"ไทยน็อคซ์ : กลวิธีผูกขาดในธุรกิจเหล็กไร้สนิม"

โดย ชาย ซีโฮ่
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการผลิตเหล็กไร้สนิมของไทยน็อคซ์ สตีลซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ 1 ใน 3 ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมีความคืบหน้าไปมากกว่ากลุ่มสยามสตีลไพพ์และกลุ่มสยามสตีล ประยุทธ มหากิจศิริ ประธานฯ ไทยน็อคซ์ฯ อยู่ระหว่างการเจรจาให้สองกลุ่มหลังเข้ามาเป็นพันธมิตรในโครงการนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าตลาดภายในประเทศไม่ใหญ่พอที่จะรองรับปริมาณการผลิตจากสามกลุ่มได้ และหากส่งออกจำหน่ายต่างประเทศก็ต้องเจอกับการแข่งขันสูงมาก แต่ความหมายในการเป็นพันธมิตรของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้กลับกลายเป็นการผูกขาด !!

ปลายปี 2534 ประยุทธ มหากิจศิริ นักธุรกิจเจ้าของผลิตภัณฑ์ "เนสกาแฟ" ได้ตัดสินใจเบนเข็มการลงทุนครั้งสำคัญ จากที่เคยอยู่ในวงการธุรกิจอาหาร มาเป็นโครงการผลิตเหล็กไร้สนิม ด้วยการตั้งบริษัทไทยน็อคซ์ สตีลขึ้นมา มีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาทและดึงยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเหล็กไร้สนิมจากฝรั่งเศสที่ชื่อ "ยูยีน เอส เอ" มาร่วมทุนในโครงการลงทุนประมาณ 240 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท

ประยุทธกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การเข้าสู่ธุรกิจนี้ ก็เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีใครทำในประเทศไทย และเป็นธุรกิจที่จะให้ผลตอบแทนสูงมาก โดยคาดว่าจะมีรายได้ประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท

"ผมเป็นนักธุรกิจที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพดี และมักจะมองหาผู้ร่วมทุนที่มีความน่าเชื่อถือสูง" ประยุทธกล่าวพร้อมทั้งยกตัวอย่างถึงการดึง "เนสเล" แห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มาเป็นผู้ร่วมทุนในบริษัท ควอลีตี้คอฟฟี่โพรดักส์ ในการผลิตเนสกาแฟ

กล่าวกันว่า ความใหญ่ของยูยีน เอส เอ ในวงการอุตสาหกรรมผลิตเหล็กไร้สนิมนั้นจะเป็นเครื่องประกันว่า โครงการนี้จะสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี (อ่านล้อมกรอบเรื่องยูยีน)

อย่างไรก็ตามโครงการนี้ไม่ได้มีเพียงประยุทธ มหากิจศิริเท่านั้นที่สนใจจะลงทุน เพราะบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก ต่างก็สนใจที่จะลงทุนผลิตเหล็กไร้สนิมด้วยเช่นเดียวกับที่ไทยน็อคซ์ลงทุนในโครงการที่ระยอง

ดังนั้นเมื่อไทยน็อคซ์ยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่นาน และยังไม่มีการอนุมัติโครงการ ก็มีการยื่นขอรับการส่งเสริม โดยกลุ่มสยามสตีลไพพ์ (เอสเอสพี) ของสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล และกลุ่มสยามสตีล ของวันชัย คุณานันทกุล

ในที่สุดบีโอไอตัดสินให้การส่งเสริมโครงการผลิตเหล็กไร้สนิม 3 ราย ที่จะมีกำลังการผลิตรวมกันถึง 182,000 ตันต่อปี คือ บริษัท ไทยน็อคซ์ สตีล จะตั้งโรงงานที่ระยอง มีกำลังการผลิตปีละ 60,000 ตัน โดยเป็นหุ้นส่วนฝรั่งเศส คือ ยูยีน เอส เอ ร่วมทุนด้วย 49% คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2536

รายที่สอง สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ยื่นเรื่องขอส่งเสริมในนามบริษัท สเตนเลส อินดัสตรีส์จะมีกำลังการผลิตปีละ 50,000 ตัน โดยตั้งโรงงานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีหุ้นส่วนต่างชาติคือ บริษัทอิลวาแห่งประเทศอิตาลี เข้าร่วมทุนด้วย 49% โดยในส่วนของหุ้นไทย 51% ในโครงการนี้ มีกลุ่มสหวิริยาร่วมหุ้นอยู่ด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2537

รายที่สามเป็นโครงการของวันชัย คุณานันทกุลแห่งกลุ่มสยามสตีล มีกำลังการผลิตรวมปีละ 72,000 ตันโดยมีผู้ร่วมทุนต่างชาติคือกลุ่มนิปปอนสตีล ร่วมอยู่ด้วย 49% จะตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง คาดว่าจะเริ่มโครงการในประมาณปี 2536

แต่จากการที่ความต้องการในประเทศมีเพียงประมาณปีละ 45,000-50,000 ตัน กำลังการผลิตที่ทั้ง 3 โรงงานรวมกันสูงถึงปีละ 182,000 ตันนั้น ทำให้เกิดความต้องการในประเทศมาก แนวโน้มการแข่งขันกันจึงอาจจะรุนแรง เพื่อแย่งตลาดในประเทศ

ประยุทธกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการที่บีโอไอให้การส่งเสริมผู้ยื่นเรื่องอีก 2 รายหลังตนด้วยว่า เป็นเพราะบีโอไอวิตกว่า หากให้การส่งเสริมเฉพาะไทยน็อคซ์เพียงรายเดียว ก็จะกลายเป็นการผูกขาด เพราะกำลังการผลิตมีมากกว่าความต้องการภายในประเทศ

สำหรับการใช้ในประเทศในขณะที่ยังไม่มีการผลิตนั้น ปัจจุบันเป็นการนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและยุโรปเป็นหลัก และแต่ละบริษัทมีความมั่นใจว่าหากใครสามารถที่จะผลิตได้ก่อน ก็สามารถที่จะยึดตลาดบางส่วนไว้ได้

"ผมศึกษามากพอสมควรก่อนที่จะลงทุนนอกจากธุรกิจนี้จะมีศักยภาพดีแล้ว ตลาดยังมีการขยายตัวสูงมาก คือปีละกว่า 10%" ประยุทธ ในฐานะประธานบริษัทไทยน็อคซ์ฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ในส่วนของบริษัทอื่นๆ นั้น แหล่งข่าวในสหวิริยาฯ ซึ่งร่วมทุนกับสมศักดิ์ในโครงการนี้เปิดเผยว่า ปัจจุบันการนำเข้ามายังไทยของสินค้าตัวนี้ มีญี่ปุ่นร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นเชื่อว่าโครงการนี้ถึงยังไงกลุ่มผู้ผลิตจากญี่ปุ่น จะไม่ยินยอมที่จะให้ผู้ผลิตประเทศอื่นครองตลาดก่อนแน่นอน

ซึ่งในโครงการนี้ บริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมทุนกับไทยนั้น ได้แก่กลุ่มนิปปอนสตีล ที่เป็นคู่ร่วมทุนกับกลุ่มสยามสตีลในหลายโครงการมานานแล้ว ท่ามกลางข่าวลือว่า ไทยน็อคซ์มีการดึงต่างชาติมาร่วมทุนเพิ่มในโครงการระดับ 6,000 ล้านบาทโครงการนี้

ในประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มไทยน็อคซ์ ได้ประกาศว่าจะมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ เนื่องจากบริษัทกลุ่มอิลวาซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสเอสพีและสหวิริยา เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทด้วย

ประยุทธกล่าวว่าจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิมที่มีสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายไทยคือ กลุ่มของประยุทธ 51% และต่างชาติคือยูยีน เอส เอ 49% ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยอิลวา แห่งประเทศอิตาลี เข้าถือหุ้น 14% ในส่วนของต่างชาติ ขณะที่หุ้นส่วนเดิมของอิลวาในโครงการนี้ คือเอสเอสพีและสหวิริยา จะร่วมอยู่ใน 51% ของพาร์ทเนอร์ฝ่ายไทย

สมศักดิ์ ประธานสยามสตีลไพพ์ (เอสเอสพี) กล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า การร่วมทุนครั้งนี้กลุ่มบริษัท สเตนเลส อินดัสตรีส์ จะร่วมทุนในโครงการของไทยน็อคซ์ 30% ของโครงการ ซึ่งหมายความว่า หุ้นส่วนฝ่ายไทยในบริษัท คือเอสเอสพีและสหวิริยา ถือหุ้น 16% ในไทยน็อคซ์และกลุ่มของประยุทธ ลดสัดส่วนลงมาเหลือเพียง 35% ในโครงการนี้

นอกจากนั้น ประยุทธยืนยันว่า กำลังมีการทาบทามที่จะดึงกลุ่มของสยามสตีล และกลุ่มผู้ลงทุนญี่ปุ่น 6 บริษัท มาร่วมทุนด้วยอีก 14% ในโครงการนี้ ซึ่งหมายความว่า เป้าหมายของไทยน็อคซ์นั้นจะมีการผลิตเพียงโรงงานเดียว แต่มีผู้ร่วมทุนจากทั้ง 3 กลุ่ม

อย่างไรก็ตาม วันชัย ประธานกลุ่มสยามสตีลได้กล่าวยืนยันในเวลาต่อมาว่า การร่วมทุนนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะญี่ปุ่น (คือนิปปอนสตีล) ยังคงอยู่กับกลุ่มสยามสตีลโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

"ผมไม่รังเกียจที่จะร่วมทุน แต่ต้องมีเงื่อนไขที่ดีพอในการเข้าร่วมด้วย และจะต้องเป็นประโยชน์ในโครงการ" วันชัยกล่าวแบ่งรับแบ่งสู้กับ "ผู้จัดการ"

ส่วนประยุทธ กล่าวถึงการที่ต้องดึงผู้ผลิตต่างชาติมาร่วมทุนว่า เพื่อเสริมความเป็นไปได้ของโครงการอย่างเช่น กรณีการดึงอิลวาเข้ามาร่วมทุน ก็เพื่อนำเอาส่วนดีของอิตาลีมาเสริมในโครงการที่ใช้ฝรั่งเศสเป็นหลัก

ทั้งนี้ประธานไทยน็อคซ์กล่าวว่า หากมีการแข่งขันกันจริง กลุ่มผู้ลงทุนอาจจะต้อง "บอบช้ำ" ในการหาตลาด เพราะกำลังการผลิตมีมากเกินความต้องการในประเทศนั่นเอง

"ถ้าผมเป็นรายที่สองในโครงการนี้ ผมจะไม่ลงทุนเด็ดขาด" ประยุทธกล่าวถึงแนวคิดในธุรกิจนี้ให้ฟัง

การนำเข้าเหล็กไร้สนิมมาใช้ในประเทศนั้น ปัจจุบันมีการนำเข้ามาโดยผู้นำเข้า 3 กลุ่มคือ 1) พวกศูนย์บริการ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วขายต่อให้กับผู้ใช้ในประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รายใหญ่ที่ต้องการเป็นวัตถุดิบ 2) กลุ่มพวกอิมปอร์ตเตอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขายส่งและขายหน้าร้านพร้อมๆ กัน และ 3) เป็นการนำเข้ามาของผู้ใช้โดยตรง เช่น โรงงานต่างๆ ทั้งที่ผลิตเครื่องครัวหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า

ปัญหาที่กลุ่มผู้ผลิตเริ่มวิตกก็คือ หากมีการผลิตกันมากถึง 182,000 ตัน จะมีตลาดในประเทศรองรับหรือไม่? มิหนำซ้ำ หลายคนยังยอมรับด้วยว่าการที่มีการผลิตเป็นครั้งแรกในประเทศนั้น เป็นเรื่องยากที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี หรือกระทั่งประเทศในยุโรป

รัตนชัย เนาวรัตน์ธนากร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ไทยน็อคซ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าตลาดที่จะรองรับการผลิตของโรงงานนั้น จะเริ่มจากในประเทศก่อน เพราะกำลังการผลิตของไทยน็อคซ์ปีละ 60,000 ตันนั้น เพียงพอที่จะรองรับกับความต้องการในประเทศ นับจากนี้ไปอีก 2-3 ปี

"อนาคตอาจจะถึงขั้นต้องขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวก็เป็นไปได้" รัตนชัย กล่าวถึงแนวโน้มของตลาดในขณะที่ให้การอธิบายตัวเลขความต้องการว่า ที่ผ่านมาในช่วงปี 1980-1990 นั้น การขยายตัวมีเฉลี่ยประมาณปีละ 12%

ส่วนปีที่ผ่านมานั้นการขยายตัวมีมาก เพราะผู้นำเข้ามีความวิตกในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จึงมีการนำเข้ามากเกินความต้องการใช้จริง

ขณะที่เอกชัย เรืองจารุพงษ์ รองผู้อำนวยการบริษัท ไทยสเตนเลสสตีล เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องครัวตราหัวม้าลาย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าหากมีการผลิตในประเทศแล้ว ผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงในโครงการนี้ก็คือผู้ใช้นั่นเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการวางแผนการสั่งวัตถุดิบ

"ปัจจุบันการสั่งซื้อมานั้น กว่าสินค้าจะมาถึงเรา จะต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 6 เดือนจึงจะมาถึง เพราะขั้นตอนการสั่งสินค้าและการขนส่ง"

เมื่อตลาดมีความต้องการมาก จึงเชื่อว่าหากใครสามารถที่จะเริ่มต้นผลิตได้ก่อน ก็จะเป็นผู้ครองตลาดได้ เพราะหุ้นส่วนต่างชาตินั้น ต่างก็เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กไร้สนิมเป็นวัตถุดิบ

และที่สำคัญก็คือ ชื่อของพาร์ทเนอร์ที่ว่านั้นไม่ว่าจะเป็นยูยีน เอส เอ, อิลวา หรือนิปปอนสตีล ต่างก็เป็นผู้ที่เคยส่งสินค้าเข้ามาขายให้กับบรรดาโรงงานในประเทศทั้งสิ้น

ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวในสหวิริยา กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การนำเข้ามาไทยของเหล็กไร้สนิมนี้ ญี่ปุ่นดูจะมีการสั่งเข้ามามากที่สุด โดยเฉพาะนิปปอนสตีล ที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่น

"ผมเชื่อว่า ถึงยังไงญี่ปุ่นคงจะไม่ยอมให้สูญเสียตลาดส่วนนี้ไปแน่นอน"

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการคาดการณ์กันว่ากลุ่มนิปปอนสตีล จะเข้ามาร่วมทุนกับกลุ่มของไทยน็อคซ์อย่างแน่นอน และเรื่องนี้ได้รับการขานรับอย่างดี เมื่อข่าวที่ออกจากปากของฝ่ายบริหารของไทยน็อคซ์ ต่างก็ยืนยันตรงกันว่าการเจรจากับกลุ่มอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้นคงจะรู้ผลในเร็วๆ นี้ โดยประยุทธ มหากิจศิริ ประธานไทยน็อคซ์ กล่าวว่าเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ในการเจรจาน่าจะรู้ผลในประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นอย่างช้า

แต่ผู้ที่ร่วมทุนอยู่กับนิปปอนสตีลในโครงการต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งโครงการผลิตเหล็กไร้สนิมนี้ คือกลุ่มสยามสตีลนั้น วันชัย ประธานกลุ่มฯ กล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะตนเชื่อว่า ถึงอย่างไรก็ตามนิปปอนสตีล คงจะอยู่กับกลุ่มของตนอย่างแน่นอน

"ผมยอมรับว่าแปลกใจมากที่มีการออกข่าวว่านิปปอนสตีลไปอยู่กับทางเขา" วันชัยกล่าวเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามในเรื่องการเจรจากันนี้ เมื่อประมาณกลางปี รายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อร่วมโครงการผลิตเหล็กไร้สนิมในไทยระหว่างยูยีน เอส เอ กับกลุ่มบริษัทเหล็กของญี่ปุ่นอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือนิปปอนสตีลและคาวาซากิกรุ๊ป มีความคืบหน้าไปมาก

ทั้งนี้รายงานข่าวจากรอยเตอร์ กล่าวถึงประกาศอย่างเป็นทางการของบริษัท นิปปอนสตีล ว่าบริษัทกำลังเจรจาที่จะร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ในการผลิตเหล็กไร้สนิมในไทย ท่ามกลางความแปลกใจของผู้ร่วมวงการ เพราะเป็นที่รู้กันว่า นิปปอนสตีลมีความสัมพันธ์อย่างมากกับสยามสตีล และมีชื่อเป็นผู้ลงทุนในโครงการนี้ด้วย

รัตนชัย ซึ่งทำงานมากับยูยีน เอส เอ มานาน และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขาย และตลาดของยูยีน เปิดเผยว่า การเจรจาดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องของ "ผู้ใหญ่" ระดับประธานของยูยีน เอส เอ และประธานนิปปอนสตีล เจรจากันในโครงการนี้

"เขาเป็นเพื่อนกัน รู้จักธุรกิจนี้ดี การเจรจาคงจะง่ายแน่นอน เพราะต่างก็รู้ถึงผลดีผลเสียของการร่วมทุนว่าเป็นอย่างไร"

และล่าสุด ความคืบหน้าของการเจรจาร่วมทุนดูจะมีความเป็นไปได้สูงมาก ในขณะที่ตัวของวันชัย ที่ยังเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของนิปปอนสตีลยังคงยืนยันว่านิปปอนสตีล จะยังคงร่วมอยู่กับสยามสตีลต่อไป

แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวให้ความเห็นว่า สิ่งที่เป็น "เงื่อนไข" ที่สยามสตีลต้องการใช้ในการต่อรองที่จะเข้าร่วมทุนกับไทยน็อคซ์หรือไม่นั้นได้แก่ เรื่องของการตลาด ทั้งนี้เพราะสยามสตีลมีความมั่นใจว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ใช้เหล็กรายใหญ่ จึงควรที่จะได้รับเงื่อนไขในเรื่องการตลาด เพราะอย่างน้อย ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของบริษัทในเครือก็มีมากอยู่แล้ว

นอกจากนั้นการที่มีการคาดการณ์ว่า นับตั้งแต่ปีนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง โรงแรม หรืออื่นๆ มีมากก็ยิ่งจะทำให้ตลาดความต้องการเหล็กไร้สนิมยิ่งมีมากด้วย

"แทบทุกอุตสาหกรรม ต้องใช้เหล็กไร้สนิมเป็นวัตถุดิบ เราจึงขยายตัวตาม" รัตนชัยกล่าวถึงตลาดของผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้จากรายงานเผยแพร่ของไทยน็อคซ์กล่าวถึงประโยชน์ของเหล็กไร้สนิมว่า มีการใช้ประโยชน์อย่างไม่มีขีดจำกัด เช่น เป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นเครื่องครัว ใช้ในอุตสาหกรรมทางการเกษตร ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ใช้ในระบบขนส่งมวลชน ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง จนถึงอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท (อ่านล้อมกรอบเรื่องของเหล็กไร้สนิม)

ส่วนกลุ่มของเอสเอสพีนั้น แหล่งข่าวกลาวว่า การที่กลุ่มเข้าร่วมทุนกับไทยน็อคซ์นั้น ก็เนื่องจากมองพบว่า ความเป็นไปได้ของโครงการสูงมากเนื่องจากมีความคืบหน้าไปมาก ภายใต้ความช่วยเหลือของยูยีน เอส เอ เจ้าของโนว์ฮาวการผลิต

สำหรับการดำเนินงานของไทยน็อคซ์ในขณะนี้การติดตั้งเครื่องจักรซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีความคืบหน้าไปมาก จนเชื่อว่าโรงงานคงจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในประมาณกลางปีหน้าตามแผนงานแน่นอน ขณะที่การฝึกคนงานไปฝึกถึงฝรั่งเศส ที่โรงงานของยูยีน เอส เอ ก็ยังคงดำเนินการต่อไปอีกหลายรุ่น

นั้นหมายความว่า ใน 3 บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอในโครงการผลิตเหล็กไร้สนิมนั้น ดูเหมือนว่า จะมีเพียงโครงการของไทยน็อคซ์เท่านั้นที่มีความคืบหน้า จนกระทั่งเชื่อมั่นว่า ในกลางปีหน้าโรงงานที่ระยอง ที่จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมระยองอินดัสเตรียลปาร์ค เพื่อผลิตเหล็กไร้สนิมปีละ 60,000 ตันจะเสร็จสมบูรณ์ และพนักงานจำนวนประมาณ 350 คนก็จะไปประจำที่นั่น ในขณะที่อีกประมาณ 50 คน จะประจำอยู่ที่สำนักงานที่กรุงเทพฯ ที่อาคารซีทีไอ อันเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่

ส่วนอีก 2 โครงการ แทบจะยังไม่มีการเคลื่อนไหว ในขณะที่ทางบริษัทสเตนเลส อินดัสตรีส์ ประกาศยกเลิกโครงการแล้ว เพื่อที่จะร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ ส่วนโครงการของสยามสตีล ที่จะเริ่มในปีหน้า ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ความพร้อมตรงนี้ ฌอน-ปอล เทวีนัน กรรมการผู้จัดการไทยน็อคซ์ มือดีด้านการควบคุมโรงงานของยูยีน เอส เอ ที่ผ่านประสบการณ์มามากกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นเพราะการมาไทยในครั้งนี้ ยูยีน เอส เอ หวังมากว่า โรงงานในไทย จะเป็นฐานในการผลิตสินค้าของโรงงาน เพื่อป้อนตลาดต่างๆ

"เรา (ยูยีน เอส เอ) เลือกไทยเป็นที่ตั้งของโรงงาน เพราะมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน" เทวีนันกล่าวและยืนยันด้วยว่า การมาไทยครั้งนี้ ได้ผ่านการวิเคราะห์อย่างดีถึงความเหมาะสมในด้านต่างๆ ทั้งทำเลจนถึงเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวของไทย

ในส่วนนี้ รัตนชัยกล่าวเสริมว่า แม้การผลิตจะมีมากเกินความต้องการในประเทศ แต่จากการเตรียมงาน บริษัทก็เตรียมที่จะมีการส่งออกเหล็กไร้สนิมไปยังประเทศต่างๆ ด้วย เพราะมีกำลังการผลิตเหลือ "เราคาดว่าจะมีการส่งออกประมาณ 20% ของการผลิตทั้งหมด"

ขณะเดียวกัน คนในวงการเหล็ก กล่าวถึงการแข่งขันว่า จะต้องมีการแข่งขันกับต่างชาติด้วย ทั้งในตลาดประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มีความได้เปรียบไทยในเรื่องการผลิต เพราะต้นทุนการผลิตในปัจจุบันต่ำกว่าไทยมาก เนื่องจากในประเทศ แนวโน้มจะเหลือผู้ผลิตเพียงรายเดียวคือไทยน็อคซ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รัตนชัย ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการตลาดของโรงงานที่จะผลิตเหล็กไร้สนิมโรงแรกของอาเซียนแห่งนี้ กล่าวว่า การที่โครงการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จึงทำให้สามารถที่จะแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นได้ โดยเฉพาะในตลาดใกล้เคียงอย่างอินโดจีนหรืออาเซียน

"หากไม่มีบัตรส่งเสริม เราไม่มีทางสู้คนอื่นได้ เพราะรายอื่นๆ เขาตัดต้นทุนเรื่องค่าเครื่องจักรไปแล้ว เราได้เปรียบเพียงเรื่องค่าแรงงาน ค่าที่ดินเท่านั้น"

เชื่อกันว่า ตลาดตรงนี้เอง ที่ทำให้ญี่ปุ่นโดยเฉพาะนิปปอนสตีล ตัดสินใจที่จะร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ แม้ส่วนหนึ่งจะผูกพันอยู่กับสยามสตีลแต่การที่สยามสตีลยังไม่มีความคืบหน้ามาก จึงยังไม่มีหลักประกันว่า โครงการนี้จะเริ่มได้เมื่อไร เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการของไทยน็อคซ์ ที่โรงงานกำลังจะเริ่มผลิตในประมาณกลางปีหน้าแล้ว นิปปอนสตีลดีดลูกคิดรางแก้วแล้วเห็นว่า การมาร่วมกับไทยน็อคซ์ ไม่ได้เสียหายตรงไหน เพราะการร่วมกันในครั้งนี้เป็นการตกลงกันโดยตรงกับยูยีน เอส เอ ที่ประเทศฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นการตกลงกับไทยน็อคซ์ในไทย อันเป็นโครงการ "คู่แข่ง" ของสยามสตีล ที่เป็น "คู่หู" มานาน

เจ้าหน้าที่บริหารของไทยน็อคซ์อย่างรัตนชัยอธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงการที่ไทยน็อคซ์สามารถเริ่มต้นได้ ในขณะที่อีก 2 รายที่ได้รับบัตรส่งเสริมอย่างสยามสตีลหรือเอสเอสพีไม่สามารถที่จะเริ่มต้นได้ว่า มาจากการตัดสินใจของพาร์ทเนอร์ฝ่ายไทยในการลงทุนโครงการนี้

ตัวอย่างที่เห็นได้ก็คือ การที่เอสเอสพี โดยสมศักดิ์ตัดสินใจระงับโครงการและหันมาร่วมทุนกับไทยน็อคซ์นั้น ก็เนื่องจากหุ้นส่วนฝ่ายไทย คือเอสเอสพีและสหวิริยา ยังไม่พร้อมที่จะลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับที่แหล่งข่าวในสหวิริยา ยืนยันว่า สหวิริยาจะไม่ลงไปในโครงการนี้อย่างเต็มตัว แม้จะมีผลตอบแทนน่าสนใจ เนื่องจากกลุ่มสหวิริยา ลงทุนไปในโครงการเหล็กที่ประจวบคีรีขันธ์ไปแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท จึงสนใจโครงการนี้เพียงแค่การร่วมทุนกับเอสเอสพีเท่านั้น

"เมื่อคุณสมศักดิ์ตัดสินใจร่วมทุน เราก็เข้าไปเป็นหุ้นส่วนด้วย เป็นการตกกระไดพลอยโจน" แหล่งข่าวในสหวิริยากล่าว

ในส่วนของการร่วมทุนกันนั้น กล่าวกันว่า น่าจะมี "เงื่อนไข" พิเศษ แต่ปรากฏว่า "ผู้จัดการ" ได้รับการยืนยันว่า เป็นการร่วมทุนแบบธรรมดาทางธุรกิจ ที่ไม่มีอะไรพิเศษทั้งสิ้น

"เราคุยกับทางบีโอไอ เพื่อยืนยันว่า การที่จะมีการรวมกันจาก 3 เหลือ 2 หรือเหลือเพียงรายเดียว ไม่ได้เพื่อการผูกขาด แต่เป็นการร่วมกันเพื่อความมั่นคงในการลงทุนโครงการนี้" ประยุทะ กล่าวถึงการร่วมทุนครั้งนี้

ประธานไทยน็อคซ์กล่าวถึงการมาร่วมทุนในครั้งนี้กันว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีของทางธุรกิจ ที่ไม่มีการดื้อรั้นในการแข่งขันกันเอง ในขณะที่กรรมการผู้จัดการไทยน็อคซ์ กล่าวว่า หากโครงการนี้มี 3 โปรเจ็ค จะเป็นการผลิตที่มากเกินจนอาจจะส่งผลเสียต่อตลาด เพราะเกินความต้องการของตลาด

"เรายินดีที่จะร่วมกับรายอื่น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการ" เทวีนันกล่าว

ขณะเดียวกัน มีการเปิดเผยว่า แม้จะมีการเข้ามาร่วมทุนของผู้ผลิตรายอื่น แต่การดำเนินงานทุกอย่างของโครงการของไทยน็อคซ์จะยังคงเป็นการดำเนินงานของกลุ่มผู้บริหารเดิม คือ ไทยน็อคซ์และกลุ่มของประยุทธ มหากิจศิริ

"การมาของผู้ร่วมทุนรายอื่น ไม่มีเงื่อนไขอะไรแน่นอน ผมยืนยันได้ ทุกอย่างยังเป็นการทำงานของเรา กรรมการเท่านั้นที่เขาจะมาเพิ่ม ส่วนฝ่ายบริหารหรือทำงาน ยังเป็นชุดเดิมเพื่อให้งานเดินต่อ" รัตนชัยกล่าวถึงเรื่องนี้

กล่าวกันในวงการผู้ผลิตเหล็กว่า การที่ไทยน็อคซ์ สามารถที่จะเริ่มต้นได้ก่อนคนอื่น และมีความคืบหน้าไปมาก ก็เนื่องมาจากการที่มียูยีน เอส เอ เป็นผู้ร่วมทุน ทั้งนี้เพราะการที่เป็นผู้ผลิตเหล็กไร้สนิมรายใหญ่ที่สุดของโลก ยูยีน เอส เอ จึงต้องการที่จะขยายฐานการผลิตมายังอาเซียน อันเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด

การที่เทวีนัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคโรงงานของยูยีน เอส เอ จากฝรั่งเศส ออกมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ยูยีน เอส เอ มองตลาดทั้งไทยและอาเซียนรวมทั้งเอเชีย คือการตอกย้ำให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศสรายนี้

ในส่วนของผู้ใช้นั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการเหล็กไร้สนิมเป็นวัตถุดิบหลายคน กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เหมือนๆ กันว่า แม้ผลสุดท้ายแล้ว โครงการนี้จะเหลือผู้ผลิตเพียงรายเดียว แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นการผูกขาด แม้ตลาดในประเทศจะมีความต้องการน้อยกว่าการผลิตโรงงานเดียวก็ตาม ทั้งนี้เพราะปัจจุบันภาษีการนำเข้าเหล็กประเภทนี้ อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ คือเพียงประมาณตันละ 400 บาทเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การที่ตลาดโลกสามารถที่จะมีการซื้อขายโดยเสรี และไม่มีการห้ามนำเข้าแม้จะมีการส่งเสริมการลงทุนให้มีการผลิตในประเทศก็ตามจะทำให้บรรดาโรงงานที่จะผลิตในไทย ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพด้วย

"เราเชื่อว่าชื่อของยูยีนจะทำให้สินค้าของเขาดี" หนึ่งในผู้ผลิตกล่าว

แนวโน้มการผลิตเหล็กไร้สนิมที่จะเหลือผู้ผลิตเพียงรายเดียวแทนที่จะเป็นการแข่งขันกันเองในระหว่างผู้ผลิตทั้ง 3 รายก็จะกลายเป็นการผูกขาดไปโดยปริยาย

แม้ในระยะแรก ไทยน็อคซ์ฯ อาจจะยังไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ แต่ในอนาคตเมื่อตลาดมีการขยายตัวมาก ถึงขั้นที่ไทยน็อคซ์ฯ จะมีการขยายกำลังการผลิตเป็น 2 เท่าอย่างที่รัตนชัยกล่าว

หากเป็นเช่นนี้ นิปปอนสตีลก็อาจจะเสียเปรียบได้เพราะพาร์ทเนอร์ไทยมัวโอ้เอ้ชักช้า จัดนี้น่าจะเป็นสาเหตุให้นิปปอนสตีล ตัดสินใจร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ฯ ภายหลังการทาบทามของฝ่ายบริหารของยูยีน เอส เอ แห่งฝรั่งเศส โดยไม่มีการนำชื่อของสยามสตีล มาร่วมในการเจรจาครั้งนี้ด้วย

ประเทศยิ่งใหญ่อย่างญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีสายตาไกลในเรื่องของการค้าการขายระหว่างประเทศ คงจะไม่ยอมที่จะสูญเสียตลาดแถบนี้ไปแน่นอน

กล่าวกันว่า การที่วันชัยยังไม่ตัดสินใจที่จะลงทุนในโครงการนี้อย่างจริงจัง ก็เนื่องจากมีความต้องการที่จะให้โครงการเหล็กโครงการอื่นๆ ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอก่อน เพราะเป็นโครงการที่มีความจำเป็นมากกว่าโครงการเหล็กไร้สนิม

นอกจากนั้นการที่วันชัยยังไม่ได้ตัดสินใจระงับแผนโครงการเหล็กไร้สนิมของสยามสตีลอย่างที่กลุ่มเอสเอสพีของสมศักดิ์ซึ่งร่วมทุนกับอิลวา ตัดสินใจเลิกโครงการด้วยการแจ้งไปยังบีโอไอ และไปร่วมทุนกับประยุทธด้วยแล้ว นั่นก็คือ ความเป็นไปได้ในโครงการของวันชัยยังคงมีอยู่

ตราบใดที่วันชัยยังไม่ได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ ก็หมายความว่า นิปปอนสตีลยังมีโปรเจ็คในมืออีกโปรเจ็คที่มีวันชัยเป็นผู้ร่วมทุนคือโครงการของสยามสตีล

การมองตลาดของญี่ปุ่นในครั้งนี้ บางทีถึงวันนั้นอาวุธลับในการเจรจาของไทยน็อคซ์ที่ชื่อ "ยูยีน เอส เอ" ที่ได้ผลในการดึงพาร์ทเนอร์ยักษ์แห่งเอเชียนามว่า "นิปปอนสตีล" มาร่วมทุนด้วย อาจจะกลายเป็นบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาฟาดใส่ตัวเองก็ได้

ผลสุดท้าย โครงการผลิตเหล็กไร้สนิม ที่ประยุทธ มหากิจศิริ หันมาลงทุนเป็นรายแรกในนาม "ไทยน็อคซ์" และมองว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง มีผลตอบแทนดีพร้อมทั้งเริ่มต้นไปก่อนคนอื่น จนกระทั่งเป็นผลสำเร็จ และสามารถที่จะดึงพาร์ทเนอร์ใหญ่ๆ ทั้งอิตาลีและญี่ปุ่นคืออิลวา และนิปปอนสตีลมาร่วมทุนด้วย ก็กลายเป็นโครงการผูกขาดเพียงรายเดียวที่ประสบความสำเร็จ

เป็นกลวิธีการผูกขาดในธุรกิจเหล็กไร้สนิมที่น่าสนใจไม่น้อย !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.