SCBSลดจีดีพีปี51เหลือ4.5% ผลกระทบราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด


ผู้จัดการรายวัน(22 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

บล.ไทยพาณิชย์ขยับลดจีดีพีปีหน้าเหลือ 4.5% จากเดิม 4.7% รับผลกระทบราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบุหากราคาน้ำมันสูงขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐ กระทบเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่ม 0.4% และกดดันจีดีพีลด 0.40% ชี้ในช่วงที่ผ่านผลกระทบจากราคาน้ำมันยังไม่ชัดเจน จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและกองทุนน้ำมันช่วยพยุง

บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจได้ออกบทความเรื่อง น้ำมันแพงจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร โดยประเมินว่าหากราคาน้ำมันสูงขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล จะทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.4% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นถึง 1.1% โดยการประเมินดังกล่าวใช้สมมติฐานว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% และผู้ผลิตสามารถส่งผ่านราคาไปยังผู้บริโภคได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ หากราคาน้ำมันสูงขึ้น 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ก็อาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ลดลง 0.40% ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะมาจากการบริโภคที่ลดลง โดยคาดว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะทำให้รายรับหลังหักค่าใช้จ่ายจำเป็น (HHDI)ลดลง 1.1% และทำให้การบริโภคลดลง 0.75% แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะไม่กระทบต่อการเติบโตของการลงทุนมากนักเนื่องจากระดับการลงทุนในปีนี้ซึ่งอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้วมาจากสาเหตุอื่นอื่นๆที่ไม่ราคาน้ำมัน และหากดูตัวเลขอัตราผลตอบแทนต่อการใช้เงินทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(ไม่รวมกลุ่มการเงินธนาคาร)แล้ว พบว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงที่ 15.4% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันคงไม่น่าจะทำให้อัตราผลตอบแทนลดลงต่ำไปกว่าต้นทุนทางการเงิน

ขณะที่ผลกระทบต่อภาคการส่งออกจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นคงจะไม่มากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมการส่งออกสามในสี่ตัวหลักๆได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางพารา ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นมูลค่าหนึ่งในสามของการส่งออกในครึ่งปีแรกของปี 2550 มีผลกระทบจากราคาน้ำมันต่อต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำ อีกประการราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากปรมาณความตอ้งการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น หากเศรษฐกิจโลกชะลอลงราคาน้ำมันก็น่าลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานจึงเชื่อว่าราคาจะยังสูงไปอีกระยะหนึ่ง โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาจากอุปสงค์จากทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าราคาจะสูงขึ้น โดยอุปทานจากประเทศนอกกลุ่มโอเปค ก็ไม่ค่อยเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มโอเปคเองก็เกือบเต็มกำลังการผลิตแล้ว ส่วนระดับปริมาณน้ำมันสำรองของกลุ่มโอเปคก็ลดลงทำให้การคาดการณ์ราคาน้ำมัน US WTIของหลายหน่วยงานปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในปี 2551 เทียบกับ 71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในปี 2550 ส่วนราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในปี 2551

ดังนั้น จากปัจจัยต่างๆดังกล่าว ซึ่งเป็นผลกระทบในทางลบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2551นั้น จึงคาดว่าในปี 2551 ประมาณจีดีพีอาจลดลงจาก 4.7% เหลือ 4.5% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอาจเพิ่มจาก 1.6% เป็น 1.7-1.8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นจาก 2.7% เป็น 3.0-3.2% ในสมมติฐานว่าราคาน้ำมันในปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 75 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จากเดิมที่คาดไว้ที่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในปีนี้

ส่วนค่าเงินบาทนั้นไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากนัก แต่แนวโน้มเงินบาทที่จะยังแข็งค่าขึ้นต่อไปนั้น มีส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต รวมถึงการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติสุทธิขนาดใหญ่และสูงถึง 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ต้นปี ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนของค่าเงินบาท และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่วนหนึ่งเกิดจากการอ่อนค่าของค่าเงินสหรัฐฯ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น จึงปรับลดประมาณค่าเงินบาทปลายปีหน้าลงจาก 32.5 เป็น 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสะท้อนถึงการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยังไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย แม้ว่าประเทศไทยจะมีการนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนมาก โดยมีสัดส่วนสูงถึง 12%ของจีดีพีในปี 2549 นั้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเกิดจากปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่การลดลงของอุปทาน ซึ่งหมายถึงเป็นการเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีการขยายตุว ซึ่งส่งผลดีต่อจีพีดีและการส่งออกของไทยทำให้การเติบโตไม่ลดลงมากนัก

นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น โดยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ผ่านมาเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้แม้ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเมื่อคิดเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ แต่เงินบาทก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน ผลกระทบของราคาน้ำมันในรูปของเงินบาทจึงไม่สูงมากนัก โดยตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงตุลาคม 2550 ราคาน้ำมันเมื่อเทียบเป็นดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลเพิ่มขึ้น 165% ในขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น 14% ช่วยให้ราคาขายน้ำมันเพิ่มขึ้นเพียง 89% และประการสุดท้าย กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ทำหน้าที่ช่วยลดความผันผวนของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไว้พอ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเกินไปตามราคาในตลาดโลกไว้พอสมควร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.