อินเดียที่เคยยึดเกาะกับระบบสังคมนิยมแบบอังกฤษอันล้าสมัยมาเกือบครึ่งศตวรรษ
กำลังก้าวเข้ามาสู่โลกทุนนิยม ธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกจึงต้องจับตามอง
ช่วงก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย เครื่องบินแอร์อินเดีย โบอิ้ง 747 ที่บินมาจากกรุงนิวยอร์กก็ร่อนลงที่สนามบินอินทิรา
คานธี อินเตอร์เนชั่นแนลในนิวเดลลี เมืองหลวงอินเดีย เครื่องบินขนาด 4 เครื่องยนต์ดังกล่าวลงจอดอย่างนุ่มนวล
สมบูรณ์แบบจนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าคงต้องอาศัยคนขับที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะสูงมากๆ
เมื่อเครื่องบินเข้ามาเทียบลานบิน ดวงไฟทั้งหมดที่ลานระหว่างประเทศกลับไม่ยอมสว่างความสับสนเริ่มเกิดขึ้น
เพราะไม่มีระบบแจกจ่ายพลังงานสำรอง ไม่มีไฟฉุกเฉิน และไม่มีแม้กระทั่งไฟฉาย
3 ชั่วโมงแห่งความโกลาหล อาศัยเพียงแสงริบหรี่จากไฟก้นบุหรี่ และไฟหน้ารถผู้โดยสารพนักงานวิ่งกันให้วุ่น
ผู้โดยสารเดินกันขวักไขว่ด้วยความสับสน
นี่คืออินเดียยุคใหม่ ผู้คนยังอยู่กันแบบสบายๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนสูง
เช่น เครื่องบินเจ็ตที่ดูไม่ค่อยจะเข้าสนามบินที่ขาดแคลนระบบพื้นฐาน จึงพบเห็นได้อยู่บ่อยๆ
ที่บรรดาข้าราชการสั่งงานกันโดยใช้จดหมาย ทั้งๆ ที่เป็นวิธีการที่สร้างปัญหาอย่างมาก
อินเดียจึงเป็นความขัดแย้งในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองผ่านตัวเลขทางสถิติ
เกือบ 70% ของประชากรอินเดียเป็นชาวนา กระนั้นอินเดียก็ยังติดอันดับ 1 ใน
10 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เมื่อวัดอัตรารายได้ต่อหัวแล้ว ชาวอินเดียมีฐานะยากจนที่สุดในโลก
ทว่าพวกเขาก็มีอัตราเงินออมถึงเกือบ 25% ชาวอินเดียร่วม 200 ล้านคนมีรายได้มากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย
เรียกว่าดีพอๆ กับมหาเศรษฐีมะริกันเลยทีเดียว
เกือบครึ่งศตวรรษแล้วที่อินเดียได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนบ้าง
หนีหายไปบ้าง กระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 นี้ที่นักธุรกิจชั้นนำส่วนใหญ่ต้องหันมามองอินเดียอย่างจริงจัง
"อินเดียกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ของปี 2000" เปาโล เฟรสโก หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการระหว่างประเทศของเจเนอรัลอีเล็กทริค
กล่าว ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากแจ็ค เวลช์ ประธานจีอี เป็นอย่างดี ดังนั้นเฟรสโกจึงวางตำแหน่งให้อินเดียเป็นแหล่งทุนอันดับต้นของจีอีในปี
1988
ร่วม 4 ทศวรรษที่อินเดียทุ่มเทให้กับแนวคิดแบบสังคมนิยมเฟเบียนของจาวาฮาร์ลัล
เนห์รู นายกฯ คนแรกของประเทศ แต่มาถึงวันนี้แนวคิดดังกล่าวได้ก้าวมาถึงจุดสิ้นสุด
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะความล่มสลายของสหภาพโซเวียต พันธมิตรทางการเมืองซึ่งเคยเป็นคู่ค้าสำคัญของอินเดีย
อีกเหตุหนึ่งมาจากแนวโน้มของโลก
ปัจจุบันอินเดียจึงต้องการเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างมาก เพราะมีบริษัทต่างชาติเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เต็มใจจะฟันฝ่าอุปสรรคของข้อกำหนดยุ่งยากเพื่อเข้าไปลงทุนในแดนโรตีแห่งนี้
ทว่านโยบายเศรษฐกิจของอินเดียได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี
พี.วี. นาราซิมห์ ราโอ ได้พยายามผ่อนคลายระบบราชการอันยุ่งยากน่าเบื่อ ซึ่งเป็นตัวชะลอความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
"มันไม่ใช่วิวัฒนาการ (EVOLUTION) แต่คือการปฏิรูป (REVOLUTION)"
รัสสิ โมดี ประธานตาตาไอออน แอนด์ สตีล โค. (ทิสโก) บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดในอินเดียกล่าว
"แต่พวกเราคงต้องมองทุกสิ่งในแง่มุมใหม่ เพื่อจะนำไปสู่สิ่งที่เราเชื่อว่าดี"
ราโอ-ผู้จุดประกายความเปลี่ยนแปลง
นาราซิมห์ ราโอ นายกรัฐมนตรีวัย 71 ปี ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก ซึ่งสืบทอดตำแหน่งต่อจาก
ราจิฟ คานธี คือผู้จุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอินเดีย เป็นผู้ที่ทำให้วงการธุรกิจทั้งพอใจและประหลาดใจในผลงาน
ราโอเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาก่อน แต่ไม่เคยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนฯ
เมื่อราโอขึ้นครองตำแหน่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐบาลของเขาต้องเผชิญกับความวิบัติครั้งใหญ่
เนื่องจากความผิดพลาดด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดก่อน ได้ก่อให้เกิดยอดขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล
อินเดียกู้หนี้มาจากภายนอกประเทศถึง 71,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศหมดเกลี้ยงเพียงในไม่กี่สัปดาห์
อินเดียจึงต้องหันหน้าไปพึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก
ทว่าราโอไม่เพียงแต่นำเงินที่ได้มาไปอุดช่องโหว่เท่านั้น เขาสร้างความประหลาดใจให้ทุกคน
ด้วยการอาศัยวิกฤติการณ์ดังกล่าวเป็นช่องทำการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างถึงราก
ราโอตั้ง "มันโมฮัน ซิงห์" นักเศรษฐศาสตร์ผู้ช่ำชองขึ้นเป็นรัฐมนตรีคลังทันที
แทนที่จะเลือกนักการเมืองเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ และให้ "จิดัมภรัม"
บัณฑิตเอ็มบีเอจากฮาร์วาร์ด เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์
เพียงไม่กี่สัปดาห์ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็เริ่มต้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าเงินรูปีลงถึง
24% เพื่อทำให้อุตสาหกรรมส่งออกของประเทศแข่งขันได้มากขึ้น การขจัดกฎระเบียบในการออกใบอนุญาตฯ
แก่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เพิ่มเพดานหุ้นที่ต่างชาติสามารถถือครองในบริษัทอินเดียขึ้นเป็น
51% ลดเงินอุดหนุนที่ให้แก่ธุรกิจส่งออก และลดภาษีศุลกากรสินค้าขาเข้า ฯลฯ
ในสมัยของเนห์รู ภาคสาธารณชนคือหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมสำคัญที่ต้องใช้ทุนมหาศาลควรจะเป็นของรัฐและดำเนินการโดยรัฐเพื่อรัฐจะสามารถควบคุมได้
แต่เวลาหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นตัวพิสูจน์ว่า การทำเช่นนั้นรังแต่จะเป็นตัวถ่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจกระแสทุนมหาศาลต้องถูกดูดดึงไปในอุตสาหกรรมดังกล่าว
แต่กลับไม่ก่อดอกออกผลใดๆ
ระบบเศรษฐกิจของอินเดียกลายเป็นระบบผสม ที่มีนักสังคมนิยมอยู่ส่วนบน ผู้ประกอบการอิสระอยู่ตรงกลาง
ขณะที่ข้าราชการและนักการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทุกส่วน คอยกินสินบนและค่าธรรมเนียมในทุกขั้นตอน
แต่ในทัศนะของราโอแล้ว อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น เหล็กกล้า, ปิโตรเคมี
และพลังงานควรได้รับการแปรรูปฯ อย่างต่อเนื่อง
ในแผนงบประมาณปี 1992-93 ของอินเดีย มันโมฮัน ซิงห์จึงประกาศว่า ยอดขาดดุลของประเทศควรลดลงเหลือ
5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เทียบกับ 9% ของปี 1990-91 และ 6.5%
ของปี 1991-92
นอกจานี้ต้องมีการลดเงินอุดหนุนและอัตราภาษีนิติบุคคล และที่สำคัญที่สุดก็คือ
ทำให้ค่าเงินรูปีอยู่ในอัตราที่แลกเปลี่ยนได้
และเพื่อจะเพิ่มทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลจึงได้กู้ยืมเงินมาจากไอเอ็มเอฟ
2,000 ล้านดอลลาร์ และจากธนาคารโลกอีก 500 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรที่มีลักษณะคล้ายจังค์บอนด์เป็นมูลค่า
1,600 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังวางมาตรฐานคุมเข้มการนำเข้าสินค้าประเภททุน
ในไม่ช้าทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยนของอินเดียก็เพิ่มขึ้นจาก 1,000 ล้านดอลลาร์
เมื่อเริ่มแรกที่ราโอเข้าดำรงตำแหน่ง มาอยู่ที่ 6,500 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
เมื่อมีการวางกฎซ้อนกฎ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วก็คิดกันว่าจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจและการวางแผนของประเทศเป็นอิสระมากขึ้น
แต่ในทางปฏิบัติการกระทำดังกล่าวกลับเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่เหล่าข้าราชการ
การคอร์รัปชั่นจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา การติดสินบนเจ้าพนักงานกลายเป็นวิธีช่วยให้ทุกอย่างลุล่วงโดยเร็ว
ภาคธุรกิจเอกชนจึงมีต้นทุนสูง ไร้ประสิทธิภาพ และตกอยู่ในมือพ่อค้าเพียงไม่กี่ราย
ธุรกิจหลายแห่งยังได้รับเงินอุดหนุน และอยู่ภายใต้การปกป้องจากรัฐบาล
ขั้นแรกของการเปิดเสรี
คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่ารัฐบาลอินเดียจะสามารถเปิดเสรีเศรษฐกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ
ทว่ามันโมฮัน ซิงห์ รัฐมนตรีคลังเชื่อว่า กระบวนการดังกล่าวจะดำเนินไปอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ทุกวันนี้บริษัทต่างชาติก็สามารถยื่นขอดำเนินการในแทบทุกเรื่องได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก
ตัวอย่างเช่น เป๊ปซี่ โคต้องใช้เวลาถึง 5 ปี เพื่อขอเข้าทำธุรกิจเครื่องดื่ม
อาหารว่าง และอุตสาหกรรมผลิตอาหารในอินเดีย โดยเพิ่งจะได้รับอนุมัติเมื่อปี
1990 นี้เอง ขณะที่โคคา-โคลาใช้เวลาเพียง 3 เดือนในการขออนุมัติเข้าตลาดอินเดียใหม่เมื่อต้นปีนี้
(หลังถอนตัวออกไปเมื่อปลายทศวรรษ 1970)
หรือโมโตโรล่าที่ขอตั้งฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ในอินเดียว ก็สามารถได้รับอนุมัติภายในไม่ถึงปี
ปัจจุบันโมโตโรล่ามีโครงการในอินเดียทั้งสิ้น 13 โครงการ คิดเป็นมูลค่าลงทุนรวม
150 ล้านดอลลาร์
เปาโล เฟรสโกแหงเจเนอรัล อีเล็กทริคก็ว่าธุรกิจ 9 ใน 13 แห่งของบริษัทเป็นไปด้วยดีในอินเดีย
โดยจีอีมีข้อตกลงด้านใบประกอบการเทคโนโลยีกับ "ภรัท เฮฟวี่ อีเล็กทริคัลส์"
กิจการด้านพลังงานของรัฐ เมื่อปีที่แล้วบริษัทได้ร่วมทุนกับ "ไวโปรคอร์ป"
ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของอินเดีย จีอียังได้ลงนามในข้อตกลงอื่นๆ
เกี่ยวกับธุรกิจพลาสติก, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และไฟฟ้า
ขณะเดียวกันในบังกะลอร์ ที่เปรียบเสมือน "ซิลิคอน วัลเลย์" ของอินเดีย
ไมเคิล ไคลน์ ของไอบีเอ็มก็ได้เข้าไปตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างไอบีเอ็มกับ
"ตาตาอินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส" เพื่อทำการผลิตสายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์
PS/2 และงานด้านอื่นๆ เพื่อเสริมธุรกิจในต่างชาติของไอบีเอ็ม แม้ว่าจะเป็นน้องใหม่ในตลาด
แต่ไคลน์ก็ไม่วิตกมากนัก
สำหรับบริษัทอเมริกันผู้บุกเบิกในบังกะลอร์อย่างเท็กซัส อินสทรูเมนท์ (ทีไอ)
พวกเขาก็ไม่มีปัญหานัก เท็กซัส อินสทรูเมนท์เข้ามาตั้งร้านในอินเดียเมื่อปี
1985 โรเบิร์ต โรเซบูม ซึ่งปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ "เซมิคอนดัคเตอร์กรุ๊ป"
ของทีไอ ได้ต่อสู้กับกฎระเบียบที่หยุมหยิมเพื่อจะเริ่มโครงการส่งออกซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์
เขาเล่าว่าตัดสินใจเลือกอินเดียแทนจีน เพราะศักยภาพของอินเดียมีมากกว่า ทีไอจึงพยายามฟันฝ่าข้อจำกัดต่างๆ
เพื่อจัดตั้งสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของเอกชนดวงแรกในอินเดีย
แม้จะมีการเปิดเสรีแล้ว ก็ยังมีเรื่องน่าคับข้องใจอีกมาก เพราะภายใต้นโยบายเปิดเสรีนั้น
กระทรวงสื่อสารโทรคมนาคมอินเดียยังคงบริหารงานภายใต้ระบบข้าราชการแบบเดิม
ที่น่าอึดอัดมากก็คือ การไม่สามารถทำให้ข้าราชการขุนนางอินเดียเข้าใจได้ว่า
ทุกวันนี้ "เวลาเป็นเงินเป็นทอง" ธุรกิจระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยข้อได้เปรียบเรื่องเวลา
จึงไม่อาจกระทำได้ในอินเดีย
ธุรกิจอินเดียใช่ย่อย
แต่ก็มีตัวอย่างกิจการของชาวอินเดียที่เก่งไม่แพ้บริษัทชั้นนำต่างชาติ
อาทิ อาซิม เปรมจี วิศวกรผู้จบจากสแตนฟอร์ทและได้เข้าสืบทอด "ไวโปร"
บริษัทอาหารของครอบครัว
ปี 1979 เปรมจีตัดสินใจก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ 3 ปีให้หลัง ไวโปรก็สามารถเข้าครอบครอง
"ไอซีแอล" บริษัทคอมพิวเตอร์สัญชาติอังกฤษ และบริษัทอินเดียอีก
2 แห่ง ไวโปรยังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดด้วย การตั้งบริษัท "ฮินดูสถานคอมพิวเตอร์"
ซึ่งได้เข้าร่วมทุนระหว่างฮิวเลตต์-แพคการ์ด และเป็นผู้นำในตลาดมินิคอมพิวเตอร์
เหนือคู่แข่งสหรัฐฯ
ทางด้านธุรกิจอาหาร ปาร์เล เอ็กซ์ปอร์ต ก็ได้เข้าแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาด
ฟาดฟันกับยักษ์เป๊ปซี่ แม้ว่าส่วนต่างกำไรในตลาดนี้จะน้อยมากแต่บริษัทก็ครองส่วนแบ่งได้ถึง
60% ขณะที่ของเป๊ปซี่มีเพียง 20%
ทั้งสองเตรียมพร้อมรับการเข้ามาของโค้กในปีหน้า ไม่ว่าใครจะเหนือใคร แต่ผู้ได้ประโยชน์ก็คือผู้บริโภคนั่นเอง
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในอินเดียนั้นบริษัทต่างชาติที่ครองตลาดใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ
ญี่ปุ่น ซึ่งไม่น่าประหลาดใจเลย ซูซูกิ แดนซากุระได้เข้าไปถือหุ้นใน "มารูติ
อูด๊อก" กิจการที่เคยเป็นของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งทำหน้าที่ผลิตรถยนต์สวนตัวขนาดเล็กตามแบบของซูซูกิ
รถมารูติ/ซูซูกิถือเป็นรถหรูในตลาดอินเดียเพราะซูซูกิเน้นที่มาตรฐานคุณภาพมากกว่าผู้ผลิตชาวอินเดียอื่นๆ
เมื่อต้นปีนี้ซูซูกิยังประกาศว่าจะย้ายการผลิตรถ 800 ซีซีไปอินเดียทั้งหมด
และรถของซูซูกิที่ส่งออกไปยุโรปปีละ 60,000 คันทุกวันนี้ก็ส่งผ่านมารูติ
แต่ปัญหาก็คือ อินเดียจะสามารถดึงดูดกระแสทุนจากต่างชาติไปได้อีกนานเท่าใด
เมื่อละตินอเมริกาใกล้จะเปิดตลาดเศรษฐกิจของประเทศแถบแปซิฟิกกำลังรุ่งเรือง
และยุโรปตะวันออกดำเนินความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะดูดกระแสทุน
อย่างไรก็ดีอินเดียมีข้อได้เปรียบเหนือกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ขนาดของตลาดใหญ่และศักยภาพสูง
มีแรงงานราคาถูก (แต่มีฝีมือหรือไม่นั้นยังเป็นที่กังขา)
บางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดอาจเป็นการที่อินเดียมีภาคเอกชนที่ใหญ่โตและมีคุณภาพ
ซึ่งได้พยายามบริหารตนเองเพื่อความล้ำหน้า แม้ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมายจากรัฐบาล
แต่อย่าเข้าใจผิด !
เพราะอินเดียไม่ใช่และไม่เคยเป็นสถานที่ลงทุนสำหรับธุรกิจอย่างโรงแรมแชงกรี-ลา
อินเดียยังเป็นประเทศโลกที่ 3 ที่ขาดแคลนไฟฟ้าอย่างมาก ระบบการสื่อสารก็ยังต้องได้รับการปรับปรุง
ถนนหนทางยังไม่เรียบร้อย และกิจการด้านรถไฟที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างมาก
ก็อยู่รอดได้เพราะเหตุนี้ สายการบินในประเทศน่ะหรือ ? เรื่องตลก
ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดเสรีเศรษฐกิจก็ยังเป็นเรื่องใหม่ และต้องเผชิญอุปสรรคท้าทายอีกมาก
บรรดาข้าราชการยังทำงานเชื่องช้า รับเงินใต้โต๊ะ การเปิดเสรีจึงหมายถึงการแข่งขันใหม่ๆ
ในหมู่รัฐวิสาหกิจที่ได้รับปกป้องอย่างเต็มที่
ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือการปลดพนักงานหลายแสนคนเพื่อความปลอดภัยและเปิดโอกาสให้พวกเขาหางานอื่นทำ
ถ้าเช่นนั้นทำไมเมื่อมีการแปรรูปฯ และเปิดเสรีจึงไม่เกิดเหตุจลาจลในอินเดีย
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกลุ่มที่มีบทบาทสูง
แม้ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ตาม
ลมมรสุมต้นฤดูฝนพัดพาความชุ่มโชกมาสู่บังกะลอร์ ยิ่งสะท้อนให้เห็นเด่นชัดถึงระบบสาธารณูปโภคอันขาดแคลน
ถนนหนทางเจิ่งนองไปด้วยน้ำ ไมค์ไคลน์แห่งไอบีเอ็มเงยหน้ามองท้องฟ้าแจ่มใสหลังเมฆฝน
รถราที่วิ่งผ่านแหวกน้ำกระจายสาดข้างทาง "บอกใครๆ เถอะว่าให้มาที่นี่"
เขากล่าวพร้อมฉีกยิ้มกว้าง "อย่างน้อยน้ำท่าก็อุดมสมบูรณ์ดี"