คราใดก็ตามเมื่อมีการยกเรื่องการทดลองคิดค้นนำพลังงานธรรมชาติ อาทิ แสงอาทิตย์
ลม เป็นต้น มาเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงานปัจจุบันให้มากขึ้นเพื่อประหยัดทรัพยากรและรักษาสภาพแวดล้อม
คนไทยส่วนใหญ่มักจะนึกถึงนักประดิษฐ์ชาวต่างประเทศ
จิรดา หุตะสิงห์ เป็นคนหนึ่งที่พอเรียกได้ว่าสามารถลบล้างทัศนคติข้างต้นจากคนไทยด้วยกันเอง
เพราะทันที่ที่ผลงาน "จักรยานพลังงานแสงอาทิตย์" ของเธอเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง
ก็มีเสียงตอบรับขอซื้อทันทีถึง 20 รายในเวลาเพียง 3 วัน
และอีก 3 รายติดต่อมาเพื่อร่วมหุ้นลงทุนเปิดบริษัทผลิตและจำหน่าย
จักรยานเคลื่อนที่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แทนการปั่นด้วยขาของจิรดาเกิดขึ้นได้จากการอ่านเรื่องราวนักท่องเที่ยวด้วยเรือใบคนหนึ่ง
ที่สามารถมีตู้เย็นเก็บรักษาอาหารโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้พลังงานไฟฟ้า
บทความต่างประเทศเรื่องนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสนใจและเห็นคุณประโยชน์ของการใช้
"พลังงานสะอาด" มากขึ้น จากนั้นเธอเขียนจดหมายถึงบริษัทในอเมริกาขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ทางบริษัทตอบกลับมาว่าเธอสามารถสอบถามรายละเอียดทุกอย่างได้จากบริษัท โซลาร์ตรอน
ซึ่งเธอมาค้นพบภายหลังว่าบริษัทเปิดดำเนินกิจการในเมืองไทยได้ 20 ปีแล้ว
แต่ไม่เป็นที่รับรู้กว้างขวางก็เพราะว่าลูกค้าของบริษัทจะเป็นหน่วยงานราชการ
หรืออุตสาหกรรมเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น
แต่บริษัทก็ไม่ได้ปฏิเสธความช่วยเหลือเธอถึงแม้จะเป็นเพียงเอกชนคนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มสนใจ
และต้องการทดลองนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทำนองเดียวกับที่นักเล่นเรือใบใช้กับตู้เย็น
หลังจากที่เธออ่านหนังสือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบริษัทโซลาร์ตรอนแล้ว
เธอตัดสินใจเลือกจักรยานเป็นหนูทดลองตัวแรกเพราะเป็นสินค้าราคาไม่แพงและมีใช้เกือบทุกหลังคาเรือน
ในขณะเดียวกันเธอก็รู้ปัญหาดีว่า การทดลองทำสิ่งใดก็ตามเพียงชิ้นเดียวย่อมต้องมีราคาสูงกว่าการผลิตเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นที่ยังต้องมีความเสี่ยงกับการยอมรับ
เพราะฉะนั้นเมื่อต้องมีราคาแพงแล้วก็ควรให้จักรยานมีทรวดทรงงามสมราคาด้วยซึ่งก็มีอยู่
2 ประเภทให้เลือก คือ เสือหมอบ กับ จักรยานไต่เขา หรือ MOUNTAIN BIKE
เธอตัดสินใจไม่ใช้เสือหมอบเพราะมีลักษณะเพรียวบอบบางเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับจักรยานไต่เขาที่มีโครงแข็งแรงกว่า
เหมาะสำหรับการรับน้ำหนักที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไป คือมอเตอร์ที่ล้อหน้า และแบตเตอรี่ตรงที่นั่งด้านหลัง
นอกจากนี้แล้วเธอเปลี่ยนโครงเหล็กกลางลำตัวเป็นไฟเบอร์กลาสที่มีคุณสมบัติเบากว่า
แต่มีความแข็งแรงพอที่จะรักษาสมดุลการทรงตัว และเป็นที่ซ่อนสายไฟที่เชื่อมต่อจากแบตเตอรี่มายังมอเตอร์
เธอทุ่มเวลาให้กับการคิดค้นทดลองเต็มที่หลังจากลาออกจาการเป็นวิศวกรโรงงานไทย-เยอรมันเซรามิคกระเบื้องคัมพานา
และใช้ความรู้วิศวเครื่องกลที่ศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบจักรยานในฝัน
เสร็จแล้วเธอลงมือหล่อโครงไฟเบอร์กลาส ติดมอเตอร์ ติดสวิตซ์ เดินสายไฟ
และหล่อโครงหุ้มแบตเตอรี่ด้วยตนเอง โดยใช้เวลาทำงานทั้งหมด 5 เดือนเศษ
สำหรับการประจุพลังงานแสงอาทิตย์ที่ส่งมายังเครื่องรับคือแผงโซลาร์ หรือ
SOLAR CELL แล้วส่งเข้าแบตเตอรี่อีกต่อหนึ่ง จะทำในบ้านหรือนอกบ้านก็ได้แล้วแต่สะดวก
กรณีกลางแจ้งทำง่ายๆ ด้วยการเชื่อมสายไฟจากแผงโซลาร์เข้ากับขั้วแบตเตอรี่
ถ้าเป็นในบ้านก็วางแผงโซลาร์บนหลังคา แล้วเดินสายไฟต่อลงมาที่แผงควบคุม เมื่อต้องการบรรจุพลังงาน
ให้นำสายไฟของแบตเตอรี่เสียบปลั๊กเข้าที่แผงและเปิดสวิสซ์รับพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงที่แสงแดดแรงเข้มที่สุด
คือตั้งแต่เวลา 10.00-14.00 น. การบรรจุพลังงานจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงถึงจะเต็มประสิทธิภาพ
การทำงานของมอเตอร์ที่ติดกับล้อหน้าของจักรยาน จะช่วยให้ล้อขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแบตเตอรี่ทันทีเมื่อหมุนสวิตซ์ไปที่
"ON" แทนการปั่นด้วยขาตามปกติ
เธอทดลองขี่จักรยานบ่อยครั้งมากจนพัฒนามาถึงระดับนี้ ล่าสุดเธอขี่จักรยานคันนี้ในงานรณรงค์
"BICYCLE LANE" จัดโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เริ่มต้นจากสวนลุมพินีตรงไปสีลม
เข้าวิทยุ และวกกลับมาที่สวนลุมฯ อีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่ารถจักรยานของเธอวิ่งเร็วกว่าคนอื่นมากจนต้องหมุนสวิตซ์ไปที่
"OFF" แล้วใช้ขาปั่นจักรยานแทนบ้างบางจังหวะ
อย่างไรก็ดีเธอยังไม่ค่อยพอใจเท่าไรนักกับจักรยานเคลื่อนที่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์คันแรก
เธอยังต้องการปรับปรุงแก้ไขบางจุด คือเปลี่ยนที่วางแบตเตอรี่จากด้านหลังมาซ่อนไว้ภายในโครงไฟเบอร์กลาสตรงกลางของตัวจักรยาน
เพื่อให้สมดุลดีขึ้นและมีที่ว่างด้านหลังให้ซ้อนท้ายได้
นอกจากนี้แล้วจะเพิ่มกำลังของแบตเตอรี่ให้วิ่งได้ระยะทางที่ไกลกว่าปัจจุบันจาก
30 กิโลเมตรเป็น 50 กิโลเมตร และเพิ่มความเร็วให้มากขึ้นกว่าในขณะนี้ที่วิ่งด้วยอัตรา
25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
"เพราะเหตุนี้ เวลามีคนสนใจขอซื้อ ดิฉันต้องบอกว่าขอเวลาอีกประมาณ
4 เดือนเพื่อพัฒนาจุดอ่อนต่างๆ ให้ดีขึ้นให้มากที่สุด มิเช่นนั้นแล้วดิฉันเองจะรู้สึกไม่สบายใจเพราะถ้าลูกค้าใช้แล้วไม่พอใจก็อาจจะเกิดอคติกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์"
จิรดาบอกกับ "ผู้จัดการ"
ค่าใช้จ่ายในการประกอบจักรยานทดลองตัวแรกนี้ทั้งหมดประมาณ 30,000 บาท เป็นยอดรวมราคาแผงโซลาร์ที่รับประกัน
20 ปีแล้ว ซึ่งเธอยอมรับว่ายังเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับราคาจักรยานทั่วๆ
ไป แต่คิดว่าต่อไปเมื่อผลิตจำนวนมากขึ้นราคาควรจะถูกลง
"ตอนนี้กำลังรีบเขียนแปลนโรงงาน ในขณะเดียวกันก็มองหาหุ้นส่วนที่เห็นความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาด
ไม่ใช่คิดแต่เรื่องธุรกิจเอากำไรอย่างเดียว รวมทั้งมีความต้องการพัฒนาจักรยานพลังงานแสงอาทิตย์ให้ดีมากขึ้นด้วย"
จิรดาพูดถึงความตั้งใจในการรณรงค์ใช้พลังงานที่สะอาดให้กระจายมากขึ้น และเธอยังมีอีกหลายโครงการในสมอง
อย่างเช่นการนำพลังงานลมมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ก็คงต้องติดตามต่อไปอีก 4 เดือนข้างหน้าว่าโฉมใหม่ของจักรยานพลังงานแสงอาทิตย์จะมีรูปร่างอย่างไร
และจะเป็นสินค้าติดตลาด "ผู้บริโภคเขียว" มากน้อยเพียงใด