3 บลจ.ตั้งFIF ลุยหุ้น BRIC มองโตสวนกระแสซับไพรม์ได้


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แอสเซ็ทพลัส -ไอเอ็นจี สบช่องเห็นโอกาสการลงทุนในกลุ่ม BRIC แนวโน้มสดใส เหตุมีการบริโภคภายในแข็งแกร่ง เติบโตได้สวนกระแสแม้จะมีซับไพรม์ เรียงคิวเปิด FIF กองใหม่ช่วงชิงลูกค้า ขายจุดต่างวิธีการบริหาร-การกระจายพอร์ตการลงทุนที่ไม่ซ้ำกัน

ถ้าหากจะพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวแล้ว คงไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะโดดเด่นไปกว่า 4 สหายดาวรุ่งแห่งยุคในตระกูล BRIC อันได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และ จีน

ด้วยเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก มีทรัพยากรธรรมชาติที่มั่งคั่ง มีการลงทุนใหม่อยู่ในระดับสูง สามารถพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศได้ ส่งผลให้ GDP ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มว่ายังจะสามารถโตต่อไปได้อีก แม้ในยามที่ลุงแซมจะโดนโรคซับไพรม์รุมเร้าก็ตาม

เมื่อเศรษฐกิจมหภาคดีก็ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจจุลภาคสดใสตามไปด้วยเช่นกัน เห็นได้จากกองทุนรวมที่เข้าไปลงทุนใน 4 ประเทศนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าไปลงทุนในภูมิภาคอื่นของโลก ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มประเทศ BRIC รวมแล้วกว่า 100 กอง สำหรับในประเทศไทยก็มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ที่เปิดตัวกองทุนประเภทนี้แล้วถึง 3 กองในรอบระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ไม่ว่าจะเป็น บลจ.พรีมาเวสท์ , บลจ.แอสเซ็ทพลัส และ บลจ.ไอเอ็นจี

ลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส กล่าวว่า บริษัทได้เสนอขาย“กองทุนเปิดแอสเซทพลัสบริค(ASP-BRIC)"กองทุนต่างประเทศประเภทกองทุนรวมหน่วยลงทุน หรือ Feeder Fund ที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Templeton BRIC Fund มูลค่าโครงการ 1.7 พันล้านบาท และเปิดให้จองซื้อขั้นต่ำ 5 พันบาท

สำหรับกองทุนเปิดแอสเซทพลัสบริค (ASP-BRIC) บริหารจัดการโดย Templeton Asset Management กองทุนดังกล่าวเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน (รวมไต้หวันและฮ่องกง) ที่มีพื้นฐานดี และมีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน มีมูลค่าตลาดใหญ่และสภาพคล่องสูง และเน้นกระจายการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ (Well Diversify) ภายใต้การวิจัยแบบ Bottom-Up Approach เน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและการประเมินมูลค่าเพื่อการลงทุนระยะยาว ทำให้กองทุนที่ Templeton บริหารสามารถคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีความแข็งแกร่งในธุรกิจและมีศักยภาพในการเติบโต และมีผลการดำเนินงานกองทุนที่ดีอย่างต่อเนื่อง

"ปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) กำลังเป็นที่จับตามองและยังคงเป็นที่สนใจในการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้นำเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นกลุ่มประเทศหลักที่จะผลักดันเศรษฐกิจของโลก โดยในปีหน้าคาดว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของกลุ่ม BRIC เฉลี่ยจะอยู่ที่ 9% ซึ่งจังหวะนี้ การเลือกลงทุนในหุ้นคุณภาพหรือมีความแข็งแกร่งในธุรกิจ และมีศักยภาพในการเติบโตจะให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ "

ด้าน บลจ.พรีมาเวสท์ เพิ่มพล ประเสริฐล้ำ กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศBRIC ซึ่งประกอบด้วยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน จะเห็นว่ากลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสูงต่อเนื่อง ทั้งการขยายตัวด้านการค้าและอุตสาหกรรม ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำคาดการว่าในอนาคตกลุ่มประเทศ BRIC ดังกล่าวอาจมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศในกลุ่ม G6 ได้

เชื่อว่าจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องของกลุ่มประเทศ BRIC จะสร้างโอกาสความมั่งคั่งได้ รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวสูงในโลก ดังนั้นทาง บลจ.จึงได้เปิดขายกองทุนเปิดพรีมาเวสท์ (ไทยแลนด์) บริค สตาร์ ฟันด์ หรือ PBS มูลค่าโครงการ 2 พันล้านบาท ซึ่งเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Allianz-dit BRIC Stars กองทุนนี้จะเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่สามารรับความเสี่ยงในระดับสูงได้ โดยเปิดจองซื้อขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท

ส่วนกรณีที่ บลจ.แอสเซท พลัส ได้ขายกองทุนเปิด แอสเซทพลัสบริค (ASP-BRIC) ที่ไปลงทุนในประเทศเกิดใหม่เหมือนกัน แต่ลงทุนในกองทุน Templeton BRIC Fund ซึ่งบริหารจัดการโดย TempletonAsset Management ซึ่งเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน(รวมไต้หวันและฮ่องกง) นั้นมองว่ามีความแตกต่างเนื่องจากกองทุนเทมเพิลตันลงทุนในจีน 33.6% บราซิล 25.8%รัสเซีย 22.9% และอินเดีย 10.2% ในขณะที่กองทุน PBS ลงทุนในบราซิลเป็นหลัก 28.2% อินเดีย 24.5% และจีน 19.8% โดยได้มีการลดน้ำหนักการลงทุนในประเทศจีนลง เนื่องจากมี P/E สูง และราคาแพงจึงปรับพอร์ตลงทุน ซึ่งทำให้ทั้งสองกองทุนนี้มีพอร์ตการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน

ขณะที่ มาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย)กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานของกลุ่ม BRIC ถือได้ว่ามีการบริโภคภายในที่แข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะจีนซึ่งมีน้ำหนักเกือบครึ่งหนึ่งของพอร์ตการลงทุน

"แม้จะมีเรื่องซับไพรม์กระทบบ้าง แต่อย่างไร GDP จีนก็คงโตไม่ต่ำกว่า 8%ต่อปี ถึงจะมีหรือไม่มีโอลิมปิคหรืองานเอ็กซ์โป จีนก็ยังคงโตไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนบราซิล รัสเซีย และอินเดียก็มีอัตราการเติบโตที่มั่นคงเช่นกัน"

สำหรับข้อแตกต่างของ กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย บริค 40 กับ 2 กองก่อนหน้านั้นคือ กองของไอเอ็นจีเป็นกองแบบ Passive Fund ที่จะลงทุนตาม Index โดยซื้อกองที่บริหารจัดการโดย State Street Gobal Advisors ลงทุนใน ETF ของ S&P อีกทอดหนึ่ง ขณะที่กองของพรีมาเวสท์และแอสเซทพลัสมีลักษณะเป็น Active Fund ไม่ได้อิงสัดส่วนลงทุนตามดัชนี

สำหรับกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย บริค 40นี้ มูลค่าโครงการ 5 พันล้านบาท และเปิดให้จองซื้อขั้นต่ำ 2 พันบาท

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ 3 บลจ.ในประเทศไทยแข่งกันออกมาเปิดตัวกองทุน FIF ใหม่ที่ลงทุนหุ้นในกลุ่มประเทศ BRIC ในเวลาไล่เลี่ยกัน...แน่นอนหละว่าไม่มีใครปารถนาความเสี่ยง แต่ในอีกด้านหนึ่ง นี่คือโอกาสและความท้าทายที่จะสร้างผลตอบแทนในระดับที่สูงให้ผู้ถือหน่วยได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.