|
ซับไพรม์กดดอลลาร์อ่อน เตือนรัฐรับตลาดเงินป่วน
ผู้จัดการรายวัน(22 พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยห่วงเสถียรภาพค่าเงินบาท หลังประเมินแนวโน้มเงินดอลลาร์ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง จากปัญหาซับไพรม์ที่ลามไปสู่สินเชื่ออื่นจนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวในที่สุด เตือนภาครัฐรับมือการโยกย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ไปสู่สินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมัน ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานสูงต่อเนื่องและกระทบเศรษฐกิจไทยในที่สุด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากหลากปัจจัยที่กดดันอยู่ ภายหลังจากการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ฯร่วงลงทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักไม่ว่า เงินยูโร และเงินฟรังก์ และต่ำสุดในรอบ 26 ปีเทียบกับเงินปอนด์ ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา (ข้อมูล ณ ระดับปิดตลาดนิวยอร์กวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550) จะพบว่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงแล้วประมาณ 10% เมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักคือ ประมาณ 12.4% เมื่อเทียบกับเงินยูโร ประมาณ 7.6% เมื่อเทียบกับเงินเยน ประมาณ 5.5% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ และประมาณ 9.2% เมื่อเทียบกับเงินฟรังก์
โดยตั้งแต่ต้นปี 2550 ที่ผ่านมา จะพบว่า เงินดอลลาร์ฯ ถูกกดดันจากการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากความอ่อนแอของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ และความปั่นป่วนในตลาดสินเชื่อทั่วโลกอันเนื่องมาจากวิกฤตซับไพร์มเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เฟดต้องประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ถึง 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2545 สู่ระดับ 4.75% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 และตามมาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งอีก 0.25% สู่ระดับ 4.50% ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2550
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่า แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลากหลายปัจจัยลบนอกเหนือไปจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของสหรัฐฯ โดยปัจจัยที่อาจกดดันเงินดอลลาร์ฯ ประกอบด้วย ปัญหาสินเชื่อซับไพร์มและวิกฤตสภาพคล่องในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับแนวโน้มความซบเซาต่อเนื่องของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ที่อาจส่งผลทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจออกเป็นวงกว้างในท้ายที่สุด พฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและการระบายธุรกรรม Carry Trade ของนักลงทุน แนวโน้มการปรับลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ และความเป็นไปได้ที่จะมีการยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกติดกับเงินดอลลาร์ฯ ของประเทศในอ่าวเปอร์เชีย
ดังนั้น กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จากปัจจัยลบดังกล่าวข้างต้นมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และอาจสร้างแรงกดดันให้ค่าเงินสกุลหลักตลอดจนสกุลเงินในภูมิภาคซึ่งรวมถึงเงินบาท ต้องปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือเป็นผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นกับภาคส่งออกของไทย และเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกของไทย
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ยังส่งผลข้างเคียงให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการโยกย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนออกจากสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ เข้าสู่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางด้านพลังงานได้ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง ตลอดจนค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น การรับมือกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของทางการไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|