SAT ปรับเป้ารายได้ปีนี้เติบโตเป็น 17% อ้างคำสั่งซื้อ Q4 พุ่งผลดีโรงหล่อเหล็ก


ผู้จัดการรายวัน(30 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ ปรับเป้ารายได้เพิ่มเป็น 17% จากปี 2549 ที่มีรายได้รวม 4.3 พันล้านบาท อ้างมีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มไตรมาส4/50-รับรู้รายได้จากICP หลังเข้าเทกโอเวอร์กิจการโรงหล่อเหล็ก ผู้บริหาร เผย ปีหน้ามีงานรอรับรู้รายได้แล้ว 1.27 ล้านบาท เตรียมเพิ่มกำลังการผลิตเพลาข้าง-สปริงขด เล็งขอบอร์ดเพิ่มงบลงทุนจากปกติปีละ 300 ล้านบาท

นายวีระยุทธ กิตะพาณิชย์ กรรมการ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับเพิ่มประมาณรายได้รายปีนี้เป็น 17% ซึ่งเดิมคาดโตที่ 15%จากปี 2549 ที่มีรายได้รวม 4,389.25 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้ามีคำสั่งซื้อสินค้ามากขึ้นในช่วงไตรมาส4/50 และบริษัทจะรับรู้รายได้จากการเข้าไปลงทุนในบริษัท อินเตอร์เนชันแนล แคสติ้ง โปรดักส์ จำกัด (ICP) ซึ่งทำธุรกิจโรงหล่อเหล็กในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ทำให้เพิ่มอีก 14-15 ล้านบาท จากที่อัตราซึ่ง 9 เดือนแรกบริษัทมีรายได้รวม 3,747.70 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 422.84 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ารายได้รวมปี 2551 จะเติบโตในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าการเติบโตของอุตสากรรมยานยนต์ที่จะเติบโต 8% โดยขณะนี้บริษัทมีงานที่จะรับรู้รายได้ปีหน้าแล้วจำนวน 1,271 ล้านบาท และยังมีแผนที่จะขยายฐานรายได้ไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า จากปัจจุบันที่บริษัทมีรายได้จาก อุตสาหกรรมยายนต์มากกว่า 90%

"จากการที่บริษัทเข้าไปซื้อกิจการโรงหล่อเหล็กทำให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 21% จากเดิมอยู่ที่ 20% เพราะทำให้บริษัทลดต้นทุนในการผลิตและยังช่วยลดจำนวนสินค้าเสียหายในกระบวนการผลิตขั้นสุด 1% แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าผลการดำเนินงานปีหน้าจะเติบโตเท่าไร เพราะ ต้องมีการเสนอแผนดำเนินงานต่อบอร์ดก่อน แต่คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดโต 8%" นายวีระยุทธกล่าว

สำหรับ แผนการดำเนินงานปีหน้าบริษัทจะมีการเพิ่มกำลังการผลิต เพลาข้าง และ สปริงขด มากขึ้น จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิต 90% และรองรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งบริษัทจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทที่จะขอเพิ่มวงเงินลงทุน จากที่ปกติมีงบลงทุนปีละ 300 ล้านบาท และกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเท่าไรนั้นต้องขอความเห็นต่อบอร์ดก่อน

นายวีระยุทธกล่าวถึงการที่ราคาวัตถุดิบในการผลิตหลายชนิดรวมถึงเหล็กมีการปรับเพิ่มขึ้น และเงินบาทที่แข็งค่าหากเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐนั้นว่า จะไม่มีผลกระทบเป็นนัยสำคัญกับภาพรวมบริษัท เพราะปัจจุบันมีรายได้จากการส่งออกในสัดส่วน 3-4% เท่านั้น ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่นยังกำหนดราคาเป็นค่าเงินสหรัฐฯ ทำให้ได้ประโยชน์บ้างเล็กน้อย แต่บริษัทก็ขอปรับราคาซื้อขายให้ใกล้เคียงกับต้นทุนความเป็นจริง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าเอาไว้ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทมีคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าที่จะรับรู้ในปี 2552 แล้วจำนวน 1,543 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการ คูโบต้า แทรคเตอร์ 1,212 ล้านบาท Gear Case 306 ล้านบาท และ CAP Bearing 25 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.