"นาคา ชิปปิ้ง ไลน์ โค"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ตั้งแต่สิ้นปีที่แล้วนาคา ชิปปิ้ง ไลน์ โค ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ได้เปิดเส้นทางเดินเรือสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ กับพนมเปญ โดยใช้เรือ 2 ลำ ออกตลอดเวลา และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เพิ่มเส้นทางไปสีหนุวิลล์ (กัมปงโสม) ด้วย โดยเรือที่ใช้ผลิตในนอร์เวย์ส่วนลูกเรือนั้นเป็นชาวไทยและพม่า

บริษัทชิปปิ้งของไทยเจ้านี้มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทและมีสตาฟฟ์ทำงาน 50 คน ให้บริการเช่าเหมาลำสำหรับการขนส่งสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะระหว่างสิงคโปร์กับเวียดนาม และมีแผนจะเปิดบริการขนส่งทางเรือตามปกติระหว่างกรุงเทพฯ กับเวียดนามด้วย

แต่ปัญหาหนึ่งซึ่ง เควิน วิตคราฟต์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทกังวลอยู่ในขณะนี้คือ การสร้างทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และพนมเปญ เพราะหากทางสายนี้เปิดใช้เมื่อไหร่ การขนส่งทางบกจะมีมากกว่าเพราะท่าเรือพนมเปญยังไม่พัฒนาเท่าใดนัก

เควินชี้ว่า "การดำเนินงานในท่าเรือพนาเปญที่ยังไม่สามารถยกระดับขึ้นมาได้นั้นทำให้บริษัทที่เป็นเจ้าของเรือทั้งหลายเสียค่าใช้จ่ายไปโดยไม่จำเป็น เพราะการที่เรือไม่สามารถออกได้เนื่องจากสินค้าไม่เต็มบริษัทก็ต้องจ่ายค่าแรงกับลูกเรือ, ค่าบำรุงรักษาเรือ และยังค่าเชื้อเพลิงอีก"

เขายังเพิ่มเติมด้วยว่า ครึ่งหนึ่งของสินค้าในคลังที่ส่งไปลงที่พนมเปญนั้นเป็นสินค้าสำหรับกองกำลังของสหประชาชาติ ที่เหลือเป็นสินค้าพาณิชย์

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีสินค้ามือสองประเภทเครื่องใช้ในโรงงานส่งจากประเทศไทยไปให้กับร้านค้าส่ง และโรงงานของชาวจีนในพนมเปญรวมทั้งนักลงทุนชาวไทยที่นั่นเป็นจำนวนมาก

วิตคราฟต์ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง "โอเรียนเอ็กซ์เพรส ไลน์" ร่วมกับอุดม ตันติประสงค์ชัย และถือหุ้น 35% ในบริษัทด้วย พ่อของเขาคือ มาร์ค วิตคราฟต์ เป็นเจ้าของ "อาร์เอ็ม เอเชีย คอนซัลแตนต์" ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการส่งออกและการตลาดในภูมิภาคเอเชียและได้ทำสัญญากับไครส์เลอร์ คอร์ปแห่งอเมริกาเพื่อจัดจำหน่าย "ไครส์เลอร์ จี๊ป" ในกัมพูชาด้วย

อีเอซี ทรานสปอร์ต

อีเอซี ทรานสปอร์ตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอีเอซี กลุ่มธุรกิจชิปปิ้งและอุตสาหกรรมของเดนมาร์กเข้าไปเปิดสาขาในเวียดนามเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และเข้าไปในกัมพูชาในปี 1991

ทอร์เบน ฮาสเซลริส ตัวแทนของบริษัทในพนมเปญเผยว่า "เราเชื่อว่าธุรกิจขนส่งสินค้าด้วยคอนเทนเนอร์ที่นี่จะไปได้ด้วยดี เพราะท่าเรือที่สามารถขนคอนเทนเนอร์ขึ้นได้ในปริมาณมากที่สุดคือสีหนุวิลล์ (กัมปงโสม) ซึ่งจะคิดค่าธรรมเนียมกับสินค้าที่เกิน 500 ตันในแต่ละวัน อัตรานี้มากกว่าท่าเรือพนมเปญถึงสองเท่าแต่กระนั้นก็ยังเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของท่าเรือนานาชาติอื่นๆ"

อีเอซี ทรานสปอร์ตให้บริการขนส่งด้วยคอนเทนเนอร์ระหว่างสิงคโปร์และสีหนุวิลล์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัททำหน้าที่บรรทุกคอนเทนเนอร์จากสิงคโปร์ไปที่กัมปงโสม และรับหน้าที่ขนส่งทางบกอีก 240 กิโลเมตร ไปที่พนมเปญ เส้นทางในพนมเปญส่วนใหญ่ได้รับการซ่อมแซมมากแล้ว จะมีปัญหาก็คือความปลอดภัยและกระบวนการด้านศุลกากรที่เป็นปัญหาในการทำธุรกิจ เพราะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนมาก

นาวิเทรด

ปีเตอร์ เคเอช อึ้ง เจ้าของและกรรมการผู้จัดการของ "นาวิเทรด" ธุรกิจชิปปิ้งและการค้าสิงคโปร์ที่เข้าไปดำเนินกิจการในกัมพูชาเมื่อปี 1978 เป็นผู้หนึ่งที่บอกความแตกต่างระหว่างการทำธุรกิจชิปปิ้งในกัมพูชาในปัจจุบันกับเมื่อ 14 ปีก่อนได้เป็นอย่างดี เพราะเขาเคยทำธุรกิจในสถานการณ์ทางการเมืองทั้งสองแบบมากแล้ว

ความจริงนาวิเทรดไม่มีเรือขนส่งเป็นของตัวเองแล้วในปัจจุบัน เพราะเรือ 3 ลำที่เคยใช้บุกเบิกเส้นทางในบังคลาเทศเมื่อปี 1975 นั้นบริษัทได้ขายไปแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า "ธุรกิจชิปปิ้งนั้นจะดีเมื่อเวลาได้บุกเบิกเส้นทางใหม่ๆ แต่เมื่อการแข่งขันเพิ่มขึ้นจนกระทั่งไม่สามารถทำกำไรได้เราก็ต้องขายเรือไป แต่ยังเหลือการค้าในพนมเปญ" เป็นธุรกิจหลักอยู่

ทุกวันนี้ สินค้าที่นาวิเทรดขนส่งเข้าไปที่กัมพูชามีโมโนโซเดียมกลูตาเม (200-300 ตันต่อเดือน), เบียร์, มอเตอร์ไซด์ใช้แล้ว และรถยนต์ทั้งใหม่และเก่า นอกจากทำธุรกิจชิปปิ้งแล้วบริษัทยังทำธุรกิจเก็งกำไรที่ดินด้วย อึ้งเผยว่า "ถ้าหากรัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้เราเข้ามาลงทุนในกัมพูชาได้เมื่อไรเราต้องทำเงินจากเรียลเอสเตสได้มากแน่ๆ"

อึ้งก่อตั้งนาวิเทรดขึ้นเมื่อปี 1975 ปัจจุบันธุรกิจของเขาประกอบด้วย "นาวิเทรด", "นาวิเทรด ชิปปิ้ง", "นาวิเทรด พรอเพอร์ตี้ส" และ "เพาเวอร์ ชิปปิ้ง"

เฮียบ โฮ ชิปปิ้ง

"เฮียบ โฮ ชิปปิ้ง" เป็นบริษัทเดินเรือแบบดั้งเดิมที่ใหญ่ที่สุดที่เข้าไปประกอบการในพนมเปญ ปีหนึ่งๆ บริษัทเดินเรือประมาณ 100 เที่ยว เฮียบ โฮ เปิดกิจการชิปปิ้งในกัมพูชาเป็นครั้งแรกในปี 1984 และค้าขายกับประเทศนี้ในปี 1989 เป็นต้นมา

สินค้าที่ขายก็คือรถจักรยานยนต์, รถยนต์, เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์และเบียร์ แต่ในการขนส่งสินค้าไปที่กัมพูชามักไม่มีสินค้าขากลับติดเรือออกมา

ฉะนั้นบริษัทจึงได้ทำสัญญากับรัฐบาลของกัมพูชาเพื่อตกลงกันว่าเรือของบริษัทจะมีสินค้าประเภทยางดิบติดมาด้วยในเที่ยวขากลับเป็นเวลา 6 เดือน

เอลวิน กัว หนึ่งในเจ้าของบริษัทเปิดเผยว่า "เราไม่ได้เปิดเส้นทางอื่นอีกนอกจากกัมพูชา เพราะธุรกิจในเส้นทางสิงคโปร์ พนมเปญนั้นก็มีมากพออยู่แล้ว เมื่อ 4 ปีก่อนเราก็เลิกเส้นทางเดินเรือไปกรุงเทพฯ และเมื่อปีที่แล้วก็ยกเลิกเส้นทางไปกัมปงโสมเพราะเราขาดทุนทุกเที่ยว เรือขนส่งขนาดเล็กไม่เหมาะกับท่าเรือที่กัมปงโสม และที่นั่นยังมีปัญหาการเก็บค่าธรรมเนียมที่ตลกๆ ด้วย"

อย่างไรก็ตาม เฮียบ โฮ ก็ได้ทำสัญญาร่วมทุนเพื่อดำเนินกิจารท่าเรือกัมปงโสมกับธุรกิจของสิงคโปร์ 2 แห่งคือ "เพรซิเดนท์ มารีน" (ถือหุ้น 50%) และ 'เวสต์ โคสต์ ซึ่งถือหุ้น 30% และเฮียบ โฮถือหุ้น 20% ที่เหลือธุรกิจแห่งใหม่นี้ก่อตั้งขึ้นในนาม "กัมโสม" ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารการดำเนินงานที่ท่าเรือ, จัดหาเครื่องอำนวยความสะดวกและเครื่องมือที่ใช้ในการท่าเรือ

นอกจากนั้นเฮียบ โฮยังได้ตั้งบริษัทร่วมทุนในพนมเปญกับ 'สิงคโปร์ เทคโนโลยี'

ธุรกิจของรัฐเพื่อทำธุรกิจขนส่งทางอากาศด้วย ธุรกิจใหม่นี้คือ "เอแพค" ได้เริ่มขนส่งสินค้าจากสิงคโปร์แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยเครื่องบินขนส่งแต่ละเครื่องจุสินค้าได้มากกว่า 28 ตันขึ้นไป ซึ่งกัวกล่าวว่า "เราได้สิทธิในการลงจอดที่สนามบินพนมเปญเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว การร่วมทุนครั้งนี้เป็นเพราะสิงคโปร์ เทคโนโลยีเองก็ไม่มีทางเลือกอื่น เราเป็นผู้บุกเบิกของที่นั่นและยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้วด้วย"

ออง ชู ซูน เจ้าของไลน์ ฟาสต์

"การขนส่งทางเรือแบบดั้งเดิมยังมีเวลาอีก 5 ปี"

ไลน์ ฟาสต์ บริษัทขนส่งสินค้าของสิงคโปร์ตั้งขึ้นโดย ออง ชู ซูน เมื่อ 15 ปีก่อนด้วยทุนจดทะเบียน 300,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และอองถือหุ้นคนเดียว

ไลน์ ฟาสต์มีเรือขนส่ง 7 ลำ ในจำนวนนี้มี 5 ลำที่ขนส่งสินค้าไปพนมเปญเดือนละ 6 ครั้ง ลำหนึ่งไปที่สีหนุวิลล์และอีกลำไปที่วุงเตา ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทคือ "เนวิเทรด" และ "โยชินา มอเตอร์ไซเคิล อิมปอร์ต แอนด์ เอ็กซ์ปอร์ต"

อองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเดินเรือขนส่งได้ให้ข้อแนะนำที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจชิปปิ้งในอินโดจีน อาทิ

การลงทุนด้านชิปปิ้ง ต้องใช้ทุนสูงและความเสี่ยงก็สูงด้วย แต่ละปีจะต้องเสียค่าเสื่อมสภาพของเครื่องไม้เครื่องมือไปมากกว่า 10% ค่าบำรุงรักษาก็แพง ตามปกติแล้วจะถอนทุนคืนได้ต้องใช้เวลา 5 ปี

ค่าระวาง ยังอยู่ในระดับดี เช่น ค่าระวาง 400 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับคอนเทนเนอร์ขนาด 24 ฟุตจากสิงคโปร์ไปโฮจิมินห์นั้นเป็นอัตราที่พอประมาณกับเส้นทางอื่นๆ อย่างสิงคโปร์-จาการ์ตา

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเรือจากสิงคโปร์ที่เข้าไปส่งสินค้าในกัมพูชาและเวียดนามมักไม่มีสินค้าเที่ยวขากลับที่มากพอติดออกมา ซึ่งทำให้เราเสียประโยชน์ แต่เราก็ได้แก้ปัญหาด้วยการขอพิจารณาค่าระวางใหม่ที่จะคุ้มกับการตีเรือเปล่าออกมา

เที่ยวเรือขากลับ เป็นเที่ยวที่ไม่ทำกำไรมากนักเพราะเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่ท่าเรือพนมเปญยังไม่ดีพอ การขนสินค้าก็ช้า เราต้องเสียเวลารอประมาณ 4-5 วันในการขนสินค้า 1,000 ตันขึ้นเรือขณะที่ใช้เวลาเพียงวันเดียวหากขนที่ท่าเรือในสิงคโปร์ แต่เราก็ยังต้องให้บริการตรงนี้กับลูกค้าเพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นพ่อค้าแบบบาร์เตอร์

แม่น้ำโขง ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคมนั้นสามารถนำเรือที่กินน้ำลึก 5 เมตรเข้าไปส่งของถึงพนมเปญได้ แต่ไม่มีเวลาบริการที่แน่นอนในการขนส่งสินค้าจากสิงคโปร์ไปที่พนมเปญ ส่วนเดือนอื่นๆ นั้นเหมาะสำหรับใช้เรือคอนเทนเนอร์ที่กินน้ำลึก 4 เมตรมากกว่า

เรือคอนเทนเนอร์ สร้างมาด้วยจุดประสงค ์เพื่อให้ขนส่งสินค้าจำนวนมากที่สุดได้ในเวลาสั้นที่สุด แต่เที่ยวเรือไปกลับระหว่างสิงคโปร์กับพนมเปญเที่ยวหนึ่งใช้เวลา 20-24 วัน และเรือขนส่งกินน้ำลึก 4 เมตร บรรจุสินค้าได้เต็มที่ 100-150 ทีอียู และในระยะทางเท่านี้ควรใช้เวลา 1 อาทิตย์ แต่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันต้องใช้เวลาถึง 3 อาทิตย์ ซึ่งถ้ายังไม่สามารถขนส่งสินค้าหนึ่งเที่ยวได้ในเวลา 10-14 วันก็จะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย และการใช้คอนเทนเนอร์เพื่อขนส่งสินค้าคุณค่าต่ำก็ไม่คุ้มอีกด้วย

อนาคตของธุรกิจขนส่งแบบดั้งเดิม ยังไม่จบลงทีเดียว เพราะแม้ท่าเรือทุกแห่งในอินโดจีนจะพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อให้เหมาะกับการขนส่งด้วยคอนเทนเนอร์แต่เครื่องมืออำนวยความสะดวกเหล่านี้นก็ยังไม่พร้อม และยังมีอุปสรรคในการเดินเรือเข้าไปในภูมิภาคอีก ฉะนั้นการขนส่งแบบดั้งเดิมก็ยังจำเป็นอยู่ อย่างน้อยก็ในช่วงปีข้างหน้านี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.