|

แห่ซื้อบอนด์ออมทรัพย์ธปท.เผยวันแรก6หมื่นล.
ผู้จัดการรายวัน(23 พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ประชาชนรายย่อยแห่จองพันธบัตรออมทรัพย์กองทุนฟื้นฟูฯ คึกคัก วันแรกยอดจองทะลัก 6 หมื่นล้านบาท เหลืออีก 2 หมื่นล้านบาท จองผ่านแบงก์พาณิชย์ 5 แห่ง แบงก์ชาติยันพันธบัตรของกองทุนฯ ไม่ได้เป็นตัวเร่งให้ธนาคารพาณิชย์มีการระดมเงินฝากเพิ่มขึ้น
นางพวงทิพย์ ปรมาพจน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารธุรกิจและการเงิน สายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยอดการจองพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเปิดให้จองวานนี้ (22 พ.ย.) เป็นวันแรก ปรากฏว่า มียอดจองผ่านตัวแทนธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่งในเวลา 15.00 น.มีประชาชนจองซื้อทั้งสิ้น 10,000 ราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท จากวงเงินออกพันธบัตรทั้งสิ้น 80,000 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่มีข้อร้องเรียนว่าไปรอคิวตั้งแต่เช้า แต่ไม่สามารถจองได้ทันในบางธนาคารนั้น คาดว่าโควต้าของแต่ละธนาคารที่กระจายไปยังสาขาต่างๆ คงจะหมดจริงๆ อย่างไรก็ตาม หากประชาชนท่านใดที่สนใจยังสามารถจองผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ยังมียอดจองซื้อเหลืออยู่ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ.สาขากรุงเทพฯ และธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้แบงก์กิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด สาขากรุงเทพ ซึ่งยังสามารถจองซื้อได้จนถึงวันที่ 29 พ.ย. นี้ และ ธปท.จะพยายามกระจายขายพันธบัตรให้แก่รายย่อยได้มากที่สุด
สำหรับวงเงินพันธบัตรของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งยังเหลืออีก 50,000 ล้านบาทนั้น นางพวงทิพย์กล่าวว่า ภายในปีนี้กองทุนฯ จะยังไม่ออกขายแน่นอน ส่วนปีหน้าจะออกขายหรือไม่นั้นต้องประเมินภาพรวมของภาวะตลาดอีกครั้ง ทั้งนี้ ยืนยันว่าการออกพันธบัตรของกองทุนฯไม่ได้เป็นตัวเร่งให้ธนาคารพาณิชย์มีการระดมเงินฝากเพิ่มขึ้น ซึ่งการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของแต่ละธนาคารมากกว่า
พันธบัตรออมทรัพย์ของกองทุนฟื้นฟูฯ มีวงเงินทั้งสิ้น 80,000 ล้านบาท โดยอายุ 2 ปีให้อัตราดอกเบี้ย 4.20% และอายุ 4 ปีคิดดอกเบี้ย 4.65% โดยเปิดให้จองซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 22-29 พ.ย.นี้ และกำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำ 50,000 บาทต่อราย ทั้งนี้ ผู้ซื้อก่อนจะได้สิทธิก่อนและเมื่อครบวงเงินจะปิดการจองซื้อทันทีและจะไม่มีการเพิ่มวงเงินในรอบสอง
คนแห่จองคึกคักตั้งแต่เช้า
ขณะที่บรรยากาศการเปิดขายพันธบัตรฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งวันแรก คึกคัก เนื่องจากประชาชนจองซื้อกันตั้งแต่เช้าอย่างเนืองแน่น เช่น ที่ธนาคารกสิกรไทย พหลโยธิน มีการจองซื้อเต็มจำนวนโดยใช้เวลาเพียง 10 นาที ส่วนธนาคารกรุงเทพใช้เวลานานกว่าแต่ก็หมดเช่นกัน
นายกฤษณ์ เนื่องสิกขาเพียร ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารฯ เปิดให้ลูกค้าและประชาชน จองซื้อพันธบัตรระหว่างวันที่ 22-29 พฤศจิกายนนี้ ในเวลา 8.30-15.30 น. ที่ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยมีให้เลือก 2 ประเภท คือประเภทอายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.20% ต่อปี และประเภทอายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.65% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน คือวันที่ 30 พฤษภาคม และวันที่ 30 พฤศจิกายน ราคาหน่วยละ 10,000 บาท ซื้อขั้นต่ำ 50,000 บาท ทวีคูณ 10,000 บาท และไม่กำหนดขั้นสูง ซึ่งผู้มีสิทธิซื้อต้องเป็นบุคคลธรรมดา และองค์กรสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร โดยพันธบัตรดังกล่าว สามารถใช้เป็นหลักประกันให้กับหน่วยงานราชการ องค์กรของรัฐ สถาบันการเงินและบุคคลอื่นได้ และสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.51เป็นต้นไป ที่ธนาคารพาณิชย์ ตามราคาที่ตกลงกัน
SCB-SCIB ขายพันธบัตรออมทรัพย์หมด
รายงานจากธนาคารไทยพาณิชย์ แจ้งว่า ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ มี ลูกค้าจองซื้อเต็มจำนวนในวันเดียวจากยอดที่ได้รับจัดสรรจากธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 11,558 ล้านบาท
ด้านนายโสฬส สาครวิศว ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารการเงิน ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการเปิดรับจองพันธบัตรออมทรัพย์ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินปีงบประมาณ 2551 โดยมียอดจองซื้อเข้ามาทั้งหมดแล้วกว่า 99% จากที่ได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 5,282 ล้านบาท โดยลูกค้าที่สนใจสามารถจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ได้ที่สาขาของธนาคารนครหลวงไทยกว่า 400 สาขาทั่วประเทศ และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้หมดอย่างแน่นอนเนื่องจากพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าวเป็นที่สนใจของนักลงทุนและประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมากเพราะสามารถให้ผลตอบแทนในระดับที่ดีในระดับหนึ่ง โดยพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 4.20 และพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 4.65 ขณะเดียวกันพันธบัตรดังกล่าวยังมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันอีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|