"ปูนใหญ่ควักพันล้านแลกอนาคตกระดาษ"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

กลางปีนี้ ข่าวใหญ่เรื่องสิ่งแวดล้อม คือเรื่องเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียของโรงงานกระดาษฟินิกซ์พัลพ์แอนด์เพเพอร์ที่ขอนแก่น จนกระทั่งน้ำในแม่น้ำพองบริเวณโรงงาน ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้และส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมในอาณาบริเวณด้วย

ปลายปีเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องใหญ่อีกครั้ง เมื่อโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีการปล่อยควันพิษจากการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ถึงขั้นคนในบริเวณดังกล่าวถูกหามส่งโรงพยาบาลนับร้อยนับพัน

สองเรื่องที่กล่าวข้างต้นอาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลยนอกจากเรื่องของการทำลายสิ่งแวดล้อม จนเกิดการประท้วงของชาวบ้านตลอดและกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติ

แต่สำหรับปูนซิเมนต์ไทยอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศเรื่องทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน

ทั้งนี้ เพราะในส่วนของปูนซิเมนต์ไทยนั้น เรื่องของน้ำเสียและเรื่องของอากาศเสียจากการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นเรื่องที่กลุ่มเยื่อและกระดาษในเครือซิเมนต์ไทย มีความหวาดวิตกเป็นอย่างยิ่ง ด้วยสาเหตุที่กลุ่มนี้ ได้ชื่อว่า เป็นเจ้าแห่งวงการกระดาษตัวจริงของประเทศ

ปัจจุบัน เครือซิเมนต์ไทยมีโรงงานในกลุ่มเยื่อและกระดาษถึง 11 บริษัทกระจายอยุ่ในหลายพื้นที่ ได้แก่ บริษัทเยื่อกระดาษสยาม บริษัทสยามเซลลูโลส บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์ไทย บริษัทสยามบรรจุภัณฑ์ บริษัทสยามบรรจุภัณฑ์อุตสาหกรรม บริษัทสยามบรรจุภัณฑ์ราชบุรี (1989) บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย บริษัทกระดาษสหไทย บริษัทสยามการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และบริษัทกระดาษสหไทยอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโรงงานของกลุ่มเยื่อและกระดาษที่เปิดใหม่ที่วังศาลาจังหวัดกาญจนบุรี ที่กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย ลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตกระดาษแบบครบวงจร 3 บริษัทในพื้นที่ดังกล่าว คือสยามเซลลูโลสที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,950 ล้านบาท อุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์ไทยใช้เงินลงทุน 5,100 ล้านบาทและกระดาษสหไทยอุตสาหกรรมลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท

ชำนาญ สุนทรวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งดูแลกลุ่มเยื่อและกระดาษของเครือซิเมนต์ไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าโรงงานของกลุ่มเยื่อและกระดาษที่วังศาลานี้ เป็นโรงงานที่มีระบบบำบัดน้ำเสียดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในโครงการดังกล่าวที่หลายคนเรียกกันเล่นๆ ว่าเป็น "นิคมกระดาษ" มีการลงทุนในโครงการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาท

"ในพื้นที่โรงงานวังศาลาเราใช้เงินในการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมโดยการดำเนินการระบบบำบัดน้ำทิ้งประมาณ 500 ล้านบาท และแก้ปัญหาด้านกลิ่นของสยามเซลลูโลสประมาณ 30 ล้านบาท" ไพรับ เมฆอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการผลิตภัณฑ์กระดาษไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานสิ่งแวดล้อมกลุ่มเยื่อและกระดาษ เครือซิเมนต์ไทยกล่าว

การดำเนินการดังกล่าวนี้คนในเครือซิเมนต์ไทยหลายคนกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยที่มีหนังสือถึงพนักงานเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมว่า ให้พนักงานทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องนี้

"ขอให้พนักงานทุกคนถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทุกวิถีทาง เพื่อเป็นการตอบสนองต่ออุดมการณ์ของเครือฯ ที่ว่า "ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม" ข้อความที่พารณมีถึงพนักงานในเรื่องนี้

ในส่วนของผู้รับผิดชอบโดยตรง ชำนาญกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ได้ลงทุนมากนักเมื่อเทียบต่อหน่วยกล่าวคือ จะคิดเป็นต้นทุนประมาณ 50 บาทต่อตัน แต่หากมีการผลิตกระดาษเป็นหมื่นตัน เงินลงทุนดังกล่าวก็จะสูงมากอย่างเช่นในส่วนของเครือซิเมนต์ไทยนั้น โรงงานสยามเซลลูโลสมีกำลังการผลิตเยื่อฟอกปีละ 50,000 ตัน สยามอุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์ไทยมีกำลังการผลิตกระดาษคราฟท์ปีละ 250,000 ตัน ส่วนโรงงาน กระดาษสหไทยอุตสาหกรรมนั้น จะเริ่มทำการผลิตกระดาษแข็งเคลือบผิวกระดาษสำหรับแผ่นยิปซั่มในปลายปีนี้

สำหรับการรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวนี้เครือซิเมนต์ไทยว่าจ้างบริษัท HASIMONS แห่งประเทศแคนาดา และบริษัท AFIPK จากสวีเดน เป็นผู้รับการศึกษาดูแลรายละเอียด

การที่ปูนซิเมนต์ไทยกล้าที่จะลงทุนเป็นเงินกว่าครึ่งพันล้านบาทเพื่อรักษาระบบสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ นอกเหนือจากการหวาดวิตกในเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว การได้รับการบรรจุอยู่ใน 15 รายการสินค้าที่จะเข้าระบบอาฟต้าตั้งแต่ปีหน้าก็จะมีส่วนด้วย เพราะเยื่อกระดาษก็เป็นหนึ่งในรายการสินค้าที่จะเข้าระบบ ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีการดูเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะนอกเหนือจากที่อาจจะถูกกีดกันเนื่องจากกลุ่มเยื่อ และกระดาษเป็นอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากด้วยการตัดป่าแล้วเรื่องของน้ำเสียยังมาเกี่ยวข้องด้วย

"อุตสาหกรรมกระดาษนับเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง" คนที่ดูเรื่องกระดาษมานานอย่างชำนาญกล่าวซึ่งนั่นหมายความว่า การรักษาสภาพแวดล้อมเรื่องน้ำ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมดังกล่าว ให้สามารถที่จะดำเนินการได้ในระยะยาว

ตัวอย่างสภาพจริงเรื่องนี้ที่เห็นชัดเจนก็คือ คราวที่ฟีนิกซ์พัลพ์แอนด์เพเพอร์มีการปล่อยน้ำทิ้งลงในแม่น้ำพองขนกระทั่งเกิดน้ำเสียถูกต่อต้านจากชาวบ้าน กรมโรงงานสั่งปิดโรงงาน ปรากฏว่า นอกเหนือจากชื่อเสียงของบริษัทที่เสียหายแล้ว การที่ต้องหยุดการผลิต (เพราะกรมโรงงานสั่งปิด) นั้นกล่าวกันว่าบริษัทขาดรายได้ไปประมาณเดือนละ 20 ล้านบาท

อดุล อดุล กรรมการผู้จัดการอุตสาหกรรมกระดาษคราฟท์ไทย ยังยอมรับว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมกระดาษไทยนั้น มีแนวโน้มสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน กล่าวคือ จากที่มีอัตราการบริโภคอยู่ประมาณ 25 กิโลกรัม/คน/ปี ในปัจจุบันเครือซิเมนต์ไทย ได้พยากรณ์เอาไว้ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าอัตราการบริโภคกระดาษของคนไทย จะสูงถึง 70 กิโลกรัม/คน/ปี อันเป็นตลาดที่เครือซิเมนต์ไทย วาดไว้สวยมาก ในฐานะผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศที่เป็นการผลิตแบบครบวงจร ที่มีตั้งแต่การผลิตเยื่อจนถึงกระดาษประเภทต่างๆ นับตั้งแต่การเข้าไปเกี่ยวข้องในวงการกระดาษด้วยการเข้าดำเนินการบริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม

มองตรงนี้ เชื่อว่าเงินที่เครือซิเมนต์ไทย ทุ่มลงในในเรื่องระบบการกำจัดน้ำเสียและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถที่จะดำเนินการผลิตต่อไปได้นั้นเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามากในอนาคตของการบริโภคกระดาษที่จะเพิ่มกว่า 3 เท่าตัวในอีก 10 ปีข้างหน้า

นอกจากวงเงินกว่า 500 ล้านบาทที่เครือซิเมนต์ไทยทุ่มลงไปในโครงการบำบัดน้ำเสียและสิ่งแวดล้อมที่วังศาลาแล้ว พารณ อิศรเสนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยที่จะเกษียณสิ้นปีนี้ กล่าวกัน "ผู้จัดการ" ว่าเพิ่งอนุมัติวงเงินประมาณ 450 ล้านบาทสำหรับใช้ในโครงการบำบัดน้ำเสียและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมที่โรงงานกลุ่มเยื่อและกระดาษที่บ้านโป่ง ราชบุรีอีกด้วย

การควักเงินพันล้านบาทเพื่อแลกกับอนาคตกลุ่มเยื่อและกระดาษของเครือซิเมนต์ไทยในครั้งนี้ นับว่าปูนซิเมนต์ไทยลงทุนคุ้มมากที่จะได้รับทั้งเงินและกล่อง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.