"นักลงทุนต้องระวัง หุ้นเทคโอเวอร์"

โดย วัชรินทร์ จ่างขันธ์ ฉกาจเจษฎ์ เอี่ยมสวัสดิ์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุกครั้งที่มีการเทคโอเวอร์ หุ้นที่ถูกซื้อกิจการมักมีราคาพุ่งขึ้น ขณะที่นักลงทุนก็ไม่รู้ข้อมูลว่ามีเหตุผลอะไร นักลงทุนต้องระวังหุ้นที่ถูกเทคโอเวอร์ ขณะที่ ก.ล.ต. ก็ต้องคุมให้ดี

เมื่อใดก็ตามที่ข่าวการ "เทคโอเวอร์" เล็ดลอดเข้าไปในตลาดหุ้น ผลที่มักจะตามมาเสมอๆ ก็คือราคาหุ้นตัวที่ "ถูกเทค" จะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการแพร่กระจายของข่าวสารที่มีผลต่อการรับรู้ของนักลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสนใจเพียงเรื่องของ "ราคาหุ้น" มากกว่าการพยายามทำความเข้าใจใน "ความหมาย" ที่แท้จริงของปรากฏการณ์

เป็นเรื่องยากที่การเทคโอเวอร์จะทำให้เกิดมูลค่าส่วนเพิ่ม (Value added) ขึ้นได้ในทุกกรณี เพราะในภาพของความเป็นจริงนั้น คงไม่มีใครสามารถกำหนดปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมทางธุรกิจให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายที่วางไว้ได้ทุกอย่าง

จึงนับเป็นเรื่องแปลกที่ "ราคาหุ้น" มักจะปรับตัวไปในทิศทางที่ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปอื่นใดได้ นอกเสียจากว่าทุกครั้งที่มีการเทคโอเวอร์ ผลที่ตามมาต้องเป็น "ผลดี" เท่านั้น

มีความผิดปกติบางอย่างใน "กลไก" ของตลาดทุนไทยที่ทำให้ปัจจัยนำเข้า (Input) ตัวเดียวกันกลับได้ผลลัพธ์ (Output) ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับตลาดทุนที่พัฒนาแล้วหลายๆ แห่ง

แต่เมื่อแนวโน้มที่การพัฒนา จะทำให้ตลาดทุนมีระบบที่เข้าสู่ "ระบบ" อย่างแท้จริง โอกาสที่จะสร้าง "กำไร" จากการเทคโอเวอร์ ด้วยหลักการง่ายๆ ที่ว่า "ซื้อก่อน ได้เปรียบ" เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต อาจไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

กระแสความเจริญในแวดวงธุรกิจหลักทรัพย์ นับจากปี 2530 เป็นต้นมา ได้ส่งผลต่อเนื่องไปในทุกๆ ด้าน เท่าที่ความเจริญดังกล่าวจะแผ่ขยายไปถึง

ภาพสะท้อนที่เป็นข้อยืนยันในเรื่องนี้ ชัดเจนด้วยตัวเลข "มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์" ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2518 ที่เริ่มก่อตั้งมูลค่าการซื้อขายในขณะนั้นมีเพียง 1,522.92 ล้านบาท ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนถึงระดับ 797,549.12 ล้านบาท ในปี 2534 และตัวเลขล่าสุด 7 เดือนแรกของปี 2535 สิ้นสุด ณ 31 กรกฎาคม 880,749.66 ล้านบาท แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในบางช่วงเวลาก็ตาม

กิจกรรมทางธุรกิจที่เรียกว่าการ "เทคโอเวอร์" เข้ามามีบทบาทตั้งแต่เริ่มแรกในช่วงเวลาประมาณ 16-17 ปี ของการพัฒนา "ตลาดทุน" แต่ยังไม่ถึงกับทรงความสำคัญมากนัก ณ ห้วงเวลานั้น
กาลต่อมา จำนวนการเข้าครอบครองกิจการ และการควบกิจการ (MERGER & ACQUISITION) ซึ่งเข้าข่ายของความหมายที่เรียกได้ว่าเป็นการ "เทคโอเวอร์" ได้ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2530 ที่มีจำนวนเพียง 3 กรณี ได้เพิ่มขึ้นมากถึง 40 กรณี ในปี 2533 อันเป็นช่วงเวลาเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวถึงขีดสุดและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2532 ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ขยายตัวสูงถึง 12% หลังจากที่อัตราการขยายตัวดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงถึง 13.2% ในปีก่อนหน้านี้

ไม่เพียงแต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ความสลับซับซ้อนในวิธีการ ก็ดูจะมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ระยะหลังเราจึงมีโอกาสได้รู้จักกับการทำ "SHARE SWAP" หรือ "SHARE MANDATE" ที่ คีรี กาญจนพาสน์ นำเอาวิธีการดังกล่าวจากฮ่องกง มาใช้จัดหาเงินทุน (Financing) ให้กับบริษัทธนายง ที่ตัวเองเป็นหัวเรือใหญ่

และในทำนองเดียวกันนี้ ก็ทำให้เราได้ยินชื่อของ ปิ่น จักกะพาก, ณรงค์ ปัทมะเสวี หนาหูขึ้น จากกรณีเทคโอเวอร์ภูเก็ตยอร์ชคลับ ฟิลาเทค และอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้วิธีการ "เทคโอเวอร์" มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และถือได้ว่า เป็นสิ่งใหม่สำหรับตลาดที่เพิ่งจะเริ่มต้นพัฒนาอย่าง "ตลาดทุนไทย"

หากจะยกเหตุผลทางธุรกิจที่ค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางทฤษฎีขึ้นมาอ้างการ "เทคโอเวอร์" ก็เป็นแค่เพียงวิธีการอย่างหนึ่งในการ "ขยายตัว" ของธุรกิจ ซึ่งอาศัยการเข้าครอบครองกิจการหรือการควบกิจการแทนการก่อตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ซึ่งต้องใช้เงินทุน และระยะเวลากว่าที่ธุรกิจจะเติบโต เมื่อคิดเป็น "ต้นทุน" แล้ว จะเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการ "เทคโอเวอร์" บริษัทเป้าหมาย เพื่อนำมาปรับปรุงกิจการให้ดีขึ้น

ณรงค์ ปัทมะเสวี กรรมการผู้จัดการ บงล. นิธิภัทร ที่ก้าวเข้าสู่วงการนี้ เมื่อครั้งที่ยังอยู่ซิตี้คอร์ปเป็นที่ปรึกษาให้แบงก์กรุงเทพ กับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เข้าเทคโอเวอร์ "จักรวาลทรัสต์" แล้วจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น "บงล. นิธิภัทร" ก่อนที่จะมาทำกรณี (Case) ของ "ภูเก็ตยอร์ชคลับ กับ เฟิร์สแปซิฟิก " ให้ทัศนะเกี่ยวกับการเทคโอเวอร์ว่า

"ส่วนตัวแล้ว เท่าที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ส่วนมากที่ผ่านมามักจะเป็นบริษัทที่เล็ก และมีผลการดำเนินงานที่ไม่ค่อยจะก้าวหน้าอยู่ก่อนแล้ว พอไปเทคโอเวอร์มา มีธุรกิจใหม่ใส่เข้าไปมีแมเนจเมนท์ใหม่ ซึ่งแอคทีฟดีกว่า มีความคิดที่ก้าวหน้ากว่ามันช่วยให้ตลาดรวมดีขึ้น"

คงไม่ต่างจากนี้มากนัก กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่ก็ได้ทำให้บริษัทที่กำลังจะย่ำแย่เนื่องจากความไม่เอาไหนของผู้บริหาร กลับมีผลงานที่ดีขึ้น ภายหลังที่ได้มีการเปลี่ยน "เจ้าของ"

ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เป็นเวทีตัวแทนของ "ตลาดทุน" ก็ดูเหมือนจะได้รับประโยชน์จากการนี้อย่างน้อยก็คงถือได้ว่ามีส่วนช่วยให้ธุรกิจมีโอกาส "ขยายตัว" ได้อีกทางหนึ่ง
แน่นอนด้านหนึ่งย่อมเกิดผลดี กับหลายฝ่ายที่ได้ประโยชน์ !

แต่ผลเสียอีกด้านหนึ่ง กลับทำลายความเชื่อมันของนักลงทุน "รายย่อย" ที่มักจะเสียประโยชน์จากวิธีการ "สร้างราคา" ของคนในตลาดหุ้นซึ่งอาศัยความได้เปรียบในเรื่องข้อมูลและคามที่รู้ดีว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่เป็นประเภท "กระต่าย" ที่มักจะตื่นตูมกับข่าวลือบางอย่างเกินความเป็นจริง

อาจเป็นเพราะโครงสร้างการลงทุนของ "นักลงทุน" ส่วนใหญ่ในบ้านเรา เป็นนักลงทุนระยะสั้นที่เข้าข่ายเป็น "นักเก็งกำไร" จึงมีอารมณ์อ่อนไหวต่อข่าวโดยเฉพาะ "ข่าวลือ" มากกว่านักลงทุนที่เป็นสถาบันหรือนักลงทุนระยะยาวที่หาได้ยากเต็มทีในตลาดทุนไทย

หลายๆ กรณีของการเทคโอเวอร์ ข้อมูลที่เรียกว่าเป็น "ข้อมูลภายใน" (Inside) มักจะถูกเปิดเผยออกมาก่อนหน้าที่ผู้บริหารจะแถลงแทบทุกครั้ง ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้พฤติกรรม "สร้างราคา" เริ่มขึ้นจากข้อมูลอันนี้ จนก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้น

กิจกรรมเทคโอเวอร์นั้น มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่บริษัทผู้เทค, บริษัทที่ถูกเทค, ที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งรวมทั้งแบงก์ และบริษัทไฟแนนซ์นอกจานั้นยังมีหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ โดยเฉพาะ ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นผู้ที่ล่วงรู้ถึง "ข้อมูลภายใน" แทบทั้งสิ้น

มีเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นที่จะไม่มีโอกาสได้รู้เลย ถ้าคนในเหล่านี้ไม่นำข้อมูลเหล่านี้มาบอกก็คือ "นักลงทุน" ซึ่งมักจะเป็น "นักลงทุน รายย่อย" ที่ได้รับข้อมูลเป็นคนสุดท้าย


เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งควรจะเป็นผู้ตัดสินความถูก-ผิด กลับกลายเป็นองค์กรที่ทำให้ดูเป็นเพียง "ผู้ดูเหตุการณ์" โดยไม่สามารถหาข้อยุติได้ในข้อขัดแย้งหลายต่อหลายกรณี ซึ่งสุดท้ายแล้ว คนที่จะเสียผลประโยชน์ก็ไม่พ้น "นักลงทุน รายย่อย" ที่อำนาจต่อรองน้อยที่สุด

แม้อำนาจในการควบคุม และดูแลความยุติธรรมในระบบ จะโอนมาสู่มือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) ที่เพิ่งจะก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2535 แต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ไม่อาจด่วนสรุปได้ ณ บัดนี้ว่า เมื่อ ก.ล.ต. เข้ามาแล้วกิจกรรม "เทคโอเวอร์" จะดำเนินไปบนพื้นฐานที่ให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย

"เป้าหมายของเราคือการเปิดเผยข้อมูล (Disclose) แก่สาธารณชน เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่นอกเหนือไปจากนี้ เราจะมีกรอบในการปฏิบัติเอาไว้ ถ้ายังอยู่ภายใต้กรอบอันนี้ก็ไม่มีอะไรที่ถือว่าผิด แต่เราจะพยายามเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด" วสันต์ เทียนหอม ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ก.ล.ต. พูดถึงหน้าที่และวัตถุประสงค์หลักของ ก.ล.ต.

คงมีส่วนช่วยให้การกระจายข้อมูลข่าวสาร ได้มีโอกาสไปสู่ทั้งนักลงทุนและสาธารณชนอย่างเท่าเทียมกัน แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด เพราะสำหรับเรื่องของการ "ตรวจสอบ" เพื่อให้เกิดความยุติธรรมนั้นคงต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่าบทบาทของราชการนั้น ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะ "ก้าวให้ทัน" กับพัฒนาการของธุรกิจอยู่นั่นเอง

"เกรงว่าจะกลายเป็นการเอาเจ้าหน้าที่ห้องสมุดมาจับขโมย เพราะถึงอย่างไรคงต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยังมีข้อจำกัดอีกมากที่ทำให้ธุรกิจอาศัยความได้เปรียบที่ไม่สามารถเอาผิดได้"

ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องอย่างแยกกันไม่ออกกับธุรกิจการเทคโอเวอร์ก็คือ ธุรกิจ "ที่ปรึกษา" ซึ่งบทบาทของผู้ให้คำแนะนำทางด้านการเงินส่วนใหญ่มักจะเป็น "บริษัทไฟแนนซ์" ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนด "ราคาหุ้น" ให้กับนักลงทุนอีกนัยหนึ่งก็เป็นการกำหนดราคาหุ้นให้กับบริษัท "ผู้เทค"

บ่อยครั้ง "ที่ปรึกษา" เองก็มักจะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จนเกิดความโอนเอียงที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ถือหุ้น "รายย่อย" โดยเฉพาะเรื่องความลับของ "ข้อมูลภายใน"

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ทำให้ระบบที่ควรจะเป็นแบบแผนในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง การตรวจสอบที่ไม่อาจให้ความเป็นธรรมได้กับทุกฝ่ายก็เป็นเพียง "กฎกระดาษ" ที่ไม่อาจทำให้ทุกฝ่ายยอมรับเป็นวิถีปฏิบัติได้

ถึงกระนั้น การเกิดขึ้นของ ก.ล.ต. ก็ดูเหมือนจะเป็นความหวังครั้งสำคัญของผู้คนหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่เคยเสียเปรียบจากความ "ไม่เป็นธรรม" ของระบบเดิม เว้นไว้แต่ผู้ที่ยังคงรู้สึกว่ากฎระเบียบที่มีช่องโหว่จะเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองได้มากกว่าเท่านั้น

คงไม่มีอะไรที่จะหยุดกระแสการ "เทคโอเวอร์" ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการพัฒนา "ตลาดทุน" และ "ตลาดเงิน" ได้ แต่สิ่งที่จะปกป้องผลประโยชน์ของ "นักลงทุน" ท่ามกลางความสลับซับซ้อนของธุรกิจได้ดีที่สุดหาใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานอื่นใด หากแต่เป็น "พัฒนาการ" ของนักลงทุนเองเท่านั้นที่จะช่วยดูแลไม่ให้มาเอาเปรียบได้ง่ายๆ เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอดีตที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.