่านั้นเอง

กิจกรรมที่คณะกรรมการบริหารสปอร์ตสคลับทำเป็นเรื่องเก่าๆ โดยเฉพาะด้านสังคมและบันเทิงซึ่งทำเป็นประเพณีคืองานเทศกาลอ็อก โทเบอร์เฟสท์ วันลอยกระทง งานฉลองคริสต์มาสสำหรับเด็กๆ งานวันสงกรานต์และการจัดแสดงคอนเสิร์ต

ขณะที่กิจกรรมประเภท HORSE FAIR ที่สมาชิกเก่าแก่อย่างพลเอก เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ได้เสนอให้คณะกรรมการบริหารจัดแสดงขึ้นบ้าง โดยอ้างถึงวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งใน "รอยัลชาร์เตอร์" ของสปอร์ตสคลับที่กรรมการบริหารยังไม่ได้ทำก็คือ" งานบำรุงผสมพันธุ์ม้า และจัดการ แสดงม้าประกวด" ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มจุลดิศประสบความสำเร็จจากการจัดงานประชันโฉมม้าและแสดงความสามารถของม้านานาพันธุ์กว่า 200 ตัวที่ฟาร์มม้าเขาใหญ่ พาร์ค สตัด

เป็นไปได้หรือไม่ว่า? HORSE FAIR อาจจะไม่มีแรงจูงใจมากเท่า HORSE RACE เพราะรายได้ที่คณะกรรมการบริหารพอใจมากๆ ในแต่ละปีมีแต่เพิ่มพูนขึ้นโดยในงบดุลปี 2534 ซึ่งสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2535 พงส์ได้กล่าวว่า

"การดำเนินงานของสโมสรฯ โดยทั่วไปเป็นที่น่าพอใจในด้านการจัดแข่งม้า ถึงแม้ว่ายอดขายตั๋วในปีที่แล้ว ซึ่งมีจำนวนเงิน 2,051 ล้านบาทจะต่ำกว่ายอดของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนเงิน 2,083 ล้านบาทรายได้สุทธิเป็นเงิน 28.9 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าปีก่อนเล็กน้อย" นี่คือผลประโยชน์ก้อนมหาศาลของสนามม้าฝรั่งซึ่งเป็นรายได้หลักของสปอร์ตสคลับที่พงส์ สารสินดูแลอยู่

นโยบายบริหารรายได้เข้าสปอร์ตสคลับในยุคพงส ์และพวกที่มุ่งสร้างอัตราเติบโตนับว่าเป็นผลสำเร็จ โดยกำไรสุทธิล่าสุดก็เพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 10 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มค่าบำรุงสมาชิกรายเดือนและการเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ปัจจุบัน สมาชิกใหม่ซึ่งแต่ละปีจะรับเพียง 300 คนจะจ่ายค่าสมาชิกแรกเข้า 80,000 บาท ซึ่งเพิ่ม 100% จากเดิมที่เคยจ่ายเพียง 40,000 บาทและล่าสุดได้มีการเก็บ ENTRANCE FEE จากสุภาพสตรีโสดเป็น 50,000 บาทโดยที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิโหวดเสียง (NON VOTING) หรือเข้าร่วมประชุมได้เลยปัจจุบันนี้มีสุภาพสตรีที่ได้เพียงสิทธิ์ใช้สโมสรถึง 1,806 คนหรือประมาณ 30% ของสมาชิกสามัญ

"โดยหลักการผมเห็นด้วยกับเสธเฟื่องที่ได้เสนอว่าสิทธิเสมอภาคสำหรับสุภาพสตรีควรจะเกิดขึ้นใน พ.ศ. นี้เพื่อความเป็นธรรมและเฉลิมฉลองเนื่องในวาระศุภมงคลครบ 5 รอบพระบรมราชินีนาถ แต่มตินี้ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากกรรมการซึ่งอ้างว่าไม่มีในวาระการประชุม" ศ.นิคม จันทรวิทูร สมาชิกอาวุโสกล่าว

อย่างไรก็ตาม อัตราค่า ENTRANCE FEE ที่สปอร์ตสคลับเก็บจากสมาชิกใหม่ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบเชิงพาณิชย์กับสโมสรอื่นๆ ทั้งนี้เพราะที่อื่นจะต้องทุ่มทุนมหาศาลในการซื้อ และพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่แต่สปอร์ตสคลับไม่มีต้นทุนดังกล่าวทั้งนี้เพราะได้ถือกำเนิดขึ้นมาได้ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ในรัชกาลที่ห้า ซึ่งมีพระราชประสงค์ที่จะให้สโมสรแห่งนี้ได้กลายเป็นที่ชุมนุมพบปะ ระหว่างชาวต่างประเทศกับชาวไทยและบำรุงผสมพันธุ์ม้าให้เจริญยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามความพยายามผลักดันนโยบายการบริหารรายได้เข้าสปอร์ตสคลับในอดีตที่ A.F.EBERHAROT สมาชิกคนหนึ่งที่เสนอให้ขายสิทธิสมาชิก ได้ 4.5 ล้านบาทโดยหัก 30% เข้าเป็นรายได้สโมสรแต่ต้องพ่ายแพ้ต่อเสียงคัดค้านในที่ประชุม 2 ปีที่แล้วอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะนำมาปรุงแต่งใหม่เพื่อยื่นเสนอเป็นมติในที่ประชุมครั้งหน้า

บนความขัดแย้งระหว่างการบริหารรายได้กับการดำรงอยู่ในฐานะสโมสรอันทรงเกียรติมิใช่สโมสรทางการค้า พงส์และกรรมการบริหารสปอร์ตสคลับชุดนี้อาจจะต้องมีฝีมือการจัดการที่ทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการอันหลากหลายของสมาชิกได้อย่างแท้จริง แทนที่จะปล่อยให้ความเสื่อมโทรมมาเกาะกุมสโมสรเช่นทุกวันนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.