ธ.ก.ส.ระดมเงินฝากดอกเบี้ย2.5% ปลอดภาษี-ตั้งเป้า2หมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(27 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธ.ก.ส.เปิดโครงการเงินฝากดอกเบี้ยทันใจตั้งเป้ารับฝาก 2.1 หมื่นล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยปลอดภาษีทันที 2.5% พร้อมโชว์ผลงาน 7 เดือนปล่อยกู้ 1.23 แสนล้านบาท เงินฝากเพิ่ม 3.7 พันล้านบาท ยอมรับ IAS39 ดันเอ็นพีแอลพุ่ง 14.10% แต่ยังไม่กระทบผลดำเนินงาน ฟุ้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคชนบทปล่อยเงินกู้ผ่านโครงการต่างๆ ไปแล้วกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท

นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้เปิดโครงการเงินฝากดอกเบี้ยทันใจโดยมีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับผู้ฝากเงินทันที ณ วันที่ฝากเงินโดยเปิดให้ประชาชนที่สนใจสามารถฝากเงินในโครงการนี้ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550 สำหรับเงื่อนไขการฝากเงินไม่ต่ำกว่าครั้งละ 50,000 บาท โดยจ่ายดอกเบี้ยทันที่ 2.5% และไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

สำหรับผู้ที่ถอนเงินบางส่วนหรือถอนปิดบัญชีก่อนสิ้นสุดโครงการ ธ.ก.ส.จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการถอนในอัตรา 1.5% ของเงินต้นที่ถอนแต่ไม่ร้อยกว่า 500 บาท โดยธ.ก.ส.ตั้งเป้าที่จะระดมเงินฝากในโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 21,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินฝากนี้ไปสนับสนุนการสร้างงานในชนบทและส่งเสริมการปลูกพืชที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศต่อไป

ในขณะที่ผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2550 รอบ 7 เดือน(1เมษายน – 31 ตุลาคม 2550) จ่ายเงินกู้ไปแล้ว 123,347 ล้านบาท หรือ 44.275 จากเป้าที่ตั้งไว้ทั้งปี 278,600 ล้านบาท ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวจากปีที่แล้ว 5.46% ส่วนการชำระคืนเงินกู้เป้าหมายทั้งปีที่ 231,188 ล้านบาท ได้รับชำระคืนแล้ว 98,312 ล้านบาท หรือ 42.52% ของเป้าหมาย

ส่วนเงินฝากตั้งเป้าทั้งปีไว้ที่ 25,000 ล้านบาท ในรอบ 7 เดือนรับเงินฝากไปแล้ว 3,751 ล้านบาท มียอดเงินฝากคงเหลือ 492,870 ล้านบาท เมื่อเทียบกับสิ้นปีบัญชี 2549 (31 มีนาคม 2550 ) ซึ่งมียอดเงินฝาก 496,621 ล้านบาท ลดลง 3,751 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นส่วนราชการและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นถอนเงินในช่วงเบิกจ่ายเงินงบประมาณ

นายธีรพงษ์กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้นำเกณฑ์การรับรู้รายได้และการสำรองหนี้ตามมาตรฐานทางบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39(IAS39) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มาปรับใช้ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ค้างชำระเดิมในสิ้นปีบัญชี 2549 ซึ่งอยู่ในระดับ 4.19% ของสินเชื่อคงเหลือปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 14.10% ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 ซึ่งข้อดีจะทำให้ฐานะการสำรองหนี้ของธ.ก.ส.มีความเข้มแข็งและเป็นสากล

“การตั้งสำรองตามเกณฑ์ของธปท.ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธ.ก.ส. แต่การดำเนินงานในอนาคตธ.ก.ส.จะต้องเข้มงวดในเรื่องคุณภาพของสินเชื่อมากขึ้น โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับสินเชื่อเพื่อการลงทุนทางการเกษตรที่มีอนาคต เช่น สินเชื่อเพื่อพลังงานทดแทน ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน สินเชื่อเพื่อผลิตอาหารปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะเน้นการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ให้แก่เกษตรกร”

นายธีรพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ธ.ก.ส.ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการสร้างงานในชนบทโดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน 26,000 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 ธ.ก.ส.สามารถจ่ายสินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ไปแล้ว 16,257 ล้านบาท เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นต้น

สำหรับการจัดทำโครงการชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งเป้าหมายไว้ 999 ชุมชน ดำเนินการไปแล้ว 491 ชุมชน และโครงการกองทุนทวีสุขซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมพร้อมสร้างสวัสดิการแก่เกษตรกรในวัยชรา โดยมีเป้าหมายรับเกษตรกรเข้าเป็นสมาชิกในปี 2550 จำนวน 100,000 ราย ผลการดำเนินการจริงมีเกษตรกรสนใจสมัครเป็นสมาชิกกองทุน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2550 แล้วจำนวน 168,131 ราย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.