|

เอ็กโกฟุ้งปี51รายได้โตต่อ10% เล็งแตกพาร์ชี้หุ้นสภาพคล่องต่ำ
ผู้จัดการรายวัน(21 พฤศจิกายน 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เอ็กโก มั่นใจชนะประมูลไอพีพีอย่างน้อย 1โรงจากที่ยื่นไป 2.8 พันเมกะวัตต์ ติงคณะกรรมการคัดเลือกไอพีพี พิจารณาอย่างรอบคอบอย่าดูเพียงค่าไฟถูก ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการหลังพบโรงไฟฟ้าถ่านหินบางโครงการส่อแววชวด อีไอเอ "วิศิษฎ์" ฟุ้งรายได้ปีนี้เกินเป้าแตะ 2.3 หมื่นล้านบาท ปี51 โตอีก 10% เร่งศึกษาผลดี-เสียเพื่อแตกพาร์ คาดได้ข้อสรุปปีหน้า แก้ปัญหาสภาพคล่องต่ำ RATCH จ่อถอนฟ้องศาลปกครอง และอนุมัติสัดส่วนการถือหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าหงสาในลาว 40%
นายวิศิษฎ์ อัครวิเนค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) เปิดเผยว่า บริษัทฯยังมีความมั่นใจที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี)ประมาณ 30%ของกำลังการผลิตที่บริษัทได้ยื่นประมูลไป 2,800 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 800 เมกะวัตต์ แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับวิธีการตัดสินของคณะกรรมการฯ หากใช้ราคาค่าไฟมาตัดสินใจคัดเลือกเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการและสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้า หวั่นจะเกิดเหตุการณ์เดียวกับโรงไฟฟ้าหินกรูด และโรงไฟฟ้าบ่อนอก
เนื่องจากการประมูลไอพีพีรอบนี้ มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการยื่นประมูลถึง 5 โครงการ โดยบางโครงการมีความเป็นได้ค่อนข้างต่ำที่จะผ่านอีไอเอจาก สผ.เพราะบางโครงการโรงไฟฟ้าตั้งอยู่พื้นที่ป่าชายเลน เป็นต้น จึงอยากให้มีการแยกการพิจารณาออกเป็น 2 กลุ่ม คือโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ
" ในเรื่องราคาที่เสนอประมูลไอพีพีไปนั้นบริษัทมีความมั่นใจหากแข่งขันกับโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงเหมือนกัน แต่ถ้าคณะกรรมการที่พิจารณาคัดเลือกฯไอพีพี ดูเพียงราคาค่าไฟที่เสนอเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงประเภทเชื้อเพลิงและความเป็นไปได้ของโครงการ เชื่อว่าสุดท้ายเราอาจเป็นตัวสำรอง เพราะต้นทุนค่าไฟจากถ่านหินจะต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติ"
ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นประมูลโครงการไอพีพีจำนวน 3 โครงการ คิดเป็น 2,800 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดระยอง 2 ยูนิตๆละ 800 เมกะวัตต์รวม 1,600 เมกะวัตต์ ส่วนขยายโรงไฟฟ้าขนอม 400 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าที่ราชบุรี 800 เมกะวัตต์
นายวิศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนปีหน้ารายได้บริษัทฯจะเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10% หลังจากรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ระยะ2 ที่จะส่งไฟเข้าระบบตามกำหนดมี.ค.2551 แต่คาดว่าจะส่งไฟเข้าระบบได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯจะเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เพื่อต่อสัญญารับซื้อไฟฟ้า(PPA)จากโรงไฟฟ้าขนอมและโรงไฟฟ้าระยองที่จะครบกำหนดสัญญาPPA ในปี 2554 และ2557 ตามลำดับ ออกไปอีก 10ปี
สำหรับการลงทุนในปี 2551 คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1.5 -2 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่รวมโครงการไอพีพีที่เข้าร่วมประมูล เพราะถ้าเอ็กโกชนะประมูลไอพีพีจะใช้เงินลงทุนถึง 1.6 หมื่นล้านบาทต่อโรง
โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำอู สปป.ลาว คาดว่าจะได้ข้อสรุปสัดส่วนการถือหุ้นในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ โดยเอ็กโกต้องการถือหุ้นประมาณ 25-30% รวมทั้งยังมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพ(พลังงานความร้อนใต้ดิน) ขนาด 200 เมกะวัตต์ อยู่ตอนกลางเกาะมินดาเนา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2551 จากปัญหาราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอีก 13ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทฯได้กำหนดแผนการศึกษาเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผนการดำเนินธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า เพราะเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์จะเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคในอนาคต
"วันนี้ไทยมีทางออกด้านพลังงานน้อยมาก เชื่อว่าในปี 2554 ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยและพม่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ขณะที่ปตท.ในฐานะผู้จัดหาพลังงานก็ขยับการจัดหาก๊าซฯLNGช้ามาก ทำให้ราคาLNGแพง ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีก๊าซฯใช้ "
เตรียมกู้เงิน8พันล้านรีไฟแนนซ์
นายวิศิษฎ์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯเตรียมกู้เงินจากสถาบันการเงินวงเงิน 8 พันล้านบาทในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อนำมาชำระหนี้เงินระยะสั้นที่จะครบกำหนดในต้นปีหน้าประมาณ 5-6 พันล้านบาท หลังจากพิจารณาแล้วเห็นว่าแนวทางการกู้เงินมีความเหมาะสมมากกว่าการออกหุ้นกู้
เล็งแตกพาร์ปี51
ขณะนี้ เอ็กโกอยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีและข้อเสียในการที่จะแตกพาร์(มูลค่าที่ตราไว้)หุ้นละ 10 บาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2551 เนื่องจากปัจจุบันจำนวนหุ้นเอ็กโกมีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ โดยบริษัทไม่มีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนในอีก 5ปีข้างหน้า แม้ว่าบริษัทฯจะมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นมากหากชนะประมูลไอพีพีก็ตาม
แหล่งข่าวจากวงการไฟฟ้า กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มีมติให้บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีถอนคำร้องจากศาลปกครอง ในคดีที่ให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงพลังงานที่ตัดสิทธิบริษัทฯ ในการเข้าร่วมประมูลโครงการไอพีพีเนื่องจากไม่ผ่านการคัดเลือกด้านเทคนิค
RATCH ถือหุ้นโรงไฟฟ้าหงสา40%
นายณรงค์ สีตสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)(RATCH) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหินหงสาใน สปป.ลาว โดยจะมีการลงนามในสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ หรือJoint Development Agreement (JDA) ระหว่างกลุ่มผู้ร่วมทุนรวม 3 ราย คือ RATCH 40% บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ 40% และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนลาว 20%
นอกจากนี้ ยังอนุมัติการลงทุนในโครงการบริษัทเหมืองถ่านหิน ผู้ร่วม ทุนประกอบด้วย RATCH ถือหุ้น 37.5% บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด 37.5% และรัฐบาลลาว25% อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีนักลงทุนจากประเทศจีนเข้าถือหุ้นเพิ่ม สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในโครงการโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์และบริษัทเหมืองถ่านหินจะลดลงเหลือ 30% และ 28.125% ตามลำดับ
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าหงสา มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 1,653 เมกะวัตต์ต่อปี โดยจะนำไฟฟ้าขายกลับมายังประเทศไทย 1,470 เมกะวัตต์ต่อปี มีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงเบื้องต้นในการรับซื้อไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี2556
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|