เวิลด์แบงค์หนุนแบงก์จีนปล่อยกู้ SMEs ศุนย์วิจัยกสิกรแนะธนาคารไทยร่วมวง!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เวิลด์แบงค์จับมือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน วางระบบปล่อยกู้ภาค SMEs – MSEs จีน หวังสร้างศก.จีนแข็งแกร่ง ดันจีดีพี-การจ้างงานเพิ่ม เบื้องต้นพบ NPL น้อยกว่า 1% เตรียมขยายระบบกู้เงินรายย่อยสู่ธนาคารพาณิชย์ทั่วแดนมังกร ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ธนาคารของไทยยังมีโอกาสเจาะตลาด SMEsจีน แต่ต้องเร่งสปีดก่อนจีนวางระบบเสร็จ

หลังจากจีนเปิดประเทศ และเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นหลายแห่ง เพื่อทดลองทำเศรษฐกิจก่อนเข้าสู่ทุนนิยมแบบจีน ถือเป็นยุคที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจยิ่ง เพราะเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศ และมีการเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ คนจีนหลายคนก็เริ่มจะหันมาทำธุรกิจกันมากขึ้น จนถึงวันนี้ถือว่าจีนประสบความสำเร็จจนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีมีจำนวนไม่น้อย และคนจีนอีกจำนวนมากก็ได้เริ่มทำธุรกิจของตัวเอง ทำให้เมืองจีนทุกวันนี้เต็มไปด้วยธุรกิจเอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมากมาย แต่หนทางของเอสเอ็มอีของจีนก็ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ!

MSEs จีนเข้าถึงเงินกู้ยาก

มร.Jun Wang, เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านการเงินสาธารณรัฐประชาชนจีน ธนาคารโลก หรือ World Bank เปิดเผยในงานประชุม 34th International Small Business Conference (ISBC) พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์พิเศษ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ในประเทศจีนมีธุรกิจเอ็มเอสอี (MSEs: Micro and small enterprises) และธุรกิจเอ็สเอ็มอี โดย MSEs เป็นธุรกิจที่มีขนาดเล็กกว่าธุรกิจเอ็สเอ็มอีซึ่งมีมีอยู่จำนวนมาก คาดว่าในอนาคตจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ แต่ในความเป็นจริงทุกวันนี้ MSEs ในจีนกลับไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักจากภาคการเงินของรัฐบาลจีน

ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันมากในแวดวงการเงินของจีนเกี่ยวกับการให้เงินกู้ MSEs คือ มีการแบ่งแยกธุรกิจขนาดเล็กออกจากธุรกิจขนาดใหญ่อย่างสิ้นเชิง และมองว่าการให้เงินกู้กับ MSEs จีนนั้นมีความเสี่ยงสูง และต้องใช้เงินจำนวนมากในการบริหารจัดการการเงินส่วนนี้ ทำให้ธนาคารจีนใหญ่ ๆ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ของจีนมองว่าการให้เงินกู้ MSEs จีน ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน รวมทั้งธนาคารในจีนเกือบทั้งหมดยังขาดเทคโนโลยีและข้อมูลในการให้เงินกู้ยืมกับ MSEs อย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมา MSEs จีนจึงเติบโตมาด้วยการพึ่งพาการเงินของตัวเอง ยืมเงินจากครอบครัว เพื่อน และกู้เงินนอกระบบมาดำเนินการ และต้องพบกับปัญหาคือคู่แข่งที่มีจำนวนมาก และถูกละเลยการช่วยเหลือจากภาครัฐ

“ สถาบันการเงินของจีนยังเจาะเข้าไปสู่ภาค MSEs ไม่ได้เพราะยังขาดระบบการกู้ยืมเงินให้กับคนกลุ่มนี้ รวมทั้งยังไม่สามารถทำระบบประมวลผลได้ จึงมักจะพูดว่านโยบายภาครัฐบาลไม่แข็งแกร่ง และโดยตัวของสถาบันฯ ไม่มีความรู้ด้านการให้ MSEs กู้ยืมเงินได้ บางแห่งถึงแม้จะให้กู้ได้ แต่ก็คิดดอกเบี้ยสูง คือเริ่มแรกมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 30% แม้จะลดลงมาแล้วก็ยังอยู่ที่อัตราดอกเบี้ย 10% ซึ่งสูงเกินความสามารถของ MSEs ที่จะส่งเงินคืนได้ในระยะยาว”

เวิลด์แบงค์จับมือแบงค์จีนวางระบบเงินกู้ SMEs

ขณะเดียวกันในเอเชียมีสถาบันการเงินบางแห่งที่ดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อเงินกู้กับเอสเอ็มอี และดำเนินการประสบความสำเร็จ คือมีผลตอบแทนกลับมาสู่สถาบันการเงินนั้นๆ มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้นักการเงินในจีนเกิดการอภิปรายกรณีที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย รัฐบาลจีนจึงได้ทำโครงการร่วมกับเวิลด์แบงค์ และ KfW (กองทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลเยอรมัน) ขึ้นมาโครงการหนึ่ง โดยให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน (China Development Bank) เป็นตัวดำเนินการหลัก เพื่อหาวิธีให้เงินกู้กับ SMEs หรือ MSEs จีน โดยมีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการคือ

ประการแรก การเงินสำหรับภาค SMES ของจีนจะต้องให้มีการปรับมากที่สุดเพื่อสามารถให้สินเชื่อไปถึงคนที่ต้องการยืมเงิน

ประการที่สอง ในการให้สินเชื่อจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงระยะยาว กล่าวคือ ต้องมีแหล่งเงินทุนที่ภาค SMEs และ MSEs ของจีนสามารถกู้ยืมเงินได้ในระยะยาว

“ทุกคนเห็นด้วยว่าต้องมีการส่งเสริม MSEs เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพราะ SMEs และ MSEs จะเป็นตัวหลักสำหรับรายได้ประชาชาติของจีนและเป็นตัวเพิ่มจีดีพีตัวสำคัญให้กับจีนต่อไป ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการจ้างงาน ซึ่งส่วนนี้ต้องทำให้แข็งแกร่ง”

โดยโครงการร่วมมือนี้ ทางเวิร์ดแบงค์ได้ให้เงินกู้ยืมกับจีนจำนวน 100 ล้านบาท โดย 95% ใช้เพื่อให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีนสุ่มเลือกธนาคารพาณิชย์ของจีนเพื่อให้เงินกู้กับ MSEs ที่ผ่านการพิจารณา อีก 5% ใช้สำหรับเทคโนโลยีและการจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินนานาชาติเพื่อให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในการให้เงินกู้กับภาค MSEs

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนั้นจะเริ่มจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีนเลือกธนาคารพาณิชย์ ในพื้นที่ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการ MSEs ได้มากกว่าเพื่อทำการเลือกผู้ประกอบการ MSEs ที่จะให้กู้เงิน โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินจะช่วยวางระบบการให้เงินกู้และการคืนเงินให้ธนาคารพาณิชย์นั้นๆ

ความซื่อสัตย์ปัจจัยแรกพิจารณาให้กู้เงิน

หลักสำคัญของการพิจารณา นอกจากจะมองถึงความสามารถในการใช้เงินคืนเป็นหลักแล้ว จะมีการใช้หลักของความเต็มใจในการคืนเงินมาพิจารณาด้วย โดยอันดับแรกจะสอบถามข้อมูลจากตัวผู้กู้ จากนั้นจะมีการสอบถามไปที่เพื่อนร่วมงาน ญาติ เพื่อพิจารณาความซื่อสัตย์ของตัวผู้กู้เป็นอันดับแรก

“ถ้าเขาบอกประวัติผิด พูดไม่ตรงกัน ก็จะไม่มีการอนุมัติเงินกู้ให้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จะไปเยี่ยมตามที่ทำงานและที่บ้าน ถ้ามีการแจ้งที่อยู่ผิดก็จะถอนการขอเงินกู้ทันทีเช่นกัน”

หากพบว่าผู้กู้มีข้อมูลเชื่อถือได้ก็จะมีการเริ่มให้เงินกู้ โดยครั้งแรกจะมีการให้เงินกู้ในจำนวนน้อย แต่หากมีการใช้คืนอย่างตรงเวลาและจำนวนเงินที่แน่นอน ก็จะมีการให้กู้มากขึ้นในครั้งที่ 2 เพื่อตรวจสอบความตรงต่อเวลาและจำนวนเงินคืนอีกครั้งหนึ่งก่อนจะปล่อยกู้ในครั้งที่ 3 และ 4 ต่อไป ซึ่งแต่ละครั้งจะมีการอนุมัติเงินกู้ให้มากขึ้นด้วย ในส่วนของพนักงานสินเชื่อก็จะมีการอบรมประเมินผลเป็นรายสัปดาห์ด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

“ผลคือประสบความสำเร็จมาก เชื่อไหมว่าเมื่อมีการวางระบบให้ธนาคารต่างๆ ของจีนไปในทางเดียวกันแล้ว ผลที่ได้กลับมาคือในจำนวนนี้มี หนี้เสียหรือ NPL แค่ 0.3% น้อยกว่าร้อยละ 1 เสียอีก”

โดยการพัฒนาขั้นต่อไปคือในกระบวนการกู้ยืมเงินของภาค MSEs จีนต่อไปนั้นจะต้องทำได้สะดวก รวดเร็วและยั่งยืนมากขึ้น โดยการทำงานอย่างเป็นระบบก็ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารมาก และระยะเวลาให้กู้ไม่ควรนานกว่า 1 สัปดาห์ ถ้าเป็นไปได้จะมีการพัฒนาให้กู้ยืมเงินได้ในระยะเวลาแค่ 2-3 วันเท่านั้น

ชี้ช่องโอกาสธนาคาร-SMEs ไทย

อย่างไรก็ดีเมื่อมองในแง่โอกาสของธุรกิจธนาคารไทย และภาคเอสเอ็มอีไทยที่มุ่งไปเจาะตลาดจีนนั้น ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ นักวิจัยอาวุโส (เอเชียตะวันออก) จีน-ญี่ปุ่น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาค SMEs จีนมีปัญหาการกู้เงินยาก เพราะธนาคารจีนมองว่ามีความเสี่ยงสูง ธนาคารใหญ่ๆ ของไทยทั้งธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทยจึงได้เข้าไปเจาะตลาด SMEs จีน โดยเน้น SMEs ที่ต้องการสินเชื่อสูง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการปล่อยกู้จริงๆ แล้วทำได้ยาก เพราะปัญหาของ SMEs จีนที่สำคัญคือมีระบบบัญชีที่ไม่ดีมากนัก ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้การประเมินความเสี่ยงทำได้ยาก ขนาดบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นหลายบริษัทยังมีข้อมูลด้านการเงินที่ไม่ชัดเจน

ขณะนี้เมื่อจีนกำลังพัฒนาการกู้เงินให้กับภาค SMEs แนวโน้มของธุรกิจ SMEs ในจีนก็มีโอกาสเติบโตได้สูง ซึ่งเมื่อ SMEs จีนเติบโตก็จะส่งทั้งผลบวกและผลลบกับไทย ผลบวกคือประชาชนจีนจะมีอำนาจซื้อสูงขึ้น ซึ่งมีการบริโภคมากขึ้น ส่วนผลลบคือการแข่งขันในธุรกิจ SMEs ในจีนยิ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ดีมองว่าใน 2-3 ปี นี้ก่อนที่จีนจะวางระบบกู้เงินเสร็จ โอกาสของธุรกิจธนาคารไทยในการปล่อยกู้ให้ SMEs จีนยังเป็นโอกาสที่ดี แต่ต้องเน้นไปในพื้นที่ที่มีคู่แข่งน้อย คือในภาคกลางกับภาคตะวันตกของจีน รวมทั้งการปล่อยกู้ให้ SMEs ไทยที่จะไปเจาะตลาดจีนด้วย จึงต้องเลือกเมืองที่มีคนไทยเข้าไปทำธุรกิจด้วย

ส่วนธุรกิจ SMEs ไทยโดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ประสบการณ์และมีความชำนาญ เช่นธุรกิจภัตตาคาร และการจัดการโรงแรมทุกระดับ ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ดีที่จะไปเจาะตลาดจีนเช่นกัน เพราะไทยมีความชำนาญด้านธุรกิจท่องเที่ยวดีกว่าจีน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.