"ไฮเทคคือคำตอบของธุรกิจแยกสี"

โดย นฤมล อภินิเวศ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ยักษ์ใหญ่ 4 รายในวงการแยกสีแม่พิมพ์ของไทยได้ลงทุนเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องมือไฮเทคเข้ามาช่วยงาน การลงทุนเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะตลาดสิ่งพิมพ์สีมีการขยายตัวสูงมาก ทำให้แต่ละบริษัทต้องหาวิธีรักษาส่วนแบ่งตลาดที่เคยมีอยู่มิให้หลุดมือไป แต่ที่สุดอาจจะเข้าตำราประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นอดีต ถ้าหากไม่เตรียมเสาะหาตลาดนอกรองรับกำลังผลิต

เฮียเม้ง ตริตรองประมวลข้อมูลทั้งหมดอีกครั้งเพื่อตัดสินใจว่าเขาควรลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุดราคาเกือบ 40 ล้านบาทหรือไม่

สำหรับเจ้าของธุรกิจแยกสีทำแม่พิมพ์ขนาดกลางๆ มีชื่อเสียงติดปากคนในวงการอยู่บ้างอย่างเฮียเม้ง ตัวเลข 40 ล้านบาทย่อมเป็นจำนวนที่มากพอควร ต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปีจึงจะถอนต้นทุนคืนได้ ในเงื่อนไขที่ว่าถ้ามีงานป้อนเต็มประสิทธิภาพของเครื่อง

ในขณะเดียวกันภาวะการณ์ของธุรกิจแยกสีระยะ 2 ปีนี้ ที่เริ่มเรียกร้องมาตรฐานระดับสากลมากขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพงาน และความรวดเร็วกลายเป็นตัวกดดันทางอ้อมทำให้การลงทุนครั้งนี้ค่อนข้างจำเป็นถ้าหากเขาไม่ต้องการย่ำเท้าอยู่กับที่หรืออาจจะเลวร้ายกว่านั้นคือค่อยๆ ถอยหลังทีละก้าวๆ จนที่สุดกลายเป็นร้านแยกสีล้าหลังที่บริการลูกค้าตลาดล่างเท่านั้น

ก่อนนี้เพีงแค่มีเครื่องสแกนเนอร์ทำงานแยกสี ก็ถือว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุด เพราะช่วยย่นเวลาทำงานเหลือเพียง 8 นาที จากที่เคยใช้เวลานาน 8 ชั่วโมงในครั้งที่ยังเป็นระบบ CONVENTIONAL MASKING METHOD ที่ต้องใช้กล้องงานพิมพ์หรือกล้องโปรเซสแยกสี

แต่หลังจากเวลาผ่านไป 14 ปี เฮียเม้งและคนอื่นๆ ในวงการที่เคยตื่นเต้นกับเครื่องสแกนเนอร์ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มาถึงตอนนี้นอกเหนือจากเครื่องสแกนเนอร์แล้ว มีเครื่องไฮเทคช่วยงานแยกสีมากขึ้นหลากลักษณะงาน แต่ที่สำคัญและดึงความสนใจมากที่สุดคือเครื่องตกแต่งฟิล์มและเครื่องประกอบหน้าอิเลคโทรนิคส์อัตโนมัติ

เครื่องตกแต่งฟิล์มสีมีประโยชน์ช่วยให้ทำงานเร็วขึ้นกว่าใช้ "มือ" ทำ 100 เท่า มีความประณีตมากกว่าและทำงานได้หลายลักษณะไม่ว่าจะเพิ่มหรือลดหรือเปลี่ยนสีเฉพาะจุด อาทิ เปลี่ยนภาพท้องฟ้าสีเทาให้เป็นสีแดง หรือเปลี่ยนมิติลบหรือเติมภาพ เช่น ฟิล์มสไลด์โฆษณาขายบ้านไม่สมบูรณ์พอ ขาดต้นไม้ใหญ่ให้ดูร่มรื่น ก็สามารถนำสไลด์รูปต้นไม้มาใส่รวมเป็นภาพเดียวกันได้ นอกจากนี้แล้วยังสามารถทำภาพซ้อนเป็นชั้นๆ หรือเปลี่ยนฉากหลังของภาพ

สำหรับเครื่องประกอบหน้าจะช่วยให้กระบวนการประกอบฟิล์มง่ายและรวดเร็วขึ้น เพียงแต่ส่งข้อมูล (INPUT) ต้นฉบับหรือ ART WORK ภาพก็จะปรากฏบนจอสี จากนั้นใช้มือเลื่อนตัวควบคุมและนิ้วกดปุ่มเลือกคำสั่งจากรายการบนจอคอมพิวเตอร์ เมื่อทำงานเสร็จแล้วเครื่องจะยิง (OUTPUT) ฟิล์มแยกสี 4 แผ่น 4 สี คือ สีเหลือง สีแมกเจนตา สีไซแอน และสีดำ ออกมาเพื่อนำไปอัดเพลทเป็นแม่พิมพ์ได้ทันที

เครื่องประกอบหน้าจะช่วยลดกระบวนการยุ่งยากที่ต้องส่งฟิล์มสไลด์หรือรูปภาพที่ผ่านเครื่องสแกนเนอร์แยกสี 4 สีเสร็จแล้ว ส่งต่อให้แผนกประกอบภาพเพื่อประกอบรวมกับฟิล์มลายเส้นคือฟิล์มที่ถ่ายจากต้นฉบับ หรือ ART WORK

งานขั้นตอนนี้ต้องใช้ทั้งเทคนิคและฝีมือประกอบภาพให้ได้ตามคำสั่ง และต้องให้ภาพและตัวหนังสือที่ประกอบขึ้นบนฟิล์มแต่ละสีซ้อนกันสนิทด้วย หลังจากนั้นจึงนำฟิล์มประกอบภาพมาจัดวางหน้าบนแผ่นโพลีเอสเตอร์หรือฟิล์ใสให้ครบ 4 แผ่น 4 สีเช่นกัน เสร็จแล้วจึงนำไปอัดเพลท

ถึงแม้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองจะมีคุณสมบัติเลิศช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นและได้ผลงานที่คงเส้นคงวากว่าการใช้มือตกแต่งและประกอบฟิล์มก็ตาม แต่ราคาของเครื่องก็แพงไม่แพ้ประสิทธิภาพ

ราคาของเครื่องตกแต่งฟิล์มและเครื่องประกอบหน้าจะไม่แน่นอนตายตัว คือ ตกอยู่ในราวเครื่องละ 10-20 ล้านบาททั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ซอฟต์แวร์

ด้วยเหตุนี้บริษัทที่มีเงินทุนซื้อเครื่องได้ จึงต้องประกอบด้วยปัจจัยภายใน คือเป็นบริษัทที่มีฐานมั่นคงไม่มีภาระการชำระหนี้อื่นๆ และมีลูกค้าประจำจำนวนหนึ่งที่แน่นอนอยู่แล้ว บวกด้วยความมั่นใจต่อปัจจัยภายนอกว่าแนวโน้มของตลาดจะโตขึ้นทัดเทียมกับประสิทธิภาพของเครื่อง

เมื่อมองภาพรวมของวงการสิ่งพิมพ์จะเห็นการขยายตัวอย่างผิดหูผิดตาในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลสถิติพบว่าตลาดสิ่งพิมพ์ในประเทศมีขนาดถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีอัตราการขยายตัว 15% ต่อปี

หรือหากจะมองให้แคบลงมาใกล้ตัวก็จะพบว่าตามแผงขายหนังสือทั้งใหญ่และเล็กทั่วไป มีนิตยสารใหม่ๆ เกิดขึ้นมากหน้าหลายสี ทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ และรายเดือน

จากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่ามีนิตยสารพิมพ์สอดสีทั้งหมด 193 เล่ม เพิ่มขึ้นจากปี 2533 ถึง 55 เล่ม

หนังสือพิมพ์ก็มีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจากเดิมที่เคยพิมพ์สองสีเท่านั้น มาระยะหลังจะพิมพ์สอดสีทั้งส่วนที่เป็นเนื้อหาข่าวและหน้าโฆษณามากขึ้นจนสะดุดตา รวมทั้งอัตราการเกิดหนังสือพิมพ์ใหม่ก็มากขึ้นเป็น 42 ฉบับในขณะนี้

ไม่เพียงแต่สิ่งพิมพ์สื่อข่าวสารที่ขยายตัวขึ้นเท่านั้น สื่อประชาสัมพันธ์แผ่นพับโฆษณา โปสเตอร์ ปฏิทิน หนังสือรายงานประจำปี บัตรอวยพร ฯลฯ ก็มีการใช้ลูกเล่นในการออกแบบสร้างสรรค์มากขึ้น

จำนวนของสื่อสิ่งพิมพ์ที่มียอดสูงขึ้นย่อมมีนัยถึงตลาดแยกสี และทำเพลทย่อมต้องโตตามไปด้วยเป็นเงาตามตัวเช่นกันเพราะเป็นหัวใจสำคัญทำให้งานสิ่งพิมพ์เป็นรูปร่างออกมา

การเติบโตของธุรกิจสิ่งพิมพ์จึงเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ทำให้บริษัทที่มีปัจจัยภายในมั่นคงเป็นทุนอยู่แล้ว เกิดการขยับตัวตอบรับความเปลี่ยนแปลงทันทีไม่มีอาการรีรอดังเช่นในอดีตอันมีผลสืบเนื่องมาจากบทเรียนของบริษัทอารี ซีสเท็มส์

บริษัทอารี ซีสเท็มส์ เกิดขึ้นปี 2524 ในยุคที่คนวงการแยกสีรวมถึงเฮียเม้งด้วยยังไม่คลายความตื่นเต้นกับประสิทธิภาพของเครื่องสแกนเนอร์ ยิ่งไปกว่านั้นบางบริษัทยังไม่มีเงินทุนพอซื้อเครื่องสแกนเนอร์คงใช้วิธีทำงานแบบเดิม

การเปิดตัวของบริษัทอารี ซีสเท็มส์ ของ ชัยอารีย์ สันติพงศ์ไชย กรรมการผู้จัดการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ตกแต่งฟิล์มและประกอบหน้ายี่ห้อโครมาคอม จึงกลายเป็นก้าวล้ำไปไกลเกินยุคสมัยวงการแยกสีเมืองไทย ถึงแม้จะทันยุคทันสมัยโลกเทคโนโลยีของประเทศตะวันตกในขณะนั้นก็ตาม

ผลปรากฏว่าไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร ลูกค้าเลือกใช้บริการของร้านค้าทั่วไปที่มีเพียงเครื่องสแกนเนอร์และช่างฝีมือเพราะคุณภาพผลงานพอๆ กันแต่ราคาถูกกว่า

เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะงานแยกสีทำแม่พิมพ์กรอบต่อกรอบผลต่างระหว่างต้นทุนและกำไรย่อมห่างกันลิบลับ โดยมิต้องนำต้นทุนอาคาร ระบบการบริหารและการตลาดเข้ามาคำนวณด้วย

บริษัทอารี ซีสเท็มส์ดำเนินงานได้ 7 ปีก็ต้องเลิกไปเพราะเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้บริษัทในปี 2531 ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกับสิ่งพิมพ์สีกำลังเติบโตขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2530-31 มีอัตราเติบโตสูงมาก

และเป็นปีเดียวกับที่ ปรีดา เพชรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท 71 ฟิล์ม อินเตอร์สแกนซื้อเครื่องตกแต่งฟิล์มและประกอบหน้ารุ่น IMAGER III ยี่ห้องไซเท็กซ์

ปัญหาของการใช้เครื่อง IMAGER III ไม่ใช่เรื่อง "ผิดเวลา" อย่างเช่นที่บริษัทอารี ซีสเท็มส์ประสบ แต่เป็นเรื่องความเป็นมือใหม่ของทั้งคนนำเข้าและคนซื้อที่ต้องเรียนรู้การใช้เครื่องแก้ปัญหาทีละเปราะๆ ไปพร้อมกัน ทำให้ต้องเสียเวลาฝึกหัดนานถึงปีเศษกว่าจะใช้งานเป็น

แต่หลังจากเป็นนายเหนือเครื่องได้แล้วทำให้บริษัท 71 ฟิล์ม อินเตอร์สแกน มีชื่อเสียงในหมู่คนทำโฆษณาและนิตยสารต่างๆ ว่าสามารถตกแต่งฟิล์มให้ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ถึงแม้ว่าค่าบริการจะสูงโดยคิดคำนวณเป็นตำแหน่งละ 2,000 บาท ก็ตามแต่ก็มีคนใช้บริการตลอดเวลา

บริษัท 71 ฟิล์ม อินเตอร์สแกน ครองเครื่อง IMAGER III อยู่เจ้าเดียวได้ 2 ปีเศษก็มีคนอื่นๆ ตามติดมารายแรกคือ บริษัทโอเชี่ยนฟิล์ม

ธวัชชัย เตชะวิเชียร ประธานบริษัทโอเชี่ยนฟิล์มเลือกใช้ยี่ห้อไซเท็กซ์เช่นกัน เขาติดตั้งรุ่นใหม่ล่าสุดในขณะนั้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2533 มีเครื่องแยกสีรุ่น SMAR TWO & SMARTVIEWER เครื่องตกแต่งฟิล์มรุ่น PRISMA จำนวน 1 จอ และเครื่องประกอบหน้ารุ่น MICRO ASSEMBLER จำนวน 2 จอ นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ่ายก็อปปี้ฟิล์มแยกสีรุ่น RAYSTAR อีกด้วย

การมีเครื่องไฮเทคของบริษัทโอเชี่ยนฟิล์มเสมือนหนึ่งเป็นบันไดเลื่อนจากร้านแยกสีระดับกลางให้สูงเทียบเท่าร้านระดับนำ จนกลายเป็นที่รู้จักโด่งดังในวงการหนังสือพิมพ์และคนทำโฆษณาในชั่วระยะเพียงปีเดียว เพราะสามารถตอบสนองกับการเร่งรัดเวลาเพื่อให้หนังสือพิมพ์ออกได้ตามกำหนด

อีกทั้งตอบสนองคนวางแผนโฆษณาที่มักใช้ยุทธวิธีการโฆษณาแบบ "ปูพรม" คือจะลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์พร้อมกันวันเดียว 12 ฉบับ

ฉะนั้นเมื่อทางบริษัทโอเชี่ยนฟิล์มสามารถตอบสนองเรื่องความเร็วของการแยกสี รวมทั้งมีเครื่องถ่ายก็อปปี้ฟิล์มแยกสีที่มีการทำงาานลักษณะเดียวกับเครื่องถ่ายเอกสารด้วยแล้ว การแยกสีให้ได้ครบทั้ง 12 ฉบับจากต้นฉบับเพียงชุดเดียว จึงใช้เวลาสั้นมาก

ด้วยเหตุนี้หนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่ได้โฆษณาชิ้นเดียวกันและต้องลงพร้อมกัน ส่วนใหญ่จึงมักส่งให้บริษัทโอเชี่ยนฟิล์มแยกสี มิเช่นนั้นแล้วถ้ามัวรอต่อคิวต้นฉบับเพื่อแยกสีกับบริษัทอื่นก็อาจจะไม่ทันกับเวลา

บริษัทโอเชี่ยนฟิล์มจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการแยกสีหนังสือพิมพ์โดยปริยายและทำให้มีอำนาจต่อรองกับลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์เกิดใหม่ยิ่งต้องมาใช้บริการที่นี่

"เรายึดหัวหาดเอเจนซีเกือบหมดแล้ว หนังสือพิมพ์เกิดใหม่ เอเจนซีไม่ค่อยยอมรับอยู่แล้ว ถ้ายิ่งไม่ทำกับเรา เขาก็เกิดไม่ได้เพราะไม่มีโฆษณาลง หรือถ้าจะใช้วิธีซื้อฟิล์มแยกสีกับเราแทน ซื้อฟิล์มมากๆ ก็แพงไม่คุ้มอีก" กรรมการผู้จัดการ กำชัย เตชะวิเชียร พูดถึงสาเหตุของการเป็นจุดรวมของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ

แต่ถ้าเกิดกรณีลูกค้าต้องการซื้อฟิล์ม ทางบริษัทโอเชี่ยนฟิล์มจะชักจูงลูกค้าให้แยกสีทั้งกรอบ (หนึ่งกรอบมีขนาดเท่ากับ 2 หน้าหนังสือพิมพ์) แทนที่จะซื้อเฉพาะฟิล์มโฆษณา โดยคิดกรอบละ 8,000 บาท แพงกว่าราคาปกติ 500 บาท

โดยทั่วไปการซื้อขายฟิล์มโฆษณาจะอยู่ในราคา 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นการซื้อขายระหว่างบริษัทที่อยู่ในสมาคมแยกสีแม่พิมพ์ทั้งหมด 24 บริษัทมีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้ราคาพิเศษคือ 600 บาทต่อฟิล์ม 1 ชุด

"ทำมาแปดปีบุกไม่ขึ้นเลย การเจริญเติบโตเหมือนเด็ก พอมีเครื่องก็เปลี่ยนไป" กำชัยเล่าเบื้องหลังการโตอย่างตรงไปตรงมา

ปีถัดมาหลังจากที่บริษัทโอเชี่ยนฟิล์มใช้เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ พีระ ประยุกต์วงศ์ ประธานบริษัทเจ. ฟิล์ม โปรเซสบินไปอเมริกาซื้อเครื่องยี่ห้อไซเท็กซ์เหมือนกันแต่เป็นรุ่น IMAGER II ประกอบขึ้นในปี พ.ศ. 2528 อย่างไรก็ดีเมื่อนำมาติดตั้งเมืองไทยได้เพิ่มระบบทำงานเทียบเท่ารุ่น IMAGER III

พีระใช้เครื่องช่วยงานตกแต่งฟิล์มเป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกับบริษัท 71 ฟิล์ม อินเตอร์สแกนของปรีดา ส่วนงานประกอบหน้ายังคงใช้ฝีมือช่าง

รายล่าสุดคือบริษัทกนกศิลป์ ของ ปธาน หวังธรรมบุญ ติดตั้งเครื่องตกแต่งฟิล์มรุ่น PRISMA จำนวน 1 เครื่องและเครื่องประกอบหน้ารุ่น MICRO ASSEMBLER จำนวน 3 เครื่องของยี่ห้อไซเท็กซ์ และเครื่องปรู๊ฟสีอัตโนมัติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ปธานบอกว่าเขาคิดจะซื้อเครื่องทั้ง 2 รุ่นตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วแต่ตอนนั้นเห็นว่าไม่จำเป็น มาถึงตอนนี้โรงพิมพ์ก้าวหน้ามากขึ้นต้องการแม่พิมพ์มีคุณภาพและไวทันป้อนแท่นพิมพ์

ถือได้ว่าในขณะนี้บริษัทกนกศิลป์มีเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่สุดของเมืองไทย

ฉะนั้นในขณะนี้บริษัทที่มีเครื่องสูงประสิทธิภาพทั้งหมด 4 บริษัท ไม่นับรวมถึงโรงพิมพ์ที่กำลังตัดสินใจซื้อและกำลังติดตั้ง

ธุรกิจแยกสีเป็นธุรกิจจ้างทำของประเภทหนึ่ง รายได้จะมากหรือน้อยจึงขึ้นกับจำนวนการใช้บริการของลูกค้า ยิ่งมีจำนวนลูกค้าประจำมากเพียงใดย่อมส่งผลดีให้กับธุรกิจมากเท่านั้น

ลูกค้าประจำที่เห็นชัดที่สุดก็คือประเภทนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ เพราะมีกำหนดเวลาออกตายตัว ส่วนงานประเภทรายงานประจำปี แผ่นพับโฆษณา โปสเตอร์ ฯลฯ เรียกว่าเป็นงานเพิ่มกำไรให้กับบริษัท

ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมตินิตยสารรายปักษ์เล่มหนึ่งมีทั้งหมด 240 หน้า คิดเป็นจำนวนกรอบทำแม่พิมพ์จะเท่ากับ 30 กรอบ (หนึ่งกรอบมีขนาดเท่ากับ 8 หน้า นิตยสารเรียงต่อเนื่องเป็น 2 แถว) ถ้ามีโฆษณาลงนิตยสาร 80 หน้ากระจายอยู่ทั่วเล่ม และสามารถจัดหน้าให้รวมกันอยู่ใน 20 กรอบได้ ก็เท่ากับว่าต้องส่ง 20 กรอบให้กับบริษัทแยกสี

ราคามาตรฐานของร้านแยกสีเกรดเออย่างบริษัท 71 อินเตอร์สแกน บริษัทกนกศิลป์ และบริษัทเจ. ฟิล์ม โปรเซส ที่ครองตลาดแยกสีประเภทงานโฆษณา นิตยสารต่างๆ ที่ต้องการงานละเอียด คม และเนี๊ยบตรงตามต้นฉบับมากที่สุด

คิดค่าบริการงานธรรมดาไม่ซับซ้อนคือใช้เฉพาะเครื่องสแกนเนอร ์และฝีมือช่างกรอบละ 7,500 บาท ฉะนั้น 20 กรอบคิดเป็นเงินค่าจ้าง 150,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายเฉพาะในกระบวนการผลิตแล้วจะได้กำไรเกือบ 70,000 บาทต่อครึ่งเดือน

และนี่เป็นตัวเลขเฉพาะนิตยสารรายปักษ์เล่มเดียวเท่านั้น

ยิ่งเป็นหนังสือพิมพ์ ตัวเลขรายได้ต่อเดือนยิ่งสูงกว่านิตยสาร โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์มีพิมพ์สอดสีมากขึ้นกว่าเดิม

ตัวอย่างหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับหนึ่งมี 72 หน้า คิดเป็น 36 กรอบตามปกติเฉลี่ยแล้วจะมีสี 25 กรอบ ถ้าใช้อัตราค่าจ้างตามปกติ 7,500 บาทต่อกรอบจะมีรายได้ 187,500 บาทต่ออาทิตย์ หรือ 375,000 บาทต่อครึ่งเดือน

และถ้าหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ในท้องตลาดจากการสำรวจจำนวนเมื่อปีที่แล้วมีทั้งหมด 12 ฉบับส่งงานแยกสีให้กับบริษัทโอเชี่ยนฟิล์มเพียงแห่งเดียว บริษัทจะมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 9 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากรวมงานหนังสือพิมพ์ราย 3 วัน รายวันและรายปักษ์ด้วยแล้ว

ย่อมเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยทีเดียว และเป็นตัวเลขที่ทำให้โรงพิมพ์หลายแห่งเริ่มเปิดแผนกแยกสีขึ้นเองมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดีเพียงแค่ตัวเลขกำไรที่เห็นกันชัดๆ แล้วจะคิดเปิดบริษัทแยกสีขึ้นก็มิใช้เรื่องง่ายที่จะทำได้สำเร็จถึงแม้จะมีเงินลงทุนไม่อั้นก็ตาม

เพราะนอกเหนือจากเครื่องมือด้านนี้ราคาแพงหลักหมื่นถึงหลักล้านแล้ว ยังต้องทำงานหนักต่อเนื่องอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน และบางแผนกอย่างเช่นแผนกใช้เครื่องสแกนเนอร์ต้องหมุนผลัดเปลี่ยน คนทำงาน 24 ชั่วโมงเพื่อให้คุ้มกับเงินลงทุนซื้อเครื่อง และที่สำคัญขาดไม่ได้คือต้องมีช่างฝีมือ

"ผมเคยเปิดชั้นสอนงานให้กับพนักงานใหม่ครั้งหนึ่ง ไม่เกิน 20 คน ปรากฏว่ามีพนักงาน 8 คนลาออกภายใน 1 เดือน อีก 4 คนจะเป็นพวกสมองรับไม่ค่อยไหวต้องให้ช่างคอยสอน เหลืออีก 8 คนที่พอมีแววเป็นช่างฝีมือได้" ธวัชชัยสะท้อนความยากลำบากในการเสาะหาและสร้างช่างฝีมือทำงานแยกสี

"งานอาชีพนี้ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้เป็นงานต้องใช้สมองใจเย็น เป็นคนช่างคุยไม่ได้ เพราะเวลาทำงานต้องอ่านต้นฉบับให้เข้าใจ และคิดหาเทคนิคให้ได้งานตรงตามคำสั่ง" ปธานมีทัศนะเช่นเดียวกับธวัชชัย

ปัญหาช่างฝีมือดีเริ่มขาดแคลนเป็นปัญหาที่มีมาตลอด และนับวันจะยิ่งเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้น เพราะมีการดึงตัวไปทำงานให้กับบริษัทเกิดใหม่และโรงพิมพ์ที่เปิดแผนกแยกสีขึ้นเอง

การมีเครื่องตกแต่งฟิล์มและเครื่องประกอบหน้าอัตโนมัติ จึงเสมือนเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาไม่มีช่างได้บ้างในระยะยาว เมื่อสามารถใช้เครื่องได้คล่องมีประสิทธิภาพเต็มบริบูรณ์จะทดแทนช่างฝีมือได้ประมาณ 40 คน

สภาพการระดมซื้อเครื่องไฮเทคช่วยงานแยกสีมากขึ้นในขณะนี้คล้ายคลึงกับอดีตคราวเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคการใช้คอมพิวเตอร์ในคัลเลอร์สแกนเนอร์ ในตอนนั้นบริษัทที่มีเงินทุนซื้อเครื่องสแกนเนอร์กลุ่มแรกก็คือกลุ่มบริษัทเดียวกับที่ลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ในขณะนี้ ยกเว้นเพียงแต่บริษัทโอเชี่ยนฟิล์มเท่านั้น

เมื่อมีคัลเลอร์สแกนเนอร์เกิดขึ้นใหม่กล้องงานพิมพ์ก็ค่อยๆ ลดปริมาณการใช้ลง คงใช้ผลิตภาพสกรีนขาวดำเท่านั้น ส่วนคัลเลอร์สแกนเนอร์ก็มีพัฒนาการทั้งคุณภาพและปริมาณมากขึ้นทุกปี

จนถึงปี พ.ศ. 2526 มีการสั่งเครื่องเข้ามามากที่สุด เพราะโรงพิมพ์ขยายตัวเพิ่มงานพิมพ์มากขึ้น เป็นผลให้ร้านแยกสีบริการไม่ทัน จึงเกิดการระดมซื้อเครื่องสแกนเนอร์เป็นเงาตามตัว เฉพาะที่บริษัทเจ. ฟิล์ม โปรเซสบริษัทเดียวสั่งเข้ามาจากเยอรมันถึง 3 เครื่อง มิต้องพูดถึงบริษัทชั้นนำแห่งอื่นๆ

สิ่งมหัศจรรย์จึงกลายเป็นตัวอับโชคทันที จากภาวะงานล้นมือทำไม่ทันก่อนสั่งซื้อเครื่อง แปรเปลี่ยนเป็นมีงานไม่พอป้อนเครื่องที่มีมากจนล้นตลาด

ผลกระทบเกิดขึ้นไปทั่วทุกบริษัทในช่วง 2 ปีที่เกิดวิกฤต บริษัทที่มีลูกค้าใช้บริการสม่ำเสมอจะถูกแรงกระทบน้อย แต่สำหรับบริษัทที่เพิ่งสั่งซื้อเครื่องเป็นตัวแรกย่อมเจ็บตัวมากที่สุด เพราะต้องเสียเวลาฝึกใช้เครื่องเกือบปีกว่าจะใช้งานเป็นพอคล่องแล้วก็พบกับสภาวะงานน้อยมากไม่คุ้มกับดอกเบี้ยธนาคารที่กู้มาลงทุนซื้อเครื่องราคาเกือบ 10 ล้านบาทในขณะนั้น

จากวิกฤตการณ์ทำให้เกิดสมาคมแยกสีแม่พิมพ์เพื่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2530 เพราะมีการแข่งขันนอกระบบสูงขึ้น มีทั้งการตัดราคา การซื้อตัวช่างฝีมือ จนถึงขั้นการทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน ความรุนแรงที่ทวีมากขึ้นเป็นลำดับทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีปธาน พีระ และปรีดารวมอยู่ด้วย เสนอความคิดบริษัทอื่นๆ ร่วมจัดตั้งสมาคมขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้า

ประวัติศาสตร์จะเกิดซ้ำรอยกับการเริ่มนิยมใช้เครื่องอิเลคทรอนิคส์ช่วยตกแต่งฟิล์มและประกอบหน้าอัตโนมัติในขณะนี้หรือไม่ เป็นปัญหาควรสังวรของเฮียเม้งหรืออีกนัยหนึ่งบรรดาเจ้าของธุรกิจระดับกลางที่คิดอยากกระโดดสูงอีกขั้นอย่างเช่นบริษัทโอเชี่ยนฟิล์ม

ถึงแม้ว่าในขณะนี้มีสมาคมแยกสีแม่พิมพ์ฯ แล้วก็ตาม แต่จำนวนสมาชิกก็ยังคงเดิม 24 บริษัทเท่าจำนวนเริ่มก่อตั้งทำให้การปฏิบัติตามข้อตกลงสำคัญ 2 ข้อจากหลายๆ ข้อมีการยืดหยุ่นไม่ถือเข้มงวดเหมือนสมัยแรกๆ เพราะมีบริษัทใหม่ๆ เพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคม

ได้แก่เรื่องอัตราค่าบริการพิเศษเฉพาะสมาชิก และการรับบุคลากรเข้าทำงานต้องมีจดหมายอนุญาตจากบริษัทเก่าในกรณีที่บริษัททั้งสองอยู่ในสมาคม เพื่อป้องกันการซื้อตัว

บวกกับเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมส่งผลเสียหายต่อธุรกิจแทบทุกประเภท ซึ่งในช่วงนั้นอุตสาหกรรมโฆษณาก็ได้รับผลกระทบด้วย เมื่องานโฆษณาลดน้อยลงก็เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่องานพิมพ์สีและงานแยกสี

"ในช่วงนั้นโฆษณาลดลงเกือบ 50% ก็เท่ากับว่างานแยกสีน้อยลงเกือบครึ่งเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงส่งผลกระทบมากทีเดียวแต่ไม่ใช่เป็นการกระทบใหญ่เป็นเพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น" ปธานเล่าสภาพธุรกิจไม่คล่องในช่วงกำลังเกิดและหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม

"ช่วงที่มีเรื่องการเมืองส่งผลให้โฆษณาลดลงมาก หนังสือพิมพ์บางฉบับเคยเป็นสีเปลี่ยนเป็นขาวดำเลยก็มีโฆษณาบางชิ้นเคยลงที 7-8 ฉบับก็ลดลงมาเหลือแค่ 2 มีผลกระทบบริษัทแต่ไม่มากเพราะว่าเราถึงจุดที่อยู่ตัวแล้ว ถ้าเป็นบริษัทเปิดใหม่คงอยู่ไม่ได้" ธวัชชัยเล่าผลกระทบช่วงนั้นให้ฟัง ซึ่งสอดคล้องกับปธาน

ความไม่แน่นอนของทั้งปัจจัยภายในกลุ่มผู้ประกอบการและปัจจัยด้านตลาดในประเทศ ทำให้แต่ละบริษัทต้องวางแนวทางรับมือกับปัญหาการชะงักงันของบุคลากรและตลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การรับมือกับปัญหาการแข่งขันมีวิธีการหลายลักษณะ วิธีหนึ่งที่บริษัทแยกสีฝีมือชั้นนำกำลังปฏิบัติ คือพยายามชักจูงใจบริษัทเอเจนซีให้กำหนดบริษัทแยกสีสำหรับงานโฆษณาชิ้นหนึ่งๆ คือไม่ว่าโฆษณาชิ้นนั้นจะลงหนังสือเล่มใดหรือฉบับใดก็ตามต้องมาจากฝีมือร้านแยกสีร้านนั้นร้านเดียว

"ปกติแล้วบริษัทรับงานโดยตรงกับเอเจนซีน้อยมาก ส่วนมากจะผ่านมาทางโรงพิมพ์ ฉะนั้นโรงพิมพ์สนิทกับใครก็จะให้เจ้านั้นทำ แต่ก็มีเอเจนซีบางแห่งกำหนดร้านแยกสี ซึ่งผมคิดว่าต่อไปถ้าผมมีโอกาสพูดคุยกับเอเจนซี ผมจะเสนอความคิดให้เอเจนซีกำหนดร้านแยกสีตายตัวเพื่อให้งานออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน และถ้าพิมพ์ออกมาแล้วบางฉบับสีดีบางฉบับสีไม่ดีจะได้รู้ว่าเป็นปัญหาที่โรงพิมพ์" ปธานกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ซึ่งในขณะนี้ก็มีบริษัทเอเจนซีบางแห่งเริ่มกำหนดบริษัทแยกสีแล้ว อาทิ บริษัทลีโอ เบอร์เนทท์เจาะจงให้บริษัทเจ. ฟิล์ม โปรเซส แยกสีแห่งเดียว

"เมื่อตลาดในประเทศอิ่มตัวแล้ว ทางออกอีกทางก็คือหาลูกค้าต่างประเทศ กนกศิลป์กำลังขยายลูกค้าต่างประเทศมากขึ้นเพราะเรายังทำได้อีก กระเพาะของเราหมายถึงกำลังผลิตยังมีช่องว่างเหลือ" ปธานพูดถึงแผนการตลาดอันดับสองนอกเหนือจากการบุกเอเจนซี

"ผมคิดว่างานแยกสีเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่เหมาะสมกับคนไทยเพราะว่าเป็นทั้ง CAPITAL INTENSIVE และLABOUR INTENSIVE ผสมผสานกัน" พีระพูดในฐานะเป็นคนหนึ่งที่พยายามเจาะตลาดนอกมานานเกือบ 10 ปีจนสำเร็จมีสาขาในสิงคโปร์ อเมริกาและอังกฤษ

นอกจากบริษัทเจ. ฟิล์ม โปรเซสแล้วก็มีบริษัทกนกศิลป์ บริษัท 71 ฟิล์ม อินเตอร์สแกน และบริษัทโอเชี่ยนฟิล์มที่มีลูกค้าต่างชาติด้วยเช่นกันแต่ไม่มีสาขาประจำอยู่ต่างประเทศ

การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ เป็นความพยายามของบริษัทแยกสีในเมืองไทยมานานหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ถึงจุดที่น่าพอใจเท่าไรนักในภาพรวม แต่ก็มีลู่ทางอย่างมากที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น เพราะประเทศแถบตะวันตกนิยมมาใช้บริการแยกสีทางแถบเอเชียอยู่แล้วในขณะนี้ โดยเฉพาะที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ เนื่องจากค่าแรงงานทางแถบตะวันตกสูงมาก เพราะถือว่าการทำแยกสีเป็นอาชีพพิเศษที่ต้องใช้ฝีมือ และยิ่งมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้นก็ยิ่งถือว่าต้องใช้ความรู้สูงขึ้นอีก ซึ่งโดยทั่วไปมักจะจบระดับปริญญา

ตัวอย่างเช่นที่อเมริกาต้องจ่ายค่าจ้างอย่างต่ำ 20 ดอลลาร์หรือ 500 บาทต่อชั่วโมง และการคิดค่าบริการจะคำนวณจากจำนวนสไลด์ที่ต้องแยกสี ถ้าใช้เทคนิคพิเศษก็เพิ่มราคาตามความยากง่าย และจะคิดราคาเป็นแต่ละหน้าแต่ละชิ้น ไม่ใช่คิดเหมาเป็นกรอบอย่างที่คนไทยทำกัน

เมื่อเปรียบเทียบกับค่าบริการที่ต้องจ่ายให้บริษัทในเมืองไทยจะถูกกว่ากันมาก ถึงแม้ว่าอัตราค่าบริการสูงกว่าลูกค้าคนไทยประมาณ 1 เท่าตัวหรือ 15,000 บาทต่อฟิล์มแยกสี 4 สี 1 ชุด และยังต้องจ่ายค่าติดต่อ อาทิ ค่าโทรศัพท์ ค่าแฟกซ์ครั้งละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ค่าส่งฟิล์มแยกสีทางอากาศไป-กลับ 7,500 บาทต่อชุด หรือกรอบ และแม้กระทั่งบางครั้งต้องรวมถึงค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับเพื่อมาดูงานแยกสีด้วยก็ตาม

ฉะนั้นถ้าหากมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบชนิดครบวงจรมากขึ้น โดยสามารถส่งข้อมูลต้นฉบับ และฟิล์มแยกสีสำเร็จเป็นแผ่นดิสก์ได้อย่างเช่นที่สิงคโปร์และฮ่องกง จะช่วยให้การติดต่อสะดวกขึ้นรวมทั้งได้งานมาตรฐาน

ถึงแม้ว่าจำเป็นต้องขึ้นราคาค่าบริการเพิ่มขึ้นอีกจากเดิมเพราะใช้เครื่องไฮเทคเช่นเดียวกับที่คิดกับลูกค้าคนไทยคือค่าบริการใช้เครื่องทำจะแพงกว่าใช้ฝีมือช่าง 2,500 บาทโดยเฉลี่ย ก็ยังเป็นราคาที่ถูกกว่าค่าบริการในประเทศตะวันตก

หนทางหาตลาดเพิ่มขึ้นยังมีอีกลักษณะหนึ่งคือการทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ให้ครบวงจร อย่างเช่นที่บริษัทเจ. ฟิล์ม โปรเซสกำลังดำเนินการอยู่ คือการเข้ามาจับงานโรงพิมพ์เมื่อปลายปีที่แล้ว และกลางปีนี้ที่ผ่านมได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

"การที่บริษัทต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อการขยายงานโรงพิมพ์ไม่ใช่ เพื่อธุรกิจแยกสี เพราะแม้ว่าเครื่องทางด้านแยกสีจะแพงแต่เมื่อเทียบกับแท่นพิมพ์ยูนิตต่อยูนิตเรียกว่าถูกกว่ากันมาก ยูนิตของแท่นพิมพ์คือ 30 ล้านบาท แต่ด้านแยกสีจะถูกกว่า 3 เท่า เมื่อผมคิดจะทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ให้ครบวงจร ผมก็ต้องเข้าตลาดเพื่อระดมทุนเข้ามา" พีระเล่าความเป็นมาของการก้าวกระโดดจากธุรกิจเอกชนสู่มหาชน

ถือว่าเป็นการขยายตัวทำนองเดียวกับที่โรงพิมพ์ก็เริ่มมีแผนกแยกสีและเริ่มเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน

"ผมคงไม่เปิดโรงพิมพ์เองเพราะถ้าบริษัทเปิดโรงพิมพ์ลูกค้าที่เรามีอยู่ประมาณ 30-40 โรงพิมพ์ก็ต้องกลายเป็นคู่แข่งทันที เราก็จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางการทำงานให้โรงพิมพ์เหล่านั้น" กำชัย แสดงความเห็นเรื่องการเปิดโรงพิมพ์ในฐานะที่คุมฝ่ายการตลาดให้กับบริษัทโอเชี่ยนฟิล์ม

เฮียเม้งกลับมาปัญหาที่ตั้งโจทก์ไว้ว่าเขาควรจะลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเช่นที่บริษัทใหญ่ๆ ใช้อยู่ขณะนี้หรือไม่

จากบทเรียนของทั้ง 4 บริษัทก็พอเป็นแนวทางชี้ว่าการเจาะตลาดลูกค้าในประเทศ เพื่อให้มีงานป้อนคุ้มการลงทุนก็มิใช่เรื่องง่ายนักเพราะส่วนแบ่งตลาดที่ทำกำไรสูงสุดตอนนี้อยู่ในมือของ 4 บริษัทแล้ว ส่วนตลาดต่างประเทศก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ให้กำไรมากกว่าตลาดในประเทศหากสามารถเจาะตลาดได้สำเร็จ

หรือไม่ก็มีทางออกทางหนึ่งที่ร้านระดับกลางส่วนใหญ่คิดว่าเป็นไปได้มากที่สุดคือต้องเข้าหุ้นกับโรงพิมพ์เป็นบริษัทเดียวกัน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุนด้านเครื่องมือประการหนึ่ง และเพื่อป้องกันปัญหาการแข่งขันอีก ทั้งให้ความมั่นใจด้านตลาดมากขึ้น

แต่ถึงอย่างไร เฮียเม้งก็คงไม่มีเวลาครุ่นคิดหรือแสวงหาทางเลือกนานนัก เพราะแม้เริ่มลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ กว่าจะรู้จักเข้าใจการทำงานของเครื่องก็ต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีก่อนที่จะสามารถฝึกฝนพัฒนาฝีมือและความคิดดัดแปลงเทคนิคใช้เครื่องให้ได้งานตามต้องการ

ฉะนั้นถึงไม่อาจหาโรงพิมพ์มาเป็นหุ้นส่วน แต่เฮียเม้งก็ตกลงใจก้าวเข้าแบกภาวะหนี้สินผูกพันอย่างเต็มตัว และคงต้องทุ่มแรงกายแรงใจเหนื่อยยากอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรับกิจการให้เดินต่อไป ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ปล่อยให้คู่แข่งอื่นๆ ทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.