|
อลิอันซ์ประกันภัยโชว์ปันผล ใช้พันธมิตรฯเสริมความแกร่ง
ผู้จัดการรายวัน(26 พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันภัย โชว์ปันผลผู้ถือหุ้นครั้งแรกในรอบ 10 ปีนับแต่ก่อตั้งบริษัท ระบุหลังจากนี้จะใช้พันธมิตรบริษัทในเครือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สร้างความเข้มแข็งให้บริษัท หวังธุรกิจประกันภัยประกันชีวิตร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักภาคการเงินยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานเทียบเท่าระบบธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์
นายปกิต เอี่ยมโอภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันภัย จำกัด เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานของอลิอันซ์ ซี.พี. ประกันภัยมาเป็นระยะ 10 ปี บริษัทได้จ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มซีพีที่ถือหุ้น 50% กลุ่มอลิอันซ์ 25% และผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นๆ อีก 25%
ซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเนื่องจากบริษัทได้นำผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงานมาสะสมเป็นทุนจดทะเบียนจากเริ่มต้นที่มีทุนจดทะเบียน 300 ล้าน เพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาทในปัจจุบันโดยที่ผู้ถือหุ้นเข้าในเหตุผลในการไม่จ่ายเงินปันผลของบริษัทเพราะจะทำให้ฐานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"ผู้ถือหุ้นมีความเข้าใจดีที่เราไม่จ่ายเงินปันผลเพราะเราเอากำไรที่ได้นั้นมาสะสมเป็นทุนจดทะเบียน ซึ่งส่งผลให้ฐานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งและไม่จำเป็นต้องขอเงินจากผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนในการดำเนินการแต่อย่างใด” นายปกิตกล่าว
นายปกิตกล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทจะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเงินของบริษัทผ่านทางพันธมิตรที่เป็นบริษัทในเครือโดยเฉพาะบริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) AACP ซึ่งแต่เดิมจะเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นประกันชีวิตเพียงอย่างเดียวให้ขายประกันภัยประเภทอื่น โดยจะใช้กลยุทธ์ขายพ่วงเพื่อเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับตัวแทนด้วย
"สิ่งที่เราจะทำคือพัฒนาความรู้ของพนักงานเอเอซีพีให้มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของบริษัทเราและนำไปเสนอให้แก่ลูกค้า ซึ่งตามธรรมชาติแล้วตัวแทนของเอเอซีพีจะไม่อยากขายประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลนักเราจึงให้ตัวแทนของเอเอซีพีขายประกันภัยรถยนต์ให้กับลูกค้าเวลาไปเก็บเบี้ยประกันชีวิตจากลูกค้า หรืออาจเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภายอื่นๆ ที่ลูกค้าของเอเอซีพีมีความสนใจจะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มช่องทางขายสินค้าได้มากขึ้น” นายปกิตกล่าว
นายปกิตกล่าวว่า การดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยประกันชีวิตต่อจากนี้ไปจะมีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มมาตรฐานการทำงานมากขึ้นภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันวินาศภัย และพ.ร.บ.ประกันชีวิต ผ่านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับออกมา รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นหน่วยงงานอิสระขึ้นมากำกับดู
ซึ่งกฎหมายใหม่และหน่วยงานกำกับดูแลนี้จะเป็นตัวเร่งให้บริษัทประกันทั้งระบบ 99 บริษัทปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับอีก 2 ภาคอุตสาหกรรมคือ ภาคธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ภาคธุรกิจหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
"ถ้าบริษัทประกันทั้งหมดร่วมมือกันเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับการทำงานและการให้บริการให้เทียบเท่ากับระบบธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์แล้วธุรกิจประกันจะขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 แกนหลักของการให้บริการทางการเงินได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทประกันทั้งระบบเองให้เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจของลูกค้าและยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวมด้วย” นายปกิตกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|