"คนอเมริเกาในอเมริกา"

โดย ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ฝนหยาดสุดท้ายเพิ่งขาดเม็ดไปตอนฟ้าค่ำ เวลาสามทุ่มแล้ว ฟ้า NEW YORK ที่นี่เพิ่งจะเริ่มมืด วันเวลาที่นี่จะขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของฤดูกาล ยามหน้าซัมเมอร์ ฟ้าจะค่ำช้ากว่าปกติ พอถึงหน้าหนาวห้าโมงเย็นก็มืดแล้ว

การพยากรณ์อากาศสำหรับผู้คนสังคมนิวยอร์กเป็นสิ่งจำเป็น ความแม่นยำจองเครื่องมือเทคโนโลยี ที่เอามาใช้ตรวจวัดความผันแปรของสภาวะอากาศในแต่ละวัน ดูจะบอกได้ตรงตามปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น

หากวิทยุทีวีรายงานสภาวะอากาศว่า 9 โมงเช้าของวันพรุ่งนี้ฝนตก เป็นอันเชื่อได้ว่าพอ 9 โมงเช้า ฝนก็ตกอย่างแน่นอน หากจะคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ไม่กี่นาที

นิวยอร์กจะเป็นรัฐที่มีความผันผวนทางสภาวะอากาศตลอดเวลาการพยากรณ์อากาศทางวิทยุทีวีทุกๆ ชั่วโมงจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวิถีชีวิตที่นี่

การเตรียมตัวล่วงหน้า การตื่นตัวในการฟังข่าวสารรายงานสภาวะอากาศจึงเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน

จะใส่เสื่ออย่างไรไปทำงาน อากาศจะร้อน หรือหนาว อุณหภูมิจะลดต่ำลงเท่าไหร่

ด้วยความผันผวนของสภาวะอากาศนี้เอง ทำให้มีผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้

การสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์กับความผันผวนทางสภาวะอากาศ ทำให้พ่อค้าแซนด์วิช แม้ค้าแฮมเบอร์เกอร์ ตามร้านมุมตึกต่างๆ ในแมนฮัตตันจับปรากฏการณ์ได้นำมาประยุกต์เข้ากับการทำมาค้าขาย

วันใดฟ้ามืด ฝนตก วิทยุทีวีรายงานว่าอากาศจะหนาว หิมะตก พ่อค้าแซนด์วิชเหล่านี้ จะให้พนักงานทำตุนสำรองเอาไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อขายให้กับพนักงานที่ทำงานอยู่ตามออฟฟิศ สำนักงานบนตึกสูงๆ

ทั้งนี้ก็เพราะว่าพ่อค้าแซนด์วิช เขาได้เรียนรู้มาว่า หากวันใดอากาศอยู่ในสภาวะย่ำแย่ ฝนตก หิมะตก อากาศหนาว คนงาน พนักงานเหล่านี้จะไม่นิยมออกไปกินอาหารข้างนอก

ยามพักเที่ยง เขาจะหาอาหารประเภทกินง่ายหาซื้อคล่องไปกินเพราะสะดวกกับการที่ไม่ต้องออกไปตากฝน เปียกหิมะแล้วกลับมานั่งทำงานต่อ

อเมริกายามนี้ปัญหาเศรษฐกิจ ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ทิ่มแทงใจคนในทำเนียบขาว ร้านรวงกิจการธุรกิจต่างๆ พลอยซบเซาลงไปอย่างเห็นได้ชัด

การ LAY OFF ปลดคนงานการเลิกจ้าง เป็นนโยบายหลักที่ธุรกิจในอเมริกานำมาใช้อยู่ในขณะนี้ เพื่อพยุงให้บริษัทอยู่รอด คนว่างงานมีมาก

สิ่งเหล่านี้ทำเอาร้านอาหาร, ภัตตาคารกิจการเหล่านี้พลอยซบเซาตามไปด้วย เพราะคนอเมริกายามนี้ไม่ค่อยมีกำลังในการใช้จ่าย บางคนก็อยู่กับบ้านซื้ออาหารไปตุนกินเองในบ้านของตน

แม้อเมริกาจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร มีสิ่งหนึ่งที่เดินสวนทางกับสภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจของอเมริกา

สิ่งนั้นกลับกลายเป็นว่า กิจการธุรกิจของคนเกาหลี กลับเฟื่องฟู ร้านขายผัก ร้านขายปลา ร้านขายของชำ ซึ่งเป็นกิจการของคนเกาหลี กลับเปิดขึ้นมาบานเต็มแทบทุกหัวมุมถนนของนิวยอร์ก

คนเกาหลีทำมาค้าขายอย่างไร ? ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจของอเมริเกายามนี้ดูจะไม่สะทกสะท้าน อเมริกา (คนเกาหลีในอเมริกา) เอาเสียเลย !

คนเกาหลีเข้ามาในอเมริกาตั้งรกรากหลังคนจีนหลายสิบปี ธุรกิจของคนจีนกลับกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะในไชน่าทาวน์

แต่ธุรกิจของพ่อค้าเกาหลีกลับกระจายตัวแพร่ไปทุกซอกมุมถนนในอเมริกาเคยมีคนพูดถึงวิธีการค้าขายแบบเกาหลีเอาไว้ว่า

"ดินแดนแห่งไหนที่เลวร้าย เสี่ยงอันตรายสักเท่าไหร่ หากมีช่องทางหาผลกำไรได้ ที่นั่นมีพ่อค้าเกาหลี"

คนเกาหลีเข้ามาตั้งรกรากในอเมริกาในช่วงระยะแรกๆ จากเอกสารที่มีบันทึกถึงเรื่องราวคนเกาหลีในอเมริกา ปี 1990 แรงงานคนเกาหลีอพยพมากันขนานใหญ่ เพื่อมาเป็นแรงงานในไร่ผักหวานของรัฐฮาวาย เข้ามาผลิตน้ำตาลให้กับคนอเมริกาได้บริโภค

ประจวบกับระยะเวลานั้นเองทางรัฐบาลเกาหลีเองก็ส่งเสริมให้คนออกมาหากินนอกประเทศ เพื่อหาแหล่งกินที่ดีกว่า ดีกว่าอยู่ในประเทศกินแต่กิมจิ (ผักกาดดองอาหารหลักของเกาหลีในระยะนั้น)

ยังมีการบันทึกเอาไว้อีกว่าแรงงานเกาหลีที่เข้ามาอยู่ในไร่ผักหวานของรัฐฮาวายใหม่ๆ ได้สะท้อนชีวิตบนแผ่นดินโลกใหม่เอาไว้

แรงงานเกาหลีในไร่ผักหวาน ได้เขียนจดหมายส่งข่าวสารไปยังญาติในเกาหลีว่า "ประเทศอเมริกานี้มีอาหารสมบูรณ์โดยเฉพาะเนื้อสัตว์มีให้กินสมบูรณ์"

การหลั่งไหลของแรงงานเกาหลีเข้ามาในอเมริกาในระยะเวลานั้นสูงมาก เพราะในแปลงไร่ผักหวาน แรงงานเกาหลีได้รับความนิยมว่าเป็น "แรงงานที่อดทน ขยัน แถมยังได้รับการสนับสนุนจาก HAWAIAN SUGAR PLANTERS (สมาคมปลูกผักหวานรัฐฮาวาย) อีกด้วย"

การหลั่งไหลในระลอกที่สอง ที่คนเกาหลีเข้ามากันมากในอเมริกาเริ่มในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 1950 อเมริกาเข้าไปมีส่วนในสงครามศึกเส้นขนานที่ 38ํ การแบ่งแยกเกาหลีเหนือเกาหลีใต้

จนถึงปี 1980 มีคนเกาหลีอยู่ในอเมริกาจากตัวเลขของกองตรวจคนเข้าเมืองถึงสามแสนห้าหมื่นกว่าคน ในจำนวนเหล่านี้ยังมิได้นับรวมเด็กเกาหลี ที่เกิดในอเมริกากลายเป็นพลเมืองอเมริกา

กิจการธุรกิจ ร้านค้า ของคนเกาหลี จะกระจายอยู่ตามรัฐใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก, แคลิฟอร์เนีย, เท็กซัส อาชีพที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนเกาหลีก็มี ร้านขายผัก, ร้านขายปลา, ร้าน GROCERY, ร้านซักรีด-ร้านซักแห้ง รวมไปถึงเด็กสาววัยรุ่นอเมริกาก็มีร้านเสริมสวย ร้านทำเล็บ กิจการร้านค้าของคนเกาหลี ดูเหมือนจะคุมปากท้องของอเมริกาไปเลยทีเดียว

"24 ชั่วโมง บริการจากร้านเกาหลีเปิดขายกันทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะร้านขายของชำ ปีหนึ่งมี 365 วัน 8,760 ชั่วโมง คือเวลาที่พ่อค้าเกาหลีจะเปิดขายบริการให้กับลูกค้า"

การใช้แรงงานก็ใช้แรงงานในครอบครัวด้วยกันเอง เข้ามาหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละวัน ในตอนกลางวันก็จะให้ลูกเมียดูแลร้าน ตกกลางคืนก็ให้สามีหรือลูกชายคอยดูแลร้านต่อ มีแรงงานราคาถูกจากละตินอเมริกา คอยทำหน้าที่จัดเก็บของเช็ดถูทำความสะอาดร้านค้า

ราคาสินค้าในร้านเกาหลีก็จะเปลี่ยนไปตามวันเวลาด้วย ในตอนกลางวัน บุหรี่, สบู่, ยาสีฟัน ก็จะอีกราคาหนึ่ง แต่หากเลยเที่ยงคืนไปแล้ว ราคาสินค้าก็จะเปลี่ยนไปอีกราคาหนึ่ง เพราะต้องบวกกับค่าบริการ ที่อดหลับอดนอนมานั่งขายของและในตอนกลางคืนอัตราเสี่ยงก็เพิ่มมากในยามค่ำคืน

มีอยู่บ่อยครั้งที่ลูกค้าบางคนไม่เข้าใจระบบการขายของแบบเกาหลี มักจะเกิดปัญหาถกเถียงเรื่องราคาสินค้ากับพ่อค้าเกาหลีกันอยู่บ่อยครั้ง

ความอดทน และมานะสู้ชีวิตอย่างเกาหลี เป็นที่รู้กันว่าหากพูดถึงการทำงานแบบเกาหลีแล้ว "ความมานะอดทน" ต้องยกนิ้วให้เขาเลยทีเดียว น้อยคนสำหรับคนอเมริกาจะทำได้เยี่ยงชาวเกาหลี

ในเขตที่มีแหล่งอาชญากรรม, ยาเสพติด เสี่ยงอันตรายสำหรับคนสุจริตอย่างในย่าน BRONX, GARLEM, JAMAICA ของเมืองนิวยอร์ก จะไม่ค่อยมีพ่อค้าคนไหนกล้าพอที่จะคิดเข้าไปลงทุนในย่านเหล่านี้ เพราะไม่คุ้มกับอัตราเสี่ยงกับปัญหามนุษย์ติดยาเสพติด วันดีคืนดีก็ถูกพังร้าน, ทุบกระจกหรือไม่ก็ปล้นเอาเงิน, ขโมยสินค้า

แต่ในย่านเหล่านี้เราจะเห็นมีแต่พ่อค้าเกาหลีเท่านั้นที่เปิดร้านใหญ่โต "ขอเพียงทำกำไรได้" พ่อค้าเกาหลีจะไม่รีรอลังเลเลย ยิ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงค่าเช่าร้านก็ถูกลง เหมือนกับได้ร้านค้ามาฟรีๆ

มีอยู่บ่อยครั้งที่พ่อค้าเกาหลีต้องทะเลาะกับคนผิวดำในย่านนี้ เพราะฝ่ายหนึ่งก็ขยันทำงาน อดทนทุกรูปแบบ อีกฝ่ายก็เป็นลูกค้าที่ตกงานบ่อยๆ มีการเดินประท้วงต่อต้านไม่เข้าไปซื้อของร้านเกาหลี แต่แล้วในที่สุดก็ไม่มีทางเลือกอื่น หากไม่ซื้อสินค้าร้านเกาหลีก็ต้องอด เรื่องราวก็เลยลดรากันไป

ร้านค้าขายผัก ขายปลา ครั้งหนึ่งเคยเป็นกิจการของพวกอิตาเลี่ยน เมื่อวันเวลาเปลี่ยน คนรุ่นหลังมิได้สานต่ออาชีพนี้อีกแล้ว ยกฐานะไปทำงานธนาคารตามสำนักงาน หรือไม่ก็เป็นพ่อค้าขายส่งเสียเลย คนเกาหลีเลยเข้ามา TAKE OVER ในกิจการขายผักขายปลาแทน

การลงทุนในกิจการเหล่านี้ใช้ทุนน้อย แต่ต้องใช้ความอดทนสูง คนเกาหลีต้องตื่นตี 2 ตี 3 ไปตลาดสด FREE MARKET เพื่อไปเลือกผักสดๆ ปลาใหม่ๆ นำมาวางขายในร้านของตน หากตื่นสายมาช้าก็จะได้สินค้าไม่ค่อยดี การลงทุนในกิจการประเภทนี้ หากอดทนจะได้กำไรถึง 300-400%

ยิ่งคืนไหนอากาศหนาวหิมะตกอากาศลดถึง 10ํC มีแต่คนเกาหลีเท่านั้นที่ตื่นขึ้นมาไปตลาดเช้า หนาวก็หนาว เย็นก็เย็นกลิ่นคาวปลา กลับปรากฏภาพของพ่อค้าแม่ค้าเกาหลีมานั่งเลือกปลาเลือกผักสด

ลักษณะการประกอบอาชีพของแต่ละประเทศ ดูเหมือนจะมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ แขวนอยู่ ชาวฟิลิปปินส์ที่มีอยู่ในอเมริกา น้อยรายจะมีกิจการเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่ทำงานด้านบริการ เป็นนางพยาบาล ลูกจ้างของรัฐ ส่วนคนจีนก็จะทำมาหากินกระจุกตัวอยู่กันในหมู่คนจีนย่านไชน่าทาวน์

แต่สำหรับคนเกาหลี เราจะพบว่าคนเกาหลีจะเป็นผู้ประกอบการเอง วิถีชีวิตและเป้าหมายของเขา ก็คือการได้เป็นเจ้าของกิจการอะไรสักอย่างไม่ว่าจะเป็นร้านขายผักสด ร้านขายปลา ร้านขายของชำหรือร้านซักรีด ซักแห้ง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจการของคนเกาหลีเฟื่องฟู เปิดร้านรวงอยู่ทุกมุมเมืองในอเมริกา จนคุมปากท้องของคนในอเมริกา ชีวิตคนเกาหลี ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกที่เข้าประเทศอเมริกาในปี 1900 นั้น เข้าเป็นกรรมกรในไร่ผักหวานของรัฐฮาวาย คนเกาหลีจะได้รับการส่งเสริมดูแลจากองค์กรคริสต์ศาสนาโปรเตสแตนต์

คนเกาหลีจะมีโบสถ์เป็นของตนเอง มีบาทหลวงเป็นคนเกาหลี เทศน์เป็นภาษาเกาหลี

กลุ่มสมาคมของคนเกาหลีในระยะเริ่มแรกก็มีโบสถ์เป็นศูนย์กลาง เมื่อมารวมกลุ่มมีคณะกรรมการของโบสถ์ก็มีการระดมทุนสะสมทุนมีเงินบริจาคเข้ามามาก

เงินเหล่านี้ก็กระจายหมุนเวียนลงทุนคืนกลับให้กับชาวเกาหลีที่ต้องการเงินไปลงทุน หากคนไหนต้องการจะลงทุนทำร้านขายผักหรือเปิดร้านขายปลา ขยายร้านขายของชำ แต่ยังขาดเงินทุน เขาจะยื่นความจำนงเข้ามา

เมื่อเห็นว่าบุคคลคนนั้นเป็นพ่อค้าที่ขยัน อดทน เขาก็จะให้กู้ยืมเงินเหล่านี้หมุนเวียนกันออกไป โดยไม่ต้องพึ่งพิงระบบธนาคารของอเมริกาให้ยุ่งยากและเป็นสิ่งที่ยากลำบาก สำหรับคนต่างชาติที่ไม่มีหลักทรัพย์ เครดิตไม่เพียงพอ ธนาคารอเมริกาไม่ค่อยปล่อยให้กู้เป็นอันขาด

ศูนย์กลางซึ่งเป็นโบสถ์ของชาวเกาหลี ก็ยังเป็นแหล่งพบปะของพ่อค้าลูกจ้างเจ้าของกิจการ ที่เป็นคนเกาหลีด้วยกัน การแลกเปลี่ยนผลัดเปลี่ยนมือในหมู่คนเกาหลีก็เริ่มต้นกันที่นี่

คนไหนต้องการขายร้านเก่า เพื่อซื้อร้านใหม่ขยายกิจการ ก็จะขายร้านเก่าซึ่งเล็กกว่าให้กับลูกจ้างชาวเกาหลีด้วยกันที่ต้องการจะมีกิจการเป็นของตนเอง

ส่วนพ่อค้าคนไหนต้องการขยายร้านใหม่ ต้องการเงินทุนเพิ่ม ก็ขอกู้กันในหมู่คนเกาหลี จนมีการพูดกันติดปากว่าหากชาวเกาหลีจะไปซื้อกิจการ เขาแทบจะไม่ต้องพึ่งสถาบันการเงินเลย คนเกาหลี "จะเอาเงินใส่ถุงกระดาษไปซื้อกิจการ"

โบสถ์ก็กลายเป็นแหล่งพบปะเพื่อติดต่อธุรกิจ การหมุนเงินภายใต้ระบบสมาคมของคนเกาหลี ทำให้กิจการร้านรวงของคนเกาหลีเกิดขึ้นมามากสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจของอเมริกาที่กำลังถดถอยอยู่

ในช่วงระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมานี้ ถือกันว่าเป็นยุคทองของเกาหลี แม้ธุรกิจของอเมริกาจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจแต่ร้านรวงของคนเกาหลีกลับขยายตัวแข่งกันเปิดร้าน รุกเข้าไปทุกพื้นที่

ยิ่งประเทศเกาหลีในปัจจุบันผลิตสินค้าออกสู่ตลาดโลก อเมริกาเองก็กลายเป็นแหล่งตลาดรองรับที่ใหญ่ รถยนต์ฮุนไดก็ส่งมาขายกันที่นี่เป็นตลาดหลัก รถเกาหลีก็วิ่งได้สี่ล้อเหมือนกับรถของประเทศอเมริกา

แต่หากจะให้ดีปลอดภัยขึ้นอีกนิดให้ช่างที่อู่ซ่อมรถช่วยขันสกรูตรงล้อให้แน่นกว่าเก่าก็ยิ่งจะดียิ่งขึ้น

อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า SUMSUNG หรือโกลด์สตาร์จากเกาหลี ก็ป้อนเข้าสู่ตลาดอเมริกาเป็นตลาดหลักอีกเช่นกัน แต่ถ้าหากเปรียบเทียบด้านคุณภาพของสินค้าแล้ว หากเราคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำสินค้าจากเกาหลีก็ดูจะเหมาะสมกันเป็นอย่างดี

เครื่องฉายวิดีโอเทปจากเกาหลี ตลับเทปจากประเทศโดมินิกัน เครื่องเล่นเทปจากเกาหลี ตลับเทปเพลงจากประเทศสุรินัม ก็เหมาะสมกันเป็นอย่างดีทั้งเครื่องเล่น ทั้งตลับเพลงจากสุรินัม

ยิ่งในช่วงนี้ คนไทยในอเมริกา ก็กำลังติดละครทีวีจากเมืองไทย "เมียนอกกฎหมาย" "คุณหญิงนอกทำเนียบ" ที่อัดเทปจากเมืองไทยส่งมาขายกันที่นี่ อุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าเครื่องฉายวิดีโอเทปจากเกาหลีก็ได้ทำหน้าที่ของมันเป็นอย่างดีให้กับลูกค้าคนไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.