"เกาะสีชัง" แผ่นดินนี้เราจอง จาก "มหากิม" ถึงลูกหลาน

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"ให้รอบคอบและชอบธรรม ต้องไม่รุกรานใครก่อน แต่ต้องพร้อมที่จะรักษาตนโดยธรรม ทรัพย์สมบัติอันเป็นที่ดินนั้นต้องรักษาไว้เท่าชีวิต ถ้าไม่ต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในที่ดินของเราไว้ให้ได้โดยธรรมแล้ว อีกหน่อยก็ไม่มีแผ่นดินจะเหยียบแล้วถ้าคนไทยไม่ต่อสู้เช่นนี้อีกหน่อย แผ่นดินไทยจะไม่มีเหลือ" นี่คือคติสอนใจที่ ทอง หงศ์ลดารมภ์ หรือ "มหากิม" ต้นตระกูลได้สั่งสอนลูกหลานไว้

ตระกูล "หงศ์ลดารมภ์" มีธาตุแห่งนักบุญสั่งสมมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ บิดาของ ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ก็คือท่านมหากิม (ทอง หงศ์ลดารมภ์) ซึ่งได้รับสมญานามว่า "ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่" ส่วนมารดาชื่อ "พรเพ็ญ" หรือ "แม่เฮียง" ก็เป็น "ยอดอุบาสิกา" ผู้ทำบุญทานบารมีอย่างมากมายแก่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เมื่อถึงแก่กรรมจึงเป็นศพแรกที่ได้มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดนี้

นับว่าเป็นผู้มีบุญบารมีสูงเพราะกว่างานศพจะดำเนินลุล่วงไปได้ด้วยดี ต้องผ่านถึงสามวัดใหญ่นับตั้งแต่สวดอภิธรรม 7 วันที่วัดโพธิ์ซึ่งแม่เฮียงฝากผีไว้ ต่อมาทางวัดมหาธาตุโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พระพิมลธรรม) ยืนยันตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่นี่เนื่องจากมหากิมและแม่เฮียงทำคุณประโยชน์ให้วัดมากมาย ต่อมาคราวปลงศพและประชุมเพลิงศพแม่เฮียง ทางวัดสระเกศก็ได้ยื่นความจำนงขอมีส่วนร่วมเพราะคราวเผาศพมหากิมก็ทำที่วัดนี้ กว่าพิธีงานศพจะเสร็จสิ้นก็ทำให้คณะเจ้าภาพอิ่มเอิบผลบุญจนสิ้นแรง

มหากิม ได้บวชเรียนเป็นสามเณรกิมเกยุโร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ จนได้เป็นพระภิกษุเจ้าคณะ 5 แห่งวัดมหาธาตุฯ เปรียญธรรม 6 ประโยคซึ่งเป็นชั้นสูงสุดขณะนั้นและได้สึกออกมาทำงานที่โรงพิมพ์ของ แห กรัยวิเชียร

ต่อมาได้สมรสกับพรเพ็ญหรือแม่เฮียงซึ่งเดิมชื่อหลั้งเฮียงหรือรั่งเฮียง ครอบครัวนี้มีลูกชายหญิงถึง 12 คนเป็นชาย 6 คน หญิง 6 คน บุตรคนโตชื่อรัชดา ทองจันทร์ ทองมา พรพรหมณ์ (เดิมชื่อทัศนีย์) ทองธัช ทองศรี ทองฉัตร ทองเธียร ทองทิพ กัญญา (ภรรยาวิโรจน์ นวลแข) ธง และอิพภา (ถึงแก่กรรม)

ลูกรุ่นโตตั้งแต่คนที่หนึ่งถึงคนที่เจ็ด ได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดมากจากยายแท้ๆ ชื่อ พลอย พงศ์ไพฑูรย์ ดังนั้นกว่าครึ่งของลูกคนโตรวมทั้ง ดร. ทองฉัตรจึงเรียกคุณยายว่าแม่และเรียกแม่เฮียงว่า "เจ๊" ขณะที่ลูกรุ่นเล็กจะเรียกคุณยายว่าแม่แก่ และเรียกแม่เฮียงว่า "แม่"

"คุณยายเป็นแม่ที่ใกล้ชิดกับลูกของแม่เฮียงมากกว่าแม่แท้ๆ ท่านเป็นคนร้องเพลงกล่อมไกวเปล จูงไปโรงเรียน เฝ้าไข้ยามที่กัญญา (ภรรยาวิโรจน์ นวลแข) ป่วยเป็นโรคกระตุกเพราะพิษบาดทะยัก หรือประคบหน้าฟกช้ำดำเขียวของแดง (ทองธัช) ที่ต่อยกับเพื่อนมา ดูแลเป็นเจ้าของไข้ของน้อย (ดร. ทองฉัตร) ยามเป็นโรคคอตีบ ขณะที่แม่เฮียงคลอดเล็ก คุณยายประคบประหงมหลานชายอายุขวบเศษๆ จนหายแต่ก็ยังมีร่องรอยของโรคคอตีบจนทุกวันนี้ และท่านก็ถือเอาว่าน้อยเป็นลูกท่านแล้วอย่างสมบูรณ์เพราะท่านช่วยชีวิตเขามา" พรพรหมณ์ (ทัศนีย์) หงศ์ลดารมภ์ บันทึกอดีตนี้ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพมารดา "พรเพ็ญ หงศ์ลดารมภ์"

ระยะเริ่มต้นของชีวิตมหากิมได้รับคำชักชวนจาก ซิว ตันบุญยืน ซึ่งเป็นเถ้าแก่สู่ขอภรรยา ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์พระจันทร์ขึ้นที่ท่ามหาราช และตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ "บรรณศาลา ก.ข." พิมพ์ตำราเรียนบาลี

มหากิมเป็นคนแรกผู้คิดค้นแปลคัมภีร์ใบลานที่จารเป็นอักษรขอมพิมพ์ด้วยหมึกพิเศษและบุกเบิกการพิมพ์ใบลานขึ้นเป็นอักษรไทย เมื่อใบลานขาดตลาดแม่เฮียงได้ติดต่อขอซื้อใบลานจากป่าลาน จังหวัดกบินทร์บุรีด้วยตนเอง และได้ตั้งโรงงานผลิตใบลานพิมพ์คัมภีร์

เมื่อมีฐานะการเงินดีขึ้นจากการประกอบกิจการโรงพิมพ์ ญาติพี่น้องทั้งฝ่ายสามี เช่น สุนทร หงศ์ลดารมภ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เฉลียว หงศ์ลดารมภ์ และหลานๆ เช่นเสี่ยอุ้ยหรือชื่อเล่นว่าเกี๋ยงและเสี่ยชัย หงศ์ลดารมภ์แห่งนครสวรรค์ ก็ได้เข้ามาพึ่งพาอาศัยใบบุญ

"ทุกๆ เช้าเริ่มแต่เช้าตรู่ คุณพี่พรเพ็ญจะลุกขึ้นหุงหาอาหารให้สามีและลูกหลานเป็นประจำ และเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ ท่านเป็นผู้มีฝีมือในการปรุงอาหารเป็นเยี่ยมผู้หนึ่ง และโดยปกติจะเป็นอาหารที่ประกอบด้วยพืชผักและหมูเนื้อตามธรรมดาที่สามัญชนจะพึงรับประทาน แต่มีรสค่อนข้างโอชาและเป็นที่ถูกอกถูกใจทุกคน" ตอนหนึ่งของคำไว้อาลัยของสุนทร หงศ์ลดารมภ์ น้องสามีที่เคยพึ่งพาอาศัยครอบครัวนี้

"ญาติของสามีก็เสมือนญาติเรา" คำพูดนี้ได้สะท้อนถึงน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของแม่เฮียง เพราะนึกถึงภาพครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยลูกชายหญิง 12 คนแล้วยังมีญาติฝ่ายสามีและของตนเองอีกไม่ต่ำกว่าสิบซึ่งทยอยเข้ามาพึ่งพาอาศัย หม้อข้าวจะต้องมีขนาดใหญ่มากๆ ขนาดไม้ขัดหม้อยาวไม่ต่ำกว่าฟุตครึ่ง ขณะที่อาหารการกินในยามเศรษฐกิจตกต่ำช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีปลาทูเข่งละ 1-2 สตางค์ ถั่วงอกผัด ต้มจับฉ่ายที่ปรุงขึ้นครั้งเดียวแล้วอุ่นกินได้หลายวัน อาหารหวานก็มีต้มถั่วเขียวและมันต้มน้ำตาลเป็นหม้อใหญ่ๆ

แหล่งรายได้ที่จุนเจือครอบคัวคือกิจการโรงพิมพ์พระจันทร์เริ่มส่อเค้าวิบัติในราวปี 2480 หลังจากเติบโตมาได้ 12 ปี หุ้นส่วนคนสำคัญ ซิว ตันบุญยืนก็คิดยึดกิจการโดยตั้งข้อหาว่ามหากิมใช้เงินเปลืองมากเกินกว่าเหตุเพราะอุปถัมภ์พี่น้องบริวารมาก ประกอบลูกชายคือสนั่น ตันบุญยืน เรียนจบจากเมืองนอกแล้ว จึงคิดว่าจะบริหารโรงพิมพ์ต่อไปเอง

ในที่สุดทั้งสองก็ตกลงแยกทางกันเดินโดยใช้วิธีจับสลากแบ่งสินทรัพย์กัน ปรากฏว่า มหากิมจับได้ส่วนเงินสด 3-4 หมื่นบาท ส่วนซิวได้แท่นพิมพ์พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ และสิทธิการเช่าตึกแถว 7-8 คูหาของวัดมหาธาตุไป

ชีวิตเปื้อนฝุ่นของครอบครัวใหญ่หงศ์ลดารมภ์ต้องล้มลุกคลุกคลานอพยพกันไปหาเช่าที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ ในเวิ้งหลังโรงหนังเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า 5-6 ไร่ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ท่าโรงยาเก่า ปากคลองตลาด ในที่เช่าแห่งนี้มหากิมได้ริเริ่มสร้างตลาดสดขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "ตลาดยอดฟ้า" ด้วยทุนทรัพย์ 3-4 หมื่นบาท ที่ติดตัวมา แต่โครงการนี้ต้องประสบความล้มเหลว เพราะแข่งสู้ไม่ได้กับตลาดท่าเตียนซึ่งห่างจากตลาดยอดฟ้าไม่เกิน 1 กม. ที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าที่เจริญคึกคักมากกว่า

ความเป็นปราชญ์เมธีที่พลั้งพลาดของมหากิมในยามวิกฤตเช่นนี้ ก่อให้เกิดแรงกดดันที่ทำให้ช้างเท้าหลังอย่างแม่เฮียงต้องดิ้นรนให้ครอบครัวอยู่รอด แม่เฮียงได้เสนอดัดแปลงตลาดให้เป็น "โรงพิมพ์บำรุงธรรม" โดยอาศัยฐานลูกค้าเก่าๆ ปรากฏว่ากิจการดำเนินไปได้ดีสักสองปี

แต่เหมือน "โชคซ้ำกรรมซัด" วิกฤตการณ์จากสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ก่อผลกระทบรุนแรงต่อโรงพิมพ์และครอบครัว ตั้งแต่ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบกระดาษซึ่งหายากและราคาแพงมากจนต้องปิดกิจการ และปัญหาเสี่ยงตายจากลูกระเบิดซึ่งลงบริเวณโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสะพานพุทธฯ

"มีวันหนึ่งมีเสียงหวอและเครื่องบินเข้าในพระนครเร็วกว่าปกติ คุณแม่ก็ไม่อยู่ อยู่แต่คุณยายคนเดียว ก็รีบพาหลานตัวเล็กๆ หลบเข้าหลุมหลบภัยใหญ่ข้างแม่น้ำข้างร้านจินไต๋หลังตึกแถวที่มีร้านซิมไฮ้เส็งขายถ่านของพวกสิมะโรจน์ เครื่องบินได้ทิ้งระเบิดลงโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสะพานพุทธยอดฟ้า และลูกระเบิดลูกหนึ่งตกลงที่ปากหลุดแต่ไม่ระเบิด (ถ้าระเบิดพวกน้องๆ เราคงไม่ได้เป็นผู้ว่าการปิโตรเลียมฯ และเป็นคุณหญิงแน่ๆ) คุณยายและเพื่อนบ้านจึงรีบพาหลานๆ ออกจากหลุมไปลงเรือจ้างลอยกลางแม่น้ำหรือเข้าคลองไปจากไม่ได้แน่ พวกที่มาทีหลังเข้าไปหลบในหลุม ปรากฏว่าลูกระเบิดนั้นก็ระเบิดทำให้หลุมยุบพังลง คนตายทั้งหมด …เมื่อมีเหตุร้ายแรงขนาดนี้จึงจำต้องอพยพไปอยู่บ้านเก่าของคุณยายที่คลองหลวงแพ่ง จังหวัดสมุทรปราการ เหลือผมและพี่เฝ้าบ้าน แม่ก็ต้องลำบากไปๆ มาๆ ไหนจะห่วงลูก ไหนจะห่วงทำมาหากิน" ทองมา บุตรชายที่แม่เฮียงตั้งใจจะอยู่ด้วยตลอดชีวิตบันทึกไว้

เมื่อต้องปิดกิจการโรงพิมพ์อนาคตก็มืดมน สมบัติชิ้นสุดท้ายที่เหลือไว้ก็คือ "เกาะสีชัง" ที่มหากิมได้จับจองและมีสัมปทานทำหินมานานกว่า 50 ปี !

ตำนานแห่งการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินบนเกาะสีชัง เริ่มครั้งแรกเมื่อเจ้าพระยายมราชปั้น สุขุมมีดำริที่จะให้ตั้งโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกขึ้นในไทย มหากิมได้รับบัญชาจากเจ้าพระยาให้ติดตามอยู่ในขบวนของเจสเป็นเซ่น ผู้รับว่าจ้างสำรวจแหล่งหินปูนทั่วประเทศไทยเพื่อใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบ และหาที่ตั้งโรงงานปูน

แต่เมื่อโรงงานปูนซิเมนต์ไทยไม่เลือกเอาเกาะสีชังเป็นที่ตั้งโรงงานและแหล่งวัตถุดิบ มหากิมก็เริ่มจับจองที่บนเกาะสีชัง เกาะท้ายค้างคาว เกาะยายท้าว อ่าวกะสือ (อ่าวอุดมในปัจจุบัน) และแหลมฉบังทันที พร้อมทั้งทำมาหากินบนเกาะตั้งแต่นั้น

"ระหว่างนั้นท่านมหามิได้หยุดนิ่ง ในสมองท่านวาดภาพเกาะสีชัง เกาะท้ายค้างคาว อ่าวกะสือ และแหลมฉบังไว้อย่างมโหฬาร ซ้ำยังไม่คิดเฉยๆ แต่เริ่มรวบรวมที่ดินทั้งบนเกาะและที่ฝั่ง ที่ไหนจังจองได้ก็จับจอง ที่ไหนมีเจ้าของแล้วก็ต้องซื้อก็ซื้อ ท่านมหาเล่าว่า ซื้อที่ดินเลียบชายฝั่งทะเลจากอ่าวกะสือ แหลมฉบัง ไปจนถึงเขาโพธิ์ใบ ระยะทางยาวเป็นกิโลเมตร ด้วยราคาไร่ละ 1 บาท แม่เฮียงก็ต้องสนับสนุนการเงินด้วย ทั้งๆ ที่ลูกก็ต้องเลี้ยงแต่ก็กัดฟันทน เพราะเชื่อมั่นในมันสมองของท่านมหาและรู้ว่าท่านมหาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างดี แม่เฮียงจึงไม่ห้ามปรามท่านมหาเลย แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทำให้ความฝันของท่านมหาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันสิ้นชีวิตท่านใช้ไปในการป้องกันรักษาสิทธิของท่านในที่ดินดังกล่าว" ดร. พรพรหมณ์ (เดิมชื่อทัศนีย์) หงศ์ลดารมภ์ได้บันทึกไว้

การต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลทางการเงินและการเมืองที่จงใจละเมิดสิทธิเพื่อฮุบกิจการ ทำให้ต้องมีเรื่องราวฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลมิได้ขาด ซึ่งในที่สุดฝ่ายหงศ์ลดารมภ์ก็ชนะเพราะความรอบคอบที่มหากิมได้เก็บหลักฐานไว้ทุกชิ้นทุกส่วนที่เกี่ยวกับเกาะสีชังไว้

กิจการนำหินจากเกาะสีชังมาขายที่กรุงเทพฯ ที่จากเดิมมหากิมให้พี่สาวคือ บุญธรรม ชวนะเวช ทำ เมื่อพี่สาวสิ้นชีวิตก็ได้โอนธุรกิจนี้แก่ภรรยาทำต่อไป ในระหว่างสงครามเอเชียบูรพา แม่เฮียงได้ออกไปวิ่งเต้นขายหินแต่ก็หาผู้ซื้อยากเพราะไม่มีการก่อสร้าง มีแต่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่หวาดกลัวของคนไทย แต่แม่เฮียงก็จำต้องข่มความกลัวชวนหัวหน้ากรรมกรชื่อเจ็กเซียวเข้าไปขายหินให้ญี่ปุ่นเพื่อหาเงินเลี้ยงประทังชีวิตของคนในครอบครัว

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ ครอบครัวนี้ก็ถูกไล่ที่ ต้องมาอาศัยที่วัดเลียบซึ่งคับแคบและตลอดทั้งปีต้องกินข้าวผสมขี้เถ้าทุกมื้อ เพราะลมพัดเอาขี้เถ้าและแกลบปลิวมาจากปล่องโรงไฟฟ้าวัดเลียบ เป็นที่เวทนาจนท่านมหาสมพรพิบูล เพื่อนรุ่นพี่ของมหากิมได้เมตตาให้มาปลูกบ้านที่วิสุทธิกษัตริย์ได้พักอาศัยอยู่หลายปี

ความคับแค้นใจในที่อยู่อาศัยนี้ได้ทำให้แม่เฮียงถึงกับลั่นวาจาสัญญากับตนเองไว้ว่า "ชาตินี้ฉันจะต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง ปลูกบ้านสักหลังให้ได้" ปฐมเหตุนี้จึงทำให้แม่เฮียงกลายเป็นนักนิยมซื้อที่ดินตัวยงในเวลาต่อมา

กิจการค้าหินได้เจริญเติบโตมากๆ เมื่อหินขาดตลาดเนื่องจากเกิดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่นกรมโยธาเทศบาล บริษัทรถราง กรมทางหลวง และการท่าเรือที่คลองเตย ความได้เปรียบในเชิงค่าขนส่งจากเกาะสีชังถึงกรุงเทพฯ ที่ถูกกว่าหินจากราชบุรีและสระบุรี

ผู้มีพระคุณอย่างสูงที่ทำให้ตระกูลหงศ์ลดารมภ์ได้ก่อขึ้นอย่างมั่นคงได้ในกิจการค้าหินก็คือ เจ้าคุณพระยาประสาทธาตุการ ซึ่งบริหารงานกรมวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ออกหนังสือรับรองว่าคุณภาพหินเกาะสีชังสามารถใช้ในงานก่อสร้างได้ เพราะเมื่อก่อนทางการไม่ยอมให้ใช้หินเกาะสีชังไปผสมคอนกรีตก่อสร้าง โดยอ้างว่าเป็นหินเค็มบนเกาะในทะเล

นอกจากนั้น คุณหญิงประสาทธาตุการ (คุณหญิงวาด ประนิช) ยังให้ความอุปถัมภ์ด้านเงินทุนด้วย เพราะการเสนอขายหินแก่กรมกองต่างๆ ของหน่วยราชการ ต้องประมูลหรือประกวดราคาและต้องมีเงินประกันซอง นอกเหนือจากเงินหมุนเวียนจ่ายค่าขนส่งและค่าแรงงาน

ต่อมาการค้าหินได้เติบใหญ่ จนมีการตั้งโรงโม่หินที่แหลมงู เกาะสีชังและขยายกิจการโรงโม่หินที่เกาะท้ายค้างคาว แล้วย้ายมาสร้างใหม่ที่บางนางเกร็งสมุทรปราการในที่ดินของตระกูล นอกจากนั้นยังได้รับสัมปทานระเบิดหินและตั้งโรงโม่หินที่เขาอ้ายส้าน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เพราะค่าขนส่งจากเกาะสีชังแพงกว่าหินจากราชบุรีและสระบุรีเสียแล้ว เนื่องจากมีการตัดถนนเพชรเกษมและถนนพหลโยธินที่สะดวกและประหยัดต้นทุนในการขนส่งด้วยรถบรรทุก

แต่ในปี 2523 ทางการยกเลิกสัมปทานระเบิดหินของหงศ์ลดารมภ์ ตามนโยบายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องการสนับสนุนสำนักหุบผาสวรรค์เป็นศูนย์รวมศาสนาต่างๆ และขยายอาณาเขตถึงโรงโม่หินทำให้ต้องขายกิจการเป็นหนี้แบงก์ถึง 4 ล้านซึ่งลงทุนในเครื่องจักรหลังจากได้รับสัมปทานครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตามแม่เฮียงกับบุตรชายคนที่สามคือทองมา หงศ์ลดารมภ์ ได้ตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง "บริษัทเอเชียอุตสาหกรรม" โดยมีน้องชายคือดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์และเพื่อนๆ น้องคือดร. อาณัติ อาภาภิรม สงบปานดอกไม้ที่เรียนทางวิศวกรรมมาช่วยในโครงการก่อสร้างสะพาน ถนนหนทางและท่อระบายน้ำจนกระทั้งสามารถล้างหนี้สินแบงก์หมด

"ผมกำเงินจำนวนหนึ่งไปให้แม่หลังจากเบิกเงินงวดสุดท้ายของงาน เพราะแม่ปรารภอยู่เนืองๆ ว่าเห็นคนอื่นใส่แหวนเพชรขนาด 10 กะรัตแล้วบอกว่าชาตินี้ฉันจะมีแหวน 10 กะรัตใส่ไหมนี่ ? ผมบอกให้แม่ไปซื้อแหวนที่อยากได้แต่ปรากฏว่าแม่ไม่ได้ซื้อแหวนแต่เอาเงินทั้งหมดไปซื้อที่ดินที่ถนนสุขาภิบาล 1 เป็นซอยจากถนนปู่เจ้าสมิงพราย นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่แม่เริ่มค้าที่ดิน ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ซื้อขายที่ดินอุตลุด จนบางครั้งหาเงินให้ท่านไม่ทัน ซึ่งพูดไปแล้วแม่ทำกำไรจากการซื้อขายที่ดินมากพอดูทีเดียว และจนกระทั้งแม่ตายจากไป แม่ไม่เคยได้ซื้อแหวนเพชรใส่นิ้วของท่านเลย แม้ว่าท่านจะซื้อแหวน 20 กะรัตใส่ก็ได้" ทองมา หงศ์ลดารมภ์ บุตรชายคนที่สามซึ่งเป็นตัวหลักและกลายเป็นผู้แบกรับภาระครอบครัวตั้งแต่อายุ 17 ปี โดยไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนพี่น้อง

จากจุดเริ่มต้นซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไร เริ่มตั้งแต่ 2-3 ไร่จนถึงร้อยๆ ไร่ กลายเป็นงานที่โปรดปรานของแม่เฮียงที่กล้าเสี่ยงและใจสู้ จนได้รับการขนานนามว่า "คนตามังกร" (ภาษาจีนเรียกว่ามักเล้ง) ที่สามารถจับที่ดินรกร้างให้เป็นเงินทองได้ ถ้าแปลงไหนราคาถูกมากก็ซื้อไว้แล้วตัดถนนซอยขายเป็นแปลงๆ โดยขายเงินผ่อนในลักษณะจัดสรรที่ดิน

นอกจากความชำนาญในการเล็งผลที่ดินแม่นยำแล้ว แม่เฮียงยังมองคนทะลุปรุโปร่งอีกด้วย ในเรื่องนี้กัญญา นวลแขได้บันทึกไว้ถึงเรื่องทรรศนะการดูตัววิโรจน์ นวลแข ไว้ว่า

"เมื่อเรารู้จักกับช้อย (วิโรจน์ นวลแข) ถึงแม่จะไม่ค่อยมีเวลามาสนิทสนมคุ้นเคยกับช้อยมากนัก แต่ทุกครั้งถ้าช้อยมาบ้านและแม่เกิดอยู่บ้าน เรารู้ว่าแม่พิจารณามองช้อยอย่างไม่ให้รู้ตัว เราจำได้ว่าแม่ไม่เคยห้ามเราเลยว่าอย่าคบกับหนุ่มคนนี้…แม่เล่าว่าตอนคุณแม่ของช้อยมาขอลูกสาว แม่ได้บอกคุณแม่ไปว่า "ต้องขอบอกเสียก่อนว่า ลูกสาวบ้านนี้ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือน ฉันเลี้ยงเขาตั้งใจจะให้แต่เล่าเรียน มีความรู้สูงๆ ติดตัวไป ไม่ได้เลี้ยงให้เป็นแม่ศรีเรือน" แม่บอกว่าฉันบอกกับทุกคนที่มอขอลูกสาวบ้านนี้ พวกเราจำที่แม่ละไว้อีกประโยคว่า "ลูกสาวบ้านนี้คงจะเป็นแม่บ้านสั่งการ บงการแบบแม่นั่นเอง"

ความทุกข์ของแม่เฮียงกับลูกชายเฉกเช่นทองฉัตรก็มีเล่าไว้ เมื่อตอนทองฉัตรเป็นวัยรุ่นไปเที่ยวเชียงใหม่เกิดติดใจมนต์เสน่ห์ของเมืองเหนือ ถึงขนาดเขียนจดหมายบอกแม่ว่า จะขออยู่เชียงใหม่โดยเรียนหนังสือที่นั่นเลย แม่เฮียงอ่านจดหมายแล้วน้ำตาซึม เป็นทุกข์ที่ลูกมีปัญหาเบื่อบ้านที่พ่อแม่โต้เถียงเรื่องเงินๆ ทองๆ

"แม่จึงปรึกษาทองมา และให้ทองมาเดินทางไปเชียงใหม่ด่วนที่สุด สมัยนั้นการเดินทางไปเชียงใหม่ต้องรอนแรมไปในรถไฟเป็นวันๆ แถมต้องหาที่อยู่ตามจดหมายที่อำเภอสารภี ต้องระหกระเหินถามเขาไปเรื่อยๆ แม่กำชับว่าทองมาต้องเอาทองฉัตรกลับบ้านให้ได้ ไม่ต้องดุว่าอะไรทั้งสิ้น ทองมาเล่าให้ฟังว่าตอนพบน้องชายที่บ้านนั้นงงงันมาก เพราะน้องนอนเป็นไข้ซมเป็นฝีที่ไหนสักแห่งในร่างกาย พูดจาเกลี้ยกล่อมกันสองสามคำ ทองฉัตรก็ยอมกลับบ้าน เมื่อกลับถึงบ้าน แม่ผู้มีจิตวิทยาสูงโดยธรรมชาติไม่ดุว่าสักคำ ทองฉัตรเองก็คงไม่อยากพูดถึงเรื่องราวของตนอีกเลย หลังจากนั้นเป็นคนตั้งใจเรียนดีมาตลอดและเป็นลูกแม่ที่มีเพื่อนฝูงมากที่สุด" ทองศรี กำภู ณ อยุธยา ได้บันทึกเล่าไว้

จากแผ่นดินผืนแรกบนเกาะสีชังที่มหากิมได้สั่งสมจับจองเป็นเจ้าของจวบจนกระทั่งปัจจุบัน สายเลือดแห่งแลนด์ลอร์ดก็ยังตกถึงรุ่นหลานตระกูลหงศ์ลดารมภ์ก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นความต่อเนื่องแห่งประวัติศาสตร์จารึกต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.