|
แบงก์คาดQ3ปีหน้าดอกเบี้ยขาขึ้น ลุ้นนโยบายรัฐบาลใหม่หนุนความเชื่อมั่น
ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ไทยพาณิชย์ระบุเศรษฐกิจไทยปี 51 โดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง แต่ประเด็นที่ต้องจับตามองมากที่สุดคือนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนสินเชื่อปีนี้พลาดเป้าตามตลาดรวม ฟันธงไตรมาส 3 ปีหน้าเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ส่วนเฟดยังคงลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องจนถึงระดับ 3.50%ในกลางปีหน้า ด้านกสิกรฯคาดหากราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุดแตะ 188.9 ดอลลาร์ต่อบาเรล จีดีพีอาจโตแค่ 3.1-4.6%
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)หรือ SCB กล่าวในการสัมมนา "แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดเงินในปี 2551 ก้าวอย่างมั่นคงได้อย่างไร" ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับภาวะที่ท้าทาย ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งด้านราคาน้ำมัน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกา และทิศทางตลาดการเงิน
ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าจับตามองที่สุดตอนนี้ คือ ทิศทางของรัฐบาลชุดใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน ภาคเอกชน และผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาและขยายธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมสำหรับแข่งขัน ตลอดจนการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
"ภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้ามองว่าหลังจากมีการเลือกตั้งเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ซึ่งต้องมองในด้านบวกไว้ เพราะโดยหลักทั่วไปหากมีการเลือกตั้งความเชื่อมั่นประชาชนจะดีขึ้น อีกทั้งหลังจากมีรัฐบาลใหม่ก็จะมีโครงการลงทุนใหญ่ๆออกมามาก อีกทั้งเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นจากปัจจุบัน" นางกรรณิกา กล่าว
นางกรรณิกา กล่าวว่า ในส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปี 2550 คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 15 % ขณะที่สินเชื่อโดยรวมน่าจะเติบโตเพียง 12-13% และมองว่าในปีหน้าอัตราการเติบโตของสินเชื่อน่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้สินเชื่อจะไม่เติบโตตามเป้าหมาย แต่รายได้และกำไรยังเป็นไปตามคาด เนื่องจากธนาคารมีวิธีการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งการที่ธนาคารมีสาขามากทำให้ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทั้งกองทุนรวมและประกัน ทำให้รายได้ของธนาคารเติบโตควบคู่กันทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย
ส่วนเรื่องการตั้งสำรองในปีนี้ธนาคารไม่มีภาระในการตั้งสำรองเพิ่มเนื่องจากธนาคารได้ตั้งสำรองครบตามเกณฑ์แล้วตั้งแต่ปี 2549 อีกทั้งสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารมีไม่มาก และยังมีทิศทางปรับลดลง ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2550 น่าจะอยู่ที่ 6% โดยในไตรมาสที่ 4 ได้ขายเอ็นพีแอลออกไปแล้ว 5 พันล้านบาท และยังมีแผนที่จะขายออกไปอีก ส่วนกรณีที่บริษัทคิงเพาเวอร์เริ่มมีผลการดำเนินงานตกต่ำนั้น ไม่มีผลต่อการชำระหนี้ของธนาคาร และยังมีการชำระหนี้ตามปกติ
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ประเด็นใหม่ๆที่คนไทยต้องเตรียมตัวนั้นประกอบด้วย ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่มีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ย. 2550 นี้ การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีเป้าหมายเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานอย่างเสรี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกและส่งเสริมการรวมกลุ่มกับประชาชนโลก โดยเป้าหมายการจัดตั้งถูกเร่งรัดให้เป็นปี 2558 จากเดิมปี 2563 และ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (PLL) โดยคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติและจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วสุดต้นปี 2552 รวมถึงการจัดสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DIA) ที่คาดว่าจะจัดตั้งได้ในปี 2551 และพ.ร.บ.จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 โดยการคุ้มครองเงินฝากจะทยอยลดลง
โดยผลกระทบจากการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือ ช่วยลดภาระของรัฐบาลและผู้เสียภาษีในการแบกรับปัญหาของสถาบันการเงิน ผู้ฝากเงินได้รับความคุ้มครอง เมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนภายใน 30 วันเมื่อยื่นคำขอครบถ้วน ผู้ฝากเงินและผู้กู้เงินต้องเลือกสถาบันการเงินที่เหมาะสม และวางแผนการเงินเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว
นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตทำให้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า และคาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 4 ธ.ค.นี้จะยังคงมีการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) น่าจะยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 3.50%ภายในครึ่งปีแรกของปีหน้า
โดยอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นก่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นและสภาพคล่องในตลาด interbank ที่ตึงตัวขึ้น โดยความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากสภาพคล่องของ interbank และปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากผลกระทบของซับไพรม์ อีกทั้งคาดว่าระหว่างปีความชันของ Yield Curve ระหว่าง 1-15 จะเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 1% จากระดับปัจจุบันโดยคาดว่าอัตราผลตอบแทน 1 ปี และ 15 ปี ณ สิ้นปี 2551 จะอยู่ที่ระดับ 4-4.25% และ 6-6.25% ตามลำดับ โดยปัจจัยเสี่ยงของการปรับตัวของ Yield Curve ได้แก่ การยกเลิกมาตรการกันสำรองของ ธปท.
สำหรับการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สภาพคล่องในตลาดเงินและการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในการขยายฐานเงินฝาก โดยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2551 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.75% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 2.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) อยู่ที่ 7.25%
กสิกรฯชี้น้ำมัน-ส่งออกยังกดดันศก.ไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2551 ว่า แม้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2550 น่าที่จะสามารถสร้างความชัดเจนทางการเมือง และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้นได้ แต่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอาจจะยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญคงจะได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ตลอดจนความผันผวนของกระแสเงินทุนระหว่างประเทศที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐ ในขณะเดียวกัน ต้นทุนทางการเงินในระบบก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรตามแนวโน้มของภาวะเงินเฟ้อและการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบ รวมทั้งจากปริมาณอุปทานพันธบัตรที่จะเข้าสู่ตลาดเงิน
โดยประเมินว่าในกรณีน้ำมันแพงค่าเฉลี่ยน้ำมันเดิมเบรนท์เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 จากค่าเฉลี่ยในปีนี้ หรือราคาน้ำมันสูงขึ้นเกินกว่า 108.9 ดอลลาร์ต่อบาเรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 อาจปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3-4 เทียบกับสมมุติฐานหลักที่ร้อยละ 2.2-3.2 และค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ในปี 2550 ขณะที่อัตราการขยายตัวของจีดีพี ในปี 2551 อาจจะชะลอเป็นร้อยละ 3.8-5.3 เมื่อเทียบกับกรณีสมมุติฐานหลักที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.5-6.0 รวมทั้งอาจต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในปี 2550 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.5
ส่วนกรณีเลวร้าย ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากค่าเฉลี่ยในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 118.9 ดอลลาร์ต่อบาเรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4-5 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของจีดีพีอาจจะลดลงเป็นร้อยละ 3.1-4.6 เท่านั้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงของภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่อาจเกิดควบคู่ไปกับภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะ Stagflation ดังกล่าวนั้น ถือได้ว่าเป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะต้องเข้าไปดูแล เพื่อประคับประคองให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนไม่ถูกกระทบมากเกิน จนส่งผลซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงไปกว่าที่ควรจะเป็น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|