"สยามกลการทศวรรษที่ 5 ให้จับตา "พรพินิจ"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

วันที่ 4 กันยายนนี้ นับเป็นปีที่คนในสยามกลการ ตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นการฉลอง 40 ปีสยามกลการ ชื่อบริษัทซึ่ง ม.ล. ยวง อิศรเสนา ตั้งให้กับถาวร พรประภา ผู้รับมรดกร้าน "ตั้งท่งฮวด" จาก "ไต้ล้ง" ต้นตระกูล "พรประภา"

แม่งานของงานฉลอง 40 ปีสยามกลการในปีนี้ จะชื่อคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้จัดการใหญ่สยามกลการบุตรสาวคนโตของถาวร พรประภานั่นเอง

40 ปีที่ผ่านมาความสำเร็จของสยามกลการมาจากความมุ่งมั่นในการทำงานของถาวร พรประภา ภายใต้ความช่วยเหลืออย่างดีของ MR. KAWAMATA ประธานนิสสันมอเตอร์ในอดีต เนื่องจากไม่ต้องการที่จะให้บริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันนอกประเทศญี่ปุ่นรายแรกต้องประสบปัญหาในการดำเนินการ

นอกจากนั้นในบางเสี้ยวของความยิ่งใหญ่ของสยามกลการ คนในตระกูลพรประภาจะต้องไม่ลืมชื่อของ "นุกูล ประจวบเหมาะ" อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการเชื้อเชิญจากเจ้าหนี้ (แบงก์กรุงเทพ) ให้รับตำแหน่งประธานแทน ในยุคที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์มีสูง รวมทั้งวางรากฐานด้านการเงินให้กับสยามกลการด้วย แม้ในที่สุดนุกูลจะต้องออกจากสยามกลการมาอย่างเจ็บปวด เพราะสยามกลการต้องอยู่คู่กับคนในตระกูล "พรประภา" ก็ตาม

อันว่าธุรกิจรถยนต์นั้น ความสำเร็จที่จะเป็นเครื่องชี้ว่าดีหรือไม่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ต้องวัดกันตรงการตลาด ว่าบริษัทใดประสบความสำเร็จในเรื่องการตลาดมากกว่ากัน ดังนั้นแม่ทัพรุ่นต่อไปของสยามกลการก็ต้องมาจากสายการตลาด

บังเอิญคนในตระกูล "พรประภา" ในรุ่นของ "พร" ที่จับต้องงานสายการตลาดมาโดยเฉพาะก็คือ "พรพินิจ" ดังนั้นจึงไม่อาจจะไม่กล่าวถึงคนๆ นี้ได้ แม้ว่าในวันนี้คนในรุ่น "พร" ที่มีอำนาจมากที่สุดในสยามกลการจะชื่อ "พรทิพย์" ก็ตาม แต่เชื่อกันว่าถึงวันหนึ่ง คุณหญิงพรทิพย์ก็คงจะทิ้งสยามกลการไปได้โดยไม่มีความอาลัยมากนัก เพราะมีเคพีเอ็น. เป็นธุรกิจส่วนตัวรองรับ แม้ที่ผ่านมาตัวของคุณหญิงเอง จะเป็นส่วนหนึ่งของสยามกลการก็ตาม

จะว่าไปแล้ว กว่าจะถึงวันนี้ของสยามกลการ บริษัทนี้ต้องเผชิญมรสุมการแข่งขันหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือกระทั้งการแข่งขันกันภายใน จนครั้งหนึ่งในอดีตที่ผ่านมา องค์กรแห่งนี้ก็แทบจะหน้ามืดกับภาระหนี้สินที่รุมเร้าขณะที่ยอดขายก็ฝืด แถมความเป็นบริษัทครอบครัว จีงมักจะมีข่าวเกี่ยวกับ "ศึกสายเลือด" อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างพี่กับน้อง อากับหลาน

แต่ถึงวันนี้ ดูเหมือนว่าทุกอย่างในสยามกลการจะจัดการ "ภายใน" เสร็จเรียบร้อยแล้วกล่าวคือ คนในสยามกลการหลายคน เริ่มที่จะมี "อาณาจักร" เป็นของตนเองอย่าง ปรีชา พรประภา น้องชายของถาวรที่เริ่มก่อตั้งสยามกลการมาด้วยกันก็ตั้ง "สยามอินเตอร์" ขึ้นมาเป็นธุรกิจด้านการนำเข้ารถยนต์เป็นของตนเอง

พรเทพ พรประภา ที่กล่าวกันว่าน่าที่จะขึ้นมารับอำนาจแทน "พี่สาว" คือคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ก็มีอาณาจักรของตนเองคือ บางกอกมอเตอร์เวอร์ค ดังนั้นเขาน่าที่จะมีความสุขกับธุรกิจของตนเองมากกว่าตำแหน่งในสยามกลการ

ที่สำคัญก็คือ ตัวของคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช มีอาณาจักรที่ชื่อ "เคพีเอ็น." ที่มาจากชื่อย่อของเกษม-พรทิพย์ ณรงค์เดชอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าในอนาคตคุณหญิงเองคงให้ความสนใจกับเคพีเอ็น. มากกว่างานของสยามกลการแน่นอน

เมื่อหลายคนมีอาณาจักรเอง ความต้องการที่จะครอบครองสยามกลการก็หมดไป ความขัดแย้งที่เคยเป็นอุปสรรคในการพัฒนาสยามกลการก็หมดไป

เหลือเพียงพรพินิจ พรประภาเท่านั้น ทีจะก้าวมาดูสยามกลการอย่างจริงจัง

จะว่าไปแล้วคนในสยามกลการเอง ก็ยอมรับว่า พรพินิจเป็นคนที่มี "ฝีมือ" ไม่แพ้ใครในวงการธุรกิจรถยนต์ เพียงแต่ที่ผ่านมานั้นบทบาทของเขาถูกกลืนอยู่ในส่วนของบุคคลอื่นๆ ที่เป็นเหมือนม่านบังเขาไว้

และดูเหมือนว่าพรพินิจเองก็พอใจในบทบาทนั้นท่ามกลางความเชื่อมั่นของคนในบังคับบัญชาของเขาว่า เขากำลังสะสมประสบการณ์และความรู้ด้านธุรกิจรถยนต์ และพรพินิจเองก็เริ่มปรากฏตัวต่อสาธารณชนในฐานะรองผู้จัดการใหญ่ด้านการตลาดของสยามกลการเมื่อไม่นานมานี้เอง

ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้ว ความรู้ด้านปริญญาตรีสังคมศาสตร์จาก RIKYO UNIVERSITY จากประเทศญี่ปุ่น และอายุงานในสยามกลการกว่า 15 ปี นับจากเริ่มต้นงานในฝ่ายเลขาธิการเมื่อปี 2520 อันเป็นตำแหน่งที่ใกล้ชิดกับถาวร พระประภา จนกระทั้งมาจับงานด้านการตลาดจนถึงวันนี้เป็นเครื่องชี้ถึงความเหมาะสมในการเตรียมขึ้นนั่งเก้าอี้ใหญ่ในสยามกลการได้เป็นอย่างดี

กล่าวกันว่า ที่ผ่านมานั้นแม้คุณหญิงพรทิพย์ จะส่งเสริมพรเทพมากกว่าพรพินิจ เนื่องจากความเป็นพี่น้องมารดาเดียวกันก็ตาม แต่การที่พรพินิจมี "พี่เลี้ยง" ที่ดีๆ ในเรื่องการตลาดหลายคน เช่น ประพัฒน์ เกตุมงคล ที่ดึงตัวมาจากสยามยามาฮ่า เออร์วิน มูลเลอร์ ที่มาจากยางสยาม ศิริชัย สายพัฒนา หรือคนรุ่นเก่าอย่างกวี วสุวัต ปรีชา พงษ์เพชร ล้วนแต่ช่วยในการ "บ่ม" ความรู้ให้กับพรพินิจทั้งนั้น จนกระทั่งในทุกวันนี้เขากล้าที่จะออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณชนในเรื่องตลาดรถยนต์หลายครั้ง

นอกจากนี้การที่พรเทพแสดงให้เห็นว่า เขาสนใจที่จะมุ่งพัฒนาอาณาจักรบางกอกมอเตอร์เวอร์คของตนมากกว่าสยามกลการของตระกูล คุณหญิงพรทิพย์ จึงต้องส่งเสริมให้พรพินิจพร้อมที่จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งใหญ่ในสยามกลการโดยเร็ว

เพราะถึงอย่างไรสยามกลการก็ต้องเป็นของ "พรประภา"

และ "พรประภา" รุ่น "พร" ที่เหลือที่จะรับตำแหน่งก็มี "พรพินิจ" เท่านั้นที่เหมาะสมที่สุด

ขณะเดียวกันในสงครามการตลาดของธุรกิจรถยนต์ ที่ต้องแข่งขันกันในเรื่องการตลาดเพราะเป็นธุรกิจแบบ GLOBALIZE ที่มีทั้งรถยนต์นำเข้าและรถยนต์ที่ประกอบในประเทศแล้ว ดูเหมือนว่าความเหมาะสมของคนชื่อ "พรพินิจ" จะยิ่งมีมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ของเขาในสยามกลการที่ผ่านมา ที่เน้นในการดูเรื่องการตลาดเป็นหลัก

ความเหมาะสมที่ดูจะลงตัวพอดีตรงนี้ จึงน่าจะการันตีชื่อได้เลยว่า ผู้จัดการใหญ่คนต่อไปของสยามกลการ จะต้องชื่อ พรพินิจ พรประภา แม้อาจจะต้องรอจนถึงสยามกลการจะฉลองครบ 50 ปีก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.