กลยุทธ์การตลาด:ตลาดยิ่งเจริญปรับตัว มองแม่ค้าเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ


ผู้จัดการรายสัปดาห์( พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

การแข่งขันของตลาดค้าปลีกในประเทศไทย มีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการขยายตัวของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ไปยังทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม "ตลาดสด" ยังถือเป็นวิถีชีวิต ที่ยังอยู่คู่กับคนไทยในชุมชนต่างๆ และแม้ว่าจะมีตัวเลือกใหม่สำหรับการซื้อหาสินค้าจำเป็นเข้ามาในชีวิตประจำวัน

แต่ตลาดสด ยังคงได้รับความนิยมและยังอยู่ควบคู่กับชุมชนต่อไป เนื่องจากความแตกต่างของสินค้า ที่ประกอบด้วยความใหม่สด ราคาย่อมเยาว์ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย และความอิสระในการขายและการเลือกซื้อ

หนึ่งในตลาดสดที่อยู่รอด (และรุ่ง) คือ "ตลาดยิ่งเจริญ"

ตลาดยิ่งเจริญ ถือเป็นตลาดสดชั้นนำของไทย ปัจจุบันตลาดยิ่งเจริญมีพื้นที่ 30ไร่ มีเงินสะพัดประมาณ 7 พันล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 30 ล้านบาทต่อวัน มีจำนวนร้านค้าประมาณ 2,000 ร้าน มีที่จอดรถรองรับ 1,000 คัน ประกอบด้วย

...ศูนย์อาหารตลาดยิ่งเจริญ ที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง

...ครัวสลับสี เป็นศูนย์อาหารเตรียมไว้สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน

...ซูเปอร์มาร์เกต

...ตลาดสด

...ตลาดกลางค้าส่งยิ่งเจริญ

...ร้านค้าและบริการต่างๆ
ฯลฯ

ทำเลที่ตั้งนั้นก็อยู่ใกล้หน่วยงานราชการต่างๆ เช่น กองทัพอากาศ สถานีตำรวจนครบาลบางเขน สำนักงานเขต ฯลฯ โรงพยาบาลเซ็นทรัลเยนเนอรัล มหาวิทยาลัยนอร์ธกรุงเทพ โรงเรียนสยามบริหารธุรกิจ รวมถึงเป็นศูนย์กลางทางคมนาคมย่านสะพานใหม่

"ตลาดยิ่งเจริญ ถือเป็นตลาดที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักจากทั้งผู้ค้าขายและประชาชนทั่วไป และถือเป็นตลาดสดชั้นแนวหน้าของประเทศไทย สามารถแข่งขัน และยืนหยัดได้ในวงการค้าปลีก และนอกเหนือจากนโยบายการพัฒนาตลาดจนประสบความสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคแล้ว" ปริญญา ธรรมวัฒนะ ประธาน บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของตลาดยิ่งเจริญ เปิดเผย

ตลาดยิ่งเจริญไม่ได้มอง และทำเพียงเท่านั้น

ปริญญามองไปข้างหน้า และพยายามหาทางพัฒนาธุรกิจนี้อย่างเป็นระบบ

ล่าสุดจะขยายสาขาเพิ่ม พัฒนาบุคลากร (พ่อค้าแม่ขาย) สร้างระบบจัดซื้อกลาง ฯลฯ

บริษัทฯ มีเป้าหมายเพื่อ "ยกระดับบุคลากร" ภายในตลาด ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการต่อยอดวิชาชีพให้กับพ่อค้า-แม่ค้า ที่มีความถนัดในแต่ละด้าน แต่ยังขาดพัฒนาการเพื่อการแข่งขัน และขาดความรู้ในการบริหารจัดการอาชีพของตัวเองให้มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นแนวทางการลดทอนปัญหาทางด้านการเงินอันมาจากการบริหารที่ผิดพลาด จนทำให้สังคมไทย มีหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงได้จัดโครงการ "สร้างพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่"

ภายใต้งบประมาณ 15 ล้านบาทต่อปี เพื่อเปิดหลักสูตรวิชาชีพให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยกระดับความรอบรู้ทั้งด้านวิชาชีพ และการจัดการ โดยจะเปิดให้เรียนฟรี ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป

โดยเรียนกันใน "โรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ" บริเวณตลาดยิ่งเจริญ

ปริญญา กล่าวเสริมว่า สำหรับโครงการพัฒนาตลาดในอนาคต บริษัทฯ มีเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสและการมีส่วนร่วมของคู่ค้าหรือผู้เช่า โดยเชื่อมั่นว่าโรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ จะเป็นบันไดหนึ่งในการสร้างบุคลากรให้มีความพร้อม ในการพัฒนาตลาดในอนาคตร่วมกัน รวมทั้งสามารถแข่งขันกับค้าปลีกข้ามชาติ เพื่อความอยู่รอดของอาชีพพ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งผู้ผลิตในระดับชุมชนอีกหลายแขนง

นอกจากนั้นยังมีแผน "ขยายสาขา" ออกไปอีก โดยแผนงานในปี 2551 บริษัทฯ กำลังพิจารณาพื้นที่เพื่อพัฒนาตลาดแห่งใหม่ ให้เป็นแหล่งทางเลือกในจับจ่ายสำหรับชุมชนต่างๆ ในราคาที่เหมาะสม ในสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยมีแผนการพิจารณาพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยคาดว่า จะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท

ตลาดยิ่งเจริญนั้นมีอายุเกินครึ่งศตวรรษแล้ว

ในอดีตชาวบ้านมักเรียกกันติดปากว่า "ตลาดขี้เถ้า" เปิดกิจการขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2498 โดยมีคุณแม่สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ เป็นผู้ก่อตั้งตลาด ปัจจุบันมีอายุครบ 50 ปี (ปีพ.ศ.2548) เป็นน้องๆ ปากคลองตลาด เพียง 2 ปี มีขนาดพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 30 ไร่

ปริญญา ธรรมวัฒนะ รับอาสาเข้ามาเป็นผู้บริหารตลาดยิ่งเจริญ ด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

เขาตั้งเป้าในการพัฒนาเพื่อให้ตลาดยิ่งเจริญยั่งยืนเอาไว้ 7 ประการ (โดยจะทำให้ได้ภายใน 5 ปี)

1.เริ่มพัฒนาพื้นที่เดิมให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด 2. เพิ่มสินค้าให้หลากหลายครบวงจร 3. สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค โดยการรับรองของรัฐ 4. ช่วยแม่ค้าขายของ 5. ช่วยแม่ค้าซื้อของ 6. ส่งเสริมการลงทุนให้กับพ่อค้าแม่ค้า โดยยื่นขอในนามสมาคมตลาดสดไทย

และข้อสุดท้ายคือ นำตลาดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ได้คัดเลือกให้ตลาดยิ่งเจริญเป็น "ตลาดสดนำร่อง" ยังได้รับการโหวต จากประชาชนว่า ตลาดยิ่งเจริญแห่งนี้เป็น "ตลาดมาตรฐานอับดับ 1 ของเมืองไทย"

ตลาดยิ่งเจริญ จะยิ่งวันยิ่งเจริญขึ้น อย่างยั่งยืนหรือไม่?

สิ่งที่ปริญญาทำ จะให้แนวทางแก่การพัฒนาตลาดสด (หรือธุรกิจอื่น ๆ) อย่างไร?

บทวิเคราะห์

ในอดีตเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ถ้าบอกว่าเจ้าของตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ จะมีความคิดแบบนี้เห็นจะไม่มีใครเชื่อ เพราะตลาดแห่งนี้รุ่งเรืองมาก ใครๆ ก็อยากมาค้าขาย ลูกค้าต่างบ่ายหน้ามาที่นี่กันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ในรอบสิบปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงมโหฬาร การเกิดขึ้นของตลาดไทอันใหญ่โตโอฬาร ก็ถือเป็น Business Model ของตลาดแบบหนึ่ง ซึ่งใช่ว่าทุกคนจะทำได้ และทำได้ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับทำเล จังหวะและการยอมรับของลูกค้า

การไหลบ่าเข้ามาของโมเดิร์นเทรด ทั้ง บิ๊กซี แมคโคร โลตัส (ซึ่งมีตลาดสดโลตัสด้วย) คาร์ฟูร์ ที่มีทุกสรรพสิ่งครบครัน ทั้งของสด ของคาว ฯลฯ สารพัดอย่าง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางที่นิยมซื้อของที่ถูกสุขลักษณะ ราคาถูก มากกว่าจะมาเดินเปียกแฉะในตลาดสด

แม้กระนั้นตลาดสดก็ยังคงอยู่ได้ เพราะลูกค้าก็มีหลาย Segment ก็ยังมีบาง Segment ที่ยังอยากจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดสดอยู่นั่นเอง

ทว่าสำหรับเจ้าของตลาดสดนั้น ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้

Jack Welch อดีตซีอีโอบันลือโลกแห่งยีอีกล่าวว่า...

"ถ้าอัตราการเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กร เร็วกว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร องค์กรนั้นอาจล่มสลาย"

ในกรณีตลาดยิ่งเจริญ อยู่นิ่งๆ มานาน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ทั้งๆ ที่อัตราการเปลี่ยนแปลงภายนอกองค์กร คือ โมเดิร์นเทรดนั้น ไหลบ่าสู่เมืองไทยตั้งแต่เมื่อ 18 ปีก่อน คือแมคโคร จากนั้นอีกหลายปีต่อมา โลตัส คาร์ฟูร์ บิ๊กซี ก็ตามมาเป็นพรวน

หลังจากปล่อยให้ยักษ์ค้าปลีกเริงร่าเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้ารุ่นใหม่ไปมากแล้ว หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็หมายความว่า Segment คนรุ่นใหม่ที่จะเดินตลาดนั้นจะหดตัวอย่างรวดเร็ว

ลูกค้าของตลาดยิ่งเจริญมีสองประเภท หนึ่ง-พ่อค้าแม่ค้าที่เช่าแผง สอง-ประชาชนที่เดินจ่ายตลาด ซึ่งสองกลุ่มนี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หากได้พ่อค้าแม่ขายที่ไม่มีคุณภาพ คนจะเดินตลาดน้อยลง เพราะมีทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะโมเดิร์นเทรดที่ทดแทนกันได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น การเปิดโครงการ "สร้างพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่" ขึ้นมานั้นก็เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัยเพื่อเรียกคนรุ่นใหม่ให้ซื้อหาในตลาดสดเหมือนเดิม เมื่อพ่อค้าแม่ค้าอยู่ได้และอยู่ดี ตลาดยิ่งเจริญก็จะอยู่ได้เช่นกัน

ซึ่งก็หมายความว่าเจ้าของตลาดยิ่งเจริญมองว่าพ่อค้าแม่ค้า คือ "หุ้นส่วนธุรกิจ" ของตน แทนที่จะมองงว่าเป็นผู้เช่าแผงเท่านั้น

และการเปิดโครงการนี้ก็เป็นการทำ CRM แบบหนึ่งนั่นเอง

ส่วนการเปิดตลาดใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ควรทำมาตั้งนานแล้ว เพราะตลาดสดไม่มีวันตาย แต่จะหดตัวมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่ความสามารถในการจัดการตลาด

การที่ ตัน โออิชิ เปิดตลาดกล้วยๆ ข้างห้างโลตัสที่ลพบุรี แสดงให้เห็นว่าโอกาสตลาดสดยังมีอยู่

และไม่จำเป็นต้องกลัวโลตัส

ขอให้แน่จริงเถอะ!!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.