"ประมวลผล" โรงงานผลิตสุราเก่าแก่ของตระกูล "บุญยศรีสวัสดิ์"
ตระกูลที่เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในวงการค้าสุราของไทยมาเกือบ 40 ปี มาถึงวันนี้จำเป็นต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ
เพื่อให้ธุรกิจยืนหยัดและดำเนินต่อไป "การุณ บุญยศรีสวัสดิ์"
โต้โผใหญ่ จึงตัดสินใจขยายฐานเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มอย่างเต็มตัว
ด้วยการแตกตัวธุรกิจอีกครั้งตั้งบริษัท เอส พี เอ็ม อาหารและเครื่องดื่ม
บริษัทน้องใหม่หวังกุมฐานตลาดน้ำผลไม้-น้ำดื่มและอาหาร หลังจากเล็งเห็นศักยภาพของตลาดที่สดใสในอนาคต
โดยดึงนักบริหารมืออาชีพ "สมสุข ตั้งเจริญ" ที่ปรึกษาโรงเหล้า
และอดีตเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจโรงแรมมานั่งแป้นผู้อำนวยการขายและการตลาด
เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มหลังจากผ่านสนามแข่งขันในธุรกิจโรงแรมชั้นนำของประเทศมาอย่างโชกโชน
เอส พี เอ็มฯ เริ่มต้นเปิดตลาดด้วยการจำหน่าย ไทยไวน์ มาซ่าร่าไวน์ ไวน์ที่ผลิตจากโรงงานประมวลผล
ซึ่งก่อนหน้านี้ทางยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ บริษัทในเครือของประมวลผล เป็นผู้จำหน่ายอยู่
พร้อมกันนั้นยังผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มยี่ห้อ "เอส.พี.เอ็ม" ชื่อเดียวกับบริษัท
ออกสู่ตลาดชิมลงมาก่อนหน้านี้ จนล่าสุดได้ผลิตน้ำผลไม้ซึ่งถือเป็นสายธุรกิจหลักทีสำคัญของ
เอส พี เอ็มฯ ออกสู่ตลาด
ด้วยอาศัยจุดเด่นที่เคลมว่าแตกต่างจากน้ำผลไม้ทั่วไปเมื่อไม่นานมานี้ ใช้ชื่อว่า
ฟรุ๊ตเน็ส (FRUITNEITE)
"ตลาดน้ำผลไม้ในปัจจุบันแบ่งออกได้หลายระดับ ทั้งเป็นน้ำผลไม้เข้มข้นที่เรียกว่า
SQUAH และยังมีน้ำผลไม้พร้อมดื่ม, น้ำผลไม้เจือจาง เรามองเห็นว่าศักยภาพน้ำผลไม้พร้อมดื่มเป็นตลาดที่น่าสนใจที่สุด
และจะกลายเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคน้ำผลไม้ในอนาคต" สมสุข
อธิบายถึงตัวผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้ามาแข่งขันในตลาด
ปัจจุบันตลาดน้ำผลไม้มีมูลค่ารวมทั้งระบบเพียง 400-500 ล้านบาท/ปีเท่านั้น
ซึ่งถือว่ายังเป็นตลาดที่เล็กเมื่อเทียบกับตลาดในประเทศอื่นๆ อย่างเช่นในญี่ปุ่น,
ฮ่องกง หรือแม้แต่สิงคโปร์ ประเทศในเอเชียอาคเนย์ด้วยกัน
ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีผลไม้ที่หาซื้อมารับประทานได้ตลอดทั้งปี น้ำผลไม้จึงไม่เป็นที่ต้องการในตลาดเท่าใดนัก
แต่แนวโน้มเท่าที่ผ่านมาน้ำผลไม้กำลังจะกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น
จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคเริ่มมีการหันมาดื่มน้ำผลไม้มากขึ้นด้วยตระหนักถึงเพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี
เทียบจากอัตราการขยายตัวของตลาด ที่เริ่มมีผู้ผลิตให้ความสนใจเข้าสู่ตลาดนี้ซึ่งมีตัวเลขที่สูงถึง
20% ในปี 2534 จากตลาดโดยรวมทั้งระบบ (เช่นเดียวกันกับการเริ่มต้นของตลาดนมพร้อมดื่มในอดีต
ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมเกือบจะถึง 10,000 ล้าน)
จึงเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มของประมวลผล หันมาสนใจในตลาดน้ำผลไม้นี้เป็นอย่างมาก
ในอดีตนั้นบริษัท ประมวลผล จำกัด เริ่มธุรกิจมาจากการเป็นร้านค้าส่งสุราประจำจังหวัดสมุทรสาคร
โดยสุธี บุญยศรีสวัสดิ์ พ่อของ การุณ ได้เป็นผู้บุกเบิกกิจการโดยเข้าร่วมประมูลโรงเหล้า
จนได้สัมปทานเป็นผู้ผลิตสุราและสุราผลไม้ในจังหวัดนครปฐม และต่อมาจึงได้ผลิตสุราออกจำหน่ายไปทั่วประเทศ
สุราที่ผลิตแรกเริ่มมียี่ห้อต่างๆ มากมาย เช่น แม่น้ำสุพรรณ, คิงส์, แมวดำแต่ปัจจุบันได้เลิกผลิตไปแล้ว
และมาผลิตสุราปรุงพิเศษคือ สิงหราช, สิงห์เจ้าพระยา, วีโอ และไทยไวน์ มาซ่าร่าไวน์
ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
สินค้าต่างๆ ที่ผลิตจากประมวลผลทั้งหมดได้มีการจำหน่ายผ่านทาง บริษัท นาม
ทอง บ้าง และบริษัท ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่บ้าง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเปรียบเสมือนบริษัทในเครือของประมวลผล
ด้วย "การุณ" แตกตัวออกมาตั้งเป็น บริษัทเทรดดิ้งเท่านั้น
ซึ่งดูจากในรูปของการจัดตั้งบริษัทนั้นภายนอกไม่ได้มีความเกี่ยวกันในแง่ของนิติกรรมกับประมวลผลแม้แต่อย่างไรเลย
แต่ผู้ถือหุ้นเท่านั้นยังคงเป็นคนในตระกูล บุญยศรีสวัสดิ์
นั้นเป็นเพราะกลยุทธ์การแตกตัวบริษัทที่ การุณ สั่งสมประสบการณ์โดยพื้นฐานทางด้านการตลาดและด้านการเงินที่ต้องการแยกตัวบริษัทจากกันโดยสิ้นเชิง
ซึ่งจะมีผลทางด้านการค้าเป็นสำคัญ
"สาคร บุญยศรีสวัสดิ์" น้องชายของการุณ เป็นคนดูแลนามทอง จำหน่ายวิสกี้สิงหราชและสิงห์เจ้าพระยา
ส่วนยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ การุณเป็นผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ โดยให้วิรัตน์ โอวรารินท์
มาร่วมถือหุ้นและมือปืนรับจ้างนั่งบริหาร จำหน่ายวิสกี้วีโอ และมีสินค้าอื่นที่ยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ผลิตและจำหน่ายอีกเช่นไวน์คูลเลอร์
และจำหน่ายสินค้าที่นำเข้ามาบางตัว
เช่นเดียวกับ เอส พี เอ็ม อาหารและเครื่องดื่ม บริษัทน้องใหม่ที่การุณแตกตัวมาเพื่อปูฐานทางด้านน้ำผลไม้,
น้ำดื่ม และผลิตภัณฑ์ในสายอาหารที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบ อย่างเช่น
ซีอิ้ว ซอส หรือแยม ฯลฯ
"แนวคิดต่างๆ ของการจัดตั้งบริษัท เอส พี เอ็มฯ ขึ้นมาในครั้งนี้นั้น
เริ่มมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเราทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มและอาหารมานาน
เลยมีความคิดที่จะเข้ามาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มาจากพืชผลเกษตรให้ครบวงจรอย่างเช่นน้ำผลไม้"
สมสุข เล่าให้ฟังถึงที่มาของบริษัท
เอส พี เอ็มฯ จดทะเบียนด้วยทุน 50 ล้านบาท ในปี 2534 ที่ผ่านมา โดยมีการุณ
บุญยศรีสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท สมสุข ตั้งเจริญ เป็นผู้อำนวยการขายและการตลาด
บริษัท เอส พี เอ็มฯ เป็นทั้งผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในตัวเอง ที่ต้องการแยกสายการผลิตออกมาจากโรงงานประมวลผล
จึงมีการลงทุนทางด้านโรงงานบนเนื้อที่ 130 ไร่ ที่ประกอบด้วยโรงงานทั้งหมด
6 โรง ในขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 2 โรง คือโรงงานผลิตน้ำดื่ม 1 โรง และอีก
1 โรงเป็นโรงงานผลิตน้ำผลไม้
ส่วนที่เหลืออีก 4 โรง เตรียมไว้สำหรับผลิตสินค้าอื่นๆ ทั้งในไลน์เครื่องดื่มและอาหารในอนาคต
จากการแตกตัวธุรกิจ (DIVERSIFY) ของประมวลผลในครั้งนี้นั้น หากจะวิเคราะห์และมองให้ลึกแล้วรูปแบบแตกตัวจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในธุรกิจของไทย
เพราะเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจธรรมดาปรกติโดยทั่ว
เมื่อดำเนินงานมาถึงจุดหนึ่งการที่จะเติบโตในตลาดต่อไปนั้น จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจของตนเองเติบโตขยายตัวออกไปให้ครบวงจร
ทว่าทางเลือกที่ประมวลผลต้องตัดสินใจนั้นมีอยู่ 2 หนทาง คือ 1) การเดินหน้าขยายธุรกิจในไลน์สินค้าเดิมที่ตนเองถนัด
(ธุรกิจด้านเครื่องดื่ม) หรือ 2) จะเดินออกนอกสังเวียนที่เคยสัมผัสสู่ธุรกิจอื่นๆ
แต่ประมวลผลก็ฉลาดพอที่จะเลือกหนทางที่ตัวเองถนัดด้วยการแตกตัวสู่การผลิตสินค้าเครื่องดื่มประเภทที่ไม่มีแอลกอฮอล์
ประเภทน้ำผลไม้ น้ำดื่มและอาหาร เช่น ซีอิ้ว, ซอส ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชผลทางมากนัก
เพื่อเสริมกับสายธุรกิจที่แข็งอยู่แล้ว คือการผลิตสุราที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากในตลาดสุราไทย
เพราะตัวสินค้าได้รับการยอมรับในตลาด เช่น สุราสิงหราช
หากประมวลผลตัดสินใจออกจากธุรกิจที่ตนเองไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับความเสี่ยงทางธุรกิจที่จะเพิ่มสูงขึ้น
เพราะธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่เครื่องดื่ม ประมวลผลไม่มีความชำนาญรวมทั้งฐานทางธุรกิจ
เช่นเทคโนโลยี และบุคลากร หรือตลาด จำต้องแสวงหาด้วยการลงทุนใหม่ทั้งหมดก็ว่าได้
แต่ธุรกิจเครื่องดื่ม ประมวลผลมีทั้งฐานและประสบการณ์ เป็นเครื่องชี้ชัดถึงความเหมาะสมมากกว่า
และมีความเสี่ยงน้อยกว่าอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การก้าวเข้าสู่ธุรกิจการจำหน่ายน้ำดื่ม น้ำคือวัตถุดิบที่เป็นตัวซัพพลายให้กับการผลิตสุรา
เพราะว่าโรงงานผลิตสุราหรือผลิตไวน์ต้องการน้ำดิบที่มีคุณภาพ เทคโนโลยีทางด้านการผลิตน้ำนั้นประมวลผลมีเทคโนโลยีและความชำนาญอยู่แล้ว
หรือแม้ว่าการก้าวไปในสายการผลิตน้ำผลไม้ ก็จำเป็นต้องอาศัยน้ำที่เป็นผลิตผลในเบื้องต้น
เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำผลไม้อีกด้วย
นั้นจึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมประมวลผลถึงเลือกการแตกตัวสู่ธุรกิจเครื่องดื่มเสริมสวยธุรกิจหลักสำคัญ
เพื่อให้ครบวงจรที่ตนเองเชี่ยวชาญมากกว่าที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ
เป็นผู้ที่เข้าสู่ตลาดนี้แทนตน
แต่จุดสำคัญของการปรับตัวของประมวลผลที่จะเดินเข้าสู่ตลาดน้ำผลไม้นั้น
จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการสุราที่ทำอยู่เดิม
ฉะนั้นรูปแบบของการจัดตั้งบริษัทใหม่มาจำหน่ายน้ำผลไม้จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะที่จะอาศัยฐานการตลาดจากการจำหน่ายสุราไม่ได้
อย่างเช่นตัวแทนจำหน่าย ช่องทางการจัดจำหน่ายหรือแม้แต่ผู้บริโภคที่ต้องแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง
ไม่เช่นนั้นแล้วความขัดแย้งทางธุรกิจและความยุ่งยากระหว่างบริษัทในเครือ
อาจจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลังได้ เช่น ตัวแทนจำหน่ายที่จำหน่ายน้ำผลไม้ก็อยากที่จะเข้ามาในตลาดสุราหรือในทางกลับกัน
ผู้ที่จำหน่ายสุราก็ต้องการที่จะเข้าสู่ตลาดน้ำผลไม้ จะทำให้เกิดความสับสนของลูกค้าและอาจจะควบคุมไม่ได้เป็นต้น
แบบฟอร์มทางธุรกิจของการแตกตัวทางธุรกิจหากจะพิจารณาแยกแยะออกมาเป็นข้อๆ
จะมีอยู่ 3 ทางเลือกคือ
หนึ่ง การเข้าซื้อกิจการใดกิจการหนึ่งในตลาดที่ทำธุรกิจทางด้านนั้นอยู่แล้ว
หรือสอง การแยกตัวมาจากฐานธุรกิจเดิม และสาม การตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับ
ประมวลผลเลือกตัดสินใจเลือกที่จะตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับในการขยายตัวในครั้งนี้
เป็นเพราะในประการแรก ความเป็นไปได้นั้นมีน้อยมาก กิจการที่อยู่ในตลาดหรือจะหมายถึงธุรกิจผลิตน้ำผลไม้นั้นเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก
และไม่มีใครประสงค์ที่จะขาย หรือมีก็ต้องลงทุนที่สูงมากเสี่ยงต่อการขาดทุน
หรือหากเลือกประการที่ 2 ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างฐานการตลาดในตลาดสุรากับตลาดน้ำผลไม้ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้นประการสุดท้ายจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของประมวลผล
เอส พี เอ็มฯ จึงถือได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จที่ประมวลผลนำมาเป็นหัวหอกในการขยายธุรกิจเครื่องดื่มให้ครบวงจร
เรือลำใหม่อย่าง "เอส พี เอ็มฯ" จึงพร้อมที่จะล่องสู่ธุรกิจการผลิตน้ำผลไม้
ที่คลื่นลมยังไม่รุนแรงนัก ภายใต้การควบคุมหางเสือของมืออาชีพอย่าง "สมสุข
ตั้งเจริญ" ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอาหารและเครื่องดื่มมานาน
จำต้องพิสูจน์ตัวเองที่จากการเป็นผู้ซื้อมาเป็นผู้ผลิตว่าจะผลิตสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้หรือไม่
ที่เดิมพันด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต