จับตายอดใช้บัตรพุ่งสวนน้ำมันแพงแข่งแคมเปญล่อใจ-เตือนรูดเพลินจ่ายดอกอ่วม


ผู้จัดการรายวัน(20 พฤศจิกายน 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไตรมาส 4 กระเตื้อง เหตุผู้ประกอบแห่ขนแคมเปญล่อใจช่วงโค้งสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งการจ่ายจับสินค้า คาดมียอดรวมทั้งไตรมาส 194,410 ล้านบาท โต 12.38%เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน เตือนผู้ใช้อย่ารูดเพลินระวังหนี้สินพอกพูนอาจเกิดปัญหาการชำระหนี้ในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2550 โดยคาดว่าจะมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่สูง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล เป็นฤดูแห่งการใช้จ่ายหรือหาซื้อของขวัญในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และยังเป็นอีกช่วงหนึ่งที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจบัตรเครดิตน่าจะมีการเติบโตเร่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากผู้ประกอบการบัตรเครดิตที่ต่างเร่งทำการตลาดเพื่อเร่งทำเป้ารายได้สินเชื่อที่บัตรเครดิตให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยผู้ประกอบการบัตรเครดิตเน้นการทำตลาดร่วมกับพันธมิตร อาทิ ห้างสรรพสินค้า สายการบิน โรงแรม และร้านค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Stores) มากขึ้น อาทิ ผู้ซื้อสินค้าสามารถผ่อนชำระสินค้าแบบ 0% ผ่านบัตรเครดิตที่ร่วมกับร้านค้านั้นๆ การเพิ่มคะแนนสะสมเพื่อแลกของรางวัล การให้ของสมนาคุณจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตร การเสนอรายการคืนเงินเมื่อมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร และการมอบส่วนลดในการซื้อสินค้าต่างๆ ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตยังคงใช้เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตแทนเงินสด เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2550 นั้น ธุรกิจบัตรเครดิตอาจจะยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่ม ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 4 ปี 2550 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 194,410 ล้านบาท ขยายตัว 12.38% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2549 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 แต่ต่ำกว่าจากที่ขยายตัว 15.34% ในไตรมาส 4 ปี 2549

นอกจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงแล้ว ความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภคบางกลุ่มยังถูกกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการณ์ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต คาดว่าสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในไตรมาส 4 ปี 2550 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 188,500 ล้านบาท ขยายตัว 10.23% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2549 ซึ่งชะลอลงจากการขยายตัวที่ 17.31% ในปี 2549 โดยการขยายตัวยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งจะมาจากการปรับลักษณะการก่อหนี้ของผู้ที่ได้รับผลกระทบในการผ่อนชำระสินเชื่อบัตรเครดิตทำให้ต้องหันมาพึ่งสินเชื่อเงินสดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จากการแข่งขันธุรกิจบัตรเครดิตที่รุนแรงในขณะนี้ ผู้บริโภคย่อมได้รับประโยชน์จากการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งจะเห็นได้จากแคมเปญการตลาดที่พยายามเพิ่มสิทธิประโยชน์ในบัตรเครดิต การใช้บัตรเครดิตเพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพื่อรับ หรือแลกของรางวัล เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิตแทนเงินสดมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่ประสบกับปัญหาสภาพคล่องสามารถใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าหรือบริการก่อนได้ และสามารถผ่อนชำระบัตรเครดิตได้เป็นรายเดือน โดยไม่จำเป็นต้องชำระเป็นเงินก้อน

สำหรับในส่วนของผู้บริโภคถึงแม้ว่าจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันก็ตาม แต่ผู้บริโภคควรคำนึงถึงว่า การชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตเปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ เมื่อถึงรอบบัญชีเรียกเก็บหากชำระไม่เต็มจำนวนก็จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในรอบบัญชีถัดไป ซึ่งหากผู้ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่มีความระมัดระวัง ก็อาจจะก่อให้เกิดการสะสมเป็นวงเงินที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระในอนาคตได้ ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรวางแผนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เช่น การกำหนดวงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในแต่ละเดือน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการผ่อนชำระภายหลัง นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ใช้บัตรเครดิตควรคำนึงถึงคืออัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ซึ่งในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตได้ถูกปรับขึ้นเป็น 20% ซึ่งทำให้ผู้ที่ชำระบัตรเครดิตขั้นต่ำหรือชำระไม่เต็มจำนวน ได้รับผลกระทบในอนาคตได้

ส่วนธุรกิจบัตรเครดิตไตรมาส 3 ปี 2550 ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยภาพรวมปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 3 ปี 2550 มีมูลค่าทั้งสิ้น 176,419 ล้านบาท ขยายตัว 12.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากไตรมาส 2 ที่มีการเติบโต 13.38% โดยการชะลอตัวของธุรกิจบัตรเครดิตในช่วงที่ผ่านมานั้น น่าจะเกิดจากปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการชะลอการใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเกิดจากมาตรการของทางการ ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% เป็น 20 % มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 และการปรับขึ้นการชำระขั้นต่ำยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตจาก 5% เป็น 10% ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550

โดยเมื่อแยกพิจารณาตามกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ไตรมาส 3 ปี 2550 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยมีมูลค่า 83 ,104 ล้านบาท โดยขยายตัว 12.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัว 15.19% ในไตรมาส ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการสาขาธนาคารต่างประเทศมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งสิ้น 26 ,650 ล้านบาท และขยายตัว 21.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัว 23.51% ในไตรมาส 2

สำหรับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์นั้นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นในไตรมาสนี้ โดยในไตรมาส 2 มีปริมาณการใช้จ่ายทั้งสิ้น 64 ,639 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัว 8.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 7.30% ในไตรมาส 2 ทั้งนี้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของกลุ่มสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มนี้ น่าจะเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายฐานลูกค้าจากระดับกลางไปยังกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของผู้ประกอบการบางรายเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ และโดยเฉพาะการทำตลาดบัตรเครดิตของผู้ประกอบการที่มีบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจค้าปลีกที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือ ดิสเคานท์สโตร์ เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.