คาดกนง.คงอาร์พี 3.25% เศรษฐกิจขยับฟื้น-หันคุมเข้มเงินเฟ้อ


ผู้จัดการรายวัน(30 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ประสานเสียงกนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.25% เป็นรอบที่ 3 ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ระบุปัจจัยกดดันหลักกลับมาอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อที่ขยับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน และในช่วงไตรมาสแรกของปีจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งขึ้นหลังการปรับราคาสินค้า ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

นายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25%ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ขณะที่ปัจจัยหลักที่จะกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่น่าจะมาจากราคาน้ำมันสูงขึ้นทำให้ต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น รวมถึงเงินบาทที่อาจแข็งค่าขึ้นและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะส่งกระทบต่อการส่งออกของไทยในปีหน้า

"ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยลดลงมาระดับหนึ่งแล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 7% อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะเป็นตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ต่อไปจากนี้ก็คงต้องเน้นไปที่ราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นซึ่งจะมีผลต่อทั้งต้นทุนของธุรกิจและการอุปโภคบริโภคของประชาชน แล้วก็เงินบาทที่แข็งค่า ปัญหาซับไพรม์ที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวก็จะมีผลต่อการส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ด้วย"

สำหรับธนาคารพาณิชย์นั้น ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างนิ่งแล้ว และน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้จนถึงไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

"จะสังเกตเห็นได้จากการธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นๆมาบ้างแล้ว ก็ถือว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงได้น่าจะยุติแล้ว และหากกนง.ลดดอกเบี้ยลงอีกในช่วงที่เงินเฟ้อกำลังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ก็จะทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบด้วย"

อย่างไรก็ตาม กนง.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงใดของปีหน้านั้น คงจะคาดการณ์ได้ยาก เนื่องจากดูถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐด้วย ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ยังคงต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงแล้วทางการไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะเป็นการสวนทาง ก็จะมีผลต่อเงินไหลเข้าและเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นอีก จึงต้องเป็นประเด็นที่พิจารณากันตามสถานการณ์เป็นช่วงๆไป

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดกนง.จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจต่างๆที่บ่งชี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการส่งออกที่ขยายตัวสูง นอกจากนี้ในปีหน้าภายหลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ทำให้ภาคการลงทุนฟื้นตัวขึ้นทั้งจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศก็เริ่มเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่น ประกอบกับในช่วง 1-2 เดือนนี้เป็นช่วยเทศกาลทำให้มีการจับจ่ายมากขึ้น ก็ช่วยหนุนในเรื่องอุปสงค์ในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้น้ำหนักมากจะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน โดยคาดว่าในไตรมาสแรกของปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่สินค้าหลายประเภทจะมีการปรับราคาขึ้น และฐานเงินเฟ้อในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงทำให้กนง.น่าจะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมก่อน

"การพิจารณาในเรื่องของดอกเบี้ยในช่วงต่อไปคงจะต้องดูในเรื่องของเงินเฟ้อเป็นหลัก หากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ซึ่งเราประเมินว่าหากราคาน้ำมันในตลาดโลก(WTI)ทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปถึง 4% และอาจจะได้เห็นการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เชื่อว่าคงจะยังไม่ใช่ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า หากจะเกิดขึ้นก็คงเป็นช่วงครึ่งหลังของปีมากกว่า"

ส่วนการประชุมของเฟดซึ่งอาจจะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกนั้น จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงต่อไป เนื่องจากจะมีเงินไหลออกมาเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า แล้วส่วนหนึ่งก็จะไหลมาในประเทศแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทย และทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยธนาคารทหารไทยคาดการณ์ว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับในการประชุมรอบสุดท้ายของปี โดยประเมินจากเศรษบกิจที่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้นเป็นลำดั ตั้งแต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแตะระดับสูงสุดเป็นระวัติการณืเหรือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นตาม

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงซึ่งทำให้มีโอกาสสูงที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี และส่งผลให้มีเงินไหลเข้าสู่ภูมิภาคนี้นั้น หากเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว อัตราดอกเบี้ยของไทยไม่สูงกว่า จึงไม่น่าเป็นมูลเหตุจูงใจเงินทุนระยะสั้นให้ไหลเข้ามา ดังนั้น ประเด็นเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ไม่น่าจะกดดันให้กนง.ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.