"พีเอ็มก็คือผม ประยุทธ มหากิจศิริ" ประยุทธ มหากิจศิริ ประธานกลุ่มพีเอ็ม
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เมื่อถูกถามถึงความหมายของพีเอ็มกรุ๊ป ที่เริ่มเข้าไปมีบทบาทมากในหลายๆ
วงการธุรกิจ
กล่าวกันว่า พีเอ็มกรุ๊ป นับเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความน่าสนใจมาก เพราะยุทธศาสตร์ของการเติบโตที่เน้นการหาพาร์ทเนอร์สำคัญมาร่วมทุนในการขยายกิจการนั่นเอง
ปัจจุบัน กลุ่มพีเอ็ม ที่มีการขยายตัวทางธุรกิจออกไปในหลายสาขาธุรกิจนั้น
ไม่นับรวมการตั้ง "ไทยน็อคซ์" ขึ้นมาใหม่แล้ว มาอยู่ 3 บริษัทแต่เป็น
3 บริษัทที่มีความน่าสนใจและน่าศึกษามากพอสมควร
บริษัทแรกก็คือ บริษัท ควอลีตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส ที่แปลงโฉมมาจากบริษัท
กาแฟผงไทย เจ้าของผลิตภัณฑ์ "เนสกาแฟ" มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท
และคาดการณ์ว่า ปี 2535 นี้จะมีรายได้ทั้งสิ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งในโครงการแบบ
"ครบวงจร" ของบริษัทนี้ ประยุทธได้ให้เกษตรกรหันมาปลูกเม็ดกาแฟป้อนโรงงาน
และทำให้มีครอบครัวเกษตรกรประมาณ 30,000 ครอบครัว มีรายได้ในโครงการนี้
บริษัทที่สองก็คือ บริษัท ไทยฟิล์มอินดัสตรีส์ มีทุนจดทะเบียน 720 ล้านบาท
ดำเนินการด้านอุตสาหกรรมการผลิตฟิล์มบี.โอ.พี.พี. (BOPP Film) เป็นรายแรกในประเทศและเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ประมาณการว่าในปีนี้บริษัทจะมีรายได้ทั้งสิ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท
บริษัท ริเวอร์ไซด์ทาวเวอร์ จำกัด เป็นบริษัทในพีเอ็มกรุ๊ปที่ดำเนินการในด้านคอนโดมิเนียม
โดยคาดว่าในปี 2535 นี้จะมีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 1,000 ล้านบาท
ส่วนบริษัทล่าสุดในการก่อตั้งของกลุ่มพีเอ็ม คือบริษัท ไทยน็อคซ์สตีล ที่มีทุนจดทะเบียน
2,000 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในประมาณกลางปีหน้า และคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ
5,000 ล้านบาทต่อปี
การเติบโตของประยุทธนั้นต้องยอมรับว่า มาจากการมองในเรื่องการขยายธุรกิจที่น่าศึกษามาก
เพราะเจ้าตัวยอมรับว่า ความสำเร็จส่วนหนึ่งของเขาในนามของพีเอ็มกรุ๊ปนั้น
มาจากการสามารถที่จะดึงผู้ร่วมทุน "ต่างชาติ" ที่สำคัญมาร่วมทุนด้วย
"อย่างเนสกาแฟนี่ การได้พาร์ทเนอร์อย่างเนสเลมาเป็นผู้ร่วมทุนนับเป็นความภาคภูมิใจของผมมาก"
ประยุทธกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงหนึ่งในกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจของเขาให้ฟัง
และในการตั้งโรงงานผลิตเหล็กไร้สนิมรายแรกในอาเซียนนี้ การดึงพาร์ทเนอร์สำคัญที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกอย่าง
"ยูยีน เอส เอ" ก็เป็นสิ่งที่ประยุทธค่อนข้างที่จะภาคภูมิใจมาก
และทำให้เขาเชื่อมั่นมากด้วย ว่าจะเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วย
ประยุทธเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ถึงการได้พาร์ทเนอร์ใหญ่อย่างยูยีน
เอส เอ มาร่วมทุนด้วยว่า เมื่อมีการพูดคุยกันในหมู่เพื่อนฝูงและผู้ใหญ่ที่ตนนับถือว่า
ไม่สนใจธุรกิจเหล็กไร้สนิมบ้างหรือ ตนก็เริ่มศึกษาและพบว่า ธุรกิจนี้น่าสนใจและมีเพื่อนนักธุรกิจต่างชาติแนะนำว่า
ยูยีน เอส เอ คือผู้ผลิตเหล็กไร้สนิมรายใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้นตนจึงทาบทามและตกลงร่วมทุนกันภายหลังจากศึกษาพบว่า
ในธุรกิจนี้ยังไม่มีใครลงทุนมาก่อนในไทย
จะว่าไปแล้ว ชื่อของประยุทธเอง ก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในต่างประเทศ
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ชื่อของ "พีเอ็มกรุ๊ป" กลับเป็นที่รู้จักกันค่อนข้างที่จะแพร่หลาย
อันเป็นหลักการของการทำธุรกิจของประยุทธ เจ้าของปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ
จากมหาวิทยาลัยซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ทายาทของยงเกียรติ เจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัท
กาแฟผงไทย
ทั้งนี้เพราะแม้กระทั่ง ฌอน-ปอล เทวีนัน กรรมการผู้จัดการไทยน็อคซ์สตีล
ที่กลุ่มยูยีน เอส เอ ผู้ร่วมหุ้นในโครงการด้วยส่งมาทำงานในโครงการนี้ ยังยอมรับว่า
ไม่รู้จักกับประยุทธมาก่อน เพียงแต่ทราบว่าเป็นประธานพีเอ็มกรุ๊ปที่เป็นผู้ผลิตกาแฟเนสกาแฟในไทย
ที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจเหล็กไร้สนิมในประเทศ
อย่างไรก็ตามปัจจุบันชื่อของ "พีเอ็มกรุ๊ป" เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นอันเนื่องมากจากการเริ่มปรากฏตัวต่อสาธารณชนของประยุทธ
มหากิจศิริ เจ้าของกลุ่มด้วยการเข้าร่วมงานในสังคมมากขึ้น
ปัจจุบันตัวของประยุทธมีตำแหน่งทางสังคมที่น่าสนใจคือ เป็นกรรมการสภาอุตสาหกรรม
สาขาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและการผลิตฟิล์ม ประธานกิตติมศักดิ์ BANGKOK SYMPONY
ORCHESTRA และเหรัญญิกสมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย
นักธุรกิจคนหนึ่งกล่าวถึงประยุทธในแง่ที่น่าสนใจให้ฟังว่า การมองการณ์ไกลใน
2 เรื่อง ที่ถือเป็นจุดเด่นของตัวประยุทธ ที่สามารถสร้างให้ "พีเอ็มกรุ๊ป"
เป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน ประการแรกก็คือการมองหาธุรกิจใหม่ๆ มาลงทุนอย่างเช่น
การเริ่มการผลิตฟิล์มบี.โอ.พี.พี. หรือการเริ่มในการผลิตเหล็กไร้สนิม ที่ล้วนแต่เป็นการเริ่มทำในสิ่งที่ยังไม่มีคนอื่นลงทุนนั่นเอง
จุดเด่นประการที่สองของประยุทธหรือพีเอ็ม ก็คือ การหาพาร์ทเนอร์ดีๆ มาร่วมทุนด้วย
ซึ่งที่เห็นชัดได้แก่การดึงเนสกาแฟมาร่วมทุนในกาแฟผงไทย และการดึงยูยีน เอส
เอ มาลงขันในโครงการของไทยน็อคซ์
ส่วนตัวประยุทธ มหากิจศิริ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" อย่างได้ใจความที่สั้นที่สุดในการอรรถาธิบายถึงความสำเร็จของเขาว่า
ต้องหาผู้ร่วมทุนที่มีความน่าเชื่อถือสูงและมองว่า อุตสาหกรรมนั้นมีแนวโน้มดีหรือไม่
มีตลาด มีลู่ทางหรือมีการซื้อมาจากที่ไหน และเชื่อด้วยว่าพาร์ทเนอร์ ซึ่งแน่นอนต้องเป็นผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจแต่ละประเภทมานาน
ย่อมสามารถที่จะวางแผนงานได้ดี
การมองการณ์ไกลอย่างนี้ของประยุทธ จึงทำให้ "พีเอ็มกรุ๊ป" น่าสนใจไม่น้อยในวงการธุรกิจในวันนี้