การแย่งชิงตำแหน่งดาวเทียมในห้วงอวกาศกำลังเป็นเวทีใหม่ของโลกธุรกิจสื่อสารในทศวรรษนี้
เรื่องนี้ยังไม่มีกฎหมายใดๆ ที่บ่งชี้ชัด ทางออกอยู่ที่การเจรจาบนพื้นฐานการประนีประนอมระหว่างกัน
ในยุคสมัยปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารโทรคมนาคมเป็นสิ่งสำคัญของการเมืองการปกครอง
หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าและเศรษฐกิจก็ตาม ผู้ที่ได้รับข่าวสารก่อนย่อมเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบในการวางแผนตัดสินใจและดำเนินการให้บรรลุถึงเป้าหมายของตน
ดังนั้นรัฐบาลและเอกชนในประเทศต่างๆ จึงมุ่งที่จะพัฒนาระบบการคมนาคมของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในขณะนี้การคมนาคมสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่มนุษย์สามารถคิดค้นได้คือการสื่อสารโทรคมนาคมโดยผ่านดาวเทียม
แต่การสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมนั้นจำเป็นจะต้องใช้คลื่นวิทยุเป็นสื่อของข่าวสาร
จึงมีข้อจำกัดในการใช้คลื่นวิทยุและการกำหนดตำแหน่ง (SLOT) ของดาวเทียมในวงโคจรให้มีปริมาณพอเหมาะเพื่อประสิทธิภาพการติดต่อสื่อสารไม่ให้คลื่นวิทยุแทรกแซงกัน
ดังนั้นเมื่อความต้องการใช้บริการติดต่อสื่อสารมีมากขึ้นเท่าใด ตำแหน่งที่ว่างดาวเทียมเพื่อการสื่อสารก็ยิ่งลดน้อยลง
เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วได้ส่งดาวเทียมขึ้นโคจรมากขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาอันเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของสังคมระหว่างประเทศ
ซึ่งขาดความพร้อมที่จะมีดาวเทียมเป็นของตนเองเริ่มหวั่นเกรงว่า เมื่อถึงเวลาที่ประเทศตนมีขีดความสามารถที่จะส่งดาวเทียมขึ้นสู่ท้องฟ้าได้
วงโคจรของดาวเทียมจะแออัดจนไม่มีตำแหน่งให้ดาวเทียมของตนอยู่ได้ จึงมีการเรียกร้องให้จัดระบบการสื่อสารระหว่างประเทศขึ้นใหม่ที่ให้ความเป็นธรรมต่อประเทศกำลังพัฒนา
กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้เสนอแนวความคิดและหลักการเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการสื่อสารให้เป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ
(COMMON HERITAGE OF MANKIND)
แนวคิดเรื่อง COMMON HERITAGE OF MANKIND นี้ได้ปรากฏครั้งแรกในกรอบขององค์การสหประชาชาติปี
1958 ในการประชุมว่าด้วยกฎหมายทะเล โดยพระวงวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ได้ทรงกล่าวไว้ว่า "ทะเลเป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ" (THE SEA
IS THE COMMON HERITAGE OF MANKIND) และแนวคิดนี้ก็ได้รับการยอมรับจากสมาชิกระหว่างประเทศโดยทั่วกัน
แนวคิดเรื่องหลัก COMMON HERITAGE OF MANKIND ถูกนำมาใช้กับห้วงอวกาศโดยได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี
1952 ก่อนที่มนุษย์จะสามารถส่งดาวเทียมขึ้นโคจรในห้วงอวกาศ
ได้มีนักนิติศาสตร์เสนอว่า "ห้วงอวกาศและเทหวัตถุอื่นๆ เป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติ"
แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับดังปรากฏในข้อมติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่ 1427
(XIV) 1959 เรื่อง ความร่วมสื่อสารระหว่างประเทศในการใช้ห้วงอวกาศเพื่อสันติ
และสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น THE OUTER SPACE TREATY เองก็ยอมรับหลักการโดยกล่าวถึงหลักนี้ไว้ในอารัมภบทเช่นกัน
กล่าวโดยทั่วไปแล้วหลัก COMMON HERITAGE OF MANKIND มีความคล้ายคลึงกับหลัก
RES COMMUNIS อันเป็นแนวคิดในการได้มาซึ่งทรัพย์สินตามกฎหมายโรมันที่ใช้กับดินแดนนอกพาณิชย์
(TERRUTIRIUM EXTRA COMMERCIUM) ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์หรือสิ่งของที่ทุกคนถือเป็นสมบัติร่วมมีลักษณะสำคัญ
2 ประการ คือ ไม่อาจถูกยึดถือครอบครองได้และทุกคนเป็นเจ้าของเท่าเทียมกันในการใช้หลัก
RES COMMUNIS เป็นหลักที่ตรงข้ามกับหลัก RES NULLIUS ซึ่งใช้กับทรัพย์สินที่ไม่มีเจ้าของแต่อาจถูกยึดครอบครองได้
กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกมักอ้างหลัก RES NULLIUS เพื่อครอบครองและใช้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย
เมื่อได้พบดินแดนเหล่านี้เข้าในยุคแสวงหาอาณานิคม
แต่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ยอมรับหลัก RES NULLIUS ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่สามารถปรับใช้ได้กับกฎหมายอวกาศ
เพราะมิฉะนั้นก็จะมีแต่เพียงประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเท่านั้น
ที่มีความสามารถในอันที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในห้วงอวกาศได้
เนื่องจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาขาดความรู้วิทยาการสมัยใหม่ ขาดเงินทุนในการศึกษาวิจัยและพัฒนารวมทั้งยังไม่สามารถจะสร้างอุปกรณ์เครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศได้
ในขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความพร้อมทุกด้าน อยู่ในฐานะที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการสื่อสารในลักษณะของ
"ผู้มาก่อนย่อมได้ก่อน" (FIRST COME, FIRST SERVED) ประเทศกำลังพัฒนาย่อมไม่มีโอกาสที่จะมีส่วนได้เข้าถึงได้ใช้ประโยชน์จากวงโคจรดาวเทียมเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมและความถี่คลื่นวิทยุ
ความเห็นของประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ยอมรับหลัก RES NULLIUS ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ใช้ในกฎหมายอวกาศ
ได้รับการยอมรับจากสังคมระหว่างประเทศ ดังปรากฏในมาตรา 2 ของ THE OUTER SPACE
TREATY 1967 ซึ่งบัญญัติว่า "ห้วงอวกาศรวมทั้งดวงจันทร์และเทหวัตถุอื่นๆ
ไม่อยู่ภายใต้การครอบครองของรัฐในการอ้างอำนาจอธิปไตยโดยวิถีทางการใช้หรือยึดถือครอบครอง
หรือโดยวิธีทางอื่นใด" และก็ได้รับการยอมรับโดยสนธิสัญญาโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
1982 ซึ่งจะกล่าวถึงในภายหลัง
แม้ว่าอนุสัญญาโทรคมนาคมระหว่างประเทศ 1982 จะได้รับรองหลัก EQUITABLE
ACEESS โดยให้คำนึงถึงความจำเป็นพิเศษของประเทศกำลังพัฒนา และสภาพการณ์ทางภูมิศาสตร์นั้นก็ตาม
แต่ก็ยังมิใช่หลักประกันว่า ทุกรัฐในสังคมระหว่างประเทศจะมีโอกาสได้เข้าถึง
และได้ตำแหน่งในวงโคจรดาวเทียมเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมอันเป็นการได้สิทธิมาอย่างแท้จริง
ดังนั้นจึงได้จัดประชุมใหญ่ฝ่ายบริหารระดับโลกด้านการวิทยุ ว่าด้วยตำแหน่งในวงโคจรดาวเทียมเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคม
และกำหนดแผนการเพื่อใช้ประโยชน์ของบริการสื่อสารทางอวกาศในระหว่างปี 1985-1988
(WORLD ADMINISTRATIVE RADIO CONFERENCE ON THE GEOSTATIONARY ORBIT AND
THE PLANNING OF THE SPACE SERVICES UTILZING IT : WARC-ORV 85-88) เพื่อพิจารณาและกำหนดแผนการจัดสรร
(ALLOCATION) และการแบ่งสัน (ALLOTMENT) ตำแหน่งดาวเทียมในวงโคจรดาวเทียมเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมและความถี่คลื่นวิทยุเพื่อแก้ไขปัญหาที่ได้ปรากฏชัดมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่
1970
WARC-ORB 85-88 ได้จัดประชุม 2 วาระ โดยวาระแรกได้จัดขึ้นในปี 1985 ที่ประชุมได้รับหลักการที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. ให้หลักประกันว่า รัฐจะได้รับจัดสรรตำแหน่งดาวเทียมในวงโคจรดาวเทียมเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมและความถี่คลื่นวิทยุอย่างเป็นธรรม
(GUARANTEE OF ACCESS AND EAUITABILITY) อย่างน้อยที่สุดก็จะได้ 1 ตำแหน่งและบางรัฐอาจได้มากกว่าหนึ่งสำหรับการสื่อสารโทรคมนาคมภายในประเทศ
2. จัดสรรแบ่งความถี่ให้กับบริการอื่น (SHARING WITH OTHER SERVICE) บนพื้นฐานเบื้องต้นของความจำเป็นที่เท่าเทียมกัน
(EQUAL PRIMARY BASIS)
3. สงวนรักษาทรัพยากร (RESERVATION OF RESOURCES) ในการพิจารณากำหนดแผนการ
ให้พิจารณาถึงตำแนห่งดาวเทียมและความถี่คลื่นวิทยุที่มีอยู่ทั้งหมดและให้กันส่วนสงวนไว้
สำหรับความต้องการในอนาคตของสมาชิกในอนาคตของสหภาพโทรคมนาคม โดยรัฐมิได้มีสิทธิในการใช้อย่างถาวร
(PERMANENT PRIORITY USE) ในลักษณะกีดกันรัฐอื่นที่จะได้รับจัดสรร
WARC ORB 85-88 ได้จัดประชุมวาระที่ 2 ในปี 1988 ในที่ประชุมประสบกับปัญหาสำคัญทั้งในด้านการเมืองและด้านเทคนิคหลาประการ
ประเด็นหลักในการประชุมนั้นคือแผนการแบ่งสรร (ALLOTMENT PRAN) ซึ่งส่วนแรกเป็นการกำหนดตำแหน่งดาวเทียมให้ทุกประเทศ
และส่วนหลังเป็นการกำหนดโดยพิจารณาถึงระบบดาวเทียมที่กำลังใช้อยู่ (EXISTING
SYSTEM)
WARC-ORB 85-88 วาระที่ 2 นี้ ประสบผลสำเร็จเป็นที่พอใจของประเทศกำลังพัฒนา
แต่ประเทศพัฒนาแล้วไม่ค่อยพอใจกับผลประชุมนี้นักโดยมีบางประเทศตั้งข้อสงวนไว้
แม้ว่าจะมีการเจรจาเกี่ยวกับการดำเนินกิจารที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมโดยประเทศกำลังพัฒนาได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิของตนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
แต่ในปัจจุบันปัญหาเรื่องตำแหน่งดาวเทียมเริ่มก่อตั้งขึ้นระหว่างประเทศกำลังพัฒนาแล้ว
เพราะประเทศเหล่านี้เริ่มมีศักยภาพในการส่งดาวเทียมของตนเองขึ้นโคจร
และปัญหาเหล่านี้มักจะเกิดกับกลุ่มประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เช่น
ประเทศจีน, ไทย, ฮ่องกง หรือสิงคโปร์
ดังกรณีที่เอเชียแซทของฮ่องกงได้ร้องเรียนต่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศว่า
วงโคจรดาวเทียมไทยคมที่จะยิงขึ้นไปนั้น อยู่ใกล้วงโคจรดาวเทียมเอเชียแซท
2 ที่จะส่งขึ้นโคจรซึ่งสัญญาณคลื่นวิทยุอาจมีการรบกวนกันได้
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้นก็คือการหันหน้าร่วมมือเข้าเจรจาไม่ว่าจะเป็นการเจรจาแบบทวิภาคระหว่างประเทศ
ที่มีข้อขัดแย้ง หรือการเจรจาแบบพหุภาคีที่มีการตกลงกันระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
โดยวางอยู่บนหลักกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ
สิ่งเหล่านี้อาจนำมาถึงจุดที่หลายๆ ฝ่ายสามารถประนีประนอมในเรื่องผลประโยชน์แต่ละประเทศได้
ซึ่งคงจะเป็นวิถีทางแก้ไขที่ดีที่สุดในสังคมระหว่างประเทศ