ธปท.หวั่นตลาดการเงินโลกผันผวน สั่งแบงก์คุมเข้มลงทุนCDO-อนุพันธ์


ผู้จัดการรายวัน(20 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.หวั่นความผันผวนตลาดโลกสั่งแบงก์คุมเข้มการลงทุนใน CDO และธุรกรรมทางการเงินที่มีอนุพันธ์แฝงให้ประเมินราคาของตราสารอย่างน้อยเดือนละครั้งตามเกณฑ์บัญชีใหม่ IAS39 ระบุหากพบผลขาดทุนให้หักจากเงินกองทุนงวดนั้นทันที หรือผลขาดทุนส่อให้เงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ของธปท.ห้ามแบงก์ลงทุนเด็ดขาดและรายงานการแก้ไขฐานะต่อธปท.ทันที

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง ธปท. ได้ส่งหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ในระบบ ยกเว้นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยจำนวน 2 ฉบับ คือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligation (CDO) และอนุญาตให้ทำธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝง เนื่องจากมองว่าในช่วงที่ตลาดโลกมีความผันผวนมากขึ้นจำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยง และมีการบันทึกบัญชี รวมทั้งการรับรู้ผลขาดทุนที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ในประกาศฉบับนี้ได้ปรับปรุงให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องประเมินมูลค่ายุติธรรม (Fair Value)ของตราสาร CDO ที่ธนาคารพาณิชย์ลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 (IAS39) โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องประเมินราคายุติธรรมของ CDO และหากพบว่ามีผลขาดทุนให้นำผลขาดทุนหักออกจากเงินกองทุน ณ งวดบัญชีล่าสุดทันที ทั้งนี้ การคำนวณให้รวมการลงทุนใน CDO ธุรกรรมเงินฝากหรือพันธบัตรที่อ้างอิงจากการค้ำประกันสินเชื่อ และธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงด้วย โดยหากมีตราสารทั้ง 3 ประเภทรวมกันไม่เกินกว่า1% ของสินทรัพย์รวมให้ประเมินผลกระทบทุกเดือน แต่หากมีเกินกว่า 1% ให้คำนวณผลกระทบทุกวัน

โดยหากยังมีเงินทุนเพียงพอในขณะนี้ แต่ไม่เพียงพอหากมีการลงทุนใน CDO หรือตราสารในลักษณะเดียวกันนี้เพิ่มในอนาคต ธปท.จะไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนเพิ่มเติมได้อีก แต่หากคำนวณแล้ว พบว่า ผลขาดทุนจากการลงทุนดังกล่าวมีผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด ธนาคารพาณิชย์ต้องรายงาน ธปท.เป็นลายลักษณ์อักษร และรายงานตรงต่อผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ และส่งแนวทางในการแก้ไขปัญหามาให้ ธปท.รับทราบ

สำหรับเงื่อนไขการลงทุนใน CDO ของธนาคารพาณิชย์จะต้องเป็นตราสารที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อจากสถาบันที่ได้รับความเชื่อถือตั้งแต่ BBB หรือเทียบเท่าขึ้นไปเท่านั้น และหากเป็นการลงทุนใน Synthetic CDO กำหนดเพิ่มว่าจะต้องลงทุนได้ในเฉพาะกรณีที่ผู้ออกขายตราสารนำเงินที่ได้ไปลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารชั้นดีที่มีอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับ ตั้งแต่ระดับ AA หรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยการลงทุนใน CDO ถือเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของคณะกรรมการธนาคาร ทั้งนี้ หากต่อมา CDO ดังกล่าวถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า BBB ธนาคารพาณิชย์จะสามารถถือตราสารดังกล่าวได้ต่อไป เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการธนาคารเท่านั้น และต้องเก็บหลักฐานการอนุมัติดังกล่าวให้ ธปท.ตรวจสอบด้วย

นอกจากนั้น ยังห้ามไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ลงทุนใน CDO ที่มีลูกหนี้เงินให้กู้ยืมเพื่อชื้อหลักทรัพย์ (บัญชีมาร์จิ้น) ตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่ลงทุน และตราสาร CDO เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจาก ธปท. เป็นกรณีไป จากเดิมที่ ธปท.อนุญาตให้ลงทุนโดยไม่จำกัดอันดับความน่าเชื่อถือเพียงแต่อยู่ในเกรดการลงทุน (Investment Grade) และไม่จำกัดสินทรัพย์ค้ำประกัน

ส่วนในกรณีของธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงได้จะต้องไม่มีลักษณะทำให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือการเงิน เช่น การทำธุรกรรมที่มีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน โดยหากเป็นอนุพันธ์แฝงที่อ้างอิงกับตัวแปรต่างประเทศ หรือเป็นสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจะต้องทำกับผู้ลงทุนสถาบันหรือบุคคลที่จะต้องส่งมอบเงินตราต่างประเทศในอนาคต หรือมีสัญญาการส่งมอบเงินตราต่างประเทศที่มีกำหนดในสัญญาของอนุพันธุ์แฝงเท่านั้น และจะต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ ในหนังสือเวียนที่ออกในครั้งนี้นั้นได้กำหนดให้เปลี่ยนการลงบัญชีของธุรกรรมเงินฝากหรือเงินกู้ยืมที่มีอนุพันธ์แฝงให้เป็น IAS 39 เช่นเดียวกับ CDO และกำหนดให้คำนวณผลกระทบของการลงทุนดังกล่าวในลักษณะเดียวกับ CDO ด้วย เพื่อให้การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ทั้งหมดนี้ไม่กระทบต่อเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงและฐานะของธนาคารพาณิชย์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่ามีความเป็นไปได้ที่การใช้มาตรฐานบัญชี IAS39 ในการประเมินมูลค่ายุติธรรมของตราสารอนุพันธ์เหล่านี้แทนมาตรฐานบัญชีของไทย อาจจะมีผลต่อผลขาดทุน หรือการเสื่อมมูลค่าของตราสารที่ธนาคารพาณิชย์ลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.