"ชีวิตต้องสู้ของ 4 พี่เบิ้ม"

โดย นฤมล อภินิเวศ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

จากเงินออมีละเล็กละน้อยของเงินเดือนเด็กทำบล็อกและถ่ายฟิล์มทำแม่พิมพ์ในโรงพิมพ์ จึงได้รถมอเตอร์ไซด์เวสป้ามาขับขี่

พอบรรลุนิติภาวะแล้วก็เริ่มบุกบั่นสร้างกิจการแยกสีเป็นของตนเอง เวสป้าก็พลอยหมดอายุไข ด้วยเงินเก็บหอมรอบริบ 5,000 บาท จึงได้รถฮิลแมน แอดแวนเจอร์ปี 2499 มาแทน

ด้วยนิสัยขี้ร้อนและหยุดเครื่องพักผ่อนบ่อยของฮิลแมน ประจวบกับพอมีเงินกำไรจากงานแยกสีเข้ามาบ้าง ทำให้เขาเปลี่ยนมาใช้ดัทสันเชอรี มือสอง

จากนั้นเขาเปลี่ยนมาใช้มาสดา เปอโยต์ โอเปิล เบนซ์ จนล่วงเลยมาถึงอายุย่างเบญจเพสของบริษัท เขาเลือกใช้รถจากัวร์

การเลือกใช้รถของพีระ แห่งบริษัทเจ. ฟิล์ม โปรเซสข้างต้น มีนัยถึงการเติบโตของธุรกิจแยกสีทำแม่พิมพ์จากที่เคยมีเงินซื้อรถมอเตอร์ไซด์ราคาไม่กี่หมื่น จนกระทั่งมีเงินมากพอสำหรับรถราคาเป็นล้าน คงไม่ห่างไกลจากพี่เบิ้มของวงการคนอื่นๆ คือ ปธาน บริษัทกนกศิลป์ ปรีดา บริษัท 71 ฟิล์ม อินเตอร์สแกน และธวัชชัย บริษัทโอเชี่ยนฟิล์ม

ปธาน หวังธรรมบุญ ก่อนจะมาถึง ณ จุดนี้ เขาเคยเป็นเด็กรับใช้คอยวิ่งซื้อการแฟให้เถ้าแก่โรงพิมพ์ควบคู่กับการฝึกหัดทำบล็อกแม่พิมพ์ในยุคที่ยังเป็นการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรส พอเก่งขึ้นก็เรียนรู้ขั้นตอนต่อไปคือการถ่ายกระจก

พออายุ 20 ปีเศษ หรือ 31 ปีที่แล้วได้เปิดร้านเล็กๆ ย่านหัวลำโพงรับบริการถ่ายกระจกและทำแม่พิมพ์ เมื่อวงการพิมพ์เปลี่ยนเป็นระบบออฟเซ็ตจึงเปลี่ยนเป็นการถ่ายฟิล์มทำแม่พิมพ์ และขยายกิจการเปิดร้านใหม่ที่ถนนบรรทัดทอง ใช้ชื่อว่ากนกศิลป์ฟิล์มนานกว่า 20 ปี จึงเปลี่ยนรูปเป็นบริษัทกนกศิลป์ (ประเทศไทย) จำกัด จนมาถึงต้นปีที่แล้วย้ายมาอยู่ที่อาคารสร้างใหม่ในซอยเกษมสันติ์ 2

พีระ ประยุกต์วงศ์ เปิดบริษัทเจ. ฟิล์ม โปรเซสหลังปธานตั้งกนกศิลป์ฟิล์มถึง 9 ปี ที่ซอยพญานาคเป็นตึกแถว 2 คูหา 14 ปีให้หลังเขาย้ายบริษัทมาที่อาคารใหม่ 7 ชั้น บนถนนรางน้ำ

พีระมีลักษณะของคนไฟแรงต้องการประสบความสำเร็จสูง เขาหนีออกจากบ้านเมื่อจบประถม 7 เพราะว่าไม่อยากเป็นเด็กขายเต้าทึงตามความต้องการของพ่อ จากนั้นเขาเลือกทำงานที่โรงพิมพ์ทันทีด้วยเหตุผลง่ายๆ ของเด็กวัย 14 ขวบคือแม้แต่คนจนที่สุดก็ต้องซื้อตำราเรียน ฉะนั้นงานโรงพิมพ์ย่อมเป็นกิจการที่ไม่ตายง่ายๆ

เขาเรียนรู้งานโรงพิมพ์ไวมาก ได้เลื่อนจากเด็กฝึกหัดเป็นหัวหน้าภายในปีเดียวจากปรัชญาส่วนตัวว่าต้องรู้จักบริหาร และฉกฉวยโอกาสทำให้เขาเป็นเจ้าของกิจการแยกสีในวัยเพียง 20 ปีเศษ โดยเช่าซื้อเครื่องมือทั้งหมดจากเจ้านายที่มีแผนยกเลิกแผนกแยกสี

พีระบอกว่าเขาเป็นคนทำงานประเภทที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนบริษัททุกๆ 5 ปี แผนงานของเขาเกิดขึ้นนับตั้งแต่ก้าวแรกของการเป็นเจ้าของกิจการเอง

5 ปีแรก เขาถือว่าเป็นระยะตั้งไข่ เป็นช่วงการสะสมทุนทำงานหนักเพราะเขาเริ่มจากศูนย์เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในวงการ ฉะนั้นการจะได้เงินเข้ามาก็คือการต้องใช้แรงงานและมันสมองของตนเองเป็นทุน

ช่วงปีที่ 2 เป็นช่วงที่วงการแยกสีก้าวสู่ยุคใหม่ คือการใช้เครื่องคัลเลอร์สแกนเนอร์ เงินสะสมจาก 5 ปีแรกทำให้เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มรุ่นแรกที่มีเงินทุนสั่งซื้อเครื่องสแกนเนอร์ได้ เริ่มด้วยบริษัท 71 ฟิล์มก่อน บริษัทเจ. ฟิล์ม ไล่ตามมา ตามติดด้วยบริษัทกนกศิลป์ หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี ร้านอื่นๆ จึงระดมซื้อกันมากขึ้น

พอมาช่วงที่ 3 และ 4 เขาคิดเรื่องการขยายตลาดไปต่างประเทศ เขาตระเวนรอบโลก 3 ปีติดกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524-2526 และมาสำเร็จเอาเมื่อปีที่ 3 มีผลให้ต่อมาเกิดการร่วมมือกับกรมพาณิชย์สัมพันธ์ออกงานบุ๊คแฟร์ในประเทศต่างๆ

มาถึงช่วงที่ 5 กินเวลาถึงปี พ.ศ. 2537 เขาเริ่มการบริหารสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบและริเริ่มโครงการใหม่ที่สร้างความงงงวยให้กับคนในวงการ 2 เรื่องคือ เรื่องการเปิดโรงพิมพ์ และสองการยื่นเรื่องของจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

พี่เบิ้มคนต่อมา ปรีดา เพชรพันธุ์ ไต่เต้าจากเด็กฝึกงานเช่นเดียวกัน ทำทุกอย่างตั้งแต่เป็นช่างเขียนตัวหนังสือ นามบัตร ทำบล็อก เป็นช่างประกอบฟิล์ม ถ่ายฟิล์มทำแยกสีจนรู้ครบกระบวนแล้ว มาเปิดบริษัท 71 ฟิล์ม อินเตอร์สแกน ในปีที่ใช้ตั้งชื่อบริษัท คือ ปี ค.ศ. 1971 หรือ พ.ศ. 2514 ซึ่งเกิดหลังจากเกิดบริษัทเจ. ฟิล์ม โปรเซส 1 ปี ร้านแรกของเขาอยู่ซอยวัดดอน แถบบางรัก เพียง 3 ปีผ่านไปเขาย้ายมาอยู่ที่ซอยสามพี่น้อง ถนนนเรศจนถึงทุกวันนี้

ระบบการบริหารงานของปรีดาเข้าทำนองเดียวกับปธานคือมีลักษณะที่ค่อยๆ โต ค่อยๆ ขยายเมื่อเห็นลู่ทางและพร้อมเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ช่วงรอยต่อของการบริหารแบบครอบครัวสู่มืออาชีพกินเวลานานพอสมควร และยังไม่คิดเรื่องการตั้งโรงพิมพ์หรือการเข้าตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด

ส่วนธวัชชัย เตชะวิเชียร กับการเกิดบริษัทโอเชี่ยนฟิล์มเป็นเรื่องที่เหนือความคาดคิด และใช้เวลาสั้นมากในการขยายธุรกิจ

ธวัชชัยเรียนรู้การทำบล็อกแม่พิมพ์จากพ่อ ซึ่งมีร้านชื่อว่าเซ็นเตอร์บล็อกในระยะที่เกิดเซ็นเตอร์บล็อกเป็นช่วงที่คัลเลอร์สแกนเนอร์เพิ่งเข้ามาเมืองไทย แต่เนื่องจากทุนน้อยธวัชชัยจึงไม่สามารถขยายงานด้วยการซื้อเครื่องดังเช่นร้านอื่นๆ

ต่อมาเมื่อน้องๆ โตขึ้นเรียนจบกันบ้างแล้ว เซ็นเตอร์บล็อกก็มีโอกาสซื้อเครื่องสแกนเนอร์แยกสีและเปลี่ยนชื่อร้านเป็นเซ็นเตอร์ฟิล์ม ส่วนใหญ่รับงานแยกสีประเภทหนังสือพิมพ์เพราะการพัฒนาฝีมือยังไม่เทียบเท่าร้านเก่าแก่อย่างเช่นกนกศิลป์

หลังจากเกิดเซ็นเตอร์ฟิล์มได้ 7 ปี น้องชายชื่อกำชัยเปิดร้านใหม่ชื่อว่า ออฟไซด์ฟิล์ม และน้องอีกคนก็เปิด ซี.ที. สแกนเนอร์งานหลักก็ยังเป็นประเภทหนังสือพิมพ์

พอสิ่งพิมพ์สีเริ่มบูมขึ้น หนังสือพิมพ์สอดสีมากขึ้น งานก็มากขึ้นแต่กำลังของการผลิตไม่มากพอที่จะรับมือ จึงเกิดความคิดรวมตัวเซ็นเตอร์ฟิล์มกับออฟไซด์ฟิล์มเป็นบริษัทโอเชี่ยนฟิล์มเมื่อกลางปี พ.ศ. 2532 และขอซื้อตึกจาก บริษัทอารีซีสเท็มส์ที่ถูกไฟไหม้เมื่อปี พ.ศ. 2531 เป็นที่ตั้งของบริษัท

ปีต่อมาธวัชชัยติดตั้งเครื่องไฮเทคเพิ่มขึ้น และมีการจัดงานเปิดตัวบริษัทโอเชี่ยนฟิล์ม ร่วมกับบริษัทโวตร้าตัวแทนจำหน่ายเครื่องประกอบหน้าและตกแต่งฟิล์มยี่ห้อไซเท็กซ์ในประเทศไทย เป็นการเปิดตัวที่ประสบความสำเร็จมาก เพราะหลังจากนั้นชื่อของบริษัทโอเชี่ยนฟิล์มก็เป็นที่รู้จักในวงการ โดยเฉพาะบริษัทเอเจนซีและหนังสือพิมพ์

ในขณะนี้บริษัทโอเชี่ยนฟิล์มเป็นบริษัทเดียวที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด น้องๆ 6 คนรวมธวัชชัยพี่ใหญ่เป็น 7 คน ต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนคืนละคนดูแลบริษัทถึงเช้า

ธวัชชัยและกำชัยยอมรับอย่างเต็มปากว่าเป็นการทำงานที่เหนื่อยและเครียดมากจนบางครั้งต้องหนีห่างบริษัทไปสักพักหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้าที่จะใช้เครื่องไซเท็กซ์งานไม่เคยมากจนหัวหมุนขนาดนี้

การเกิดของบริษัทแยกสีทำแม่พิมพ์ของทั้ง 4 บริษัท แม้ว่าจะต่างรุ่นต่างปีกันมากบ้างน้อยบ้างแต่กลับมีความคล้ายคลึงของจุดเริ่มต้นและการเติบโต คือเริ่มจากการจับเสือมือเปล่าแล้วค่อยๆ สะสมทุนเพื่อลงทุนเพิ่มขึ้น

ก็คงต้องดูกันต่อไปว่าหลังจากยุคจากัวร์แล้วจะเข้าสู่ยุคขับขี่ยวดยานอะไรต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.