"แผน 7 รัฐบาลวางเป้าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าพักในโรงแรม และสถานที่พักต่างๆ
รวม 6-8 ล้านคน เมื่อสิ้นปี '39 จะมีเงินเข้าประเทศเกือบ 200,000 ล้านบาท
แหล่งท่องเที่ยวการอนุรักษ์ธรรมชาติ การเมือง ระบบบริการที่มีคุณภาพของโรงแรมคือปัจจัยชี้ขาดของอนาคตธุรกิจนี้ที่ลงทุนแต่ละโครงการเป็นเงินมหาศาล"
ธุรกิจโรงแรมเป็นสาขาธุรกิจหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อกันเป็นอันมาก
จากข้อมูลแสดงจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2530 มีจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2530
มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 3,482,958 คน หรือมีอัตราการเพิ่มขึ้น
23.59% จากปี 2529 อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวก็ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงและต่อเนื่องมาในปี
2531 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้น 21.47%
อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวในอัตราที่สูงและรวดเร็ว ส่งผลต่อการขยายตัวของปริมาณความต้องการห้องพักปี
2530 อัตราการเพิ่มขึ้นของห้องพักมีเพียง 6.10% และ 9.33% ในปี 2531 จึงทำให้เกิดสภาพความขาดแคลนของห้องพัก
เปรียบเทียบสภาวะธุรกิจโรงแรมในช่วงนั้นได้ว่า ตลาดหรือธุรกิจโรงแรมเป็นของผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมหรือผู้ขาย
ดังนั้นผู้ขายจึงมีอิทธิพลที่สูงมากต่อการกำหนดราคาห้องพัก
ภาวะการขาดแคลนห้องพักส่งผลให้มีการปรับระดับราคาห้องพักที่สูงขึ้นโดยในปี
2530 ระดับราคาห้องพักเฉลี่ย 2,250 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้นเป็น 2,700 บาทต่อคืนในปี
2531 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 20%
ความขาดแคลนห้องพักจากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีอัตราการขยายตัวสูง
เป็นแรงจูงใจต่อการขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรม ประกอบกับภาครัฐต้องการแก้ไขปัญหาภาวะความขาดแคลนห้องพัก
จึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโรงแรมโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศจากผลของสงครามอ่าวเปอร์เซีย และการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองของประเทศ
ประกอบกับธุรกิจโรงแรมที่มีการขยายการลงทุนในช่วงตั้งแต่ปี 2531 ได้ทยอยก่อสร้างเสร็จ
ทำให้จำนวนห้องพักทั่วประเทศระหว่างปี 2532-2534 มีอัตราการขยายตัวประมาณ
12% และจำนวนห้องพักรวมทั่วประเทศในปี 2534 มีจำนวนทั้งสิ้น 190,453 ห้อง
ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจึงทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลง หรือตลาดได้เปลี่ยนไปเป็นของผู้ซื้อแล้ว
ธุรกิจโรงแรมในช่วงปี 2534 และต่อเนื่องมาในปี 2535 จึงอยู่ในภาวะที่จำนวนห้องพักมากกว่าความต้องการ
ส่งผลให้เกิดภาวะการแข่งขันของโรงแรมต่างๆ ขึ้น ด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อรักษาระดับของอัตราเข้าพักให้คุ้มกับต้นทุนของโรงแรม
ปกติโรงแรมควรมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 71-80% จึงเป็นเกณฑ์ที่ยอมรับได้ดังนั้นธุรกิจโรงแรมช่วงตั้งแต่กลางปี
2533 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2535 จัดเป็นช่วงที่ซบเซามากของธุรกิจนี้ ภาวะการแข่งขันก็ทวีความรุนแรงขึ้น
โครงการสร้างธุรกิจ
โครงสร้างธุรกิจโรงแรมมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอันมาก
เพราะธุรกิจโรงแรมเป็นการให้บริการด้านที่พักแก่นักท่องเที่ยวโดยตรงและเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่บริการอยู่ภายในโรงแรมด้านต่างๆ
เช่น ภัตตาคาร ไนต์คลับ คอฟฟี่ชอบ ร้านขายสินค้าที่ระลึก และบริการนำเที่ยว
เป็นต้น การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยจะพักในโรงแรมในสัดส่วนที่สูงมากโดยปี
2534 นักท่องเที่ยวจะพักในโรงแรม 98.40% ดังนั้นธุรกิจโรงแรมจึงมีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวและระยะเวลาการเข้าพักของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
ระดับของธุรกิจโรงแรม
ประเทศไทยแบ่งกลุ่มธุรกิจโรงแรมตามระดับของสิ่งอำนวยความสะดวก (FACILITY)
โดยใช้ราคาห้องพักเป็นเกณฑ์ดังนี้
การบริหารธุรกิจโรงแรม
1. ดำเนินงานโดยเจ้าของโรงแรมที่เป็นบุคคลหรือกิจการในครอบครัวบริหารโรงแรมเอง
เป็นลักษณะของโรงแรมที่มีห้องพักไม่มากนัก
2. ดำเนินงานในรูปของนิติบุคคล ที่มีห้องพักจำนวนมาก ลักษณะการบริหารพิจารณาได้ดังนี้
2.1 INTERNATIONAL HOTEL CHAIN มีรูปแบบดังนี้
1. การร่วมลงทุนโดยตรง เป็นการซื้อหุ้นกิจการโรงแรมที่มีอยู่แล้วหรือร่วมลงทุน
สร้างโรงแรมขึ้นใหม่ แต่บริษัทเครือโรงแรมข้ามชาติไม่นิยมการบริหารในรูปแบบนี้
2. การเช่า เป็นการเช่าโรงแรมที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วมาดำเนินการเอง ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิ์ในการบริหาร
และจะเปลี่ยนชื่อโรงแรมเป็นชื่อของ HOTEL CHAIN นั้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงการจัดการและการบริหารหรืออาจปรับปรุงห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
โดยผู้เช่าจะรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายและผลกำไรจะเป็นของผู้เช่า โดยผู้ให้เช่าจะมีรายได้จากค่าเช่าเท่านั้น
การดำเนินการรูปแบบนี้จะอยู่ภายใต้นักบริหารการโรงแรมอาชีพชาวต่างประเทศ
3. การขายสิทธิ์ในการใช้ชื่อ (FRANCHISE) โรงแรมที่ซื้อสิทธิ์จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ
HOTEL CHAIN นั้น และระบบการสำรองห้องพักระหว่างโรงแรมในเครือ ในรูปแบบนี้เจ้าของโรงแรมยังคงรับผิดชอบการบริหารอยู่
แต่จะมีตัวแทนของ HOTEL CHAIN มาร่วมในการบริหารงานด้วย
4. การบริการด้านการจัดการ เป็นการเสนอขายบริการด้านการจัดการให้แก่โรงแรมใดโรงแรมหนึ่ง
โดย HOTEL CHAIN จะมาจากกำไรจากการดำเนินงาน
INTERNATIONAL HOTEL CHAIN ในประเทศไทยจะเป็นการดำเนินงานโดยบริษัทสายการบินบริษัทนำเที่ยวระหว่างประเทศและบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยตรง
การบริหารงานโดย INTERNATIONAL HOTEL CHAIN มีผลต่อการไหลออกของเงินรายได้ที่
CHAIN เหล่านี้ได้รับในรูปแบบต่างๆ ตามข้อตกลงหรือรูปแบบการดำเนินงานข้างต้น
การส่งเงินออกนอกประเทศของธุรกิจโรงแรมโดยขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าปี
2529 มียอดการส่งออกเงิน 14.48 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 185.39 ล้านบาทในปี
2531 (จำนวนโรงแรม 27 แห่ง) โดยค่าบริหารและการจัดการจะมีสัดส่วนที่สูงที่สุด
49.09% ในปี 2531
ข้อมูลดังกล่าวแสดงถึงการบริหารธุรกิจโรงแรมที่เข้าเป็นสมาชิกของ INTERNATION
HOTEL CHAIN เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการบริหารงานโรงแรมที่ได้มาตรฐานสากล และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมได้เนื่องจากเครือโรงแรมมีส่วนช่วยในการหาลูกค้าเพราะภาพพจน์และชื่อเสียงของ
CHAIN อันเป็นการได้เปรียบทางธุรกิจอีกทางหนึ่ง
2.2 เครือโรงแรมไทยเป็นการบริหารของกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่เป็นคนไทยที่เริ่มต้นจากการดำเนินงานบริหารโรงแรมแห่งเดียวก่อน
เมื่อเรียนรู้ระบบการดำเนินงาน และมีประสบการณ์ในธุรกิจโรงแรมจึงขยายการดำเนินงานออกไป
เช่น เครืออิมพีเรียล ดุสิต (ดุสิตธานี) สยามลอดจ์ และสยามเบย์ เป็นต้น เครือโรงแรมที่เป็นของคนไทยจะช่วยลดการไหลออกของเงินไปยังต่างประเทศ
และเพื่อพัฒนาให้ธุรกิจโรงแรมสามารถดำเนินงานด้วยคนไทยอันเป็นการลดการพึ่งพิงต่างประเทศลง
ความต้องการห้องพัก
ความต้องการห้องพักมีความสัมพันธ์กับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยตรง การหาความต้องการห้องพักจึงเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงที่ผ่านมาและระยะเวลาพำนักเฉลี่ย
การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2530 มีอัตราการเพิ่มถึง 23.59%
จากปี 2529 และอัตราการเพิ่มก็ยังคงอยู่ในอัตราที่สูงและต่อเนื่องมาในปี
2531 นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อความต้องการสถานที่พักแรมที่เพิ่มขึ้นโดยถ้าพิจารณาประเภทของสถานที่พักแรมตามความต้องการของนักท่องเที่ยว
โรงแรมจะเป็นสถานที่พักที่นักท่องเที่ยวมีความต้องการมากที่สุดถึงร้อยละ
98% นอกจากนั้นระยะเวลาพำนักเฉลี่ยที่นานขึ้นก็แสดงว่านอกจากความต้องการห้องพักที่เพิ่มขึ้นแล้ว
ยังต้องการพักเป็นระยะเวลาที่นานขึ้น โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะใช้บริการของโรงแรมก็มากขึ้นด้วย
ดังนั้นในช่วงปี 2530-2531 จึงเป็นช่วงที่ธุรกิจโรงแรมประสบผลสำเร็จทางธุรกิจที่สูงมาก
ความต้องการห้องพักที่สูงขึ้นขณะที่ปริมาณห้องพักมีไม่เพียงพอนี้ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาห้องพักที่สูง
และถ้าพิจารณาการขึ้นราคาห้องพักตามกลไกตลาดจากอุปสงค์ (DEMAND) และอุปทาน
(SUPPLY) แล้ว ความต้องการส่วนเกิน (EXCESS DEMAND) ของห้องพัก เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมปรับราคาขึ้น
แต่ส่วนเกินของการประกอบธุรกิจโรงแรม (PRODUCER' S SURPLUS) ก็ควรอยู่ในอัตราที่คุ้มและเพียงพอต่อการลงทุน
เพราะการปรับราคาลักษณะนี้เป็นการสะท้อนถึงการเอาเปรียบต่อผู้บริโภค
จากข้อมูลจะพบว่าอัตราค่าที่พักของโรงแรมไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
ซึ่งเฉลี่ยแล้วมีอัตราการเปลี่ยนแปลงปี 2532 เพิ่มขึ้น 41.11% จากปี 2530
ราคาห้องพักเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักท่องเที่ยวตกประมาณร้อยละ
23 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอันดับที่สองรองจากค่าซื้อของซึ่งตกประมาณร้อยละ 33
ดังนั้นจึงมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวด้วย
ตั้งแต่ปี 2530 จำนวนนักท่องเที่ยวของประเทศมีอัตราการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงและมีค่าติดลบในปี
2534 การเปลี่ยนแปลงจำนวนนักท่องเที่ยวนี้ นอกจากราคาห้องพักแล้วปัจจัยอื่นก็มีผลต่อการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยด้วย
เช่นปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศก็มีผลต่อธุรกิจโรงแรมเช่นกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
โดยการรัฐประหารเมื่อปี 2534 ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่กล้าเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย
เนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย เมื่อจะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย
การพิจารณาผลกระทบของการรัฐประหารครั้งนี้ ระยะสั้นคือในช่วงของการรัฐประหารจะได้รับผลกระทบมาก
จากการเปรียบเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างปี 2533 และ 2534 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
จะพบว่าในช่วงหลังการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ อัตราการลดลงของนักท่องเที่ยวจะอยู่ในอัตราที่สูงมาก
คือ 12.50% และ 10.83% ในเดือนมีนาคม และเมษายน ตามลำดับ และอยู่ในอัตราที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี
แต่ในระยะยาวแล้วจะเป็นผลทางด้านภาพพจน์ของประเทศต่อความจูงใจในการมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากกว่า
ดังนั้นภาพรวมของความต้องการห้องพักจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อจำนวนนักท่องเที่ยว
ระยะเวลาพำนักเฉลี่ย ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองในประเทศและต่างประเทศ
แต่ทั้งนี้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากแต่ละประเทศและสถานที่ท่องเที่ยวก็มีความสัมพันธ์ต่อความต้องการห้องพักเช่นกัน
เพราะสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจากแต่ละประเทศเป็นการแสดงถึงโอกาสทางการตลาดและอำนาจซื้อของนักท่องเที่ยวประเทศนั้นๆ
นักท่องเที่ยวที่มีอำนาจซื้อสูงจะสามารถบริโภคกลุ่มสินค้าและบริการที่มีระดับราคาหรือคุณภาพสูงได้มากกว่า
ระดับราคาห้องพักจึงเป็นปัจจัยที่กำหนดตำแหน่งทางการตลาดของแต่ละโรงแรมและลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของโรงแรม
และอีกนัยหนึ่งคือด้านสถานที่ท่องเที่ยวก็จะมีความต้องการสถานที่พักเพิ่มขึ้นด้วย
ปัจจุบันนอกจากนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจโรงแรมแล้ว การประชุมสัมมนาระดับนานาชาติและระดับภายในประเทศ
ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความต้องการห้องพักด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะยังคงมีขนาดตลาดที่เล็กแต่ก็มีศักยภาพที่ดีในอนาคต
จากสถิติของการท่องเที่ยวจะพบว่าจากปี 2530 การจัดประชุมนานาชาติเพิ่มขึ้นจาก
348 ครั้งเพิ่มเป็น 450 ครั้งในปี 2534
โรงแรมโดยทั่วไปจะมีห้องประชุมขนาดต่างๆ บริการลูกค้าอยู่แล้ว แต่ห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่จะเป็นการดัดแปลงจากห้องจัดเลี้ยงที่มีไว้บริการอยู่แล้ว
และการจัดเลี้ยงก็มักจะจัดในช่วงเย็น ดังนั้นในช่วงกลางวันห้องจัดเลี้ยงจึงไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
แนวทางหนึ่งของการใช้ห้องเป็นประโยชน ์ก็ด้วยการจัดเป็นสถานที่ประชุมสัมมนา
แต่จุดมุ่งหมายของการใช้ห้องจัดเลี้ยงเป็นห้องประชุมโรงแรมจะเน้นที่การขายอาหาร
และเครื่องดื่มสำหรับผู้ร่วมประชุมมากกว่ารายได้ค่าเช่าห้องประชุม ถ้าเป็นการประชุมที่ผู้ร่วมประชุมไม่ได้เป็นคนในท้องถิ่นแล้วย่อมจำเป็นต้องการสถานที่พักแรมด้วย
ข้อมูลปี 2534 สถานที่จัดการประชุมนานาชาติ 68.20% จะจัดที่โรงแรม การประชุมภายในประเทศจัดที่โรงแรม
70.90% และผู้เข้าร่วมประชุมนานาชาติ และประชุมภายในประเทศจะพักแรมระหว่างการประชุมที่โรงแรมในอัตราส่วน
55.80% และ 69.70% ตามลำดับ
การสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อรองรับและสนับสนุนการจัดการประชุมและสัมมนาในระดับต่างๆ
ของประเทศ อาจจะกระทบด้านห้องประชุมของโรงแรมบ้าง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงก่อให้เกิดความต้องการห้องพักของธุรกิจโรงแรมอยู่ดี
อุปทานธุรกิจโรงแรม
ธุรกิจโรงแรมในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวของการลงทุนที่สูงมาก โดยมีแรงจูงใจจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยายตัวสูง
แล้วก่อให้เกิดภาวะความขาดแคลนห้องพักขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
(BOI) เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าวด้วย
อัตราการเพิ่มขึ้นของห้องพัก มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นมาตลอดเมื่อพิจารณาโดยรวม
แต่ถ้าพิจารณาในระดับภาคแล้ว อัตราการเปลี่ยนแปลงของห้องพักจะมีค่าที่กระจายไปยังทุกภูมิภาคที่แตกต่างกันไป
กรุงเทพมหานครจัดเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนห้องพักสูงที่สุด โดยในปี 2534 กรุงเทพฯ
มีห้องพักรวม 45,548 ห้อง ขณะที่ภาคใต้ทุกจังหวัดรวมกันมีจำนวนห้องพัก 48,276
ห้อง
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนห้องพัก รัฐจึงสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจโรงแรม
โดยจากปี 2531 ที่ให้การส่งเสริมเพียง 1 ราย ได้เพิ่มเป็น 102 และ 132 ราย
ในปี 2532 และ 2533 ตามลำดับ ซึ่งในช่วง 2 ปีนี้ มีจำนวนห้องพักสูงถึง 79,622
ห้อง แต่ในปี 2534 จำนวนผู้ขอรับการส่งเสริมได้ลดลงเหลือ 68 ราย ทั้งนี้เพราะภาวะความต้องการห้องพักได้ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงและห้องพักที่เพิ่มในอัตราที่สูง
รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนอันเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยงเงินกู้
ในตลาดเงินยังเป็นอัตราที่สูงมาก เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ชะลอตัวลง การลงทุนในช่วงนี้จึงเป็นการเสี่ยงต่อเงินทุนที่จะลงทุน
การส่งเสริมการลงทุนของ BOI ช่วงปี 2532-2533 มีการกระจายไปยังหลายพื้นที่ของประเทศแต่กรุงเทพมหานครก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมในสัดส่วนที่สูงกว่าพื้นที่อื่น
คิดเป็น 33.33% ของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมด
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีอัตราการลงทุนของธุรกิจโรงแรมสูงมาก เพราะเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวและการเดินทางของประเทศนักท่องเที่ยวส่วนมากจึงต้องเดินทางผ่านกรุงเทพฯ
ก่อนไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของประเทศ
การคาดการณ์ความต้องการห้องพักในกรุงเทพฯ จากข้อสมมติฐานนี้จึงทำให้มีการลงทุนสร้างโรงแรมในกรุงเทพฯ
สูงมาก จนเกินความต้องการห้องพักในช่วงที่ผ่านมาขณะที่แหล่งท่องเที่ยวของประเทศหลายแห่งมีนักลงทุนให้ความสนใจที่จะลงทุนน้อย
ทั้งที่ยังคงมีความต้องการห้องพักอยู่
ประกอบกับปัจจุบันรูปแบบการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้เปลี่ยนไป จากที่ต้องผ่านกรุงเทพฯ
ก็เป็นเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวนั้นโดยตรง เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี
(สมุย) เป็นต้น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าจำนวนห้องพักในกรุงเทพฯ มากเกินความต้องการ
แต่ในบางพื้นที่ยังขาดแคลนห้องพักอยู่ การลงทุนในธุรกิจโรงแรมจึงยังคงน่าลงทุนอยู่
แต่ขึ้นกับว่าจะลงทุนในพื้นที่ไหน
จากรายงานการวิจัยอุปสงค์และอุปทานของสถานพักแรมในแหล่งท่องเที่ยวหลักช่วงแผน
7 ยังคงมีความขาดแคลนห้องพักในบางพื้นที่แต่อยู่ในอัตราที่ไม่สูงนัก โดยภูเก็ตจะเป็นจังหวัดที่ขาดแคลนห้องพักมากที่สุด
โครงสร้างรายได้
รายได้ของการประกอบธุรกิจโรงแรม แบ่งพิจารณาได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. รายได้จากค่าห้องพักเป็นรายได้ที่สำคัญต่อการประกอบการของธุรกิจโรงแรมมาก
ปกติรายได้จากค่าห้องพักจะอยู่ในอัตราส่วนระหว่าง 45-60%
2. รายได้จากการขายอาหาร และเครื่องดื่มรวมทั้งรายได้จากการจัดเลี้ยงประชุม
และสัมมนาเป็นรายได้ที่มีความสำคัญรองลงมาจากรายได้ค่าห้องพักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ
35-50% ของรายได้ทั้งหมด
3. รายได้อื่นๆ ประกอบด้วยค่าซักรีด ค่าโทรศัพท์ แฟกซ์ ค่าเช่าร้านค้าของที่ระลึก
หรือบริษัทนำเที่ยวภายในโรงแรม เป็นต้น รายได้ส่วนนี้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยมากคือประมาณ
3-15% เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้สองส่วนแรก ทั้งนี้เพราะโรงแรมไม่ได้หวังจะทำกำไรจากรายได้ส่วนนี้
แต่เป็นบริการเพื่อความสะดวกของลูกค้ามากกว่า
ปัจจัยที่มีผลต่อรายได้จากการขายห้องพัก
1. อัตราค่าห้องพักเฉลี่ย (AVERAGE ROOM RATE) คำนวณจากรายได้ของการขายห้องพักทั้งหมด
หารด้วยจำนวนห้องพักที่ขายได้ทั้งหมด ถ้าโรงแรมมีอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยสูง
ก็หมายถึงโรงแรมสามารถขายห้องพักได้ในระดับราคาที่สูง แต่การจะพิจารณาเปรียบเทียบว่าระดับราคาห้องพักโรงแรมใด
มีค่าเท่าไรต้องคำนึงถึงระดับของโรงแรมซึ่งแบ่งตามหลักเกณฑ์การแบ่งระดับโรงแรมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(ททท.) ด้วย ทั้งนี้เพราะโรงแรมแต่ละระดับย่อมมีอัตราค่าห้องพักต่อคืนที่ต่างกัน
การขายห้องพักนี้ อัตราค่าห้องพักที่โรงแรมคิดจากนักท่องเที่ยวหรือลูกค้าแต่ละรายจกแตกต่างกัน
แม้ว่าจะเป็นห้องพักแบบเดียวกัน อัตราค่าห้องพักที่คิดกับกลุ่มลูกค้าต่างๆ
แบ่งได้ดังนี้
อัตราค่าห้องพักที่ไม่มีส่วนลด (RACK RATE/FULL RATE) เป็นอัตราค่าห้องพักที่โรงแรมคิดกับลูกค้าเต็มราคาที่โรงแรมประกาศไว้
การขายห้องพักในอัตรานี้ปกติจะคิดกับลูกค้าที่จองห้องพักโดยตรงหรือไม่ได้จองล่วงหน้า
(WALK-IN) อัตรานี้เป็นอัตราที่ได้ราคาดีที่สุด แต่โรงแรมก็ไม่สามารถขายห้องพักในอัตรานี้ได้ทั้งหมด
เพราะลักษณะความแตกต่างของธุรกิจโรงแรมที่ผลิตภัณฑ์หรือห้องพักของธุรกิจโรงแรมที่มีไว้ให้ลูกค้ามาเช่าพักในแต่ละวันไม่สามารถเก็บไว้ได้
(PERISHABLE PRODUCT) ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียรายได้ส่วนนี้ การขายห้องพักธุรกิจโรงแรมจึงต้องทำการขายห้องพักล่วงหน้า
อัตราค่าห้องพักที่มีส่วนลด (DISCOUNT RATE) เป็นอัตราค่าห้องพักที่โรงแรมขายให้แก่ลูกค้าในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราที่ประกาศไว้
และส่วนลดที่โรงแรมให้กับลูกค้าแต่ละรายก็จะมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เงื่อนไขของการให้ส่วนลดขึ้นกับปัจจัยดังนี้
การขายห้องพักให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว จะเป็นการทำข้อตกลงอัตราที่ซื้อขายล่วงหน้าเป็นระยะเวลา
1 ปี หรือเรียกว่าอัตราค่าห้องพักตามข้อตกลง (CONTRACT RATE) อัตราค่าห้องพักที่โรงแรมให้กับธุรกิจนำเที่ยวแต่ละรายก็ไม่เท่ากัน
ขึ้นกับจำนวนห้องพักที่ตกลงซื้อความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีต่อกัน หรือประวัติในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่โดยทั่วไปจะตกลงกันเป็น
2 อัตรา คือ อัตราค่าห้องพักที่มีจำนวนการจองต่ำกว่า 15 ห้อง หรือเรียกว่า
FIT RATE อัตราค่าห้องพักที่มีจำนวนการจองอย่างน้อย 15 ห้องขึ้นไป หรือเรียกว่า
GROUP RATE ซึ่งจะมีห้องพักแถมให้ 1 ห้อง (COMPLEMENTARY ROOM)
จากลักษณะการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่สัดส่วนของการเดินทางมากับบริษัทนำเที่ยวจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
แสดงถึงความสัมพันธ์ของธุรกิจโรงแรมกับธุรกิจนำเที่ยวที่มีต่อกัน ราคาห้องพักที่โรงแรมให้กับธุรกิจนำเที่ยวจะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาปกติ
แต่การซื้อห้องพักของธุรกิจนำเที่ยวก็เป็นการซื้อจำนวนห้องที่มาก
ปี 2531 สัดส่วนของการเดินทางมากกับบริษัทนำเที่ยวลดลงนี้ เป็นผลจากการปรับราคาห้องพักซึ่งถือว่าเป็นการฉวยโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม
อันเป็นข้อขัดแย้งระหว่างบริษัทนำเที่ยวและธุรกิจโรงแรม
แต่หลังจากมีการปรับปรุงราคาห้องพักอย่างเหมาะสมแล้ว สัดส่วนนี้ก็อยู่ในอัตราที่สูงขึ้น
ดังนั้นรายได้ด้านห้องพักส่วนหนึ่งจึงเป็นรายได้ที่ผ่านมาทางธุรกิจนำเที่ยว
การขายห้องพักในอัตราธุรกิจ (COMMERCIAL RATE) เป็นอัตราที่โรงแรมขายให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ
โรงแรมจะขายห้องพักในอัตรานี้โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่เข้าพักในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
การขายห้องพักในช่วงฤดูกาลต่างๆ (SEASONAL RATE) การขายห้องพักในอัตรานี้
เป็นอัตราที่ใช้สำหรับโรงแรมที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เพราะจะมีอิทธิพลของฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นปัจจัยในการกำหนดอัตราค่าห้องพัก
ปกติถ้าอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว อัตราห้องพักละลดลงประมาณ 30-50% โดยขึ้นกับสถานการณ์ทางการตลาดในแต่ละปีด้วย
แต่ในช่วงที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (PEAK SEASON) โรงแรมจะคิดส่วนบวกเพิ่ม
(SUR CHARGE) เข้าไปกับอัตราค่าห้องพักด้วย
อัตราค่าห้องพักช่วงการส่งเสริมการขาย (PROMOTIONAL RATE) คืออัตราค่าห้องพักที่คิดโดยรวมค่าบริการอื่นๆ
ไว้แล้ว (PACKAGE PRICE) เช่น อัตราค่าห้องพักที่รวมค่าเดินทาง ค่าอาหาร
บริการนำเที่ยว เป็นต้น การขายห้องพักในอัตรานี้จะขายในช่วงที่โรงแรมต้องการส่งเสริมการขายอันสืบเนื่องมาจากสภาวะทางการแข่งขันช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว
หรือเป็นราคาในช่วงที่โรงแรมเริ่มเปิดดำเนินการใหม่
จากอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยที่แบ่งได้ 2 ประเภท การที่โรงแรมจะมีรายได้จากส่วนของค่าห้องพักมากน้อยเพียงไรจึงขึ้นกับว่านักท่องเที่ยวเข้าพักในโรงแรมเป็นระยะเวลานานแค่ไหน
และขณะเดียวกันบริการต่างๆ ที่ทางโรงแรมจัดไว้บริการลูกค้าก็มีโอกาสที่ลูกค้าจะใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย
เช่น บริการซักรีด อาหาร หรือบริการนำเที่ยวที่ทางโรงแรมจัดขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวพักนานขึ้น
2. อัตราการเข้าพัก (OCCUPANCY RATE) การเพิ่มรายได้ของค่าห้องพักอีกวิธีหนึ่งคือโรงแรมจะต้องพยายามขายห้องพักให้ได้ราคาที่สูงที่สุดและจะต้องพยายามขายห้องพักที่มีอยู่ทั้งหมด
แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมากที่จะสามารถขายห้องพักได้เต็มอัตราการเข้าพักทุกวัน
การจองห้องพักของลูกค้าบางกรณีเมื่อถึงวันเข้าพักลูกค้าไม่มาเข้าพัก เป็นการเสียโอกาสในการขายห้องพัก
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้โรงแรมจึงจะรับจองห้องพักสูงกว่าจะนวนห้องพัก (OVER
BOOKING) ประมาณ 5-10% เพื่อลดการสูญเสียรายได้ถ้าลูกค้าไม่มาพัก อัตราการเข้าพักคำนวณจาก
อัตราการเข้าพัก = จำนวนคืนพักตลอดปี x 100 / จำนวนห้องพักทั้งหมด x 365
ถ้า
อัตราการเข้าพักมีค่าสูงแสดงว่าโรงแรมสามารถขายห้องพักได้มากด้วย ขณะเดียวกันอัตราการเข้าพักต่ำก็มีผลต่อราคาขายห้องพักที่ต่ำลงด้วย
ปกติโรงแรมควรมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 71-80% จึงจะเป็นอัตราที่น่าพอใจ
จากสถิติของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่าอัตราการเข้าพักที่อยู่ระหว่าง
70-80% ของโรงแรมมีปรากฏระหว่างช่วงปี 2530-2533 เท่านั้น
ถ้าต่ำกว่านี้แสดงว่าโรงแรมกำลังมีปัญหาในการขายห้องพัก ซึ่งปัจจุบันผลกระทบจากภาพพจน์ของการท่องเที่ยวของประเทศส่งผลให้อัตราการเข้าพักอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
แต่อัตราการเข้าพักที่ต่ำนี้อาจจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาวแล้วเป็นสิ่งที่จะต้องร่วมมือกันสร้างภาพพจน์ที่ดีของการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น
ขณะที่รายได้จากการเข้าพักลดลงนี้ การชดเชยรายได้ที่เสียไปจึงเป็นการเน้นตลาดมายังรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่มหรือบริการด้านอื่นของโรงแรม
ทั้งนี้เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรด้านต่างๆ ที่โรงแรมมีอยู่ให้เกิดรายได้ขึ้นดังจะเห็นได้จากการจัดเทศการอาหารขึ้นภายในห้องอาหารของโรงแรม
หรือการให้ความสำคัญด้านการจัดเลี้ยงโดยการให้ส่วนลดและสิทธิพิเศษอื่นๆ
โครงสร้าง ต้นทุน
การลงทุนของธุรกิจโรงแรมแบ่งเงินลงทุนเป็น 2 ระยะดังนี้ การลงทุนช่วงก่อนสร้างโรงแรมและก่อนเปิดดำเนินงานต้นทุนการดำเนินงานช่วงเปิดดำเนินการ
เงินทุนทั้ง 2 ระยะนี้มีผลต่อการกำหนดราคาห้องพัก และกลยุทธ์ทางการตลาด
สัดส่วนเงินลงทุนระยะแรกแบ่งได้ดังนี้
สัดส่วนเงินลงทุนนี้เป็นการประเมินโดยรวมของโรงแรมมาตรฐาน แต่ทั้งนี้ในบางพื้นที่ส่วนของค่าที่ดินอาจจะมีอัตราส่วนที่สูงกว่านี้ก็ได้ขึ้นกับทำเล
หรือค่าก่อสร้าง ถ้าเป็นช่วงที่ขาดแคลนวัสดุก่อสร้างรายการนี้ย่อมสูงขึ้น
เงินลงทุนระยะนี้พิจารณาเฉลี่ยต่อห้องโดยประมาณตามขนาดและระดับของโรงแรมซึ่งเป็นการประเมินในช่วง
2530-2533 แสดงได้ดังนี้ (ดูตารางเงินลงทุนโรงแรมขนาดต่างๆ)
ข้อมูลนี้ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นของการลงทุนสร้างโรงแรมเพื่อการวางแผนทางการเงินของโครงการถึงการหาเงินทุนจากแหล่งไหนซึ่งจะมีต้นทุนของเงินทุนต่ำที่สุด
จากข้อกำหนดของ BOI การให้การส่งเสริมธุรกิจโรงแรม สัดส่วนของหนี้สินต่อทุนจะต้องไม่เกิน
1.50:1 ถ้าขนาดของเงินลงทุนสูง สัดส่วนของเงินทุนที่เป็นส่วนของผู้ประกอบการก็จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย
ซึ่งเงินทุนของผู้ประกอบการก็มีค่าเสียโอกาสเช่นกันนอกเหนือจากเงินกู้ที่ต้องเสียดอกเบี้ยแล้ว
ทั้งนี้ถ้านำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในธุรกิจอื่นแล้วได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนสร้างโรงแรมแล้ว
ผู้ประกอบการก็จะไม่ลงทุนในโครงการสร้างโรงแรม
การวางแผนทางการเงินของการสร้างโรงแรมในชั้นตอนแรกนี้ จึงควรเป็นการวางแผนที่รอบคอบในทุกขั้นตอนของการลงทุน
ทั้งนี้การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะถ้าไม่สามารถคาดการณ์ความต้องการของห้องพักได้อย่างแม่นยำเนื่องจากพฤติกรรมหรือรสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปก็มีผลต่อการดำเนินการเมื่อเปิดบริการ
ซึ่งปัจจัยนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในด้านระยะเวลาก่อสร้างจะสามารถควบคุมได้โดยการเริ่มโครงการก่อสร้างเร็วขึ้น
การเตรียมพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์ล่วงหน้าในทุกระยะของการก่อสร้างเป็นต้น
ในด้านผลตอบแทนจากการลงทุนพิจารณาจากระยะเวลาคืนทุน (PAYBACK PERIOD) ของเงินลงทุนระยะนี้
จะแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบของโรงแรมที่ผ่านระยะเวลาคืนทุนแล้วต่อการกำหนดนโยบายการดำเนินงาน
และกลยุทธ์การแข่งขันด้วยราคาเพราะต้นทุนส่วนนี้ตามมูลค่าทางบัญชีมีมูลค่าเป็นศูนย์
แต่ทั้งนี้เมื่อพ้นระยะเวลาคืนทุนแล้วก็ต้องพิจารณาผลตอบแทนในระยะหลังการคืนทุนด้วย
ต้นทุนการดำเนินงาน
ต้นทุนการดำเนินงานช่วงเปิดดำเนินการแล้ว หรือต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการประกอบการโรงแรม
แบ่งพิจารณาได้ดังนี้
- ค่าใช้จ่ายทางตรงของห้องพัก
- ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายทางตรงของแผนกอาหารและเครื่องดื่ม
- ค่าใช้จ่ายในการขาย
- ค่าใช้จ่ายในการบริหาร
ต้นทุนการดำเนินงานนี้ขึ้นกับขนาดของโรงแรมและความสามารถในการดำเนินงาน
แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาต้นทุนทั้งหมด (TOTAL COST) แล้ว ถ้าผู้ประกอบการสามารถควบคุมให้ต้นทุนเฉลี่ยของกิจการต่ำ
ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินการในรูปแบบต่างๆ แล้ว ผู้ประกอบการก็จะได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด
(ECONOMIES OF SCALE) ซึ่งก็คือกำไรที่จะได้รับเพิ่มขึ้นนั่นเอง
แรงงาน
ธุรกิจโรงแรมมีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่เป็นการขายบริการ เช่น บริการด้านห้องพัก
อาหารและเครื่องดื่ม ซักรีด เป็นต้น การดำเนินธุรกิจบริการจำเป็นจะต้องมีแรงงานที่มีคุณภาพ
และใช้แรงงานในอัตราที่สูงกว่าปัจจัยการผลิตอื่นจะเห็นได้จากค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานของธุรกิจโรงแรมจะมีอัตราส่วนประมาณ
15% ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่มากที่สุดของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
แรงงานในธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศจากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยปี
2534 รวม 328,784 คน (คิดเป็น 37.4% ของแรงงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว)
มีอัตราการเพิ่มขึ้น 291% จากปี 2530 ทั้งนี้จากผลของการขยายตัวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา
และอัตราการเพิ่มที่สูงนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจโรงแรมตลอดจนผลต่อการจ้างแรงงานของประเทศด้วย
จากจำนวนแรงงานธุรกิจโรงแรมทั้งหมดปี 2534 ภาคใต้จะมีแรงงานมากที่สุดคิดเป็น
25.10% และ 24.60% 23.20% ในภาคเหนือและกรุงเทพมหานครตามลำดับ แต่พิจารณาในระดับจังหวัดแล้ว
กรุงเทพมหานครจะมีจำนวนแรงงานมากที่สุด เพราะกรุงเทพมหานครเป็นแหล่งที่พักแรมและศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศ
อัตราการใช้แรงงานจะมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อจำนวนห้องพัก ซึ่งโดยเฉลี่ยทั่วประเทศจำนวนแรงงานต่อโรงแรม
1 แห่งเท่ากับ 87.5 คน และโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักมากขึ้นจะมีอัตราการใช้แรงงานเฉลี่ยที่สูงขึ้น
จำนวนแรงงานเฉลี่ยต่อ 1 ห้องพักเท่ากับ 1.72 คน (ปี 2530 เท่ากับ 1.4 คน
ต่อห้อง) แรงงานส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่นหรือภูมิภาคเดียวกับที่ธุรกิจโรงแรมตั้งอยู่
ระดับรายได้ของแรงงานในธุรกิจโรงแรมประมาณ 71% จะอยู่ระหว่าง 2,000-5,000
บาทต่อเดือน
แรงงานในธุรกิจโรงแรมแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1. ระดับบริหาร เช่น ผู้อำนวยการ ผู้จัดการทั่วไป มีอัตราส่วนประมาณ 3%
2. ระดับผู้จัดการ เช่น ผู้จัดการแผนกอาหารและเครื่องดื่ม แผนกห้องพัก
และแผนกบริการส่วนหน้า (FRONT OFFICE) เป็นต้น ระดับผู้จัดการนี้คิดเป็นอัตราส่วน
5%
3. ระดับใช้เทคนิคขั้นกลาง เช่น พนักงานผสมเครื่องดื่ม คุมงานครัว เป็นต้น
คิดเป็นอัตราส่วน 41%
4. ระดับที่ไม่ต้องใช้เทคนิคหรือทักษะ (UNSKILLED LABOR) ได้แก่ พนักงานทำความสะอาดขนของขายอาหาร
เป็นต้น มีอัตราส่วน 51%
สภาพปัญหาของแรงงาน
การขยายตัวของธุรกิจโรงแรมในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อปัญหาด้านแรงงานเป็นอย่างมาก
เพราะขาดการวางแผนด้านความต้องการแรงงานเพื่อรองรับการขยายตัว จึงทำให้แรงงานที่เข้ามาสู่ธุรกิจโรงแรม
เป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ หรือมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับงานตลอดจนขาดทักษะในการทำงาน
เช่น ภาษาต่างประเทศ การใช้คอมพิวเตอร์ หรือประสบการณ์เฉพาะด้านในการทำงาน
จึงทำให้เกิดการซื้อตัวพนักงานที่มีประสบการณ์ในหลายระดับ อันเป็นการก่อปัญหาการเปลี่ยนงานหรือลาออกบ่อย
(TURN OVER) ในอัตราที่สูง
ปัญหาด้านแรงงานนี้จะต้องแก้ไขด้วยการวางแผนความต้องการแรงงานล่วงหน้า
เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมของแรงงานใหม่ โดยการพัฒนาระดับแรงงานให้มีคุณภาพตามความต้องการของธุรกิจโรงแรม
ขบวนการนี้แบ่งเป็นระยะสั้นและระยะยาว ได้ดังนี้
ระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาของแรงงานที่อยู่ในธุรกิจโรงแรมแต่ยังขาดคุณภาพหรือมีปัญหาในการทำงาน
รวมทั้งผู้ที่จบจากสถาบันที่สอนด้านการโรงแรมแต่ขาดประสบการณ์การทำงาน โดยเป็นการให้การฝึกอบรม
(TRAINING) เพื่อเพิ่มความรู้ทักษะ และความสามารถในการทำงานแก่แรงงานเหล่านั้น
การฝึกอบรมจะเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานในการทำงานของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม
เพราะการจัดการฝึกอบรมจะจัดขึ้นจากความต้องการที่จะให้มีการฝึกอบรม (TRAINING
NEED) เนื่องจากหน่วยงานมีปัญหาการดำเนินงานอันเกิดจากแรงงานของหน่วยงานั้น
เมื่อรู้สภาพปัญหาก็วางรูปแบบการฝึกอบรมที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ จะเป็นการฝึกอบรมระหว่างเวลาปฏิบัติงาน
(ON-THE-JOB TRAINING) หรือการฝึกอบรมนอกเวลาปฏิบัติงาน (OFF-THE-JOB TRAINING)
ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมของแต่ละกรณี และขึ้นกับฝ่ายบริหารด้วยว่าจะเห็นความสำคัญของปัญหาและประโยชน์ของการฝึกอบรมต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างไร
เพราะการฝึกอบรมย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นด้วย
ระยะยาว เป็นการแก้ปัญหาแรงงานของธุรกิจโรงแรมในรูปแบบของการให้การศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับต่างๆ
ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันด้านนี้ทั้งสิ้น 85 แห่งแต่ยังไม่เพียงพอที่จะผลิตแรงงานเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม
จะพบว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมหลายแห่งเปิดโรงเรียนสอนการโรงแรมขึ้นเอง
เช่น โรงแรมโอเรียนเต็ล ดุสิตธานี และอีกหลายโรงแรมที่กำลังดำเนินโครงการสอนการโรงแรมอยู่
แต่การเปิดโรงเรียนการโรงแรมก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะยังขาดแคลนอาจารย์ผู้สอนที่มีประสบการณ์
อุปกรณ์ อาคารสถานที่ งบประมาณ และหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของธุรกิจโรงแรมเพราะจะสอนได้เพียงภาคทฤษฎีแต่การปฏิบัติยังคงมีปัญหาอยู่
ความต้องการแรงงานในปี 2535-2537
จากการสำรวจของคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (เสนอต่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
ถึงปริมาณความต้องการแรงงานธุรกิจโรงแรมปี 2535-2537 พบว่ามีความต้องการเพิ่ม
87,692 คน เป็นตำแหน่งบริหาร 3,188 คน ผู้จัดการ 7,175 คน หรือรวมกันประมาณ
12% ของการต้องการทั้งหมด ซึ่งเป็นการระบุความต้องการแรงงานจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในปี
2534 แต่แรงงานที่มีคุณภาพและคุณสมบัติตรงตามระดับตำแหน่ง แต่จากสภาพปัญหาด้านแรงงานดังกล่าวข้างต้น
จึงเป็นข้อจำกัดที่จะได้ผู้ที่มีทั้งคุณสมบัติและคุณภาพ
จากระดับตำแหน่งที่ต้องการสัดส่วนของแรงงานที่ต้องการมากจะอยู่ในระดับปฏิบัติงาน
ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการโดยตรงแก่นักท่องเที่ยว งานบริการเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนและมีศิลปะของการบริการรวมอยู่ด้วย
คือผู้ให้บริการจะต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจและเต็มใจที่จะบริการลูกค้า
ถ้าไม่สามารถหาแรงงานตรงตามความต้องการได้ก็ควรเป็นการรับแรงงานที่มีความพร้อมที่จะรับการฝึกอบรม
แข่งขันธุรกิจโรงแรม
การขยายตัวของธุรกิจโรงแรมจากความต้องการห้องพักในช่วงปี 2530-2532 ก่อให้เกิดการลงทุนในธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้เพราะผู้ลงทุนจะตัดสินใจลงทุนจากการพิจารณาผลตอบแทนของการลงทุนในระยะยาว
แต่ผลตอบแทนนี้เป็นการประเมินหรือคาดการณ์ล่วงหน้าโดยจะคาดการณ์ได้ถูกต้องเพียงใดจะต้องคำนึงถือภาวะของการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมประกอบด้วย
ทั้งนี้ความรุนแรงของการแข่งขัน จะมีผลต่ออัตราผลตอบแทนของการลงทุนในระยะยาวการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมพิจารณาได้จากแรงผลักดันที่มีต่อการแข่งขันทั้ง
5 ข้อ
1. การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในปัจจุบัน เป็นการพิจารณาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจโรงแรมแล้วส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกรณีนี้คือจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงส่งผลกระทบต่อความต้องการห้องพักที่เปลี่ยนแปลงไป
เพื่อความอยู่รอดของกิจการจึงต้องปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินการหรือกลยุทธ์ต่างๆ
เพื่อรักษาระดับกำไรของกิจการไว้ การพยายามรักษาระดับกำไรของผู้ประกอบการแต่ละราย
ก่อให้เกิดการแข่งขันและการตอบโต้ระหว่างผู้ประกอบการเอง ซึ่งทุกรายจะหลีกเลี่ยงการแข่งขันในรูปแบบที่รุนแรงมาก
เช่น การตัดราคาห้องพัก แต่จะใช้ทางเลือกอื่นก่อน เช่น การแข่งขันด้านคุณภาพการบริการ
การให้สิทธิพิเศษด้านการใช้บริการด้านอื่นของโรงแรม เป็นต้น ทั้งนี้ถ้าการแข่งขันรุนแรงก็จะกระทบต่อความพยายามที่จะรักษาระดับกำไรด้วย
ผู้ประกอบการแต่ละรายมีความแตกต่างกันในความสามารถของการแข่งขัน เพราะผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจโรงแรมนานย่อมได้รับการคืนทุนจากการก่อสร้างโรงแรมไปแล้ว
ดังนั้นต้นทุนเฉลี่ยของการดำเนินงานย่อมต่ำกว่าผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจนี้ได้ไม่นาน
และถ้าเป็นโรงแรมที่ดำเนินงานในรูปแบบของ HOTEL CHAIN ก็ย่อมมีความได้เปรียบในด้านความพร้อมของการแข่งขันสูงกว่า
แต่ทั้งนี้การวัดระดับความรุนแรงของการแข่งขันควรเป็นการวัดในโรงแรมระดับเดียวกัน
2. โอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจโรงแรม การเข้ามาดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบรายใหม่แสดงถึงจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้น
และผู้ประกอบการรายใหม่ก็จะมีความพร้อมในด้านต่างๆ จึงตัดสินใจเข้ามา ซึ่งต้องการวิเคราะห์และประเมินโครงการลงทุนก่อนแล้ว
ความพร้อมของผู้ประกอบการรายใหม่ประการหนึ่ง จะสังเกตได้จากการเข้ามาบริหารงานของ
INTERNATIONAL HOTEL CHAIN รายใหม่ๆ ในประเทศเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพราะ
HOTEL CHAIN จะมีศักยภาพทางการแข่งขันสูง
การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องพิจารณาถึงอุปสรรคจากผู้ประกอบการเดิมด้วย
ทั้งนี้เพราะถ้าไม่มีศักยภาพทางการแข่งขันที่ดีย่อมเป็นการเสียเปรียบด้านต้นทุนเฉลี่ยด้านต่างๆ
ที่สูงกว่าผู้ประกอบการเดิม ตลอดจนการดำเนินการด้านตลาดที่ผู้ประกอบการเดิมจะมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทนำเที่ยวหรือนักท่องเที่ยวทีดีกว่าผู้ประกอบการรายใหม่
และขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา BOI ให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ลงทุน แต่ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ได้ลดลงไปแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการรายใหม่จะเสียเปรียบ ตลอดจนการสร้างโรงแรมใหม่ในทะเลที่ดีก็จะมีอุปสรรคด้านราคาที่ดินที่สูงขึ้นมากในปัจจุบัน
3. อำนาจต่อรองของผู้บริโภค กลุ่มผู้บริโภคของธุรกิจโรงแรมแบ่งพิจารณาได้
2 กลุ่ม คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเอง และบริษัทนำเที่ยว แต่การจะวัดความรุนแรงของอำนาจต่อรองของผู้บริโภคจะต้องเป็นการวัดกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเดียวกัน
เพราะระดับโรงแรมที่แตกต่างกันกลุ่มผู้บริโภคย่อมมีโอกาสทางการตลาดและอำนาจซื้อที่ต่างกัน
อันเป็นเครื่องกำหนดระดับราคาและคุณภาพของโรงแรมที่ผู้บริโภคจะเลือกพัก ทั้งนี้การตัดสินใจ
เพื่อเลือกซื้อกลุ่มสินค้าและบริการของผู้บริโภคย่อมเป็นการตัดสินใจภายใต้ความมีเหตุและผล
(RATIONALITY) และระดับรายได้ของกลุ่มผู้บริโภคเอง ความมีเหตุและผลนี้จะนำไปสู่การทดแทนในการบริโภคซึ่งจะพิจารณาต่อไป
อำนาจต่อรองของผู้บริโภคขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานของห้องพัก จะพบว่าในช่วงที่ธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศขยายตัวมากก่อให้เกิดความต้องการส่วนเกินในห้องพักขึ้น
ช่วงนั้นอำนาจต่อรองของผู้บริโภคจะต่ำเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่อุปทานของห้องพักสูงขณะที่ความต้องการห้องพักต่ำอำนาจต่อรองของผู้บริโภคจะสูง
4. การทดแทนจากบริการอื่นๆ เป็นการทดแทนในการบริโภคอันเป็นผลจากการตัดสินใจภายใต้ระดับเงินรายได้
ความมีเหตุและผลของผู้บริโภค การพิจารณาผลกระทบของการทดแทนในธุรกิจโรงแรมอยู่บนข้อสมมติฐานที่ว่าไม่สามารถหาการทดแทนในการบริโภคได้อย่างสมบูรณ์
เพราะธุรกิจโรงแรมนอกจากการให้บริการด้านห้องพักแล้ว ยังมีบริการด้านจัดเลี้ยงประชุมสัมมนา
ห้องอาหาร คอฟฟี่ชอบ และสิ่งอำนวยความสะดวก (FACILITY) ที่โรงแรมมีไว้บริการผู้เข้าพักจึงทำให้ไม่สามารถหาการทดแทนได้ทั้งหมด
แต่ถ้าพิจารณาว่าการทดแทนเป็นการทดแทนบางส่วนแล้วก็พอที่จะหาสิ่งทดแทนได้
เหตุผลหนึ่งของการทดแทนของผู้บริโภคคือเมื่อระดับราคาห้องพักเปลี่ยนไป ผู้บริโภคที่มีงบประมาณจำกัดก็จะต้องหาการทดแทนโดยการเปลี่ยนแปลงระดับโรงแรมที่จะเข้าพักให้เพียงพอกับวงเงิน
ทั้งนี้การทดแทนในการบริโภคจะมากหรือน้อยจึงขึ้นกับปัจจัยด้านระดับรายได้ของผู้บริโภคด้วย
5. อำนาจต่อรองของ SUPPLIER ในธุรกิจโรงแรม จากลักษณะพื้นฐานทางธุรกิจของโรงแรมที่จะเป็นการขายบริการด้านห้องพักเป็นหลัก
โดยรายได้จากห้องพักจะเป็นแหล่งรายได้หลักประมาณ 53% และรายได้จากบริการอาหารและเครื่องดื่มประมาณ
41% ดังนั้นการพิจารณาอำนาจต่อรองของ SUPPLIER จึงแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี
5.1 ธุรกิจบริการโดยทั่วไปแล้วจะมีโครงสร้างการใช้ปัจจัยผลิตที่เป็นปัจจัยแรงงานในสัดส่วนที่สูงกว่าปัจจัยอื่น
โดยเปรียบเทียบการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมที่ผ่านมาโดยขาดการเตรียมพร้อมด้านแรงงาน
ส่งผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพและประสบการณ์ความต้องการแรงงานที่สูง
เป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้แก่แรงงานที่มีน้อยกว่าความต้องการเองจะพบว่าอัตราการเปลี่ยนงานของแรงงานในธุรกิจโรงแรมที่ผ่านมาจะอยู่ในอัตราที่สูง
เกิดการซื้อตัวบุคลากรที่มีคุณภาพและประสบการณ์ขึ้น และยังไม่เป็นการเพียงพอจึงต้องยอมใช้แรงงานที่ไม่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
แต่ภาวะธุรกิจโรงแรมในปัจจุบันที่ซบเซาทำให้ความต้องการแรงงานลดลงและแรงงานที่มีอยู่ก็เกินความต้องการ
สิ่งนี้เป็นการลดอำนาจต่อรองของแรงงานลง และธุรกิจโรงแรมก็ต้องคงอัตราแรงงานไว้เพราะถ้าภาวะธุรกิจโรงแรมกลับสู่ภาวะปกติแล้วความต้องการใช้แรงงานก็จะพอดีกับจำนวนแรงงานที่มีอยู่
5.2 ความต้องการใช้วัตถุดิบประเภทอาหารและเครื่องดื่มของธุรกิจโรงแรมขึ้นกับจำนวนผู้เข้าพักและผู้ใช้บริการ
ปัจจุบันจำนวนผู้เข้าพักลดลงย่อมกระทบต่อรายได้ของโรงแรมเป็นอย่างมาก การทดแทนรายได้ที่ลดลงนี้ก็โดยการพยายามเพิ่มรายได้จากด้านอาหาร
การจัดเลี้ยงและด้านอื่น ทำให้ความต้องการใช้วัตถุดิบด้านนี้เพิ่มขึ้นแต่อำนาจต่อรองของ
SUPPLIER ประเภทนี้จะมีอยู่น้อยเพราะธุรกิจด้านวัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่มมีภาวะการแข่งขันที่สูงอยู่แล้วจึงเป็นการลดอำนาจต่อรองของ
SUPPLIER กับธุรกิจโรงแรมลง
แนวโน้มธุรกิจโรงแรม
ภาวะธุรกิจโรงแรมที่ซบเซาในปัจจุบันไม่ได้เป็นเครื่องชี้อนาคตของธุรกิจนี้
หากแต่เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งคงเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น การประกอบธุรกิจโรงแรมในช่วงนี้จึงเป็นการประกอบการเพื่อให้คุ้มกับต้นทุน
ดำเนินงานด้านต่างๆ เพราะโรงแรมแต่ละแห่งมีอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับที่ต่ำ
การพยายามชดเชยรายได้ของแต่ละโรงแรมด้วยรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม
การจัดเลี้ยง ประชุมและสัมมนา หรือบริการด้านอื่นของโรงแรมตลอดจนการจัด PACKAGE
TOUR เหล่านี้นำมาซึ่งภาวะการแข่งขันในธุรกิจนี้
การที่พิจารณาว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้นเพราะเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศและอยู่นอกฤดูการท่องเที่ยว
แต่ผลในระยะยาวธุรกิจโรงแรมยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีต่อผู้ประกอบการ ในแผนพัฒนาฉบับที่
7 ได้กำหนดว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีละ 100,000 ล้านคนในปี
2535 เป็น 188,700 ล้านคนในสิ้นปี 2539 นักท่องเที่ยวจะเข้าประเทศไทยจากปีละ
5 ล้านคนในปี 2535 เป็น 6.8 ล้านคนในปีถ้าภาพพจน์การท่องเที่ยวของประเทศด้านต่างๆ
ได้รับการแก้ไขและการให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อการอนุรักษ์ และพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวขณะเดียวกันการลงทุนในธุรกิจโรงแรมก็ยังคงทำได้แต่คงอยู่ในบางพื้นที่ที่ยังคงมีความต้องการห้องพักอยู่
เช่น ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ชะอำ เป็นต้น