บัวหลวง-ใบโพธิ์ติด1ใน100สุดยอดแบงก์เอเชีย


ผู้จัดการรายวัน(27 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

The Asian Banker จัดอันดับธนาคารดีที่สุดของเอเชีย เผยแบงก์กรุงเทพ-ไทยพาณิชย์-สแตนชาร์ต เข้า 1 ใน 100 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยบัวหลวงพุ่งจากอันดับที่ 107 เป็น 70 ใบโพธิ์จาก 145 เป็น 95 ขณะที่กรุงศรีอยุธยา-ทหารไทย-ไทยธนาคารร่วงลงท้ายตาราง ระบุธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานได้ดี ห่วงยูโอบี-ทหารไทย-ไทยธนาคารต้นทุนดำเนินงานสูงเกินไป

นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า The Asian Banker ได้รายงานถึงการจัดอันดับธนาคารที่ดีที่สุดของเอเชีย 300 อันดับแรกโดยมีการจัดอันดับจาก 16 ประเทศในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ ธนาคารพาณย์ในประเทศไทยจำนวน 10 แห่งติดอันดับ 1 ใน 300 ธนาคารที่มีการจัดอันดับในครั้งนี้ พบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 3 แห่งติดอันดับ 1 ใน 100 เป็นครั้งแรกประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BBL ติดอันดับที่ 70 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 107 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB ติดอันดับที่ 95 จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 145 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) SCBT ติดอันดับที่ 95 เท่าธนาคารไทยพาณิชย์ จากเดิมที่ไม่ติดอันดับ 1 ใน 300

นอกจากนี้ มีธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) KBANK ติดอันดับที่ 103 ดีขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 137 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB ติดอันดับที่ 155 ดีขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 186 ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) SCIB อยู่ในอันดับที่ 217 ดีขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 224 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) BAY อยู่ในอันดับที่ 245 อันดับลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 165

ธนาคารยูโอบี จำกัด(มหาชน) UOB อยู่ในอันดับที่ 258 อันดับดีขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 261 ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) TMB อยู่ในอันดับที่ 285 ลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 226 และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน) BT อยู่ในอันดับที่ 292 อันดับลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับที่ 212

การจัดอันดับธนาคารที่ดีที่สุดในเอเชียจะพบว่ามีธนาคารจากประทศญี่ปุ่นติดอันดับ 4 แห่ง ธนาคารจากประเทศจีนติดอันดับ 4 แห่ง ฮ่องกง 1 แห่งและออสเตรเลีย 1 แห่งประกอบไปด้วย 1. Misubishi UFJ Financial Group 2. Mizuho Financial Group 3. Industrial & Commercial Bank of China 4. Sumitomo Mitsui Financial Group 5. China Construction Bank 6. Agriculture Bank of China 7. Bank of China 8. Norinchukin Bank 9. Hong Kong and Shanghai Banking Corporation ( HSBC ) และ10. National Australian Bank

โดยเมื่อเปรียบเทียบจากสินทรัพย์ของธนาคารแต่ละประเทศจะพบว่าธนาคารของญี่ปุ่นมีสินทรัพย์ 47.6% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด 300 ธนาคารซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 1 ธนาคารของจีนมีสินทรัพย์รวม 20.7% เป็นอันดับที่ 2 ส่วนธนาคารของไทยมีสินทรัพย์เท่ากับ 1.1%

สำหรับภาพรวมโดยทั่วไปของธนาคารพาณิย์ไทยยังคงดีอยู่โดยสัดส่วนต้นทุนของการดำเนินงานต่อรายได้อยู่ในระดับ 50% มีเพียง 3 แห่งที่มีปัญหาเรื่องต้นทุนการดำเนินงานได้แก่ธนาคารยูโอบีมีสัดส่วนต้นทุนการดำเนินงานสูงถึง 67% ธนาคารทหารไทย 95.5% และธนาคารไทยธนาคาร 131.5% ซึ่งในปี 2549 ที่ผ่านมาธนาคารทหารไทยขาดทุน 340 เหรียญสหรัฐฯ ธนาคารไทยธนาคารขาดทุน 124 เหรียญสหรัฐฯ

ขณะที่แหล่งรายได้ของธนาคารพาณิชย์ไทยมีการกระจายตัวที่ดีขึ้น อาทิ ธนาคารกรุงเทพและธนาคารไทยพาณิชย์มีสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดถึงกว่า 30% แสดงให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าบริการต่างๆ เพิ่มมากขึ้นและไม่ได้พึ่งพารายได้จากการปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ วารสาร The Asian Banker จัดอันดับความแข็งแกร่งของธนาคารโดยพิจารณาจาก 10 ด้านคือ 1.ขนาดของสินทรัพย์ 2. การเติบโตของสินเชื่อ 3.การเติบโตของเงินฝาก 4. ความเพียงพอของเงินกองทุน 5.การเติบโตของกำไรจากการดำเนินงาน 6.อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ ROA 7.ต้นทุนต่อรายได้ 8.รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมด 9.สำรองหนี้สูญต่อหนี้สงสัยจะสูญ และ 10.อัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินทรัพย์ทั้งหมด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.